รอบรู้เรื่องรถ
รางวัลแห่งคุณงามความดี
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาของเรื่องนี้ ผมขอต่อเรื่องที่ติดค้างไว้ตอนจบของฉบับที่แล้วก่อนนะครับ ซึ่งก็คือเรื่องมารยาทของพนักงานขายรถ ผมเชื่อว่าการดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น น่าจะเป็นนิสัยด้านลบของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว และการดูหมิ่นลูกค้าหรือผู้ซื้อ ก็คงมีมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการค้าขายกัน มนุษย์เราสามารถดูหมิ่นกันด้วยเหตุต่างๆ ได้มากมาย หลายเรื่อง หลายโอกาส แต่ถ้าเป็นการดูหมิ่นลูกค้า จะโดยพ่อค้า แม่ค้า หรือ พนักงานขาย น่าจะมีได้แค่ 3 เรื่องเท่านั้น คือ ความรู้ความเข้าใจของลูกค้าต่อสินค้า รสนิยมของลูกค้า และความสามารถหรือความพร้อมในการซื้อ
อย่างแรกไม่ค่อยมีปัญหาครับ อย่างมากก็แค่พล่าม บรรยายคุณสมบัติที่เรารู้อยู่แล้ว หรือไม่ก็โกหกบรรยายสรรพคุณเกินจริง ไม่ทำให้เราเสียความรู้สึกเท่าไร ส่วนเรื่องรสนิยมชาวเอเชียหรือชาวไทยเรา ไม่ให้ความสำคัญครับ ขอให้ซื้อเป็นใช้ได้ ต่างจากชาวตะวันตก อย่างที่สามนี่แหละครับ ที่เป็นปัญหาใหญ่ และน่าจะเป็นสากลจริงๆ คือ เหมือนกันทุกชาติ ผมไม่เชื่อว่ามี พลเมืองของประเทศไหน หรือมนุษย์เผ่าพันธุ์ใด หรือในวัฒนธรรมไหนก็ตาม ที่ถือว่าการดูหมิ่นลูกค้าว่าไม่น่าจะมีเงินพอซื้อสินค้า โดยการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง เป็นเรื่องปกติหรือเป็นการยกย่องให้เกียรติกัน คงมีเฉพาะคนบ้าวิกลจริตเท่านั้น พฤติกรรมดูหมิ่นลูกค้าว่าไม่น่าจะมีเงินพอซื้อ จึงสร้างความเจ็บปวด (ทางจิตใจ) คับแค้นให้ผู้คนมานักต่อนักแล้ว
ถ้ามีการรวบรวมผลจากการสอบถามไว้เป็นสถิติ ผมเชื่อว่าเกือบทุกคนที่ถูกสอบถาม จะต้องตอบว่า เคยถูกคนขายของดูหมิ่น ถ้าไม่ด้วยวาจา ก็ด้วยกิริยาท่าทาง หรือแววตา แค่คำพูดประโยคเดียว ก็ทำร้ายจิตใจได้อย่างรุนแรงแล้ว ใครที่จิตอ่อน และเป็นพวกไม่ชอบตอบโต้ อาจถึงขั้นป่วยได้เลย ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเรา ที่จะไปวิเคราะห์เจาะลึกหาสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์พวกนี้ครับ คำตอบอย่างกว้างน่าจะเป็นผลพวงของปมด้อย สิ่งที่พวกเราควรทำ คือตอบโต้ให้ถูกวิธี สมเหตุสมผล
เมื่อใดก็ตามที่ถูกพนักงานขายรถดูหมิ่น ควรตอบโต้ไปทันทีด้วยวาจา จะเป็นประโยคคำถาม หรือบอกเล่าก็ได้ครับ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างหนักไปเลย ไม่ต้องไปเกรงใจคนที่ทำร้ายจิตใจเรา ขั้นต่อไปซึ่งสำคัญมาก ต้องแจ้ง ผู้จัดการ หรือหัวหน้าให้รับทราบเสมอ ซึ่งคงต้องแล้วแต่โชค ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นใด อาจเจอหัวหน้าที่รักความถูกต้อง หรืออาจเป็นประเภทเข้าข้างลูกน้องทุกกรณีก็ได้ ถือว่าเราได้ปฏิบัติตนถูกต้องแล้ว ข้อสำคัญคืออย่าซื้อเด็ดขาด ต้องมีที่อื่นที่เราซื้อได้เสมอ
