เกาะกระแส (cso)
CAR DVR CAMERA
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด กับอุบัติเหตุทางเครื่องบิน สิ่งที่เราได้ยินหลังจากนั้น คือ การค้นหากล่องดำกล่องดำ (BLACK BOX) คือ เครื่องบันทึกข้อมูลการบิน โดยจะบันทึกเสียงตลอดการเดินทาง หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่จะหากล่องดำ เพื่อฟังวิเคราะห์เหตุการณ์ ในเครื่องบินลำนั้นๆ
กลับกัน หากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เจ้าหน้าที่จะใช้อะไรในการวิเคราะห์ ? ส่วนหนึ่ง คือ กล้องวงจรปิด ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ บนท้องถนน แต่หากเป็นมุมอับ หรือสถานที่นั้นไม่ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดล่ะ...
นั่นคือที่มาของ กล้องติดรถยนต์ (CAR DVR CAMERA) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม สำหรับบรรดาผู้ขับขี่รถยนต์ทั้งหลาย โดยเฉพาะในบ้านเรา
การพัฒนา
ปี 1975 อีสต์แมน โกดัก (EASTMAN KODAK) ได้ออกแบบกล้องไร้ฟีล์ม บันทึกเป็นภาพขาว-ดำ ความละเอียด 100x100 พิกเซล หรือ 10,000 พิกเซล ข้อมูลการบันทึกครั้งแรกใช้เวลา 23 วินาที เป็นจุดเริ่มต้นของกล้องบันทึกเหตุการณ์
กล้องติดรถยนต์ เริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเราเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน แต่ในช่วงนั้น ยังไม่เป็นที่นิยม จะมีก็แต่ฟังค์ชันเพิ่มเติมที่ติดตั้งมากับรถยนต์ เป็นกล้องมองหลัง เพื่อความปลอดภัยขณะถอยจอดเท่านั้น
ในบางประเทศ มีการออกกฎหมายบังคับให้ติดตั้งกล้องติดรถยนต์ในหลายจุด อย่างเช่น ประเทศไต้หวัน กล้องติดรถยนต์ ถือเป็นเรื่องบังคับใช้ทางกฎหมาย รถยนต์ที่ขายในไต้หวันทุกคัน ต้องติดตั้งกล้องในรถยนต์อย่างน้อย 4 จุด ตอนออกจากโรงงานผลิต
ส่วนในบ้านเรา เริ่มเป็นที่นิยมติดตั้งเมื่อไม่กี่ปี เพราะปัญหาสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุ คือ ชนแล้วหนี หรืออาจเกิดเหตุการณ์ที่หาข้อตกลงกันไม่ได้ ว่าใครเป็นฝ่ายผิด สิ่งเหล่านี้สามารถตัดสินได้จากไฟล์ภาพ ที่ได้จากกล้องติดรถยนต์ ซึ่งสามารถแสดงหลักฐานให้ตำรวจดูได้ทันที
ความคมชัด
กล้องติดรถยนต์รุ่นบุกเบิก ที่เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย คุณภาพด้านความละเอียด จะไม่ค่อยมีความคมชัดสักเท่าไร เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับความคมชัดของกล้องประเภทนี้กัน
กล้องติดรถยนต์ในปัจจุบันจะใช้ระบบ DVR (DIGITAL VIDEO RECORDER) ความละเอียดภาพมีหน่วยเป็น พิกเซล/เฟรม คือความละเอียดของภาพ คำนวณจากจำนวนพิกเซลในแนวนอน คูณกับแนวตั้ง เป็นหน่วยพื้นฐานของภาพโดยในแต่ละภาพ จะมีจำนวนพิกเซลแตกต่างกันไป ส่วนภาพเคลื่อนไหวจะคำนวณจาก จำนวนเฟรม/วินาที เช่น 30 เฟรม/วินาที หรือ 60 เฟรม/วินาที เป็นต้น (1 เฟรม เท่ากับ 1 ภาพ) ความคมชัดของกล้องติดรถยนต์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ VGA, HD และ FHD
