รายงาน(formula)
เตรียมรถสู้ฝน
"ฟอร์มูลา" แนะนำวิธีง่ายๆ ในการ "เตรียมรถสู้ฝน" เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ และป้องกันปัญหาที่จะทำให้คุณต้องร้องไห้กลางสายฝน1. ยางรถยนต์ หลายคนเข้าใจว่าร่องของดอกยางมีไว้กันลื่น แต่ความจริงไม่ใช่ ดอกยางมีหน้าที่เดียว คือ ช่วย "รีดน้ำ" ให้ออกไปจากหน้ายาง การที่ล้อรถของเราสามารถส่งแรงขับเคลื่อน รวมถึงแรงเบรคลงสู่ผิวถนนได้ ต้องอาศัยแรงเสียดทานจากการกดสัมผัสกันของ 2 ตัวแปรนี้ ฉะนั้นเมื่อใดที่มีน้ำมาคั่นกลางระหว่างพื้นผิวทั้ง 2 รถของเราก็จะไถลไปบนผิวน้ำ เรียกอาการนี้ว่า "การเหินน้ำ" หรือ ไฮดรอพแลนิง (HYDROPLANING) ส่วนร่องยางถ้ามีความลึกเหลือเพียงแค่ 1-2 มม. ไม่ดีแน่ๆ ทางที่ดีควรมีร่องยางลึกอย่างน้อย 3-4 มม. จึงจะเหมาะสม และรีดน้ำได้ทันท่วงที ระยะหลังมานี้ มีคำแนะนำที่ระบาดไปทั่วโซเชียลเนทเวิร์คว่า "ไม่ควรใช้ยางรถยนต์เกิน 2 ปี" ถ้าให้สรุปอย่างห้วนๆ ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะความจริงยางไม่มีอายุที่ตายตัวแน่นอน สิ่งที่กำหนดว่าควรหรือไม่ควร ที่จะใช้ยางเส้นนั้นต่อไป มี 3 หัวข้อ คือ ความลึกของดอกยาง การชำรุดที่ส่งผลถึงโครงสร้างยาง และอายุที่ไม่ควรเกิน 6 ปีตั้งแต่เริ่มผลิต เพราะเนื้อยางจะแข็ง เกาะถนนเปียกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้ายางของคุณไม่เข้าข่าย 3 หัวข้อนี้ ก็ไม่ต้องรีบไปเปลี่ยนใหม่หรอกครับ เดี๋ยวจะเสียเงินโดยใช่เหตุ การตรวจสอบลมยาง เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ ถึงแม้จะไม่ใช่ฤดูฝน การตรวจวัดความดัน และเติมลมยางตามที่ทางผู้ผลิตกำหนด ควรทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องทำขณะที่ยางเย็น หรือจอดรถไว้นานพอ เนื่องจากจะวัดค่าได้ถูกต้องแม่นยำ แต่ถ้าจำเป็นต้องเติมขณะยางร้อนเนื่องจากเพิ่งขับรถมาจอดหมาดๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น) ให้เติมเผื่อไว้ราว 2 ปอนด์/ตรน. จากค่าที่กำหนด หรือจะใช้วิธีเติม มากกว่านั้นเล็กน้อย แล้วค่อยมาวัดและปล่อยลมออกให้พอดีตอนที่ยางเย็น ก็สุดแล้วแต่ และถ้าหากเลี่ยงการขับรถเร็วตอนฝนตกไม่ได้จริงๆ อาจต้องเติมลมเพิ่มอีก 2-4 ปอนด์ เพื่อให้ความดันลมยาง ช่วยเพิ่มแรงกดของหน้ายาง จะสามารถรีดน้ำได้ดีขึ้น คุณรู้ไหมว่า ? การเหินน้ำ คืออะไร ? การ "เหินน้ำ" หรือ ไฮดรอพแลนิง คือ การที่มีน้ำมาคั่นกลางระหว่างพื้นผิวสัมผัสของยางกับพื้นถนน จากการรีดน้ำไม่ทันของร่องยาง ที่สาเหตุมาจาก ร่องยางอาจตื้นเกินไป ปริมาณน้ำบนถนนมากไป หรือขับรถเร็วเกินไป จนไถลหรือวิ่งอยู่บนผิวน้ำ ผู้ขับที่ช่างสังเกตจะรู้สึกได้จากพวงมาลัยที่ส่งถึงมือ สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ รถหลายคันแฉลบซ้าย-ขวา เนื่องจากผู้ขับไม่ระวัง จนไม่สามารถควบคุมทิศทางของรถได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับรถบริเวณที่มีน้ำขัง ขับรถด้วยความเร็ว (ต่ำ) ที่เหมาะสม จับพวงมาลัยในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา และนั่งในท่านั่งที่ถูกต้อง เวลาใดที่ถนนลื่นที่สุด ? ขับรถบนพื้นผิวเปียกน้ำ ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ลื่นหมด แต่ช่วงเวลาที่ลื่นที่สุด มักจะเป็นช่วง 10-15 นาทีแรกหลังฝนตก ยิ่งถ้าเป็นการตกครั้งแรก หลังจากที่ไม่เคยตกมานานยิ่งแล้วใหญ่ เนื่องจากฝุ่นที่ติดอยู่บนพื้นถนนจะเปลี่ยนสภาพเป็นโคลนเลนบางๆ เคลือบบนผิวถนน ต้องรอจนกว่าฝนจะตกหนักขึ้น และชะล้างโคลนเลนออกจนหมดนั่นแหละ ความลื่นจึงจะลดลง อีกช่วงเวลาหนึ่งก็คือ ตอนที่ฝนตกเป็นระยะเวลานาน จนน้ำบนถนนเริ่มเจิ่งนอง ช่วงเวลานี้มีความเสี่ยงต่อการเหินน้ำมาก ฉะนั้นจึงควรลดความเร็วลง ระมัดระวัง และมีสติในการขับ 2. ใบปัดน้ำฝน เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน และแดดแรง การจอดรถตากแดดนานๆ ซึ่งหลายคนมักเลี่ยงไม่ค่อยได้ ถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เนื้อยางของใบปัดน้ำฝนแข็งจนขาดความยืดหยุ่น ไม่อ่อนพลิ้วสอดรับกับความโค้งของกระจก ถ้าเจออย่างนี้ควรเปลี่ยนใหม่ได้เลย การตรวจสภาพยางของใบปัดน้ำฝนไม่ได้ดูที่เนื้อยางอย่างเดียว ว่ายังไม่แข็งกรอบ หรือฉีกขาด ต้องดูที่ความสามารถในการกวาด และการรีดน้ำที่ผิวกระจกด้วยว่าเกลี้ยงพอหรือไม่ ถ้าลองเอายางใบปัดน้ำฝนมาส่องดูด้วยแว่นขยาย จะเห็นว่า "คม" ของมันมีลักษณะเป็นมุมฉาก แต่ละมุมจะทำหน้าที่กวาดน้ำไปทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้ารูปทรงผิดเพี้ยนไปจากนี้ จะไม่สามารถกวาดน้ำได้เกลี้ยง ก็สมควรต้องเปลี่ยนเสียที อย่าใช้ใบปัดตอนกระจกแห้ง ! บางคนใช้ใบปัดน้ำฝนตอนกระจกแห้ง เพื่อปัดฝุ่น หรือไล่เด็กเช็ดกระจกตามแยกไฟแดง การทำอย่างนี้ไม่กี่ครั้ง คมของมันก็สึกหรอมหาศาลแล้ว ถ้าจะปัดฝุ่นออกจากกระจกต้องฉีดน้ำใส่กระจกก่อนทุกครั้ง โดยรถทุกคันจะมีปั๊มฉีดน้ำ ซึ่งเมื่อฉีดน้ำแล้ว ใบปัดน้ำฝนจะทำงานเองอย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ ต้องผสมสารทำความสะอาดในน้ำฉีดกระจกไหม ? ไม่ต้องก็ได้ แต่เติมก็ดี การไม่เติมสารทำความสะอาดผสมเข้าไป ก็สามารถใช้งานได้ปกติ และไม่มีต้นทุน แต่ถ้าเติมสารเหล่านี้ ก็จะช่วยชะล้างคราบไขมันจากแมลง ยางมะตอย และสิ่งสกปรกต่างๆ ได้ดีกว่า แถมยังช่วยหล่อลื่น ถนอมยางใบปัดน้ำฝนไม่ให้สึกหรอเร็วเกินควร แต่ทั้งนี้สารทำความสะอาดต้องมีคุณภาพดีพอ ใครจะซื้อใช้ต้องตรวจดูให้ดี ใช้แวกซ์เคลือบกระจกด้วย ดีไหม ? ถ้าอยู่ในช่วงหน้าฝน แนะนำให้ใช้แวกซ์เคลือบจะดีกว่า เพราะเวลาที่ฝนตก น้ำฝนจะจับตัวกับผิวกระจก ถ้ามองจากภายในรถเราจะเห็นเหมือนหยดน้ำมากมายบนกระจก ทำให้ต้องใช้ใบปัดน้ำฝนปัดออกอยู่ตลอดเวลา การใช้แวกซ์เคลือบผิวกระจก จะทำให้น้ำฝนไม่จับตัวบนผิวกระจก น้ำฝนจะไหลออกจากกระจกอย่างรวดเร็วตามความเร็วของรถ แถมวิ่งเร็วๆ น้ำฝนจะไหลไปเองโดยไม่ต้องใช้ไปปัดเลย ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยได้เยอะ 3. ไฟส่องสว่าง หัวข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตกหนักจนมองอะไรไม่ค่อยเห็น