มาตรฐาน EPA ของหน่วยงานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ หรือ U.S. Environmental Protection Agency คือ มาตรฐานการวัดระยะทางที่วิ่งได้เมื่อชาร์จไฟเต็ม หรือ Range ของรถพลังไฟฟ้าที่ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงมากที่สุด
การทดสอบของ EPA จะทำในห้องปฏิบัติการ โดยให้รถยนต์วิ่งบนเครื่องไดนาโมมิเตอร์ หรือไดโน สองรูปแบบ คือ วิ่งด้วยความเร็วต่ำสลับหยุดนิ่งที่จำลองสภาพการวิ่งในเขตชุมชน และวิ่งเดินทางไกลนอกเมือง ก่อนการทดสอบจะชาร์จไฟแบทเตอรีเต็ม 100 % แล้วทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้อุณหภูมิแบทเตอรีเท่ากับอุณหภูมิห้อง เริ่มต้นทดสอบด้วยการวิ่งแบบอยู่ในเขตชุมชน ขั้นแรกใช้เวลา 505 วินาที ทำอัตราเร่งขึ้นลงเล็กน้อยต่อเนื่องไป ในย่านความเร็ว 0-56 ไมล์/ชม. คล้ายกับการขับในการจราจรของเมืองใหญ่ ที่มีการเร่งแซงเป็นช่วงสั้นๆ สลับกับความเร็วต่ำ เมื่อครบ 505 วินาที จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 ใช้เวลารวม 864 วินาที
ขั้นตอนนี้ จะทำอัตราเร่งขึ้นๆ ลงๆ สลับกันไปมา ที่ย่านความเร็ว 0-30 ไมล์/ชม. เมื่อครบ 864 วินาที จะสลับกลับมาขับด้วยรูปแบบเดิมที่ใช้ในตอนแรก รวมเวลาการขับแบบย่านชุมชน 1,874 วินาที หรือ 31 นาที 14 วินาที ความเร็วเฉลี่ย 21.2 ไมล์/ชม. รวมระยะทาง 11 ไมล์ มีการหยุดนิ่ง 23 ครั้ง เป็นเวลารวม 18 % ของการทดสอบทั้งหมด จากนั้น ตามด้วยการทดสอบแบบเดินทางไกล ใช้เวลารวม 765 วินาที โดยเริ่มจากจุดหยุดนิ่ง แล้วไต่ความเร็วขึ้นไปถึง 50 ไมล์/ชม. เมื่อถึงวินาทีที่ 290 จะลดความเร็วลงเป็น 30 ไมล์/ชม. แล้วเร่งความเร็วอีกครั้งไปที่ระดับ 60 ไมล์/ชม. ทำความเร็วขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกับการขับจริงไปเรื่อยๆ จนครบเวลาที่กำหนดความเร็วสูงสุดที่ใช้ คือ 60 ไมล์/ชม. ความเร็วเฉลี่ย 48.3 ไมล์/ชม. รวมระยะทางวิ่ง 10.3 ไมล์ หลังจากทดสอบ 2 รูปแบบนี้สลับกันจนแบทเตอรีหมด จึงมาดูว่ารถทำระยะทางวิ่งรวมได้เท่าใด นี่คือ รูปแบบการทดสอบของ EPA ที่สามารถจำลองรูปแบบการขับขี่ที่คนทั่วไปขับใช้งานกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงความจริงที่สุด
ที่ทำการใหญ่ของ อีพีเอ.ในวอชิงตัน ดีซี