รู้ไว้ใช่ว่า
"รถประจำตำแหน่ง"
ถึงวันนี้ เรายังเป็นประเทศที่ค่อนข้างอัตคัดเงินทอง ไม่ร่ำรวยเหมือนหลายๆ ประเทศ แต่แปลกที่นักการเมืองอาชีพ (แทบทั้งนั้น-ไม่ใช่ผู้ขันอาสา) ส่วนใหญ่มั่งมี ส่วนน้อยมีมั่งไม่มีมั่ง แต่ถ้าไล่เลียงดู ฐานะเราก็กระเตื้องขึ้นอยู่หรอก วัดกันง่ายๆ ด้วย "รถประจำตำแหน่ง" ของข้าราชการงานเมืองดูก็ได้
เอาของจริงกันเลย เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ผมกินเป็นอัยการจังหวัดแห่งหนึ่ง ไม่เบา มีรถประจำตำแหน่งซะด้วย แต่ทานโทษเป็นรถ "แลนด์ โรเวอร์" แบบใช้เข้าป่าเข้ารก ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เก่ามากี่ปีแล้วไม่รู้ จอดทิ้งซะส่วนใหญ่ พอผมย้ายจากที่นั่นไม่นาน เขาโละทิ้งโดยประมูลขาย ได้ราคาสักสองหมื่นกระมัง ขณะเดียวกัน ใช่ว่าอัยการจังหวัดจะมีรถประจำตำแหน่งเสมอไป บัดนี้ มีครบทุกแห่ง ขี้เหร่ๆ ก็รถเก๋ง ราคาล้านกว่าบาทขึ้นไปก็มี ตำแหน่งเหนือกว่านั้นก็ว่ากันไป ส่วนหน่วยงานอื่นๆ อย่างที่เห็น เมร์เซเดส-เบนซ์ บีเอมดับเบิลยู รถตู้ชั้นดี รถกันกระสุนก็ใช่ ราคาคันหนึ่งหลายล้านบาท
จีนแผ่นดินใหญ่ก็ใช่ย่อย ขานี้ฟู่ฟ่าเรื่องรถประจำตำแหน่งทีเดียว นิยมนัก คือ เอาดี สีดำ เมื่อเห็นว่าข้าราชการงานเมืองชักจะโกบิกทุกๆ เรื่อง จนช่องว่างระหว่างชาวบ้านถ่างขาขึ้นเรื่อยๆ การคอร์รัพชันแบบมูมมามตามมาติดๆ จึงมีมาตรการต่างๆ รวมทั้งการลดระดับรถประจำตำแหน่ง ไม่ให้เหนือประชาชนคนเดินดิน เจ้าของภาษี จนมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย จะเอาไม่อยู่เข้าสักวัน
มาดูคดีเกี่ยวกับรถประจำตำแหน่งสักเคสหนึ่ง ผู้ใช้รถอยู่รู้แล้วจะหนาวยะเยือก ผู้ที่หนาวและเหนื่อยทั้งกายใจไม่ธรรมดา ขณะเกิดเหตุเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากกทม. ไม่มีบ้านพัก เช่าก็แพง (หนึ่งสาเหตุที่ช่วยให้รอดตัว) จึงใช้วิธีขับรถจากบ้านที่เมืองนนท์ ไปทำงานด้วยรถเก๋งประจำตำแหน่ง ก่อนเกิดเรื่องไม่นาน ช่วงล่างเกิดเสียงดัง เจ้าตัว คือ "คุณตัดสิน" นามสกุล "คดีทั้งหลาย" ชื่อแซ่ตรงกับสายงานจัง ให้พนักงานเอารถไปตรวจที่ศูนย์ของยี่ห้อรถนั้น ศูนย์ทะลึ่งแจ้งว่า "รถไม่มีปัญหา" ใช้รถไปอีกราว 10 วัน มีเสียงดังอีก เอาไปให้ศูนย์ตรวจ เขาแจ้งว่า ไม่พบสาเหตุ (อีกหนึ่งสาเหตุที่ช่วยให้รอด)
