รอบรู้เรื่องรถ
ทดลองขับ ก่อนเลือกซื้อรถ
ผมเฝ้าดูพฤติกรรมในการเลือกซื้อรถของพวกเราชาวไทยมากว่า 30 ปีแล้ว ในช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยแปลกใจเท่าใดนัก พยายามหาเหตุผลปลอบใจว่า สาเหตุที่พวกเราตัดสินใจซื้อรถกันได้ โดยไม่ต้องแม้แต่ลองขับ หรือลองนั่ง น่าจะเป็นเพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวตะวันตก และพวกเราอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบตะวันตกเลย
เวลาผ่านไปจนบัดนี้ ที่คงไม่ต้องเอ่ยถึงว่าพวกเราใช้ชีวิตใกล้เคียงชาวตะวันตก มีความคิดเอนไปทางตะวันตกมากเพียงใด ทั้งๆ ที่หลายๆ เรื่องก็ไม่ได้เหมาะสมกับชาวตะวันออกเลย แต่พฤติกรรมในการเลือกซื้อรถของพวกเราในวันนี้ ยังคงรูปแบบเดิม แม้กระทั่งคนในเมืองหลวง เพื่อน ญาติ ผู้คนที่ผมมีปฏิสัมพันธ์ด้วย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่เลือกซื้อรถในทางที่ควรจะเป็น ส่วนใหญ่แล้วมีบแรนด์ตายตัวเป็นตัวตั้งเลย อย่างอื่นเป็นเรื่องเล็กไปหมด จากนั้นจึงดูงบประมาณว่าพอซื้อรถบแรนด์ดังกล่าวได้ในระดับใด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะต้องมีอยู่รุ่นเดียว อาจจะพอเลือกความแตกต่างได้จากอุปกรณ์เสริมต่างๆ
ในเมื่อตั้งเงื่อนไขมาตายตัวเช่นนี้ การทดลองขับซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในการเลือกซื้อรถ ก็หมดความหมายไปทันที ในเมื่อเราบอกตนเองว่า "ฉันมีเงินอยู่เท่านี้ และรถของฉันก็จะต้องเป็นบแรนด์นี้ด้วย" หลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องของโชคแต่เพียงอย่างเดียว ว่ารถที่ซื้อมาจะสนองความหวังและความต้องการได้มากหรือน้อยเพียงใด บ่อยครั้งที่ผมได้ฟังเสียงบ่น หรือไม่ก็แถมด้วยคำถามถึงวิธีแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแก้ไม่ได้ เพราะมันเป็นคุณสมบัติของตัวรถ ที่เราควรจะศึกษาหาข้อมูล และทดลองขับก่อนตัดสินใจซื้อ
หัวข้อที่ได้ฟังบ่อยก็คือ "ทำไมมันกินน้ำมันมากอย่างนี้" "ทำไมช่วงล่างมันกระด้างอย่างนี้" "ทำไมเครื่องยนต์มันแรงน้อยกว่าที่คาดไว้" มันเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ แต่ว่าหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่เราต้องให้โอกาสบแรนด์อื่นบ้าง และข้อสำคัญ คือ ลองขับให้นานพอ ก่อนตัดสินใจซื้อ รถที่ถูกใจเพื่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นรถที่เราขับแล้วถูกใจนะครับ ถ้าจะเปรียบรถกับคนก็คงจะไม่แตกต่างกันมาก นั่นคือ ไม่มีรถอะไรที่ดีพร้อมไปหมดทุกด้าน และก็ไม่มีรถอะไรที่เลวไปหมดทุกด้านเหมือนกัน
ผมจะขอยกเว้นผู้ที่มีเงินไม่จำกัดในการเลือกซื้อรถ ส่วนใหญ่แล้วเราจะมีงบประมาณจำกัดระดับหนึ่ง สำหรับการซื้อรถ จากนั้นเราก็จะเลือกประเภทของรถ ขนาด และบแรนด์ มีอยู่ข้อหนึ่งที่ผมเองให้ความสำคัญมาก และอยากแนะนำให้ทุกคนที่กำลังจะซื้อรถใหม่ ให้ความสำคัญกับมันมากที่สุด นั่นคือ ความ "ไว้วางใจได้" ของรถนั้น เพราะไม่ว่ารถนั้น จะให้ความรู้สึกที่ดีสำหรับเราทุกด้านขณะขับเพียงใด ถ้ามันไว้วางใจไม่ได้ คือ เสียบ่อยโดยไม่มีเหตุผล คุณค่าด้านอื่นๆ ของมัน ก็จะหมดความหมายไปทันที เพราะมันมีหน้าที่รับใช้ให้เราสะดวกสบายขึ้น ไม่ใช่มาเพิ่มทุกข์และปัญหาให้เรา
