Wheel Alignment มุมล้อคืออะไร มุมแคมเบอร์ บวก ลบ เป็นอย่างไร มุม Toe-in, Toe-out คืออะไร แล้วต้องตั้งมุมล้ออย่างไรถึงจะขับดี คลิพนี้มีคำตอบ จะได้ปลอดภัย ไม่ต้องไปเสียรู้
มุมล้อ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะประสิทธิภาพ และความปลอดภัยที่เราได้จากล้อนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการมุมล้อ ซึ่งประกอบด้วย 2 มุมสำคัญ นั่นคือ “มุมแคมเบอร์” และ “มุมโท” แคมเบอร์ คือ มุมที่ล้อตั้งฉากกับพื้น โดยถ้าส่วนล่างของล้อหุบเข้าหากัน เรียกว่า มุมแคมเบอร์ เป็นบวก (Positive Camber) และถ้าส่วนล่างของล้อถ่าง หรือแบะออกจากกัน เรียกว่า มุมแคมเบอร์ เป็นลบ (Negative Camber)
การเลือกออกแบบมุมแคมเบอร์ของล้อจะส่งผลต่อการขับขี่ และการใช้งาน อาทิ รถบรรทุกหนัก, หรือวิ่งบนทางฝุ่น และทางทุรกันดาร มักจะนิยมตั้งศูนย์ล้อเป็นบวก เพราะจะมีเสถียรภาพดีกว่าเมื่อมีน้ำหนักบรรทุก เนื่องจากน้ำหนักตัวรถจะกดให้ล้อที่ติดกับพื้นถ่างออกมาเอง และช่วยให้การเฉลี่ยน้ำหนักลงที่ยางทำได้ดีกว่า ช่วยลดการสึกหรอของยางขณะบรรทุกได้ดี
สำหรับรถที่ตั้งสูนย์ล้อให้แบะออกล่าง หรือแคมเบอร์เป็นลบ เหมาะกับรถที่ใช้ความเร็วสูง เพราะช่วยเพิ่มการยึดเกาะขณะเข้าโค้งด้วยความเร็ว แต่มันจะส่งผลเสียเรื่องความสึกหรอของยาง เพราะยางจะเกิดการสึกหรอมากกว่าปกติในจุดที่สัมผัสพื้นมาก และหากตั้งศูนย์ให้ล้อแบะมากเกินไป จะส่งผลให้รถควบคุมบังคับได้ยาก ไม่เกาะถนนเพราะหน้าสัมผัสยางมีน้อยลง และหากถนนเปียกก็มีโอกาสที่จะเหินน้ำได้ง่าย
ส่วนมุมโท เป็นมุมที่ล้อกระทำกับทิศทางที่รถวิ่ง ถ้าล้อหุบเข้าหากัน เรียกว่า “โท-อิน” หรือมุมโท บวก (Positive Toe) ในทางกลับกัน ถ้าล้อแบะออกจากทิศทางที่รถวิ่ง เรียกว่า “โท-เอาท์” หรือมุมโท ลบ (Negative Toe) ซึ่งความแตกต่างนั้น จะมีผลเรื่องเสถียรภาพในการวิ่งที่แตกต่างกัน โดยรถส่วนใหญ่มักออกแบบให้มีศูนย์ล้อเป็นแบบ โท-อิน ถ้ามองจากด้านบน ล้อจะหุบเข้าหากันเหมือนลูกศรพุ่งไปข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลดีกับเสถียรภาพทางตรง และช่วยลดการสึกหรอของยาง และหากเป็นล้อหน้า ถ้ามีมุม โท-อิน มากเกินไปก็จะทำให้เลี้ยวยากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีเสถียรภาพในการวิ่งทางตรง การออกแบบศูนย์ล้อแบบ โท-อิน จะดีสำหรับแก้ไขอาการท้ายปัด หรือโอเวอร์สเตียร์
ในทางกลับกัน หากตั้งศูนย์ล้อเป็นแบบ โท-เอาท์ จะมีแรงต้านมากกว่า ซึ่งทำให้มีแรงยึดเกาะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใช้กับล้อขับเคลื่อน ทำให้เร่งได้ช้าลง แต่มีการยึดเกาะในโค้งดีขึ้น และถ้าใช้กับล้อหน้า มันจะทำให้การเลี้ยวตอบสนองเร็วขึ้น ซึ่งเหมาะกับการแก้ไขอาการหน้าดื้อโค้ง หรืออันเดอร์สเตียร์ แต่ในทางกลับกันเสถียรภาพช่วงความเร็วสูงจะเป็นรองศูนย์ล้อแบบ โท-อิน
บทความแนะนำ