MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS THE LAST EPISODE
ช่วงสุดท้ายของการเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์การออกแบบรถยนต์ในอิตาลี ผมอยากจะขอพูดถึง 2 สถานที่ที่ประทับใจ แห่งแรก คือ ห้องบ่มเพาะนักออกแบบแห่งอนาคต นั่นคือ โรงเรียนสอนการออกแบบ SPD หรือ SCUOLA POLITECNICA DI DESIGN ในเมืองมิลาน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นในปี 1954 เปิดสอนระดับมหาบัณฑิตหลายสาขาวิชา ทั้งการออกแบบรถยนต์ ออกแบบอุตสาหกรรม ออกแบบภายใน ออกแบบกราฟิค ไปจนถึง ออกแบบ “อาหาร” (FOOD DESIGN) ก็ยังมี โดยสอนในหลักสูตรนานาชาติ
ความประทับใจแรกที่ได้สัมผัส คือ ตึกเรียนที่ดูดีในสไตล์โมเดิร์น ผนังหน้าอาคารเป็นอิฐแก้วเต็มผนัง ส่งแสงเรืองๆ ในยามค่ำคืน กลับดูลึกลับน่าค้นหา ทางเดินขึ้นอาคารแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีบันได แต่เป็นทางลาดสีฟ้าสบายตา วนขึ้นไปเรื่อยๆ คล้ายกับของห้าง “เอมควอเทียร์” บ้านเรา แถมแต่ละมุมของอาคาร ก็ยังมีลูกเล่นทางการออกแบบที่สวยงาม อาทิ ในห้องโถงกลาง มีการทาสีตกแต่งกำแพงไว้ ซึ่งจะมีเพียงมุมเดียวเท่านั้นที่เขียนว่า SPD นับเป็นลูกเล่นแนวลวงตาที่สร้างแรงบันดาลใจได้ดี และสามารถแอบมองเข้าไปชมการเรียนการสอนได้ ซึ่งจะเห็นว่าแม้ในยามค่ำคืนแล้ว นักศึกษานานาชาติในวัยยี่สิบกลางๆ ส่วนใหญ่ก็ยังขมีขมันทำงาน เป็นภาพบรรยากาศการเรียนที่คึกคักดีไม่น้อย
ในวันนั้น อันโตเนลโล ฟูเซตตี (ANTONELLO FUSETT)I ผู้อำนวยการโรงเรียน ให้การต้อนรับคณะผู้เยี่ยมชมจากไทย จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ อย่างเป็นกันเอง และเปิดโอกาสให้เราได้เยี่ยมชมและฟังการบรรยายผลงานของนักศึกษาปริญญาโท สาขาการออกแบบรถยนต์ โดยหัวข้อการออกแบบได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัทรถยนต์ เอาดี ส่วนนักศึกษาจากยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ทำงานร่วมกันกับทีมอาจารย์ซึ่งเป็นนักออกแบบมืออาชีพ
ผลงานที่ได้เห็นในวันนั้นอาจจะยังไม่ทำให้ขนลุกขนพอง หรือเกินจินตนาการไปมากนัก เพราะว่าอาจเป็นบแรนด์ เอาดี ก็ได้ แต่ระหว่างทางเดินรอบๆ ตึกเรียน เราได้เห็นผลงานแบบจำลองรถแนวคิดของนักศึกษาชุดก่อนที่ทำร่วมกันกับ ลัมโบร์กินี หลายๆ คันนั้น เห็นแล้วตื่นตาตื่นใจใช้ได้เหมือนกัน คิดว่านักศึกษาทีมที่ได้ทำรถพวกนั้น น่าจะมีที่ทำงานชั้นเยี่ยมเรียบร้อยไปแล้ว นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนในสไตล์อิตาเลียน ที่ไม่ได้เน้นความหวือหวาของแนวคิดพิสดารนัก อย่างพื้นผิวยืดหดได้ แบบรถ บีเอมดับเบิลยู รุ่นฉลองครบรอบ 100 ปี แต่เน้นที่ความเป็นไปได้จริงในการใช้งานมากกว่า