อีกข้อหนึ่งที่สำคัญรองลงมานิดหน่อย คือ คุณภาพของศูนย์บริการ ถ้ารถของเรามีปัญหาบ้างพอสมควร แล้วศูนย์บริการแก้ไขให้ราบรื่นในราคาสมเหตุสมผล เราก็จะไม่เสียความรู้สึกมากนัก มาถึงจุดนี้ก็คงมีคำถามต่อว่า "แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าบแรนด์ไหน รุ่นไหน มันไว้วางใจได้เพียงใด และศูนย์บริการมีคุณภาพระดับไหน" ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมี CONSUMER REPORTS ขาย ที่รวบรวมจากรถหลายพันถึงหลายหมื่นคัน พวกเราไม่ได้โชคดีเหมือนเขาครับ แต่ก็มีทางออก และหวังผลได้ด้วย ทั้งความไว้วางใจได้ และคุณภาพของศูนย์บริการ นั่นคือการถามผู้ที่ใช้รถรุ่นที่เราสนใจโดยตรง เพราะเขาเหล่านั้นล้วนยินดีให้ข้อมูลแก่เรา โดยใช้เวลาไม่กี่นาที ถ้ารถนั้นหรือศูนย์บริการของบแรนด์นั้นดี ผู้ใช้รถก็จะเล่าด้วยความปลาบปลื้ม ใครจะไม่อยากชมรถของตนให้คนอื่นฟังครับ ? แต่ถ้ารถนั้นหรือศูนย์บริการบแรนด์นั้นเลวร้าย เจ้าของรถก็จะยิ่งอยากระบายความเก็บกด คับแค้นใจ ที่สะสมมานาน ให้ใครก็ได้ที่พร้อมจะรับฟัง
ผมแนะนำให้สอบถามจากผู้ใช้ให้มากที่สุด ให้ถึงประมาณ 10 คัน หรือมากกว่านั้นก็ยิ่งดีครับ เมื่อเลือกบแรนด์และรุ่นได้แล้ว จึงค่อยไปขอลองขับที่โชว์รูม ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าไปถึงแล้วได้คำตอบว่า "ที่นี่ไม่มีรถให้ลองขับ" แต่ถ้าจะชำระเงินเพื่อสั่งซื้อก็ยินดี เพราะพวกเราไม่เรียกร้องการทดลองขับก่อนตัดสินใจซื้อกันไงครับ ดีเลอร์เหล่านี้ก็เลยได้ใจ ผมเคยพบรายที่ยะโสโอหัง ถึงกับบอกว่าไม่มีนโยบายให้ลองขับ พวกเราเองต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อรถให้ถูกต้อง แล้วดีเลอร์เลวๆ พวกนี้ มันก็ต้องปรับตัวเองอย่างแน่นอน
หาข้อมูลตามวิธีที่ผมแนะนำ แล้วลองขับก่อนซื้อ โอกาสผิดหวังเกิดขึ้นได้ยากครับ สำหรับการซื้อรถใหม่สักคัน แต่ถ้ารถที่คุณจะซื้อเป็นรุ่นที่ออกใหม่ ขอแนะนำให้รอสัก 1 ปีขึ้นไปครับ เพื่อจะได้มีข้อมูลจากผู้ใช้รถรุ่นแรก ถ้าอดใจไม่ไหวก็คงต้องเปรียบเทียบคุณภาพจากรุ่นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่น่าจะผิดพลาดมากนัก
สัญญาณไฟ ควรใช้ให้ถูก
ผมเชื่อว่าผู้ใช้รถสมัยนี้ทุกคนคงรู้จักไฟฉุกเฉินกันดี ลองหาสวิทช์ของมันดูสิครับ เป็นสวิทช์สีแดง มีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม หรือไม่ก็มีคำว่า EMERGENCY แทน ถ้าสังเกตตำแหน่งที่อยู่ของมัน ซึ่งโรงงานผู้ผลิตเขาเลือกให้ จะเห็นว่ามันอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ใกล้และไม่ไกลนัก นั่นคือ ผู้ขับสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่ถึงขั้นสะดวกเหมือนสวิทช์ไฟเลี้ยว