VGA
ระดับ VGA (VIDEO GRAPHICS ARRAY) มีความละเอียดสูง 480 พิกเซล จำนวนพิกเซล 640x480 เท่ากับ 307,200 พิกเซล/เฟรม เปรียบเทียบได้กับคลิพวีดีโอหน้าจอสมาร์ทโฟน บันทึกภาพตอนกลางคืนได้ไม่ดี ผู้ผลิตจึงเพิ่มเติมฟังค์ชันการถ่ายในที่มืด คือ ระบบไฟอินฟราเรด IR (INFRARED) คลื่นแสงที่มนุษย์มองไม่เห็น เป็นหลอด LED เล็กๆ ติดตั้งเพิ่มเติมด้านข้างของเลนส์ถ่ายภาพ มีตั้งแต่ 2IR, 4IR และ 8IR โดยภาพบันทึกได้จากแสงอินฟราเรด จะมีโทนสีขาว/ม่วง
HD
ระดับ HD (HIGH-DEFINITION) มีความละเอียดสูงระดับ 720 พิกเซล จำนวนพิกเซล 1,280x720 เท่ากับ 921,600 พิกเซล/เฟรม ภาพประเภท HD มีความคมชัดของเนื้อภาพสูงกว่า VGA หลายเท่า ยกตัวอย่าง กรณีถ่ายภาพด้านท้ายรถ สามารถมองเห็นเลขทะเบียนรถได้ชัดเจน เหมือนเราดูหนังในแผ่น DVD
กล้องประเภทนี้ จึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะความคมชัดที่มากขึ้น ส่วนระบบอินฟราเรดสำหรับถ่ายภาพตอนกลางคืน ยังมีเป็นฟังค์ชันเพิ่มเติมสำหรับบางรุ่น ในรุ่นที่ไม่มีระบบอินฟราเรด ภาพที่บันทึกจะมีความคมชัดแบบเดียวกับที่เรามองเห็น
FHD
ระดับ FHD หรือ FULL HD (FULL HIGH-DEFINITION) มีความละเอียดสูงสุดระดับ 1,080 พิกเซล จำนวนพิกเซล 1,920x1,080 เท่ากับ 2,073,600 พิกเซล/เฟรม ภาพประเภท FHD จัดว่าให้ความคมชัดของภาพมากที่สุด เปรียบเสมือนเราดูหนังจากแผ่น BLU-RAY ที่มีความคมชัดละเอียดมาก เรื่องความคมชัดจะชัดกว่าระบบ HD เป็นเท่าตัว
เวลาการบันทึกภาพ 30 เฟรม/วินาที ลง SD CARD
ความจุ SD CARD (GB) ระดับความคมชัด เวลา (ชม.)
8 VGA 4
8 HD 2
8 FHD 1
16 VGA 8
16 HD 4
16 FHD 2
32 VGA 16
32 HD 8
32 FHD 4
ฟังค์ชันเพิ่มเติม
นอกจากการใช้งานเพื่อการบันทึกภาพแล้ว กล้องติดรถยนต์ ยังมีฟังค์อื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาหลากหลาย อาทิ ระบบ GPS, บันทึกภาพนิ่ง และบันทึกภาพใต้น้ำ
ระบบ GPS กล้องติดรถยนต์บางค่าย จะเสริมฟังค์ชันด้วยระบบแจ้งพิกัด GPS เป็นการแสดงตำแหน่งของกล้อง ว่าอยู่จุดไหนในแผนที่ อีกทั้งเครื่อง GPS บางรุ่น จะมีฟังค์ชันเสริม เป็นกล้องติดรถยนต์ เพื่อให้ใช้งานร่วมกันได้อย่างสะดวก
บันทึกภาพนิ่ง เราสามารถนำกล้องติดรถยนต์บันทึกภาพนิ่ง เหมือนกล้องถ่ายรูปได้ ด้วยคุณภาพด้านความละเอียด ภาพที่ได้จากกล้องติดรถยนต์ มีคุณภาพดีอย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไป ความละเอียดจะอยู่ที่ 5 ล้านพิกเซล
