ฉบับนี้จะพาท่านมาพบกับวันที่ทุกคนรอคอย นั่นคือ วันที่จะได้ไปชมการปฏิบัติงานจริงของเหล่า RACE ENGINEERING และ TECHNICIAN ของทีม JAS MOTORSPORT TCR INTERNATIONAL SERIES ในวันทดสอบรถ และนักขับนอกฤดูกาลแข่งขันการทดสอบเป้าหมายหลัก คือ เพื่อทดสอบการทำงานของระบบเครื่องยนต์ ช่วงล่าง และระบบบังคับเลี้ยวให้เหมาะสมกับนักขับแต่ละคน ในสภาพภูมิอากาศแบบต่างๆ โดย อาจารย์ บรูโน แจ้งอย่างคร่าวๆ ว่า วันนี้ฝนน่าจะตก และอากาศค่อนข้างเย็น แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับทีม JAS กันก่อน JAS MOTORSPORT คือ ทีมแข่งและผู้พัฒนารถแข่งสัญชาติอิตาเลียน ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดย PAOLO JASSON, MAURIZIO AMBROGETTI, GIORGIO SCHON และได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ 1996 INTERNATIONAL TOURING CAR CHAMPIONSHIP เป็นรายการแรก ต่อมาในปี 1997 ร่วมการแข่งขันรายการ SUPER TOURENWAGEN CUP โดยใช้รถยนต์ อัลฟา โรเมโอ ถัดมาในปี 1998 ได้จับมือ ฮอนดาเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการ และเริ่มใช้รถยนต์ ฮอนดา ร่วมการแข่งขันในรายการ SUPER TOURENWAGEN CUP ในฤดูกาลปี 1998–1999, EUROPEAN TOURING CAR CHAMPIONSHIP ในฤดูกาลปี 2000-2001, 2004 และ WORLD TOURING CAR CHAMPIONSHIP โดยใช้ชื่อ CASTROL HONDA WORLD TOURING CAR TEAM และ HONDA RACING TEAM JAS ในฤดูกาลปี 2005-2006 และ 2012 ถึงปัจจุบัน ในวันทดสอบเราเดินทางไปที่สนาม CIRCUITO TAZIO NOVOLARI ทางตอนใต้ของเมืองปาวีอา ห่างจากเมืองมิลานราว 60 กม. เมื่อเดินทางมาถึงอาจารย์ บรูโน ได้อธิบายเกี่ยวกับแผนงานในวันนี้ พร้อมแนะนำให้รู้จักกับสมาชิกทีม และแผนงานมีดังต่อไปนี้ -SUSPENSION ANALYSIS IN WET WEATHER CONDITION การวิเคราะห์ ปรับตั้ง และเก็บค่าการทำงานของช่วงล่าง เพื่อนำไปใช้ในสนามต่างๆ ที่มีสภาพใกล้เคียงกัน รวมทั้งใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อแก้ปัญหาและออกแบบรถแข่งในอนาคต -ENGINE ANALYSIS IN WET AND COLD WEATHER CONDITION การวิเคราะห์ และเก็บค่าการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อทดสอบการทำงานของเครื่องยนต์ในสภาวะอากาศชื้น และหนาวเย็น -STEERING WHEEL RESPONSE SETTING การปรับการตอบสนองของพวงมาลัยให้เหมาะกับนักขับแต่ละคนในสนามรูปแบบต่างๆ ขณะที่เดินทางไปถึงสนาม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเชครถก่อนซ้อม และสังเกตเห็นว่าการทำงานของทีมงานที่ใส่ใจในรายละเอียดทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบมุมล้อ ต้องเป๊ะ ระดับจุดทศนิยม จุดยึดต่างๆ ระบบอีเลคทรอนิคส์ ระบบสื่อสาร ช่วงล่าง เบรค และเครื่องยนต์ รวมถึงการชั่งน้ำหนักเพื่อเชคความสมดุล เพราะหากน้ำหนักลงล้อใดล้อหนึ่งซึ่งต่างจากเดิม ย่อมหมายถึงความสมดุลที่เปลี่ยนแปลงไป หลังตรวจเชคเสร็จก็ถึงเวลา การนำรถลงซ้อม โดยนักขับคนแรก เมื่อขับวอร์มจนได้ที่ ก็เกิดปัญหาเล็กๆ ที่หาได้ยากในเมืองไทย นั่นคือ อุณหภูมิเครื่องยนต์เย็นเกินไป ซึ่งทางทีมก็ได้ทำการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยการนำเทปผ้าแบบเหนียวพิเศษมาติดบริเวณช่องรับลมก็เป็นอันสำเร็จ และอีกอาการที่นักขับแจ้ง คือ พวงมาลัยตอบสนองช้า โดยหลังจากทางทีมงาน ได้พูดคุยสอบถามเรียบร้อยก็ได้มีการปรับแก้มุมแคสเตอร์ และเซทพวงมาลัยจนนักขับพอใจ จากนั้นช่วงเวลาทดสอบของนักขับคนถัดมา ฝนได้ตกลงมาทำให้สนามเปียกลื่น โดยมีรถที่กำลังซ้อมบางคัน ที่ไม่ได้เปลี่ยนยางสำหรับทแรคเปียก หมุนกันไปหลายคัน โดยทีมงานได้ปรับตั้งกันโคลงก่อนลงไปซ้อม เพื่อลดการตอบสนองของช่วงล่างด้านหน้า เพราะบนทแรคเปียก ถ้าช่วงล่างทำงานเร็วเกินไป จะส่งผลให้รถเสียอาการได้ง่าย หลังจากชมการซ้อม และเก็บข้อมูลรถทั้ง 2 คัน สิ้นสุดลง เป็นวันอันแสนสุขของพวกเราพอดี ฉบับหน้าพบกับนักแข่งรถ ฟอร์มูลา วัน และนักแข่งแรลลีชิงแชมพ์โลก ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ใน MASTER RACE ENGINEERING แต่จะเป็นใครนั้นต้องติดตาม