แต่ที่ผมเคยพบด้วยตนเองและได้ฟังมา มีลูกค้าอีกประเภท ที่ชอบประชดด้วยการซื้อกับคนขายที่ดูหมิ่น เพื่อแสดงว่ามีเงินพอ ไม่เข้าใจเหมือนกันครับ ว่าเอาเงินเอาผลประโยชน์ไปให้แก่คนที่ดูถูกตนเองได้อย่างไร ภาษิตโบราณก็สอนไว้อยู่แล้วว่าอย่า "หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว" ถ้าต้องการประชดโดยการซื้อให้ดู ก็เป็นวิธีตอบโต้ และลดความเจ็บใจที่ดีอย่างหนึ่ง ถ้าอยากได้รถนั้นอยู่แล้ว แต่ต้องไปซื้อที่อื่นครับ แล้วขับมาให้มันดู พร้อมกับขอพบผู้จัดการหรือหัวหน้า เชิญมาชมรถที่เพิ่งซื้อมา แล้วค่อยเล่าเรื่องที่ถูกกระทำมาอย่างละเอียด ถ้ายังคิดอะไรไม่ออก จำหลักไว้ง่ายๆ อย่างหนึ่งครับ คือ ห้ามเอาเงินไปให้คนที่ดูถูกเราเด็ดขาด
กลับมาเข้าเรื่องดีและสร้างสรรค์ตามชื่อเรื่องกันครับ เปลี่ยนบรรยากาศจากข่าวมหาเศรษฐีไทยรวยติดอันดับโลก แต่แทบไม่มีใครภาคภูมิใจไปด้วย เพราะค่อนข้างชัดแจ้งว่าเป็นความสำเร็จที่อยู่บนพื้นฐานของการกอบโกยโดยเอาเปรียบ หรือรังแกคนยากจน แค่ 2 คนสามารถครอบครองที่ดินของประเทศเกือบล้านไร่ สมควรแล้วที่ได้ก้อนอิฐจากประชาชน แทนที่จะเป็นดอกไม้
มาดูตัวอย่างจากนักธุรกิจที่ร่ำรวยได้โดยไม่ละทิ้งคุณธรรมกันดีกว่าครับ หรืออาจจะยิ่งกว่านั้นก็ได้ คือร่ำรวยเพราะมีคุณธรรมนั่นเอง โชคดีมากที่ธุรกิจของบุคคลตัวอย่างผู้นี้ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการรถยนต์โดยตรง ผมจึงมีสิทธิ์นำมาเล่าในคอลัมน์นี้ ธุรกิจที่ว่าคือการผลิตและจำหน่ายวัสดุหล่อลื่นสำหรับยานพาหนะครับ ดังกล่าวง่ายๆ ให้แคบลงไปอีก ก็คือ น้ำมันเครื่องและน้ำมันเกียร์ สำหรับรถเก๋งแบบที่เราขับกันอยู่นี่เอง แม้ว่าจะมีพวกหัวเชื้อน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งทำรายได้มากพอสมควร และมีน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ สำหรับรถบรรทุกด้วย แต่หัวใจของธุรกิจนี้ก็คือ น้ำมันเครื่องสำหรับรถเก๋งครับ
ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นที่ว่านี้ชื่อ ลิควิ โมลี (LIQUI MOLY) ไม่ใช่ธุรกิจประเภทดาวรุ่งพุ่งแรง แต่ไต่เต้ามาจากการสั่งสมชื่อเสียงที่ได้มาจากคุณภาพจริงๆ บุคคลตัวอย่างผู้นี้คือ แอร์นส์ต พโรสต์ (ERNST PROST) ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พโรสต์ เกิดในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 1957 ในครอบครัวซึ่งฐานะไม่ค่อยดีนัก หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับในชั้นมัธยมศึกษาก็เข้าฝึกงาน และเรียนต่อระดับอาชีวศึกษา ในสาขาช่างยนต์ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับคำนี้ก็คือ ช่างซ่อมรถยนต์นี่แหละครับ ใช้ชีวิตแบบอิสระเสรีหัวหกก้นขวิด หลังจบอยู่พักเดียว ก็เริ่มทำงานในหน้าที่พนักงานขายผลิตภัณฑ์บำรุงรักษารถยนต์กับบริษัทโซแนกซ์ ด้วยความสามารถและมุ่งมั่น ไม่นานนักก็ไต่เต้าจนถึงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด จากนั้นย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดให้กับบริษัท ลิควิ โมลี เมื่อปี 1990 ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวหนึ่ง ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น ซึ่งในช่วงแรกที่ก่อตั้ง เน้นการผสมวัสดุหล่อลื่นในสถานะของแข็ง ที่ถูกบดเป็นผงละเอียดในชื่อ โมลิบดินัมได ซัลไฟด์ หรืออันเป็นที่มาของคำว่า โมลี ในชื่อผลิตภัณฑ์ และชื่อบริษัท พโรสต์ ค่อยๆ สะสมเงิน และซื้อหุ้นของบริษัทจากนายจ้างแบบฉันมิตร จนกระทั่ง ปี 1998 ก็สามารถครอบครองหุ้นส่วนสุดท้ายของบริษัท และเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว จากนั้นก็เริ่มบริหารบริษัท ตามแนวที่ตนชอบ และคิดว่าถูกต้อง นั่นคือ ไม่แบ่งชั้นวรรณะระหว่างนายจ้างและพนักงาน พโรสต์ บริหารบริษัทและปกครองลูกน้องด้วยการให้เกียรติ ยกย่อง และซาบซึ้งบุญคุณของพนักงาน ที่มีต่อตัวเขาและบริษัท ในขณะที่ตนเองอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ตลอดเวลา พโรสต์ ไม่เคยใช้คำว่าลูกน้องต่อพนักงาน เขาถือว่าพนักงานกว่า 600 คนในบริษัท ซึ่งอยู่ในกว่า 100 ประเทศเป็น "หุ้นส่วน-ผู้ร่วมงาน" เมื่อนายจ้างมีคุณธรรมและน้ำใจ พนักงานต่างมีความสุขเชื่อมั่น ชื่นชม และตั้งใจทำงานกันอย่างทุ่มเทเต็มที่ พโรสต์ ไม่หยุดอยู่แค่นี้ เมื่อผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงล้วน
จากการมีคุณธรรมและทุ่มเทของเจ้าของบริษัทและผู้บริหาร ซึ่งเป็นคนเดียวกัน ขายดิบขายดีจนรายได้เพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง พโรสต์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและยากไร้ขึ้นมา ให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยที่ยากจน ผู้ตกงาน หรือผู้เคราะห์ร้ายต่างๆ ที่ไม่มีใครช่วยเหลือ เงื่อนไขหลักในการพิจารณาก่อนให้ความช่วยเหลือของ พโรสต์ คือ ต้องไม่เป็นความเดือดร้อนที่มาจากความผิดพลาดของเจ้าตัว เขาให้ด้วยความเมตตากรุณาจากใจจริง ด้วยจำนวนเงินที่สูงพอ เช่น ประมาณ 1 ล้านบาท ไม่มีการขยัก แค่พอคุ้มกับการ "ได้หน้า" หรือฉวยโอกาสโฆษณาสินค้าของตนไปด้วย แบบพวกเศรษฐีในบางประเทศใกล้ๆ ตัวพวกเรากิตติศัพท์ของ พโรสต์ แพร่ไปทั่วประเทศ ทั่วทวีป และตอนนี้ก็แพร่ไปทั่วโลกแล้ว ส่งผลดีต่อกิจการของบริษัท ทั้งๆ ที่ไม่ใช่จุดประสงค์ของเขาเลย