ส่วนวันสุดท้าย เป็นพโรแกรมนอกสถานที่ ทีมงานของนิตยสาร QUATTRORUOTE พาไปยังสนามทดสอบของพวกเขา เมือง VAIRANO ที่อยู่ห่างจากที่พักของเราราว 45 กม. เมื่อเดินทางไปถึงเราได้พบกับอาคารที่เหมือนโรงนาเก่าแก่ที่เคยเห็นในภาพยนตร์ นี่คือ สนามทดสอบของนิตยสาร QUATTRORUOTE มีชื่อเป็นภาษาอิตาเลียนว่า “LA PISTA DE VAIRANO” พื้นที่โดยรวมกว่า 300 ไร่ เป็นทแรคทางเรียบยาวกว่า 8 กม. และมีพื้นที่สำหรับทดสอบรถยนต์ทางเรียบถึง 26,000 ตรม. และทางวิบากกว่า 53,000 ตรม. นอกจากนี้ยังใช้เป็นรันเวย์สำหรับเครื่องบินได้อีกด้วย เพราะเจ้าของนิตยสารนั้นชื่นชอบเรื่องการบินมาก และยังเป็นที่เก็บสะสมรถสปอร์ทของรักของหวงอีกหลายคันของเจ้าของด้วย
เรามาถึงช่วงเช้าที่อากาศหนาวเหน็บราวๆ 1-2 องศาเซลเซียส มีรถคลาสสิคจำนวนมากจอดรออยู่แล้ว เพราะวันนี้ โลเรนโซ รามาชตตี (LORENZO RAMACIOTTI) อดีตหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ เฟียต จะเป็นผู้นำการบรรยายให้เราได้รู้จักกับรถยนต์ 25 คัน ที่นับได้ว่าเป็นตัวแทนของงานออกแบบในสไตล์อิตาเลียน
ระหว่างรอคอยการบรรยาย พวกเราตื่นเต้นกับการมาถึงของรถสปอร์ทในตำนาน ฝีมือการออกแบบของ มาร์เชลโล กานดินี (MARCELLO GANDINI) อย่าง ลัมโบร์กินี มิอูรา (LAMBORGHINI MIURA) สีเหลืองสดที่ขับเข้ามา พร้อมกับเสียงขู่คำรามจากเครื่องยนต์แบบ วี 12 สูบ วางขวางกลางลำ นำมาจอดเคียงข้างกับ ลัมโบร์กินี คูนทาช แอลพี 400 สีเขียวสด (LAMBORGHINI COUNTACH LP400) แบบดั้งเดิม ผลงานระดับมาสเตอร์พีศอีกชิ้นหนึ่งของ กานดินี ถัดออกมาก็เป็น แฟร์รารี เตสตารตซา (FERRARI TESTAROSSA) สีแดงเพลิง (ดูแล้วนึกถึงวงบุดดาเบลส ขึ้นมาทันที และได้ลองเข้าไปนั่งใน คูนทาช เพื่อเป็นบุญก้น ผลคือ หายใจไม่ออก รถมันแคบมากๆ ไม่เหมาะกับคนตัวสูงและอ้วนแบบผมเลย)
เมื่อแดดออก การบรรยายก็เริ่มขึ้นโดย รามาชตตี แนะนำรถสุดหรูปี 1929 อีโซตตา ฟราชินี 8 เอเอส (ISOTTA FRASCHINI 8AS) เราได้เห็นค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างยุคสมัยทันที เริ่มต้นที่ วัสดุภายในรถ ในสมัยนั้นเบาะหนัง ถือว่าเป็นของสามัญและทนทาน จึงเหมาะกับให้คนขับรถใช้ ส่วนเจ้านายที่นั่งด้านหลังใช้เบาะผ้าเหมือนกับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน แถมในตัวเก๋งด้านหลัง ยังแยกกับห้องคนขับ และสื่อสารผ่านการกดแผงไฟสัญญาณเพื่อบอกให้เลี้ยวซ้าย/ขวาได้อีกด้วย รถคันที่นำมาแสดงยังคงสภาพสวยงามอย่างยิ่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอายุเกือบ 90 ปี แถมอุปกรณ์เสริมครบครัน กระทั่งคันฉ่องส่องหน้าและตลับแป้งสำหรับคุณสุภาพสตรียังมีครบ
ยุคทศวรรษที่ 10, 20 และ 30 นั้นเป็นช่วงเวลาที่รถยนต์ในอิตาลีพยายามจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีหลายๆ ด้าน อาทิ ลันชา ลัมบ์ดา (LANCIA LAMBDA) ปี 1922 นั้นนำเสนอตัวถังแบบโมโนคอกเป็นครั้งแรกในโลก อีกทั้งยังมีการศึกษาเรื่องอากาศพลศาสตร์กันอย่างเข้มข้น อาทิ อัลฟา โรเมโอ แอโรไดนามิคา (ALFA ROMEO AERODYNAMICA) ปี 1914 (ชมได้ในพิพิธภัณฑ์ อัลฟา โรเมโอ) ได้ทดลองนำเอาตัวถังลู่ลมแบบหยดน้ำในสไตล์เครื่องบินมารวมเข้ากันกับรถ เป็นต้น
