MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE VI
หลายฉบับที่ผ่านมา เราได้อ่านเรื่องราวและประสบการณ์ของปรมาจารย์นักออกแบบรุ่นเก๋า ผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับตำนานมาตั้งแต่สมัยผู้อ่านยังวัยละอ่อน หรือยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำไป รวมถึงนักออกแบบหนุ่มใหญ่ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบซูเพอร์คาร์ ที่มาพร้อมเส้นสายระดับขั้นเทพ สำหรับฉบับนี้จะขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับ โรแบร์โต โจลีโต (ROBERTO GIOLITO) นักออกแบบ และ “นักคิด” หัวหน้าทีมออกแบบของ เฟียต คนปัจจุบันงานครั้งที่ผ่านมาทางผู้จัดฯ เน้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้อิ่มเอมไปกับการพบตัวตนของผู้สร้างตำนานหลายต่อหลายท่าน จนกระทั่งเกือบสุดท้ายของการบรรยาย ก็ถึงคิวของ โรแบร์โต โจลีโต และด้วยความสัตย์จริงของผู้เขียนขอบอกว่าไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเขามาก่อน แต่พอสิ้นสุดการบรรยายต้องบอกว่า เขาคนนี้คือ “นักปรัชญา” ของวงการการออกแบบรถยนต์ของอิตาลีรุ่นใหม่อย่างแท้จริง โรแบร์โต โจลีโต หนุ่มใหญ่วัย 54 ปี ดูนุ่มนวล และยิ้มง่าย แต่แฝงไว้ด้วยท่าทางของปราชญ์ผู้คงแก่เรียน และดูสบายๆ กับการพูดในที่สาธารณะ เขาเล่าว่าจบการศึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL DESIGN) ไม่ได้เป็นช่างปั้น หรือจบด้านการออกแบบรถยนต์โดยตรง และเป็นลูกหม้อของ เฟียต ตัวจริง เพราะทำงานออกแบบอยู่กับ เฟียต มาตั้งแต่ปี 1989 ยังไม่เคยย้ายไปไหนเลย สำหรับ โจลีโต อิทธิพลของงานออกแบบในอดีต และผู้คนที่อยู่รอบตัวนั้น มีส่วนอย่างมากในการทำให้โจลีโต เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดในปรัชญาโมเดิร์น ที่มุ่งหวังให้เกิดความเสมอภาคกันของประชาชนผ่านทางการออกแบบที่ดี ไม่ว่าจน หรือรวย ก็สามารถเป็นเจ้าของคุณภาพชีวิตที่ดีได้ (DESIGN THAT IMPROVING CONDITION OF PEOPLE) อาทิ งานสถาปัตยกรรมของ เลอ กอร์บูซิแอร์ (LE CORBUSIER) ไปจนถึงงานออกแบบที่กระตุ้นเร้ามวลชนด้วยสีสันและลวดลายที่สนุกสนานของยุคโพสต์ โมเดิร์น (POST MODERNISM) ตัวอย่างเช่น งานของผู้เฒ่า เอตโตเร โซตต์ซาสส์ (ETTORE SOTTSASS) หากจะกล่าวถึงนักออกแบบรถยนต์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของ โจลีโต มีด้วยกันอยู่ 2 คน คนแรกนั้นคือ ปรมาจารย์แห่งการออกแบบรถยนต์อิตาเลียน ดังเต กีอาโกซา (DANTE GIACOSA) ผู้รังสรรค์รถในตำนานอย่าง เฟียต โตโปลีโน (FIAT TOPOLINO) (คนไทยเรียกติดปากว่า “เฟียตหนู” เพราะ โตโปลีโน นั้นเป็นชื่อเรียกตัวการ์ตูนหนู มิคคี เมาส์ ของคนอิตาเลียน) เฟียต 500/600 รุ่นดั้งเดิม และอีกหลายต่อหลายรุ่น ส่วนอีกคนหนึ่งนั้นไม่ใช่ชาวอิตาเลียน แต่เป็นคนอเมริกัน นั่นคือ คริส เบงเกิล (CHRIS BANGLE) ซึ่ง โจลีโต เคยร่วมงานด้วยในฐานะลูกทีม ยุคก่อนที่ เบงเกิล จะไปร่วมงานกับ บีเอมดับเบิลยู ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่า แนวทางและความคิดของ โรแบร์โต โจลีโต ช่างลึกซึ้งและมีวิสัยทัศน์ สมกับเป็นผู้ที่เคยร่วมงานกับ คริส เบงเกิล หนึ่งในรถที่เขาได้ทำร่วมกับ คริส เบงเกิล คือ รถยนต์สำหรับมหานครที่มีแนวคิดสุดล้ำ เฟียต ดาวน์ทาวน์ (FIAT DOWNTOWN) ไมโครคาร์คันจิ๋ว ในปี 1993 ที่โดดเด่นด้วยแนวคิดตัวถังทรงสูงและที่นั่ง 3 ตัวเคียงกัน ตำแหน่งของผู้ขับวางให้อยู่ในตำแหน่งกลาง