4G เทคโนโลยีการสื่อสารเจเนอเรชันที่ 4 ที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อสื่อสารถึงกันได้ภายในเสี้ยววินาที
4G โอนถ่ายข้อมูลได้ 100 MBPS ขณะเคลื่อนที่ และ 1 GBPS ขณะอยู่กับที่
ในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อโลกทั้งใบ ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็นเจเนอเรชัน เริ่มตั้งแต่เจเนอเรชันที่ 1 หรือ 1G จนถึงปัจจุบัน ที่กำลังก้าวสู่ยุค 4G อย่างเต็มตัว
กว่าจะมาเป็น 4G
1G ยุคการสื่อสารเจเนอเรชันที่ 1 (FIRST GENERATION) ทดลองระบบ ปี 1970 เริ่มใช้งาน ปี 1984 สำหรับในบ้านเรา องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย นำระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ NMT (NORDIC MOBILE TELEPHONE) ย่านความถี่ 470 MHZ มาให้บริการเป็นรายแรกในประเทศไทย เมื่อปี 1986 เป็นที่ฮือฮากันมาก หากใครมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงนั้น ที่เรียกว่า "โทรศัพท์เคลื่อนที่" เพราะเหมือนกับหิ้วโทรศัพท์บ้านไปตามที่ต่างๆ หากนึกไม่ออก มันคล้ายเครื่องส่งสัญญาณวิทยุของทหาร ส่งสัญญาณในระบบแอนาลอก ผ่านคลื่นสัญญาณวิทยุ ใช้งานโทรออก/รับสาย (VOICE) ได้อย่างเดียว ไม่สามารถรับ/ส่งข้อมูล (DATA) ใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ข้อความ
เครื่องโทรศัพท์เริ่มพัฒนาให้เล็กลง และถือมือเดียวได้ โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในโลก กำเนิดเมื่อ ปี 1984 คือ MOTOROLA DYNA TAC 8000X ราคา 3,995 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 1,300,000 บาท มีขนาด 13"x1.75"x3.5" น้ำหนัก 28 ออนซ์ ด้วยรูปลักษณ์และน้ำหนัก จึงได้ฉายาว่า "THE BRICK" หรือก้อนอิฐขนาดใหญ่ แต่บ้านเราเรียก "กระติกน้ำ"
2G การสื่อสารเจเนอเรชันที่ 2 (SECOND GENERATION) ทดลองระบบ ปี 1980 เริ่มใช้งาน ปี 1991 เป็นช่วงที่ใช้เวลายาวนานในบ้านเรา กำเนิดขึ้นในประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 1991 โดยส่งสัญญาณในระบบดิจิทอล ผ่านคลื่นไมโครเวฟ สามารถส่งข้อมูลได้ ที่สำคัญคือ เริ่มมีซิมคาร์ด และส่งข้อความ SMS* ได้ ในช่วงนั้นเกิดระบบ GSM* สามารถใช้โทรศัพท์ในสถานที่ต่างๆ โดยเชื่อมต่อกับสถานีฐานได้ ในระบบ GSM ยังพัฒนาให้ส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เนทได้ ด้วยระบบ GPRS* และ EDGE* โอนถ่ายข้อมูลได้สูงสุด 115 และ 384 KBPS* แต่ไม่สามารถส่งสัญญาณเสียง และข้อมูลพร้อมกันได้ ในช่วงปี 2540 โทรศัพท์มือถือมีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา และราคาถูกลง ในช่วงนั้นมี 3 ค่ายหลัก NOKIA, MOTOROLA และ ERICSSON แข่งขันกันอย่างดุเดือด
3G การสื่อสารเจเนอเรชันที่ 3 (THIRD GENERATION) ทดลองระบบ ปี 1990 เริ่มใช้งาน ปี 2001 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 2,100 MHZ เป็นคลื่นความถี่มาตรฐานที่ใช้ในการเชื่อมต่อเทคโนโลยี 3G โดยใช้ตรงกันทุกประเทศ โทรศัพท์ที่ผลิตออกมาจะต้องรองรับ โอนถ่ายข้อมูลต่ำสุด 384 KBPS ขณะเคลื่อนที่ และ 2 MBPS* ขณะอยู่กับที่ อีกทั้งต้องรองรับโครงข่ายได้ทั่วโลก แต่ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ในช่วง 7-42 MBPS ทีเดียว
แต่สำหรับบ้านเรา กว่าจะตกลงกันได้ ก็เสียเวลาไปหลายปี เริ่มใช้งานจริงปลายปี 2012 นี่เอง หลังจากนั้น ระบบการสื่อสารในบ้านเราก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตแบบก้าวกระโดดไปพร้อมๆ กับโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบัน
4G การสื่อสารเจเนอเรชันที่ 4 (FORTH GENERATION) ทดลองระบบ ปี 2000 เริ่มใช้งาน ปี 2011 คือ สิ่งที่จะกล่าวถึง และกำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ สำหรับบ้านเราเริ่มทดลองระบบเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และจะใช้งานได้อย่างเสถียรภายในปีนี้ โดยกำหนดความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลขั้นต่ำเพิ่มเป็น 100 MBPS กล่าวคือ จะต้องมีความสามารถในการโอนถ่ายข้อมูล 100 MBPS ขณะเคลื่อนที่ และ 1 GBPS* ขณะอยู่กับที่