ไฟส่องสว่างนี้ นอกจากจะเป็นจุดสังเกตให้รถคันอื่นเห็นเราแล้ว ยังเป็นไฟสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนทิศทางที่เราต้องการไป ดังนั้นหน้าฝนนี้ เราควรตรวจสอบไฟให้พร้อม ตั้งแต่ ไฟหรี่ ไฟหน้าทั้งสูง และต่ำ ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟถอยหลัง ไฟส่องป้ายทะเบียน และไฟตัดหมอก(ถ้ามี) อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ทิศทางลำแสงของไฟหน้า รถหลายคันแม้เป็นไฟต่ำก็ยังแยงเข้าตาเหมือนไฟสูง เดือดร้อนรถที่วิ่งสวนทางมา บางคนเห็นว่าฝนตกหนักมาก กลัวว่าเปิดไฟต่ำแล้วรถคันอื่นจะมองเห็นรถตนเองไม่ชัดเจน จึงเปิดไฟสูง ไม่ต้องหรอกครับ เพราะเมื่อวิ่งเข้าไปใกล้ๆ แสงจะไปทิ่มตารถคันที่สวนมาจนตาพร่า ลำพังฝนตกหนักก็มองไม่ค่อยจะชัดอยู่แล้ว ฉะนั้นเปิดแค่ไฟต่ำก็เพียงพอครับ เลิกเปิดไฟฉุกเฉินได้แล้ว ! ใครที่ยังคิดว่าฝนตกหนักต้องเปิดไฟฉุกเฉิน เลิกเสียทีเถอะครับถ้าไม่อยากตกยุค เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาเปิดกันแล้ว ยิ่งในโลกโซเชียลด้วยแล้ว มีการรณรงค์ไม่ให้เปิดกันยกใหญ่ ใครที่ยังเปิดอยู่จะกลายเป็นตัวตลกและตัวอันตรายในทันที การเปิดไฟฉุกเฉินนอกจากจะทำให้ผู้อื่นตาลายแล้ว ยังทำให้ผู้ที่ขับตามมาแยกไม่ออกว่านี่คือรถที่จะ "จอดเสีย" หรือ "กำลังวิ่งอยู่" บางคันก็เปลี่ยนเลนไปมาทั้งที่เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินอยู่ แบบนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ ไฟตัดหมอก อาจไม่ตรงชื่อนัก เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีหมอกให้ไฟมาตัดสักเท่าไร แต่จะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อฝนตกหนักมากจนมองไม่เห็นทาง รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เดี๋ยวนี้รถยุคใหม่มักจะติดตั้งไฟตัดหมอกมาให้จากโรงงานทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ทั้งสองด้านมีจุดประสงค์เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นรถของเราในขณะมีทัศนวิสัยไม่ดี จึงไม่ควรเปิดพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะไฟตัดหมอกหลัง เพราะมันไปเข้าตาผู้ขับรถตามหลังเข้าอย่างจัง จะพานหงุดหงิดกันเปล่าๆ 4. ระบบห้ามล้อ ระบบนี้ประสิทธิภาพมักลดลงทุกครั้งเมื่อเจอน้ำ ฉะนั้นจึงหมั่นตรวจสอบระดับน้ำมันเบรคอยู่เสมอ ถ้าน้ำมันจากใสๆ กลายเป็นสีดำคล้ำแล้ว ก็สมควรเปลี่ยนใหม่ ที่สำคัญ อย่าลืมดูสายอ่อนเบรค ที่หลายคนมักมองข้ามด้วย เพราะอาการห้ามล้อแล้วดึงซ้ายหรือขวา ไม่ได้มาจากการรั่วซึม หรือฉีกขาดเพียงอย่างเดียว ถ้าสายอ่อนบวม ก็จะทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน เนื่องจากแรงดันน้ำมันเบรคในระบบลงไปสู่ลูกสูบเบรค แต่ละล้อไม่เท่ากัน โดยอาการดึงจะเกิดขึ้นจากล้อฝั่งที่เบรคจับเร็วกว่า เมื่อถนนเปียกลื่น การห้ามล้อจะใช้ระยะทางมากกว่าบนพื้นผิวที่แห้ง รวมทั้งเสี่ยงต่อการเสียหลัก ลื่นไถล แม้จะมีสารพัดระบบช่วย เช่น เอบีเอส