ทำไมหรือครับ ? ก็เพราะมันไม่ได้มีไว้สำหรับให้เราใช้งานพร่ำเพรื่อ ชื่อของมันบอกอยู่แล้วว่า EMERGENCY LIGHT แปลตรงตัวได้ว่า ไฟฉุกเฉิน เพื่อใช้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน และต้องการให้ผู้อื่นทราบเท่านั้น เช่น รถประสบอุบัติเหตุ หรือเสียจอดกีดขวางอยู่ ไม่ใช่ "ไฟขอทาง" เวลาผ่านทางแยก ตามที่หลายคนเข้าใจกัน และก็ไม่ใช่ไฟขออภิสิทธิ์กระทำการอันหน้าด้านเห็นแก่ตัวใดๆ ด้วยครับ เช่น จอดเปิดไฟฉุกเฉินในที่ห้ามจอด โดยไม่สนใจว่ารถข้างหลังจะติดกันเป็นแถวยาวแค่ไหน
แปลกมากที่สิ่งผิด ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ทีเวลาจะเลี้ยวกลับขี้เกียจเปิดไฟเลี้ยวกัน โดยเฉพาะพวกที่เลี้ยวซ้าย เพราะถือว่าตนเองไม่เสี่ยงอันตรายใดๆ แต่พอตรงไปกลับขยันเปิดไฟฉุกเฉินแทน ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าจะขอทางจากใครที่ไหน ? วิธีนี้อันตรายมากครับ รถที่มาจากทางด้านซ้าย จะเข้าใจว่ารถที่เปิดไฟฉุกเฉินกำลังเปิดไฟเลี้ยวซ้ายอยู่ เพราะเห็นแต่ด้านซ้าย ส่วนรถที่ตามมาข้างหลังก็อาจเข้าใจว่ารถนี้เปิดไฟเลี้ยวข้างใดข้างหนึ่งอยู่ หากไฟอีกด้านถูกรถจักรยานยนต์บังอยู่ ซึ่งโอกาสเช่นนี้เกิดขึ้นได้บ่อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะตรงไป ไม่ต้องเปิดไฟอะไรทั้งสิ้นครับ
อีกประเภทหนึ่งที่มักใช้กันอย่างผิดๆ คือ ไฟตัดหมอก รถรุ่นใหม่ที่มักมีไฟหน้าใต้กันชน ติดมาให้จากโรงงาน หรือไม่ก็เป็นอุปกรณ์พิเศษที่ต้องเพิ่มเงินเมื่อสั่งซื้อ บางรายก็ไปซื้อมาติดเองเรียกกันติดปากว่า "ไฟสปอทไลท์" แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ครับ เพราะมันเป็นไฟตัดหมอก ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้เมื่อมีหมอกลงเท่านั้น ตำแหน่งของไฟนี้จึงต้องอยู่ต่ำจากระดับตาของเราให้มากที่สุด เพื่อป้องกันแสงสะท้อนจากหมอกมาเข้าสู่ตาเรา เมื่อเป็นไฟตัดหมอก ก็ต้องใช้เมื่อมีหมอกลงเท่านั้นครับ
ในประเทศที่เจริญแล้ว ใครขืนเอามาเปิดเล่นเพราะเห็นว่ามันส่องพื้นถนนได้สวยดี รับรองไปได้ไม่ไกลครับ ต้องถูกตำรวจจับ อย่างน้อยก็ถูกผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ รุมประนาม แต่บ้านเราขาดแคลนความถูกต้องเหล่านี้ จึงเห็นเปิดกันพร่ำเพรื่อ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นอย่างมาก เพราะความสว่างของมันรบกวนสายตาชาวบ้าน (เนื่องจากไม่มีหมอกมากั้นไว้)
ผู้ใช้งานผิดๆ เหล่านี้ก็เดือดร้อนเหมือนกันครับ เพราะความร้อนของโคมไฟนี้สูงมาก หากเปิดไว้นานๆ จนร้อนจัดแล้วฝนตกกะทันหัน หรือถูกน้ำจากล้อรถคันอื่น กระจกหน้าโคมไฟจะแตกทันที เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีหมอกไม่ต้องเปิดครับ จะว่าไฟนี้ช่วยเรียกความสนใจก็คงไม่ได้แล้วเพราะพวกใช้รถผิดวิตถารเหล่านี้ มีมากมายจนกลายเป็นของธรรมดาไปเสียแล้ว
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2558
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