แล้วปัญหาก็ตามมาเป็นพรวนๆ...ชนิดที่ คุณตัดสิน แทบจำบ้านเลขที่ไม่ได้ หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ขณะขับรถจากบ้านที่เมืองนนท์ไปทำงานตามปกติ รถมีอาการแกว่ง คล้ายปะทะลมรุนแรง เสียการทรงตัว คุณตัดสิน คิดว่ายางแตก ถอนคันเร่ง ไม่กล้าแตะเบรค กลัวรถพลิกหรือชนกับรถอื่น ประคองพวงมาลัยรักษาการทรงตัวรถ แต่ใช้พวงมาลัยบังคับทิศทางตามปกติไม่ได้ รถส่ายไปมาจนถึงทางโค้งขวา รถจะแถไปชนรถยนต์คันอื่น จึงหักพวงมาลัยมาทางขวา แต่รถเอาไม่อยู่ ในที่สุดก็เสียการทรงตัว ชนเหล็กกั้นราวสะพาน พลิกคว่ำ พุ่งตกลงไปในคลองใต้สะพานอีกฝั่งหนึ่ง ยังดีที่ คุณตัดสิน รอดตาย นั่นคือความซวยยกที่หนึ่ง ยกที่สองตามมาติดๆ คนของมูลนิธิแห่งหนึ่ง ร่วมกันขโมยเงินที่ คุณตัดสิน กำลังจะนำไปไถ่ถอนการขายฝากที่ดินของญาติ อุตส่าห์เก็บไว้ในกระโปรงหลัง จำนวน 9 แสนบาท เหลือไว้ให้ 1 ล้านบาท ความซวยยกที่สาม คือ คดีนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะผู้ดูแลรถประจำตำแหน่ง สอบสวนแล้ว ลงความเห็นว่า รถพังยับจนหมดสภาพ
คุณตัดสิน ต้องชดใช้ค่าเสียหาย หักค่าเสื่อมแล้วเป็นเงินเกือบ 7 แสนบาท เจ้าตัวส่ายหน้าแบบหนังแขก ไม่จ่าย ผู้พิพากษาท่านนี้จึงโดนสำนักงานศาลยุติธรรม ฟ้องเป็นคดีแพ่ง บังคับให้จ่าย อ้างว่ารถพังเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ใช้รถประจำตำแหน่ง
คุณตัดสิน ซึ่งยังทำงานในตำแหน่งตุลาการเหมือนชื่อ ตกเป็นจำเลยในศาลซะเอง สู้คดี ยืนยันว่าใช้รถเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ เกิดเหตุเล่นเอาเจียนตาย เพราะรถมีปัญหาช่วงล่าง ไม่ได้ขับเร็ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีอย่างระมัดระวัง แล้วตัดสินยกฟ้อง ให้ คุณตัดสิน ยิ้มออกบ้าง
มียกสอง เพราะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ตามเกม เนื่องจากรถเป็นทรัพย์สินของหลวง ต้องหาผู้รับผิดชอบ ไม่งั้นโดนกระทรวงการคลังไล่บี้
ศาลอุทธรณ์นั่งอ่านสำนวนในห้องทำงาน นึกสงสาร คุณตัดสิน พอสมควร แล้วพิพากษายืน เอาตามศาลชั้นต้น
คดีแบบนี้ต้องว่าจนสุดซอย โจทก์ คือ สำนักงานศาลยุติธรรมยื่นฎีกา เพื่อให้คดีถึงที่สุด
ศาลฎีกาคว้าสำนวนซึ่งจำเลยเป็นตุลาการทั้งดุ้นมาส่องดู แล้วทำใจเป็นกลาง ชี้ขาดออกมา
ตาม พรบ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่ง ฯ ระบุว่า "ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง" โจทก์จึงฟ้องได้ ไม่ใช่กลั่นแกล้ง
