หลังจากได้เกาะติดการทำงานของ RACE ENGINEER กันอย่างใกล้ชิดถึงริมขอบสนามแข่งแล้ว หลายท่านอาจสงสัยว่า รถแข่งขันแต่ละคัน มีส่วนประกอบแค่ที่เราได้ทำการปรับตั้งค่ากันในสนามแข่งเท่านั้นจริงหรือ เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว เดือนนี้ผมจะเล่าถึงรถแข่ง 1 คัน ว่ามีส่วนประกอบหลักอะไรบ้าง และแต่ละชิ้นส่วนมีที่มาอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่ ได้แก่"ส่วนสำคัญที่จะชี้วัดว่ารถแข่งคันนั้น สามารถขับไปบนสนามแข่งขันได้อย่างมีเสถียร ภาพหรือไม่ เวลาต่อรอบจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับช่วงล่างก็ว่าได้" 1. ระบบรองรับ (SUSPENSION) คำกล่าวที่ว่า “รถแข่งขันต้องเริ่มจากช่วงล่างที่ดี ก่อนที่จะมีเครื่องยนต์ที่แรง” ไม่เกินความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะระบบรองรับเป็นส่วนสำคัญที่จะชี้วัดว่ารถแข่งคันนั้น สามารถขับไปบนสนามแข่งขันได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ เวลาต่อรอบจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับช่วงล่างเลยก็ว่าได้ รถแข่งขันแต่ละคัน จะมีช่วงล่างที่ถูกออกแบบ และคำนวณมาโดยเฉพาะ ซึ่งตัวแปรหลักที่ถูกใช้ในการออกแบบช่วงล่าง คือ รูปแบบการแข่งขัน น้ำหนักตัวรถ และอัตราส่วนการกระจายน้ำหนัก เมื่อวิศวกรได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วก็จะนำไปออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระยะห่างระหว่างฐานล้อหน้า/หลัง (WHEEL BASE), ฐานล้อ (TRACK), มุมของระบบบังคับเลี้ยว (ACKERMAN ANGLE) และการกระจายน้ำหนัก (WEIGHT BALANCE) ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหัวข้อหลักๆ เท่านั้น โดยความรู้ความเข้าใจในระบบช่วงล่างนั้น ต้องขอขอบคุณทีมวิศกรจาก TATUUS RACING ที่ได้มาอธิบายแนวคิด การออกแบบ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง 2. เบรค (BRAKE) รถแข่งขันทุกคันก่อนเข้าโค้ง จำเป็นต้องใช้ระบบเบรคเพื่อลดความเร็วให้ เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าระบบเบรคที่ดีเยี่ยม คือ สิ่งสำคัญเคียงคู่รถแข่ง และถือเป็นความโชคดีของผม เพราะในคลาสส์ที่ฟังบรรยายเกี่ยวกับระบบเบรคนั้น ดำเนินการโดยวิศวกรจาก บเรมโบ ผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับระบบเบรคอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีการอธิบายการออกแบบระบบเบรค เริ่มจากการหาแรงที่เราต้องใช้ในการหยุดรถในระยะที่ต้องการ จากนั้นจึงไปเลือกชนิดของเบรค โดยสังเกตที่รูปแบบการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งแบ่งแยกความแตก-ต่างระหว่างเบรคของรถทั่วไปกับรถแข่งขันได้ 3 ข้อ ได้แก่ ราคา, อายุการใช้งาน ตัวอย่างเช่น เบรคของ ฟอร์มูลา วัน มีอายุการใช้งานเพียง 1 สนามแข่งขันเท่านั้น แต่เบรคของรถทั่วไปที่เราใช้กันอยู่ มักมีอายุการใช้งานเฉลี่ยที่ 10,000-40,000 กม. โดยอายุการใช้งานสั้น แต่แลกมาด้วยข้อสุดท้าย คือ ประสิทธิภาพการทำงาน นั่นเอง เพิ่งอธิบายได้แค่ 2 ข้อ พื้นที่ก็หมดอีกแล้ว เดือนต่อๆ ไป พบกับอีก 5 ข้อที่เหลือ ได้แก่ แชสซีส์ (CHASSIS), เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง (ENGINE AND POWERTRAIN), ระบบไฟฟ้า (ELECTRONIC SYSTEM), ยาง (TYRE) และด้านอากาศพลศาสตร์ (AERODYNAMIC) โปรดติดตาม