แต่รถที่สร้างชื่อเสียงที่สุดของยุคนั้น กลับเป็นรถคันเล็กๆ ที่มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “เฟียต หนู” หรือ เฟียต 500 โตโปลีโน (FIAT 500 TOPOLINO) ปี 1936 จุดเด่นของ เฟียต หนู คือ ความชาญฉลาดของการจัดวางแพคเกจในตัวรถ ทุกอย่างสร้างขึ้นให้มีราคาถูกที่สุด เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพสามารถเป็นเจ้าของได้ และคำนึงถึงหลักแอโรไดนามิค จึงออกแบบให้หม้อน้ำวางหลบหลังเครื่องยนต์ ทำให้กระจังหน้าเทลาดลู่ลม
ความลู่ลมนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความหลงใหลระดับโลกเช่นกัน เพราะรถยนต์จากชาติอื่นๆ เองก็พยายามออกแบบให้มีความลู่ลม และตัวอย่างชั้นยอดอีกคันจากยุคนั้น คือ อัลฟา โรเมโอ 6 ซี 2300 เอมเอม ซูเพอร์เลกเกรา (ALFA ROMEO 6C 2300MM SUPERLEGGERA) ปี 1938 (6C 2300 คือ เครื่องยนต์ 6 สูบ 2,300 ซีซี, MM คือ MILLE MIGLIA เป็นรุ่นสำหรับการแข่งขัน, SUPERLEGGERA คือ ตัวถังน้ำหนักเบา)
เข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เทคโนโลยีการสร้างรถยนต์เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นการสร้างมีแชสซีส์และเอาตัวถังมาครอบ เปลี่ยนไปเป็นยุคที่เรียกว่า ยูนิบอดี หรือ โมโนคอก (UNIBODY/MONOCOQUE) รถที่เป็นตัวแทนของยุคนั้นได้คัดเลือก กิซิตาอีอา (CISITAIA 202) ปี 1947 แห่งเมืองตูริน ตัวถังน้ำหนักเบา ฝีมือของ ปินินฟารีนา (PININFARINA) เป็นตัวแทนที่ดีของการขึ้นรูปแบบเคาะมือจากแผ่นอลูมิเนียม ที่เน้นความลื่นไหล นุ่มนวลของเส้นสายอันเป็นสไตล์ของยุคนั้น และเป็นหนึ่งในรถที่อยู่ในคอลเลคชันถาวรของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งกรุงนิวยอร์ค
ถัดมาเป็นยุคทศวรรษที่ 50 ซึ่งการผลิตเพื่อมวลชนกลายเป็นกระแสหลัก รถที่โดดเด่นที่สุดในเวลานั้นเห็นจะเป็น เฟียต 500 และ 600 ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะมีขนาดพอๆ กัน แต่เมื่อมาจอดเทียบกันแล้วทำให้ผู้เขียนประหลาดใจไม่น้อย เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เห็นพร้อมๆ กันโดย เฟียต 600 เครื่องยนต์ 4 สูบ ปี 1955 นั้นมีขนาดใหญ่กว่า เฟียต 500 ปี 1957 ที่ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ พอตัวเลยทีเดียวแ
ทั้ง 2 คันเป็นรถเครื่องยนต์วางด้านท้าย ประตูเปิดอ้าออกด้านหน้าชวนเสียวท้อง (SUICIDE DOOR) และเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของวิศวกรชื่อดัง ดันเต จาโกซา (DANTE GIACOSA) ในการสร้างสรรค์รถที่มีราคาถูก แต่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ได้อย่างน่าประหลาด และเป็นตัวแทนของท้องถนนแห่งกรุงโรมก็ว่าได้ จากการที่มันมีขนาดเล็กและกะทัดรัด เหมาะกับซอกซอยแคบๆ ของกรุงโรม และยังได้รับความนิยมในเมืองไทยสมัยนั้นไม่น้อยทีเดียว