บรรดาลูกค้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างก็รู้ว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์หล่อลื่นนั้น สัมพันธ์โดยตรงกับราคาของวัตถุดิบ เช่น น้ำมันพื้นฐาน (BASE OIL) และวัสดุเพิ่มคุณภาพ (ADDITIVES) ถ้าลดต้นทุน ใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำ คุณภาพของวัสดุหล่อลื่นที่จำหน่ายให้ลูกค้า เช่น น้ำมันหล่อลื่น ก็ต้องต่ำตามไปด้วยแน่นอน และตรวจสอบจากการใช้งานก็ไม่ได้ด้วย มันจึงเป็นเรื่องของศรัทธา และความเชื่อมั่นเท่านั้น บรรดาผู้รักรถ และเจ้าของกิจการที่มีรถเชิงพาณิชย์นับสิบนับร้อยคัน ต่างเชื่อมั่นว่าเจ้าของกิจการที่มีคุณธรรมอย่าง พโรสต์ ย่อมต้องใช้วัตถุดิบและกรรมวิธีที่ดีที่สุดในการผลิตสารหล่อลื่นทุกรูปแบบที่จำหน่ายอย่างแน่นอน ยอดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นของลิควิ โมลี พุ่งทะยาน แซงบรรดาบแรนด์ ยักษ์ใหญ่ใช้งบโฆษณามหาศาลหลายราย จนเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ขายดีที่สุดในประเทศเยอรมนีมาหายปีแล้ว
พโรสต์ เน้นการกระทำเป็นหลัก ไม่สนใจการสรรหาคำพูดสวยหรู มาปรุงแต่ง จึงได้รับรางวัลทรงคุณค่ามามากมาย ถ้าเล่าให้ครบคงเสียเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า หนึ่งหน้าครับ เลยขอตัดมาเพียงไม่กี่รางวัล เช่น 2013 CAR MART MANAGER OF THE YEAR, 2012 ENTREPRENEUR PRIZE OF THE GERMAN MEDIUM-SIZED BUSINESS SECTOR, 2011 "BEST HUMAN BRAND" AWARD AS BEST MALE BRAND, 2010 HONORED AS "DOER OF THE YEAR"
ยังมีอีกเยอะครับ อันหลังสุดที่ชาวเยอรมันเขานับถือผู้ปฏิบัติจริงครับ ใครที่นึกภาพไม่ออก ลองดูตัวอย่างรางวัลทางตรงกันข้าม "จอมสร้างภาพแห่งปี" ก็คงจะเข้าใจได้ทันที
คำว่า "รางวัล" ในชื่อเรื่องที่ผมตั้ง ไม่ได้หมายถึงบรรดารางวัลเหล่านี้นะครับแต่หมายถึงรางวัลแห่งชีวิต ที่ พโรสต์ ได้รับจากคุณธรรมและคุณงามความดี ความสุขที่ได้รับจากการได้ปลดทุกข์ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เขาน่าจะมีเกือบทุกสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปใฝ่ฝัน ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของชายใจบุญผู้นี้ ดูจากสีหน้าที่บ่งบอกถึงความเป็นคนใจดี รูปร่างสมวัย น่าจะเป็นผู้มีสุขภาพดีคนหนึ่ง เพราะสุขภาพกาย เป็นผลส่วนหนึ่งของสุขภาพจิต จิตสะอาดงดงาม ภูมิคุ้มกันโรคย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย ไม่แน่นะครับ สมมติว่ามีการประกวดสุขภาพประธานบริหารบริษัทที่เกี่ยวกับรถยนต์ในวัยเดียวกัน พโรสต์ น่าจะติดอันดับแถวหน้า หรือถึงขั้นรับรางวัลเลยก็ได้
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งผมไม่รู้จักและไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้น ผมเลือกเรื่องนี้มาเผยแพร่ ด้วยความหวังว่า อาจจะมีเยาวชนได้อ่าน และหากมีแม้เพียงคนเดียว ที่จดจำตัวอย่างนี้ไว้เป็นแรงบันดาลใจในอนาคต และเดินตามรอยนักธุรกิจใจประเสริฐเช่นนี้ ก็คงเป็นโชคของคนไทยผู้ลำบากยากแค้นในอนาคตอีกนับสิบนับร้อยราย คุ้มค่าต่อการเขียนเรื่องนี้ที่สุดแล้ว
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