รู้ลึกเรื่องรถ
เดินหน้าอีกหนึ่งก้าว ของยานยนต์ไร้คนขับ
หากถามผู้อ่านว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับ (AUTONOMOUS VEHICLES) คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ คำตอบที่ได้อาจจะเป็นว่า “น่าเบื่อ” หรือ “ไร้สาระ” และเหมาะกับการนำไปเขียนในวารสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากกว่า เพราะผมเชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่นั้นต่างคลั่งไคล้เสียงคำรามของเครื่องยนต์ และชื่นชอบประสบการณ์การขับขี่ที่เร้าใจของรถยนต์สมรรถนะสูง และยังเชื่อกันว่า “มนุษย์” สามารถตัดสินใจได้ดีกว่าสมองกล หากเป็นเรื่องของการขับรถไม่น่าแปลกใจว่ามีการสำรวจความคิดเห็นเรื่องความมั่นใจของการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 1,600 คน พวกเขาประสงค์ที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์ที่วิ่งได้โดยไม่มีคนขับหรือไม่ ผลคือ คนส่วนใหญ่ยังกังวลที่จะเดินทางไปกับยานยนต์ไร้คนขับ โดยมากกว่าร้อยละ 90 ต้องการให้รถยนต์ยังคงมีพวงมาลัย แป้นเบรค และคันเร่งอยู่ แม้มันจะสามารถวิ่งได้โดยไม่มีคนขับก็ตาม ความวิตกกังวลในเรื่องนี้มาจากความไม่คุ้นเคย และเทคโนโลยีที่ยังไม่ตกตะกอนนั่นเอง หากมองย้อนไปในอดีตช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ของสหัสวรรษที่แล้ว ในสหราชอาณาจักรปี 1865 นั้นได้มีการออก พรบ. สำหรับรถจักร (LOCOMOTIVE ACT) เพื่อใช้สำหรับยานพาหนะที่ไม่ได้เทียมด้วยสัตว์ โดยกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 4 ไมล์/ชั่วโมง (6.4 กม./ชม.) และในเขตเมืองให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 2 ไมล์/ชั่วโมง (3.2 กม./ชม.) นอกจากนั้นยังต้องมีคนโบกธงแดงเดินนำหน้ายานพาหนะ เพื่อให้คนเดินถนนทั่วไปได้รับรู้ถึงการมาของ “ยานพาหนะ” ชนิดใหม่ที่ไม่มีม้า นึกแล้วก็น่าขบขัน แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นช่วงเวลา 50 ปี ก่อนที่เราจะมีรถยนต์ราคาประหยัดอย่าง ฟอร์ด โมเดล ที ที่ช่วยทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์เป็นสิ่งที่แพร่หลายและจับต้องได้ ยุคนั้นพลังที่ใช้ขับเคลื่อนมาจากพลังไอน้ำที่ใช้ถ่านหินในการต้มน้ำ ภาพที่คนในเวลานั้นเห็น คือ ความเชื่องช้า น่าสะพรึงกลัว และหายนะจากการระบบไอน้ำที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง นอกจากนั้นเสียงและควันยังนำมาซึ่งความตื่นตระหนกของม้าซึ่งเป็นพาหนะหลักในเวลานั้นอีกด้วย ปัจจุบันรถยนต์ของพวกเราไม่ต้องมีธงแดงนำหน้าแล้ว และทำความเร็วได้อย่างเหลือเชื่อหากเทียบกับในอดีต แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากการขับขี่ยานพาหนะมาแล้วนับไม่ถ้วน หากจะว่ากันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์และจักรยานยนต์ ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ยังคงไม่สมบูรณ์แบบ เพราะมีคนตายทุกวัน แต่พวกเราเลือกที่จะยอมรับความเสี่ยงนั้น โดยคิดเอาว่ามันเป็นเรื่องสามัญนั่นเอง ได้มีความพยายามมากมาย ในการพัฒนายานพาหนะให้สามารถวิ่งได้เองโดยไร้คนขับ อาทิ ระบบจอดรถอัตโนมัติที่เริ่มเห็นมากขึ้นในรถหลายบแรนด์ ไปจนถึง ระบบออโทไพลอท (AUTO PILOT) ของ เทสลา ซึ่งทำงานด้วยกล้องและเรดาร์ แต่จะว่ากันจริงๆ แล้วก็เหนือกว่าระบบป้องกันการขับออกจากช่องทาง (LANE KEEPING ASSIST) ไม่มากนัก หรือที่พัฒนาให้เหนือชั้นขึ้นอีกระดับ คือ ยานยนต์ไร้คนขับของ กูเกิล (GOOGLE SELF-DRIVING CAR) ที่มีหน้าตาคล้ายหมีโคอลา แต่ระบบของกูเกิลนั้นปัจจุบันสามารถพูดได้ว่าผ่านการทดลองมาแล้ว รวมมากกว่า 1.5 ล้านไมล์ (มากกว่าระยะทางจากโลกไปดาวพุธ) ในการทดลองพบว่าเกิดอุบัติเหตุน้อยครั้งมาก (มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ เลกซัส ซึ่งติดตั้งระบบขับด้วยตนเองของกูเกิล โดนรถประจำทางชนจากด้านข้าง เพราะทำการเปลี่ยนเลนเพื่อหลบสิ่งกีดขวางบนถนน) แต่ในภาพรวมนั้นมีเหตุให้มนุษย์ต้องทำการขับแทนระบบคอมพิวเตอร์รวมแล้ว 341 ครั้ง และ 272 ครั้ง เป็นปัญหาจากการทำงานผิดพลาดของเทคโนโลยี แต่มีเพียง 13 ครั้งเท่านั้นที่สามารถนำมาสู่โอกาสที่จะเป็นอุบัติเหตุได้ หากเทียบกับระยะทางรวมกว่า 1.5 ล้านไมล์แล้ว เพียง 13 ครั้ง ก็ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับที่เป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในอีกหลากหลายรูปแบบ และมีการเปิดให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการใช้งาน เพื่อเก็บข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย อาทิ โครงการเกทเวย์ (GATEWAY) ที่ย่อมาจาก โครงการสิ่งแวดล้อมเพื่อระบบขนส่งอัตโนมัติแห่งเมืองกรีนิช หรือ (GREENWICH AUTOMATED TRANSPORT ENVIRONMENT PROJECT) ที่จัดให้บริการประชาชนในย่านกรีนิช ในตะวันออกเฉียงใต้ของมหานครลอนดอน โดยเป็นความร่วมมือของบริษัทในสหราชอาณาจักร 3 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ เวสต์ฟีลด์ สปอร์ทคาร์ส (WESTFIELD SPORTCARS) รับผิดชอบเรื่องการผลิตตัวถัง, ฮีธโรว์ เอนเตอร์พไรซ์ (HEATHROW ENTERPRISE) รับผิดชอบเรื่องซอฟท์แวร์ และออกซ์โบทิคา (OXBOTICA) เป็นฝ่ายวิจัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ แผนที่ และรวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยยานพาหนะที่ใช้ในโครงการเกทเวย์ได้ถูกใช้งานมาก่อนหน้านี้แล้วในสนามบินฮีธโรว์ ในฐานะยานพาหนะรับส่งผู้โดยสาร โดยผ่านการวิ่งใช้งานรับผู้โดยสารมาแล้วกว่า 1.5 ล้านคน รวมระยะทางวิ่งแล้วกว่า 3,000,000 กิโลเมตร ในทางวิ่งระบบปิด แต่สำหรับการนำมาใช้ในโครงการเกทเวย์นี้ มันจะต้องสามารถนำผู้โดยสาร 6 คนวิ่งไปบนพื้นที่ๆ ใช้งานร่วมกับ คนเดินถนน สัตว์เลี้ยง และจักรยาน โดยจำกัดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 15 กม./ชม. แต่หากสิ่งที่เห็นนั้นยังไม่ชวนให้เชื่อมั่นในยานยนต์ไร้คนขับ คงต้องจับตาดูการมาถึงของการแข่งขันยานยนต์ไร้คนขับความเร็วสูง รายการโรโบเรศ (ROBORACE) ซึ่งฤดูกาลแรกนั้นจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา การแข่งโรโบเรศนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งรถไฟฟ้า ฟอร์มูลา อี หรือรายการรถสูตรหนึ่งสำหรับรถไฟฟ้า ซึ่งการแข่งที่จัดขึ้นทั่วโลกนั้นจะเป็นการแข่งขันในรูปแบบปิดเมืองแข่ง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก อาทิ ฮ่องกง ปารีส เบร์ลิน ลอนดอน และนิวยอร์ค เป็นต้น หัวใจของการควบคุมรถ คือ ซูเพอร์คอมพิวเตอร์ จากค่าย NVIDIA รุ่น DRIVE PX2 ซึ่งมีสมรรถนะระดับเกินเอื้อมของคนทั่วไป สามารถทำการคำนวณได้ 24 ล้านล้านครั้ง/วินาที เพื่อรองรับข้อมูลมหาศาลของระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องควบคุมรถแข่งที่วิ่งด้วยความเร็วระดับ 300 กม./ชม. ต้องทำการหลบเลี่ยงอุบัติเหตุ และหาเส้นทางที่รวดเร็วที่สุด โดยแต่ละทีมที่แข่งกันนั้นจะได้รับรถที่เหมือนกันทุกประการ แต่สามารถพัฒนาซอฟท์แวร์ได้เอง ทั้งด้านการควบคุมบังคับรถ และการบริหารพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ ซึ่งนี่ก็คือ แนวทางของโลกยานยนต์แห่งอนาคต ดังที่เรารับรู้กันมานานแล้ว จากการที่นักทูนรถสมัยใหม่ต่างก็ต้องเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ด้วยกันทั้งสิ้นนั่นเอง การแข่งขันรายการโรโบเรศ น่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาซอฟท์แวร์สำหรับยานยนต์ไร้คนขับได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อย้อนกลับมาดูสิ่งที่เรายังกังวลอยู่ในวันนี้ว่า “คอมพิวเตอร์กับคนใครเชื่อถือได้มากกว่ากัน” คนรุ่นใหม่ในวันนั้นที่เติบโตมากับยานยนต์ไร้คนขับอาจสงสัยว่า คนในยุคของเรานี้ทนขับรถด้วยตัวเองกันอยู่ได้อย่างไร เหมือนกับที่เด็กยุค 4 จี ไม่เข้าใจเรื่องโลกก่อนในยุค มือถือ และอินเตอร์เนท และเชื่อได้ว่าเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ เราคงไม่ต้องบ่นกับการที่เจอคนขับรถชิดขวาลอยชายเนิบนาบบนทางด่วน เพราะยานยนต์ไร้คนขับจะวิ่งอย่างมีระเบียบแบบแผน ผู้โดยสารสามารถปล่อยอารมณ์ไปกับสิ่งที่ตัวเองเพลิดเพลินได้ตามใจชอบ และถึงที่หมายในเวลาที่รวดเร็วกว่าเดิม เพราะรถที่ใช้ในถนนร่วมกันจะสื่อสารถึงกันผ่านทางเครือข่ายไร้สาย สามารถวิ่งต่อท้ายกันได้แนบชิด โดยไม่ต้องกลัวชนท้ายกัน และหวังว่าจะไม่ขอเจอะเจอแทกซีที่บอกเราว่า แกสไม่พอ, ส่งรถ หรือพาอ้อมโกงค่าโดยสารอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจะเป็นการสั่งงานแบบดิจิทอลเนทเวิร์คที่แม่นยำและปลอดภัย รวมไปถึงอิสรภาพแห่งการเดินทางจะเป็นไปได้สำหรับคนทุกคน ไม่จำกัดเพศ วัย หรือความสามารถทางร่างกาย เพราะไม่ว่าคุณจะมีความบกพร่อง หรือพิการ ทั้งทางสายตา หรือการเคลื่อนไหว คุณก็ยังมีอิสรภาพที่จะเดินทางได้อย่างอิสระ และปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น เชื่อเถอะว่า แม้ในวันนี้หากเราเห็นรถยนต์ที่วิ่งได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคนขับ อาจจะรู้สึกขนพองสยองเกล้า กลัวจะขับรถไปชน แต่ในอีกไม่นานในอนาคต คนทั่วไปอาจจะรู้สึกขนลุกถ้าเห็นลุงๆ ป้าๆ (ที่กำลังอ่านนิตยสารเล่มนี้อยู่) เอารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในคันเก่งออกไปวิ่งร่วมกับยานยนต์ไร้คนขับซะมากกว่า แต่กว่าจะถึงวันนั้น อยากจะให้ลองติดตามชมการแข่งรายการโรโบเรศกันก่อน เพราะเชื่อว่า นี่คือ ชนวนการเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองยานยนต์ไร้คนขับอย่างแน่นอน !?!
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