จากนั้นเป็นยุคสมัยของการส่งออกงานออกแบบอิตาลีไปสู่ส่วนอื่นๆ ของยุโรป นับจากทศวรรษที่ 50 เป็นต้นไป ในแต่ละปีสำนักออกแบบต่างๆ จะนำเสนอแนวคิดของรูปทรงใหม่ๆ ออกมาให้ค่ายรถยนต์ทั่วยุโรป รวมถึงที่อื่นๆ ดังจะเห็นได้จาก รถแนวคิดของ ปินินฟารีนา รุ่น บีเอมซี-1800 เบอร์ลิเนทตา แอโรไดนามิคา (BMC-1800 BERLINETTA AERODINAMICA) ปี 1967 สำหรับบแรนด์ บีเอมซี ของสหราชอาณาจักร แม้ท้ายที่สุดสไตลิงล้ำสมัยจะไม่ถูก บีเอมซี นำไปใช้ แต่อีก 7 ปีต่อมา ค่าย ซีตรอง แห่งเมืองน้ำหอมก็ถ่ายทอดแนวคิดนั้นสู่รถตระกูล ซีเอกซ์ แบบเต็มๆ
อิตาลียุคนั้นส่งออกงานออกแบบมากมาย รวมถึงนักออกแบบก็เป็นที่ต้องการตัวทั่วโลก รถยนต์จากเยอรมนี อย่าง บีเอมดับเบิลยู 1500 ปี 1962 หรือรุ่นนิวคลาสส์ ที่โดดเด่นด้วยรูปทรงเรียบง่าย สะอาดตา และกลายเป็นแนวทางของ บีเอมดับเบิลยู มาอีกหลายทศวรรษ ก็เป็นผลงานของนักออกแบบอิตาเลียน โจวานนี มิเชลตตี (GIOVANNI MICHELOTTI) ผู้ฝากฝีมือไว้กับ บีเอมดับเบิลยู 700 มาก่อนหน้านั้นแล้ว รวมถึงรถยนต์จากอังกฤษอีกมากมาย อาทิ ทไรอัมฟ์ นับ 10 รุ่น รวมถึงสปอร์ทต้นตำนานของ สกายไลน์ อย่าง พรินศ์ สกายไลน์ สปอร์ท คูเป (PRINCE SKYLINE SPORT COUPE) ปี 1962 อีกด้วย
ผลงานชิ้นเอกของนักออกแบบอิตาเลียนอีกคันหนึ่งที่มอบให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมัน คือ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ ในทศวรรษที่ 70 ผลงานของ โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) แฮทช์แบคที่เรียบง่าย แต่มีรูปทรงอมตะ
ถัดไปเป็นเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่เป็นแง่มุมที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี นั่นคือ อิตาลีในฐานะผู้นำทเรนด์ และซูเพอร์คาร์ 4 คัน ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดยังสะกดสายตาได้เสมอ นั่นคือ แฟร์รารี 250 จีที รุ่นฐานล้อสั้น (FERRARI 250 GT SWB) ปี 1959 สีแดงเพลิง ลัมโบร์กินี มิอูรา (LAMBORGHINI MIURA) สีเหลืองสด ปี 1966 ลัมโบร์กินี คูนทาช แอลพี 400 สีเขียวสด ปี 1974 (LAMBORGHINI COUNTACH LP400) และปิดท้ายด้วย แฟร์รารี เตสตารตซา สีแดงเพลิง ปี 1984 (FERRARI TESTAROSSA) โดยทุกคันเป็นตัวแทนของความร้อนแรงในแต่ละช่วงเวลานั่นเอง
จากยุคสมัยคลาสสิคของ แฟร์รารี 250 จีที รุ่นฐานล้อสั้น ที่ขึ้นรูปตัวถังด้วยการเคาะแผ่นโลหะบนโครงไม้ รถยนต์ต้องมีความโค้งมน มาสู่ยุคของความบ้าคลั่ง ที่ต้องการรถที่เตี้ยและวางเครื่องกลางลำในยุคของ ลัมโบร์กินี มิอูรา ยุคที่มีการทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางการออกแบบ มาสู่ยุคของการออกแบบแนว “ลิ่ม” และการขึ้นรูปทรงเรขาคณิตแบบกระดาษพับที่เฉียบคมของ ลัมโบร์กินี คูนทาช และส่งต่อไปยังยุคของยัพพีและเศรษฐีใหม่ที่มองหารถสปอร์ทที่นั่งสบาย ไม่ต้องเป็นซูเพอร์แมนก็ขับได้อย่าง แฟร์รารี เตสตารตซา ในทศวรรษที่ 80