ทำไมต้อง 4G จะเร็วไปไหน ? 3G ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็เร็วมากพอแล้ว แต่เนื่องจากอุปกรณ์อีเลคทรอนิค พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กล้องดิจิทอล จากเดิมขนาดไฟล์ภาพ 3 ล้านพิกเซล พัฒนาเป็น 24 ล้านพิกเซล หรือ ไฟล์ DVD 4.7 GB พัฒนาเป็น BLU-RAY ขนาด 25 GB หากใช้ระบบเดิม ประสิทธิภาพในการโหลดข้อมูลก็จะลดลงโดยปริยาย
ข้อดีของ 4G คือ ความคมชัดของข้อมูลภาพที่สามารถนำมาใช้งานได้ คุณสามารถส่งไฟล์งานขนาดใหญ่ ข้ามโลกได้ในพริบตา ส่งข้อมูลถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่มีอาการสะดุด สามารถเห็นหน้ากันขณะสนทนา โดยไม่ดีเลย์ ในอนาคตคุณอาจทำงานอยู่กับบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไป/กลับที่ทำงานทุกวัน
----------------ตาราง--------------------------
ความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูล (วินาที)
ข้อมูล ขนาดไฟล์ ระบบ 3G ระบบ 4G
ภาพ 2 MB 2.78 0.32
MP3 5 MB 6.94 0.80
CLIP 500 MB 11.34 1.20
DVD 4.7 GB 110.00 12.42
-------------------------------------------------
คุณสามารถส่งไฟล์งานขนาดใหญ่ และข้อมูลต่างๆ ข้ามโลกได้ในพริบตา
5G ในอนาคต
5G ข้ามไปยุคการสื่อสารเจเนอเรชันที่ 5 (FIFTH GENERATION) เริ่มทดลองระบบ ปี 2010 และคาดว่าจะเริ่มใช้งานภายในปี 2015 นี้ โดยการโอนถ่ายข้อมูลขั้นต่ำต้องเพิ่มเป็น 1 GBPS แน่นอน แต่สำหรับบ้านเรา ที่ช้ากว่าชาวบ้านไป 4-5 ปี คาดว่าจะได้ใช้กันประมาณปี 2020 ตอนนี้เตรียมรับมือ 4G กันก่อนดีกว่า
สรุป
แม้เทคโนโลยีการสื่อสาร จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อส่งผ่านข้อมูลได้ครั้งละมากๆ แต่ซอฟท์แวร์ก็พัฒนาตาม หากเราส่งไฟล์ขนาดเล็กแบบเดิมๆ ก็ได้จำนวนมากในพริบตา ถ้าไฟล์ขนาดใหญ่ อาจใช้เวลานานขึ้น สิ่งที่ได้ คือ คุณภาพในแบบเรียลไทม์ เสมือนเรายืนอยู่ด้วยกัน พร้อมๆ กัน หลายๆ คน สิ่งสำคัญ ควรใช้ให้เหมาะสม และได้ประโยชน์สูงสุด
ศัพท์p68 4G (*)
CDMA (CODE DIVISION MULTIPLE ACCESS) ระบบแปลงเสียงเป็นรหัสแยกส่งผ่านข้อมูล มีความเร็วสูงสุด 300 KBPS
EDGE (ENHANCED DATA RATES FOR GLOBAL EVOLUTION) ระบบอินเตอร์เนทไร้สาย ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก GPRS บีบอัดข้อมูล 3 ต่อ 1 จึงมีความเร็วมากกว่า GPRS 3 เท่า ความเร็วสูงสุด 384 KBPS เหมือนกับติดเทอร์โบให้ GPRS หลายคนเรียกกว่า 2.75 G
GBPS (GIGABITS PER SECOND) จำนวนข้อมูล 1,000,000,000 บิท/วินาที
GPRS (GENERAL PACKET RADIO SERVICE) บริการรับ/ส่งข้อมูลระบบ GSM ที่มีความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูล ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 115 KBPS หลายคนเรียกกว่า 2.5 G
GSM (GLOBAL SYSTEM FOR MOBILIZATION) ระบบการสื่อสาร
KBPS (KILOBITS PER SECOND) จำนวนข้อมูล 1,000 บิท/วินาที
LTE (LONG TERM EVOLUTION) ระบบ 4G ในบ้านเรา
MMS (MULTIMEDIA MESSAGING SERVICE) ข้อมูลภาพ
MBPS (MEGABITS PER SECOND) จำนวนข้อมูล 1,000,000 บิท/วินาที
SMS (SHORT MESSAGE SERVICE) ข้อมูลตัวเลข ตัวอักษร
TDMA (TIME DIVISION MULTIPLE ACCESS) ระบบแบ่งช่วงเวลาในการรับ/ส่งข้อมูล สามารถแยกส่งปริมาณมากๆ อย่างอิสระ ความเร็วต่อช่องสัญญาณ 9.6 KBPS
WI-FI (WIRELESS FIDELITY) เทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เนทแบบไร้สายโดยใช้คลื่นวิทยุ
WIMAX (WORLDWIDE INTEROPERABILITY OF MICROWAVE ACCESS) ระบบ 4G ในต่างประเทศ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ดำคำเพราะ
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 409 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2558
คอลัมน์ Online : เกาะกระแส (cso)