MEET THE MASTERS ฉบับนี้ ยังอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกที่ไปถึง วันนี้ อาจารย์ ENG. BRUNO หรือ จานการ์โล บรูโน (GIANCARLO BRUNO) มีการเปลี่ยนแผนการสอนกะทันหัน ด้วยการสลับเอา TEST DAY หรือวันซ้อมของรถแข่งทีม JAS MOTOR SPORT TCR SERIES มาเรียนก่อน ทำให้พวกเราต้องมาเรียนเรื่องการ SETTING รถแข่งกันแบบรวบรัด และมีอีกหนึ่งเซอร์พไรส์ นั่นคือ เขาได้เชิญนักขับ ฟอร์มูลา วัน มาบอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังนักขับรถสูตรหนึ่งที่เราได้พบ คือ อีวาน ฟรานโก กาเปลลี (IVAN FRANCO CAPELLI) หรือ อีวาน กาเปลลี นักแข่งมากประสบการณ์ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นนักขับในรายการต่างๆ หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น FORMULA 1, INTERNATIONAL FORMULA 3000 และ 24 HOUR LE MANS ซึ่งในอดีต อาจารย์บรูโน ได้ทำงานเป็นวิศวกรทีมแข่ง ประจำทีมที่ อีวาน กาเปลลี สังกัดอยู่ อีวาน กาเปลลี ได้มาเล่าให้พวกเราฟังถึงประสบการณ์การทำงาน ในเส้นทางการเป็นนักขับมืออาชีพ และการทำงานร่วมกับวิศวกรประจำทีมแข่ง RACE ENGINEER เส้นทางของ อีวาน กาเปลลี เริ่มต้นขึ้นในสมัยเด็ก กับการแข่งขันโกคาร์ทในวัย 15 ปี มีคุณพ่อเป็นวิศวกรประจำทีมแข่ง และช่างเทคนิค โดย อีวาน กาเปลลี ได้กล่าวว่า “นักขับเกือบทุกคนมีวิศวกรประจำทีมแข่งคนแรก เป็นพ่อของพวกเขานั่นเอง” 4 ปีถัดมา อีวาน กาเปลลี ได้ย้ายไปแข่งขัน ในรายการ ITALIAN FORMULA THREE CHAMPIONSHIP และในปี 1983 เขาได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องถึง 9 สนาม พอย้ายไปอยู่กับทีม COLONI ใน EUROPEAN FORMULA THREE CHAMPION SHIP ในปี 1984 เขาก็ชนะการแข่งขันอีกเหมือนเคย ต่อมาในปี 1985 ได้ลงแข่งขันในรายการ EUROPEAN FORMULA 3000 CHAMPIONSHIP กับทีม GENOA RACING MARCH-COSWORTH และได้รับชัยชนะ 1 ครั้ง ในปีเดียวกัน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักขับของทีม TYRRELL RACING ในรายการ EUROPEAN GRAND PRIX (ซึ่ง อีวาน กาเปลลี เล่าว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก) และได้เริ่มต้นเส้นทางนักขับ ฟอร์มูลา วัน อาชีพ ตั้งแต่ปี 1986-1993 ในหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น JOLLY CLUB, LEYTON HOUSE MARCH RACING TEAM, LEYTON HOUSE RACING, LEYTON HOUSE และ SCUDERIA FERRARI ก่อนจะขับในรายการ FORMULA 1 เป็นครั้งสุดท้ายในปี 1993 กับทีม SASOL JORDAN และในปี 1995 ได้กลับมาแข่งขันอีกครั้งในรายการ LE MANS เป็นรายการสุดท้ายในการแข่งขันมืออาชีพ หลังเลิกแข่งขันรายการ FORMULA 1 อีวาน กาเปลลี ได้ไปเป็น FORMULA 1 COMMENTATOR ในรายการโทรทัศน์ทางช่อง RAI 1 ของอิตาลี ตลอดการทำงานเป็นนักขับมืออาชีพของ อีวาน กาเปลลี เขาได้ทำงานกับวิศวกรประจำทีมแข่งมากมาย ซึ่งแต่ละคนก็มีปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปรับตัวเข้าหากัน เพื่อทำงานร่วมกันในสถานการณ์ที่กดดันบนสนามแข่งขัน ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งในส่วนนี้เขาชื่นชมอาจารย์ บรูโน เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิศวกรประจำทีมแข่ง ที่เขาสนิทมากที่สุด ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับทีม SCUDERIA FERRARI และยังคงทำงานร่วมกันอยู่จนถึงปัจจุบัน ในช่วงบ่าย เข้าสู่การบรรยายเทคนิค และการเตรียมตัวก่อนลงไปสัมผัสประสบการณ์การทำงานในสนามแข่งขัน TEST DAY ของทีม JAS ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งตอนแรกอาจารย์ บรูโน ซึ่งเป็นผู้บรรยายหลักในส่วนนี้ได้ชวนให้ทุกๆ คนใน มาสเตอร์คลาสส์ เล่าประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับมอเตอร์สปอร์ท ซึ่งแต่ละคนก็บอกเล่าอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว จานโด (GIANDO) ทำหน้าที่รับผิดชอบในส่วนซัสเปนชัน รถ ฟอร์มูลา เอสเออี ในมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ เช่นเดียวกับตัวผม ส่วน กุยโด (GUIDO) ทำงานเป็นดีไซจ์น เอนจิเนียร์บริษัทยางรถยนต์, อันดเรอา (ANDREA) เคยทำรถมอเตอร์ไซค์ของตนลงแข่งขัน, ปิเอตโร (PIETRO) เรียนอยู่ในชั้นปีสุดท้าย และเป็น คอลัมนิสต์ในเวบไซท์ยานยนต์, ปิเอตโร มีอู่ซ่อมรถ และทำรถของตัวเองลงวิ่งเซอร์กิทยามว่าง และอเลสส์ (ALESS) ก็สนใจมอเตอร์สปอร์ท การพูดคุยนั้นทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น บรรยากาศในมาสเตอร์คลาสส์ ดูเป็นกันเองกว่าตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นหนึ่งในความเก๋าเกมของอาจารย์ บรูโน ที่ทำให้เราสนิทสนมกันในเวลาเพียงไม่ถึง 2 ชม. โดยเฉพาะตัวผมที่เป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียวในคลาสส์นี้ ซึ่งอาจารย์ บรูโน ได้เพ่งเล็งและชวนพูดคุยนานเป็นพิเศษ จนพูดคล่องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะในวันพรุ่งนี้พวกเราทั้งหมดต้องมารวมตัวกัน และช่วยกันทำงาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของรถขณะซ้อม ซึ่งในขณะซ้อม ช่างเทคนิคและนักขับบางคนสื่อสารภาษาอังกฤษไม่เก่ง ทำให้ผมต้องพึ่งพาการแปลจากเพื่อนๆ ในมาสเตอร์คลาสส์ด้วย จากนั้นเป็นการปรับตั้งค่าตัวรถเพื่อให้เหมาะกับสภาวะต่างๆ ของการซ้อม ซึ่งจะเน้นไปที่การปรับตั้งช่วงล่าง และการวางแผนเลือกชนิดและปริมาณของยางในการแข่งขัน ในส่วนช่วงล่างที่เราสามารถปรับแต่งกันได้ในวันพรุ่งนี้มี 3 ส่วนหลัก คือ 1. มุมล้อ CAMBER, CASTER และ มุม TOE มุมล้อนั้นจะส่งผลให้ยางเกาะถนนได้ดีที่สุด ถ้าปรับได้อย่างถูกต้องกับสภาพสนาม หรือ MAX GRIP นั่นเอง 2. เหล็กกันโคลง (STABILIZER) ในรถ ซีวิค ทีซีอาร์ ที่เราจะได้สัมผัสในวันรุ่งขึ้น จะมีออพชันเหล็กกันโคลงให้เลือกหลายค่าตามสภาพสนาม และตามบุคลิกของนักขับ 3. ระยะพวงมาลัย นักขับแต่ละคนชอบการตอบสนองของพวงมาลัยที่แตกต่างกัน จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่พวกเราต้องศึกษา เพราะตลอดการขับเป็นเวลานาน ถ้าการตอบสนองไม่เหมาะสมกับนักขับ จะก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของนักขับลดลงนั่นเอง จากนั้นก็เป็นการบรรยายเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และนัดแนะกำหนดการในวันรุ่งขึ้น เวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกเรียนพอดี แล้วพบกันฉบับหน้าครับ