เราหลุดจากโลกความฝันกลับมาสู่ในโลกแห่งจริงอีกครั้งกับ เฟียต ปันดา (FIAT PANDA) ปี 1980 รถยนต์สุดเรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ปรมาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร กล่าวว่า นี่คือผลงานที่เขาชอบที่สุด รถคันที่จัดแสดงเป็นรุ่นแรก ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ ระบบความร้อนด้วยอากาศ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีรุ่นเครื่องยนต์ 4 สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ
การแยกรถที่เครื่องยนต์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนี้ออกจากกัน โจร์เกตโต จูจาโร ทำได้อย่างชาญฉลาด ด้วยการสลับกระจังแบบเหล็กปั๊มหน้าซ้ายไปขวา เพื่อให้ช่องเปิดให้อากาศเข้าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะกับพัดลมของระบบระบายความร้อนที่แตกต่างกันของเครื่องยนต์ทั้งสอง และยังช่วยให้คนขับ เฟียต แยกออกได้ทันทีว่า คันไหน 2 สูบ คันไหน 4 สูบ ถ้าถามว่าทำไมไม่เจาะรูให้หมดไปเลยเล่า ก็เฉลยด้วยคำตอบว่า การเจาะน้อยๆ นั้นมีต้นทุนถูกกว่านั่นเอง
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องสนุกของรถคันนี้ อาทิ เบาะนั่งที่แสนเรียบง่าย แทบจะเย็บถุงมาครอบก็ว่าได้ แดชบอร์ดเองก็เรียบง่าย ไม่มีลิ้นชักเป็นเหมือนชั้นวางของยาวๆ เท่านั้นเอง แต่กลับดูสบายตาไม่ขัดเขิน เบาะนั่งด้านหลังยิ่งน่าตกใจ เพราะใช้การแขวนคล้ายเปล เรียกได้ว่านี่เป็นแบบฝึกหัดด้านงานออกแบบชั้นเลิศ และด้วยเสน่ห์ในงานออกแบบที่มากล้น ทำให้ราคามือสองในปัจจุบันแพงไม่ใช่เล่นอีกด้วย
ต่อมาเรียกได้ว่าเป็นงานอิตาเลียนสมัยใหม่ เพราะมันคืองานของ วัลแตร์ เด ซิลวา (WALTER DE SILVA) อัลฟา โรเมโอ 156 (ALFA ROMEO 156) ปี 1998 รถที่ทำให้หลายคนหันกลับมามองรถยนต์อิตาเลียนอีกครั้ง ด้วยการออกแบบที่มีความเซกซีอันเป็นเสน่ห์ที่เคยขาดหายไปจากรถตลาดของอิตาลีอยู่พักใหญ่
และแน่นอนว่าต้องมาจบที่รถรุ่นสำคัญที่สุดของอิตาเลียนยุคใหม่ นั่นคือ เฟียต 500 (FIAT 500) ปี 2007 ที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนักออกแบบอารมณ์ดี โรแบร์โต โจลีโต (ROBERTO GIOLITO) ในฐานะรถที่นำเอาสไตล์เรทFรและจิตวิญญานความซุกซนแบบอิตาเลียนกลับมาอีกครั้ง และส่งออกไปให้คนทั่วโลกได้ชื่นชม ในราคาที่จับต้องได้
นับเป็นการปิดฉากการเดินทางเข้าสู่โลกการออกแบบของอิตาลีได้อย่างงดงาม เราได้พุดคุยรับทราบวิสัยทัศน์ของนักออกแบบรุ่นลายคราม และนักออกแบบที่ยังโลดแล่นอยู่ในเวทีโลก ไปจนถึงนักออกแบบรุ่นเยาว์ที่จะเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกในอนาคต จนอาจจะสรุปได้ว่า
“งานออกแบบที่ดี ต้องมีความจริงใจ ไม่เสแสร้ง มีเหตุมีผล และต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นนี้ และรุ่นต่อๆ ไป”
นี่แหละ คือ แก่นของงานออกแบบจากอิตาลี
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)