ศาลฎีกาหันไปเหล่ดู ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2544 ซึ่งเขียนไว้ว่า รถประจำตำแหน่ง ให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไป/กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการ และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ข้าราชการและสังคม ดังนั้น การที่ คุณตัดสิน มีความจำเป็นต้องขับรถยนต์ประจำตำแหน่งออกจากบ้านพักที่จังหวัดนนทบุรีไปทำงานที่ศาล จึงเป็นการใช้รถไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ โจทก์ยกเอาระเบียบของกรมบัญชีกลางมาอ้างทีหลัง ว่าไม่เป็นการใช้รถในตำแหน่งหน้าที่ ยังงี้มันนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตานี้มาดูว่าจำเลยประมาทหรือเปล่า ปรากฏว่ามีพยานเป็นชาวบ้าน ขับรถตามหลังด้วยความเร็วราว 90 กม./ชม. ขณะเกิดเหตุ ถนนเส้นนั้นใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม. รอดไปอย่างหนึ่งละ ยังมีตำรวจตรวจสภาพรถ และพยานซึ่งเป็นช่างซ่อมรถ ฟันธงว่า เหตุเกิดเพราะปีกนกล้อหลังซ้ายฉีกขาด จากสนิมกิน ทำให้ คุณตัดสิน ไม่สามารถควบคุมบังคับรถได้ และเฉียดตาย นี่ก็อย่างหนึ่ง อีกข้อ ก่อนเกิดเหตุไม่นาน คุณตัดสิน เอารถไปให้ศูนย์ตรวจตราเพราะช่วงล่างมีเสียงดัง ศูนย์แจ้งว่าไม่พบความบกพร่อง ใช้งานได้ แสดงว่า คุณตัดสิน เอาใจใส่ดูแลรักษารถคันเกิดเหตุ นำเข้าตรวจสภาพเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ ใช้รถด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ ไม่ถือว่า คุณตัดสิน รู้ว่ารถมีสภาพไม่สมบูรณ์ ยังขืนใช้ นี่ก็อีกอย่าง ทั้งยังขับไม่เกินร้อย บนถนนที่ให้ขับได้ถึง 120 กม./ชม. นี่ก็อีกอย่าง ทำให้ศาลฎีกาฟันขาดกลางว่า งานนี้ คุณตัดสิน ไม่ได้ขับรถประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เหตุเกิดจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถต่างหาก เป็นเหตุสุดวิสัย จึงรอดตัว ไม่ต้องรับผิดใดๆ ศาลล่างยกฟ้อง ศาลฎีกาเอาด้วย พิพากษายืน
ไม่ใช่แค่นี้นะ คุณตัดสิน ยังไปกรำศึก ฟ้องศูนย์บริการรถ ฐานให้ข้อมูลกับทางการว่ารถไม่มีปัญหา เหตุเกิดจาก คุณตัดสิน ขับรถประมาทต่างหาก กับใช้บริการศาลปกครอง ฟ้องกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเซ้าซี้จะให้ คุณตัดสิน จ่ายค่าเสียหายให้จงได้ ชนะอีกเหมือนกัน พวกที่ขโมยเงินต้องฟ้องไหม อันนี้ผมไม่มีข้อมูล เรียกว่าซวยซ้ำซวยซ้อนทีเดียว กับการใช้รถประจำตำแหน่ง แล้วเกิดปัญหาตามมาเป็นทิวแถว ขนาดเป็นผู้พิพากษาทั้งแท่ง ยังเอาตัวแทบไม่รอด ใครขี่รถพรรค์นี้ ระวังไว้ด้วยนะ
จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16467/2555
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณรงค์ นิติจันทร์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2557
คอลัมน์ Online : รู้ไว้ใช่ว่า