รอบรู้เรื่องรถ
เตรียมรถให้พร้อม ก่อนเดินทางไกล
ผมตั้งใจเก็บเรื่องนี้ไว้ลงในฉบับเดือนธันวาคม ให้ทันการเดินทางในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่พอดีครับ ที่จริงระยะทางในการเดินทางไกลของพวกเรานั้น ไกลสำหรับผู้ขับ และผู้โดยสารเท่านั้นครับ คือ ขับกันจนเหนื่อย หรือนั่งกันจนเมื่อยแล้วก็ยังไม่ถึง แต่สำหรับรถในยุคนี้ของพวกเรา (แม้จะมีอายุใช้งานมาแล้วสัก 20 ปีก็ตาม) ไม่เรียกว่าไกลเลย ยกตัวอย่าง เช่น ไป/กลับ กรุงเทพ ฯ-เชียงใหม่ รวมระยะทางที่แวะเที่ยว และขับในเมือง ก็ไม่เกิน 3,000 กม. ไม่ได้มากขนาดที่จะเกิดความเสี่ยงว่ารถจะเสียกลางทางจนใช้งานต่อไปไม่ได้สาเหตุที่ทำให้พวกเรากลัวรถเสียขณะเดินทางไกลนั้น มาจากความเดือดร้อน ที่บางครั้งถึงขั้นไม่อาจแก้ไขได้ แผนการที่วางไว้ล้มเหลวหมด แค่หาอู่หรือศูนย์บริการที่ซ่อมเป็นก็ไม่ได้ หรือมีก็ขาดอะไหล่ที่ต้องใช้ เชื่อไหมครับว่า สาเหตุที่รถของเราเสียกลางทางนั้น เกือบทุกกรณี ไม่ได้มาจากคุณภาพของรถ แต่มาจากความ "เฮงซวย" ของช่างที่ซ่อม หรือมีหน้าที่ตรวจสภาพ ยกเว้นอย่างเดียว คือ เจ้าของรถประเภท "ขับอย่างเดียว" ไม่ทำอะไรเลยนอกจากเติมเชื้อเพลิง คือ ไม่ตรวจตราสิ่งที่เจ้าของหรือผู้ใช้รถต้องตรวจ เช่น ระดับน้ำหล่อเย็น ระดับน้ำมันเครื่อง ระดับน้ำมันเบรค ระดับน้ำกรดในแบทเตอรี (แบบที่ต้องเติมน้ำกลั่น) และไม่ส่งรถเข้ารับการบำรุงรักษาตามกำหนดด้วย พวกนี้คงไม่มีใครช่วยได้แล้ว ส่วนใหญ่ที่ผมพบ มักมีสาเหตุมาจากความชุ่ย มักง่าย หรือไม่ก็ความขี้เกียจของช่าง ทั้งจากงานซ่อม และการตรวจสภาพ ถ้าพอมีความรู้ความเข้าใจเชิงช่างอยู่บ้างสามารถลดความเสี่ยงลงได้ ด้วยการตรวจตราเองครับ รถที่เสียกลางทางจนขับต่อไปไม่ได้ มีสาเหตุไม่กี่อย่างครับ คือ ท่อน้ำ ท่ออากาศ (ที่เรียกกันว่าท่อลม) ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง และสายพาน ส่วนอื่นๆ ถ้าเสียก็ต้องถือว่าโชคร้าย สุดวิสัย เช่น ชิ้นส่วนแตกหักก่อนอายุขัย ปั๊มเชื้อเพลิงเสื่อมสภาพจนหยุดทำงาน หรือสายไฟบางจุดชำรุด ตอนเครื่อง "เย็น" ลองตรวจสภาพท่อน้ำดูครับ โดยเฉพาะท่อหลัก ซึ่งมีขนาดใหญ่มักอยู่ด้านบนหนึ่งท่อ และด้านล่างหนึ่งท่อเปิดฝาหม้อน้ำให้อากาศ (หรือน้ำ) รั่วออกได้ แล้วบีบท่อน้ำให้แบน ดูเนื้อตรงรอยพับ ว่ายังเหนียวแน่นปกติดีหรือไม่ ถ้ามีรอยร้าว กรอบ รีบเปลี่ยนใหม่ได้เลย ถ้ายังอยู่ในสภาพดี แต่ถ้าเรารู้อายุใช้งาน และเกิน 4 ปีแล้ว เปลี่ยนใหม่ได้เลยครับ เพราะมีท่อน้ำที่หมดอายุ พร้อมที่จะแตกได้ทุกเวลา (เพราะต้องรับความดันสูงในระบบหล่อเย็น) แต่เนื้อยังนุ่มดีอยู่ ท่อเชื้อเพลิงตรวจยากกว่า ลองจับโก่งงอดูว่าแข็งกรอบจนน่ากังวลหรือไม่ ดูรอบตัวกับท่อโลหะ ว่ารั่วซึมหรือไม่ แต่ถ้ารู้อายุใช้งาน เช่น เกิน 5 ปีแล้ว แต่สภาพยังพอใช้ได้อย่าเสียดายครับ สั่งเปลี่ยนใหม่ไปเลยทั้งชุด ตรวจสายพานขับปั๊มน้ำอัลเทอร์เนเตอร์ โดยดูด้านข้าง และ "ท้อง" สายพาน (สันด้านใน) ส่วนด้านนอกมักไม่มีอาการให้เห็น ข้อสำคัญต้องตรวจให้ครบทั้งเส้น จำตำหนิ หรือถ้าไม่มี ทำตำหนิไว้ แล้วสตาร์ทเครื่องยนต์แบบใช้เวลาสั้นที่สุด