อีบีดี หรือ อีเอสพี ก็ตาม การขับรถหน้าฝนจึงควรทิ้งระยะจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ และลดความเร็วลงเพื่อให้มีระยะในการหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ต้องทำอะไร หลังลุยฝน ? ความชื้นพิฆาตเบรค คงเคยได้ยินคำว่า ลูกสูบเบรคหรือแม่ปั๊มเบรคเป็นตามด หรือเป็นสนิมมาบ้าง สาเหตุมาจากความชื้นสะสม เพราะน้ำมันเบรคจะดูดไอน้ำตลอดเวลา หากทิ้งไว้นาน บางครั้งเสียหายถึงกับต้องเปลี่ยนลูกสูบ หรือแม่ปั๊มทั้งชุด จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรคใหม่เพื่อป้องกันสนิมในวงจร ส่วนระบบเบรคดุม ควรถอดออกมาตรวจสอบสนิม และหล่อลื่นด้วยจารบี ป้องกันเบรคติดขัด เชคลูกปืนล้อพร้อมกันเลย รถหลายรุ่น มีการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนจาระบีลูกปืนล้อ แต่แม้ยังไม่ถึงกำหนด หากคุณต้องตรวจ สอบเบรคอยู่แล้ว ก็น่าจะให้ช่างเปลี่ยนจาระบีลูกปืนล้อไปเสียทีเดียว เพื่อป้องกันสนิม ซึ่งเป็นสาเหตุ ทำให้ลูกปืนเสียหาย และความรำคาญใจจากเสียงดังยามที่ล้อหมุน อ้อ...ถ้าลุยน้ำขังสูงมากๆ และบ่อยครั้ง อย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ และน้ำมันเฟืองท้าย เพราะหากน้ำเข้าไปปะปน ก็จะหมดคุณสมบัติในการหล่อลื่น ฟันเฟืองจะสึกอย่างรวดเร็วมาก ราคาค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน เทียบไม่ได้กับการ ซ่อมเกียร์ที่ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทแน่ๆ 5. ระบบไฟจุดระเบิด ใครที่ใช้รถรุ่นเก่า และเคยขับรถลุยน้ำท่วมลึกๆ แล้วเครื่องดับคงเข้าใจดี เพราะคุณจะต้องเปิดประตูออกมาจนน้ำทะลักเข้ารถ เดินลุยน้ำท่วม ทิ้งรถไว้ รอให้น้ำลดแล้วให้ช่างมาตรวจสอบ เกือบร้อยทั้งร้อยมักจะเป็นที่การลัดวงจรของระบบไฟจุดระเบิด แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดน้ำยาอเนกประสงค์ (ครอบจักรวาล) ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อในท้องตลาด ฉีดทิ้งไว้ในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น คอยล์ จานจ่าย สายหัวเทียน และกล่องควบคุมอีเลคทรอนิคส์ รวมทั้งจุดเชื่อมสายไฟต่างๆ ช่วยลดการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ แต่หากเครื่องยนต์เกิดดับขณะลุยน้ำท่วม ให้เข็นรถไปจอดในที่แห้ง และใช้สเปรย์ไล่ความชื้น ที่คุณมีติดรถไว้แล้ว ถอดปลั๊กคอยล์ หรือจานจ่ายออกมา ใช้ทิสชูซับน้ำออก แล้วฉีดน้ำยา บริเวณที่เกี่ยวข้อง ทิ้งไว้สักครู่ ประกอบกลับเข้าไปตามเดิม แบบนี้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ง่ายๆ แต่ได้ผล ไม่ว่ารถใหม่ หรือเก่าอย่างไร ก็มีสิทธิ์ดับกลางน้ำได้ทั้งนั้น ลองใช้วิธีง่ายๆ โดยน้ำถุงมือยาง มาตัดปลายออก แล้วครอบจานจ่ายหรือคอยล์ไว้ เพื่อป้องกันน้ำกระเด็นมาโดน ถ้าตรวจสอบสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างสมบูรณ์แล้ว "ฟอร์มูลา" เชื่อว่า ไม่ว่าจะเจออีกกี่ร้อยฝน คุณก็สุขใจได้ในรถของคุณ
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)