และเพื่อให้การก้าวเข้าหาที่นั่งคนขับทำได้สะดวก นักออกแบบได้ออกแบบให้พื้นรถด้านซ้ายและขวาต่อเนื่องเป็นส่วนเดียวกับแผงข้างประตู รวมถึงการออกแบบให้ดวงโคมไฟหน้านั้นอยู่สูงใกล้กับเสาเอ ซึ่งช่วยให้ดวงโคมซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีราคาแพงอยู่รอดปลอดภัยจากการกระทบกระทั่งในเมือง เฟียต ดาวน์ทาวน์ ถือเป็นนวัตกรรมการออกแบบ และเป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจให้รถอีกรุ่นที่ตามมา นั่นคือ รถยนต์อเนกประสงค์ เฟียต มัลติปลา (FIAT MULTIPLA) ปี 1998 รถที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในคอลเลคชันถาวรของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MOMA) แห่งมหานครนิวยอร์ค นั่นแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเขาในฐานะ “นักคิด” และ “นักออกแบบอุตสาหกรรม” เพราะ เฟียต มัลติปลา อัดแน่นไปด้วยไอเดียใหม่ๆ มากมาย อาทิ ที่นั่ง 6 ตัว ที่เป็นอิสระจากกัน และแทนที่จะเรียง 3 แถวแบบปกติ ก็ออกแบบให้เรียงเพียง 2 แถว ทำให้ตัวรถสั้นเป็นพิเศษ รวมถึงการออกแบบให้กระจกบานข้างของรถมีขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกโอ่โถงและโปร่งมาก เมื่อเทียบกับ เอมพีวี ด้วยกัน รวมถึงแนวคิดของแดชบอร์ดที่ได้มาจากรูปแบบการจัดโต๊ะทำงาน เขามีแนวคิดว่า มันจะตลกแค่ไหนถ้าเรานำของทุกอย่างบนโต๊ะทำงาน ไม่ว่าจะเป็น โคมไฟ คอมพิวเตอร์ หนังสือ พัดลม ถ้วยกาแฟ ฯลฯ มาวางเรียงเป็นเส้นตรง ผลที่ได้ คือ แดชบอร์ดที่มีการวางอุปกรณ์ต่างๆ ลดหลั่นกันไปอย่างสนุกสนาน แต่น่าเสียดายที่ เฟียต มัลติปลา สำหรับคนทั่วไปแล้วมันคือ รถสุดอัปลักษณ์ในสายตามหาชน (น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ คริส เบงเกิล ต้องย้ายที่ทำงานนั่นเอง) เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ โจลีโต ก็ยังยืนยันว่าบทบาทของนักออกแบบในการค้นหาคำตอบใหม่ๆ ที่จะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ยังเป็นสิ่งที่เขาคลั่งไคล้ และย้ำอยู่เป็นระยะว่า หากเราเริ่มต้นออกแบบด้วยการสเกทช์กระจังหน้า แล้วตามด้วยเส้นสายสวิงสวายที่สวยงามตามมา มันคงเป็นงานออกแบบที่สวยแต่ไร้คุณค่า ดังนั้นการออกแบบรถขนาดเล็กที่คนส่วนใหญ่พึงพอใจ ก็ยังคงเป็นความหลงใหลของ โจลีโต อยู่เสมอมา และนั่นเป็นต้นกำเนิดรถที่สร้างชื่อเสียงให้กับ โจลีโต อย่างแท้จริง นั่นคือ รถแนวคิด เฟียต ตเรปิอูโน (FIAT TREPIUNO) ในปี 2004 รถที่เขานิยามให้กับ เฟียต ว่า LOGIC+MAGIC หรือการรวมกันของสมองสองซีก โดยใช้ชื่อว่า 3+1 หมายถึง รถที่ผู้ใหญ่นั่งได้ 3 คน และถ้าจำเป็นก็แถมได้อีก 1 คน ด้วยการออกแบบให้ลิ้นชักแดชบอร์ดพับเก็บได้ และด้วยแนวคิดที่โดดเด่นที่ว่า “มันไม่สำคัญว่ารถของคุณคันใหญ่แค่ไหน ชีวิตของคุณต่างหาก ที่ใหญ่แค่ไหน” เพราะนี่คือ รถเล็กที่เปี่ยมไปด้วยบุคลิกภาพนั่นเอง ไม่น่าแปลกใจว่ารถคันนี้ได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้น จนได้รับการผลิตออกมาในชื่อ เฟียต 500 ในปี 2007 และเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2016 รถรุ่นนี้ก็ยังคงได้รับความชื่นชมจากคนรักรถอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย และยังแตกลูกแตกหลานออกมาอีกหลายรุ่น อาทิ เฟียต 500 แอล ที่เป็นรถแนวอเนกประสงค์และ เฟียต 500 เอกซ์ ที่เป็นแนวครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ความสำเร็จนี้ทำให้ โรแบร์โต โจลีโต ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมออกแบบของ เฟียต มาจนถึงทุกวันนี้ ภารกิจที่ผ่านไปแล้วของ โรแบร์โต โจลีโต คือ การเปลี่ยนบุคลิกภาพของ เฟียต เพราะในอดีตนั้น เฟียต มีรถยนต์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งหลายคันก็ดูน่าเบื่อ แต่นับจากนี้ไปความเป็น “เฟียต” คือ “ความสนุกที่ใช้งานได้ดี” (FUNCTIONAL) และ “เหตุผลที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ” (INSPIRATIONAL) นอกจากนั้น โจลีโต ยังได้ปรับนิยามของวิธีการออกแบบรถยนต์สำหรับทศวรรษต่อไป โดยมุ่งโฟคัสไปที่ผู้ใช้รถเปลี่ยนนิยามที่ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ดูเป็นวิศวกรรม มีการบังคับ มีกฎกติกา ให้มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยน “ความปลอดภัย ไปสู่ ความสะดวก” (SAFETY ---> EASINESS) หรือ “ความสบาย ไปสู่ ชีวิตที่ดีกว่า” (COMFORT ---> WELL BEING) และ “สไตล์ ไปสู่ อารมณ์” (STYLE ---> MOOD) แนวคิดนี้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม อาทิ แทนที่จะต้องนั่งคาดเข็มขัดนิรภัยเพราะกลัวอุบัติเหตุ มันจะดีกว่าไหมถ้าเมืองมีการจราจรคล่องตัว แล้วรถของเราสามารถสื่อสารกับรถคันอื่นได้อัตโนมัติ (CARS DEAL WITH CARS) ซึ่งช่วยเลี่ยงอุบัติเหตุได้อัตโนมัติ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นั่นคือนิยามของ ความสะดวก (EASINESS) สำหรับนิยามของชีวิตที่ดีกว่า ตัวอย่างเช่น เมืองที่เปิดทัศนียภาพสวยงามได้จากการที่ไม่ต้องมีป้ายจราจร รวมถึงยกเลิกที่จอดรถริมถนน และใช้พื้นที่จอดรถเดิมมาทำเป็นสวนดอกไม้ เพราะรถยนต์สามารถวิ่งไปยังที่หมาย และไปหาที่จอดได้เอง นี่คือ นิยามของ ชีวิตที่ดีกว่า (WELL BEING) ส่วนเรื่องของการปรับจาก สไตล์ ไปสู่ อารมณ์ ตัวอย่างเช่น การนำแรงบันดาลมาจากออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถกำหนดห้องโดยสารให้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบอิสระมากขึ้น หรือการนำระบบโลกเสมือนซ้อน (AUGMENTED REALITY) มาใช้ เพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองที่ได้รับจากเส้นทางเดิมๆ และอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจ คือ การออกแบบรถยนต์ที่สอดคล้องกับบริบทและบุคลิกของคนในแต่ละพื้นที่ เขาเชื่อว่าคนในแต่ละพื้นที่ของโลก ต่างก็มีมุมมองแตกต่างกัน รวมไปถึงบริบทและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น จะเป็นตัวกำหนดบุคลิกของรถยนต์ที่แตกต่างกัน จริงอยู่รถที่ออกแบบโดยใช้พื้นฐานของสังคมและค่านิยมของคนอิตาเลียน อาจจะขายได้ในหลายๆ ที่ของโลก แต่มันคงจะน่าสนใจกว่า ถ้าการออกแบบนั้นเป็นการออกแบบเพื่อภูมิภาคโดยตรง แต่ผ่าน “มุมมอง และความคิดสร้างสรรค์ของอิตาเลียน” นั่นเอง ก่อนจากกัน โรแบร์โต โจลีโต กล่าวติดตลกว่า สำหรับหลายๆ คนนั้น คำว่า FIAT (มาจากคำว่า FABBRICA ITALIANA AUTOMOBILI TORINO หรือผู้ผลิตรถยนต์อิตาเลียนแห่งเมืองตูริน) มีความหมายไม่ค่อยดี คนชอบเอาไปล้อเลียนในทางเสียหาย เช่น FIX IT AGAIN TONY ซึ่งเป็นความหมายเชิงล้อเลียนว่า เฟียต มีปัญหาต้องซ่อมบ่อย แต่ทีมงานของ โจลีโต นั้นจะเปลี่ยนทัศนคติคน ให้ยอมรับ เฟียต ในฐานะของ FINE INNOVATION AND TECHNOLOGIES หรือตัวแทนของนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นเลิศ ให้จงได้ และทุกวันนี้เราคงต้องยอมรับแล้วล่ะว่า “เขาทำได้”
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)