ไม่ต้องให้เครื่องยนต์ติด ให้เพลาข้อเหวี่ยงหมุนสักรอบเดียว เพื่อให้ด้านข้าง และท้องสายพานที่ถูกบังอยู่ในตอนแรก เลื่อนพ้นร่องออกมาจนเราตรวจสภาพได้ครบทั้งเส้น ผมยังไม่เคยเห็นช่างซ่อมรถคนไหน ตรวจสภาพสายพานแบบนี้ ส่วนใหญ่มองแค่ส่วนที่มันบังเอิญอยู่นอกร่อง แค่จะหาไฟส่องสว่างมามองให้ชัดเจน ก็ยังยากแล้ว ส่วนใหญ่สายพานที่ชำรุดจนเสี่ยงต่อการขาดกลางทางจะมี "แผล" ที่เสี่ยงอยู่เพียงจุดเดียว ถ้าจุดนี้ฝังตัวอยู่ในร่องพอดีก็เป็นความ "ซวย" ของพวกเรา ขอฝากครูช่างไว้ด้วยครับ ช่วยสอนวิธีตรวจที่ถูกต้องแก่ลูกน้องด้วย เพราะความเดือดร้อนของลูกค้าจากเรื่องเล็กๆ อย่างนี้ หนักหนาสาหัสมากสายพานที่ไม่ใช่ของปลอมยุคนี้ คุณภาพสูง และมีอายุใช้งานสูงมาก ถ้าถูกปรับความตึงให้ถูกต้อง จะมีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 50,000 กม. ถ้ารู้อายุใช้งานมาแล้ว ว่าเกิน 30,000 กม. (โดยประมาณนะครับ เลข "กลมๆ" ไม่มีความหมายทางเทคนิค) เปลี่ยนหรือสั่งเปลี่ยนใหม่ได้เลย ลมยาง หรือความดันอากาศภายในยาง ต้องถูกต้องตามที่ผู้ผลิตรถกำหนดไว้ ถ้าไม่ตรงตามที่ผู้ผลิตรถกำหนดไว้ ถ้าไม่ตรง ขอให้ผิดไปในทางเกินไม่มีผลเสีย นอกจากสะเทือนกว่าที่ควร ใครบอกว่าถ้าแข็งเกินแล้วหน้ายางจะสึกเกินปกติ อย่าไปเชื่อครับนั่นเอามาจากตำราโบราณเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ยางเรเดียลแบบที่ใช้กับรถของเราไม่มีปัญหานี้ การวัดค่าให้วัดตอนยางยังไม่ร้อน ได้ค่าถูกต้องแล้ว ไม่ต้องไปวัดอีก เพราะตอนที่ยางร้อนจากการบิดตัวของหน้ายาง และแก้มยาง จากผิวถนน และจากจานเบรคที่ร้อน ความดันจะเพิ่มขึ้น 2-4 ปอนด์/ตารางนิ้ว เช่น จาก 32 เป็น 35 หรือ 36 ไม่ต้องไปปล่อยออกครับ ผู้ผลิตรถเขาคำนึงถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว เลือกความเร็วในการเดินทางให้เหมาะ เกินค่าที่กฎหมายกำหนดไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นการกำหนดแบบบ้าบัดซบไร้หลักเกณฑ์ ถนนกว้างผิวดีมาก ให้ขับไม่เกิน 90 กม./ชม. แต่ถนนที่ผิวแย่ รถบรรทุกมากมายร่วมใช้ ไม่มีแสงไฟส่องผิวจราจรให้ขับได้ถึง 120 กม./ชม. และไม่จำเป็น ต้องพยายามแซงให้ได้มากที่สุดไปตลอดทาง เพราะมันแทบไม่ช่วยลดระยะเวลาเดินทางเลย มีแต่เพิ่มอันตราย และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ลองนึกภาพเราเดินเรียงแถวเดียวตามกันบนทางเท้าดูก็ได้ครับ ด้วยความเร็วระดับคนปกติเดิน แล้วเราเป็นคนที่ 10 จากหัวแถวไปว่าจะไปไหน เราก็จะถึงจุดหมายช้ากว่าคนหัวแถวราวๆ 10 วินาทีเท่านั้น ไม่มีความหมายอะไร การขับรถก็ไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรักษาระยะห่างจากคันหน้า ทำไมต้องเว้นระยะนี้ให้ห่างเพียงพอ ? ตอบง่ายๆ ได้เลย ก็เพราะเราไม่สามารถเริ่มเบรคได้พร้อมคันหน้า และอาจจะเบรคได้ไม่ดีเท่าคันหน้าด้วย ทันทีที่คันหน้าเบรค ความเร็วก็จะลดลงทันที แต่รถของเรายังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ มันก็จะพุ่งเข้าใส่คันหน้า ในระหว่างที่ตาเราเริ่มเห็นไฟเบรคติด สมองรับรู้ และตัดสินใจว่าต้องเบรคด้วย มิฉะนั้นจะชนท้ายรถนั้นสมองสั่งมาที่กล้ามเนื้อขา แล้วก็ยังต้องใช้เวลาในการยกเท้าจากคันเร่งมาที่แป้นเบรค แล้วเหยียดขาเพื่อให้เท้ากดแป้นเบรค กดไปแล้วก็กินเวลาช่วงหนึ่ง กว่าที่ผ้าเบรคจะถูกอัดกับจานเบรคแล้วเริ่มมีแรงเบรค ในช่วงเวลาทั้งหมดนี้ รถของเราจะขับเข้าไปใกล้ท้ายคันหน้าตลอด ถ้าระยะเวลาที่เราเตรียมไว้ซึ่งคือการเว้นระยะห่างไว้น้อยกว่าที่ใช้ ก็ได้เรื่องในการโทรเรียกพนักงานจากบริษัทประกันภัย และก็อาจทำให้คนหลายร้อยคนที่ร่วมใช้ถนนเดือดร้อนไปด้วย ตามมาตรฐานสากลที่ให้ความปลอดภัยสูงสุด กำหนดระยะห่างจากท้ายคันหน้าด้วยค่าความเร็วที่ขับตามกัน ไว้ที่ครึ่งหนึ่งของความเร็วที่มีหน่วย กม./ชม. แล้วใช้หน่วยความยาวเป็นเมตร เช่น ขับตามหลังคันหน้าด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. ควรเว้นระยะห่าง 50 เมตร แต่ในสภาพการจราจร และนิสัยการขับขี่ของคนไทย ลดลงอีกครึ่งก็ยังดีครับ และถ้าสถานการณ์บังคับก็พอยอมให้เหลือ 1 ใน 4 ได้ ซึ่งที่จริงไม่ใช่ระยะที่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ยังดีกว่าที่ใช้กันอยู่แค่ 1 ใน 10 เพราะฉะนั้น จากตัวอย่างเดิม ระยะห่างที่ควรเว้นที่ความเร็ว 100 กม./ชม. คือ 50 เมตร ถึง 30 เมตร โดยประมาณครับ ก่อนเดินทางต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช่เห็นวันรุ่งขึ้นที่จะเดินทางเป็นวันหยุด นั่งโซ้ยเหล้าจนตี 3 แล้วกะว่าค่อยไปนอนเต็มที่ในคืนถัดไป แบบนี้มีสิทธิ์ได้นอนในกล่องไม้สี่เหลี่ยมแทน เพราะการ "หลับใน" ขณะเดินทางไกลนั้นอันตรายที่สุด แล้วยังอาจพาผู้ร่วมโดยสาร และผู้ร่วมใช้ถนนตายตามไปด้วย เมื่อใดเกิดอาการสัปหงกวูบแรก ต้องหยุดรถในที่ปลอดภัย และทำตัวให้หายง่วงทันทีครับ เพราะนี่คือสัญญาณว่าเราได้ก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปในโลง หรือคุกแล้ว หยุดพักล้างหน้าในที่ใกล้ที่สุด หาเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนอย่างเข้มดื่มทันที ผู้ร่วมเดินทางก็มีส่วนร่วมในการเดินทางให้ปลอดภัย อย่าปล่อยให้ผู้ขับไม่ต้องคิดอะไรครับหาเรื่องเบาๆ มาชวนคุยเป็นช่วงๆ ไว้ อย่าให้ถึงขั้นน่ารำคาญ หรือมาถกปัญหาชีวิตกันในรถ ส่วนใหญ่ที่ผมพบ มักหลับสบายกันหมด ปล่อยให้ผู้ขับต่อสู้กับความง่วงอยู่คนเดียว แบบนี้ตื่นมาอาจได้คุยกับยมบาลแทน ถ้าอยากถึงที่หมายเร็ว ไม่ต้องขับเร็วเป็นพิเศษครับ และไม่ต้องพยายามแซงรถอื่นไปตลอดทางด้วย เพียงแค่อย่าแวะที่ที่ไม่จำเป็น และอย่าพักนาน พักเฉพาะผู้ขับ และผู้โดยสารเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย ไม่มีการพักรถนะครับไม่เหลือเนื้อที่พอให้อธิบายทางเทคนิค ผมจึงขอให้คำตอบ "สำเร็จรูป" เลยว่า ไม่มีส่วนใดเลยของรถที่จำเป็นต้องให้มันหยุดพักขณะเดินทางไกล พักแต่คนเท่านั้นครับ ถ้าขับไหวแบบไม่ต้องฝืน หรือมีผู้สับเปลี่ยน ไม่ต้องดับเครื่องเลยยิ่งดีต่อรถของเรา ขอให้เดินทางไปและกลับโดยสวัสดิภาพทุกท่านครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2557
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