บันทึกภาพใต้น้ำ นอกจากบันทึกภาพปกติ ผู้ผลิตยังออกแบบกรอบกันน้ำ (HOUSING) เพื่อความหลากหลาย สามารถนำกล้องติดรถยนต์ไปบันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวใต้น้ำได้ อาทิ แอคชัน คาเมรา กล้องสำหรับนักผจญภัยสายลุย มีบแรนด์ดังๆ เช่น GOPRO จากสหรัฐอเมริกา และ SONY จากญี่ปุ่น เพื่อใช้งานในกีฬาเอกซ์ตรีม ถ่ายสารคดี หรือทดสอบรถยนต์
ส่วน แอคชัน คาเมรา จากประเทศจีน พัฒนาให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น มีระบบการทำงานเหมือนกล้องติดรถยนต์ จัดว่าคุ้ม เพราะใช้ได้ ทั้งในชีวิตประจำวัน และท่องเที่ยวแบบทูอินวัน
กล้องติดรถยนต์ ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยฟังค์ชันพิเศษ อาทิ
ฟังก์ชันเชื่อมต่อ WI-FI กล้องติดรถยนต์สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนด้วย WI-FI ได้ โดยโหลดแอพพลิเคชันของกล้อง เปิดระบบ WI-FI เชื่อมต่อกับกล้อง และสั่งงานบันทึกภาพ ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทันที
กระจกมองหลังอัจฉริยะ ค่าย PIONEER เปิดตัว SMART MIRROR ที่มาพร้อมกล้องติดรถยนต์บันทึกข้อมูลการขับขี่ เชื่อมสัญญาณด้วย WI-FI บันทึกข้อมูลใน SD CARD รองรับเครือข่าย 4G LTE อีกทั้งโหลดแอพพลิเคชันระบบนำทางเพิ่มเติมได้
การเลือก และดูแลรักษา
กล้องติดรถยนต์ ที่มีจำหน่ายอยู่ในบ้านเรา มีให้เลือกหลากหลายบแรนด์ ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศจีน มีแค่บางค่ายนำเข้าจากญี่ปุ่น, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา นักเล่นบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้บแรนด์ที่ผลิตในจีน เพราะราคาไม่แพง ระดับราคามีให้เลือกตั้งแต่ 400-4,000 บาท โดยอุปกรณ์อีเลคทรอนิค รวมถึงตัวเลนส์ จะมีคุณภาพแตกต่างกัน เวลาเลือกซื้อควรตรวจเชคให้ดี ดูจากฟังค์ชันการทำงานต่างๆ คุณภาพของเลนส์ต้องชัด และกว้าง โดยงานออกแบบจะแตกต่างกันไป ทั้งรูปทรงกลม, เหลี่ยม, แบน และเป็นแท่ง บางรุ่นมีเลนส์เดียว ได้ภาพมุมเดียว บางรุ่นมี 2 เลนส์ สามารถมองเห็นภาพได้ 2 มุม ในเวลาเดียวกัน
การดูแลรักษา อันดับแรก ต้องระวังเรื่องความร้อน หาตำแหน่งติดตั้งกล้องติดรถยนต์ ให้โดนแสงแดดน้อยที่สุด ถ้าตัวกล้องร้อนมากเกินไปจะมีผลเสียต่อ SD CARD มีโอกาสที่จะเสียหาย และบันทึกไฟล์ภาพได้ไม่สมบูรณ์ เมื่อไม่ใช้ควรเก็บในที่ร่ม ไม่ควรติดกระจกตากแดดอย่างถาวร
สรุป
กล้องติดรถยนต์ จัดเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้ขับขี่ ช่วยบันทึกภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกเส้นทางที่ขับเคลื่อนไป สามารถย้อนดูเหตุการณ์สำคัญได้ทุกที่ทุกเวลา ให้ทั้งความเพลิดเพลิน และเป็นหลักฐานสำคัญ บ้านเราน่าจะมีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งกล้องติดรถยนต์กันบ้างนะครับ...
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 409 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : เกาะกระแส (cso)