รายงาน(formula)
ถูก หรือ ผิด
พฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่รู้ที่มา ดูเหมือนจะเป็นความเคยชินของคนไทยส่วนใหญ่ไปเสียแล้ว จนบางครั้งอาจทำเรื่องผิดๆ ที่ส่งผลเสียร้ายแรงโดยไม่รู้ตัว "ฟอร์มูลา" รวบรวมพฤติกรรมเลียนแบบ รวมถึงพฤติกรรมเข้าใจผิดที่เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนมาฝากกัน
พฤติกรรมเลียนแบบ ที่ต้องเปลี่ยน
เปิดไฟฉุกเฉินขณะฝนตกหนัก
เมื่อผู้ขับขี่ต้องขับรถท่ามกลางฝนที่ตกหนัก จนไม่สามารถมองเห็นรถข้างหน้าได้ชัดเจน สถานการณ์แบบนี้ ห้ามเปิดไฟฉุกเฉินเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ผู้ร่วมทางเข้าใจผิดว่า รถคันข้างหน้า คือ รถที่จอดเสียอยู่ ทำให้ต้องเปลี่ยนช่องทางวิ่ง จุดนี้เองที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย ทางที่ดีควรเปิดไฟหน้า ถ้ามีไฟตัดหมอกก็ให้เปิดได้ หากประเมินแล้วว่ายังมองเห็น สามารถวิ่งต่อไปได้ ให้วิ่งไปเรื่อยๆ อย่างระมัดระวัง ถ้าไม่ไหวรีบเข้าข้างทาง ให้พ้นจากไหล่ถนนได้ยิ่งดี
เปิดไฟผ่าหมากเมื่อจะตรงไป
การเปิดไฟฉุกเฉิน เมื่อถึงทางแยกเป็นเรื่องที่ผิด ! เนื่องจากรถที่มาจากด้านซ้าย และด้านขวาของเรา จะเห็นเพียงไฟเลี้ยวเพียงด้านเดียวเท่านั้น โอกาสที่จะเห็นไฟเลี้ยวทั้ง 2 ข้าง มีเพียงรถฝั่งเดียวกับเรา และฝั่งตรงข้ามเท่านั้น จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ ดังนั้นหากต้องการขับตรงผ่านสี่แยก ห้ามเปิดไฟฉุกเฉิน ซึ่งหมายความว่าเราไม่ต้องการเลี้ยวทั้งซ้ายและขวา!
จอดรถแป๊บเดียว แค่เปิดไฟฉุกเฉินก็พอ
ถ้าต้องจอดรถซื้อของ หรือทำธุระที่คิดว่าใช้เวลาไม่นาน ควรหาที่จอดที่ไม่กีดขวางการจราจรเสมอ การจอดริมถนนแล้วคิดว่า แค่เปิดไฟฉุกเฉินให้คันอื่นรู้ ก็น่าจะพอ เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง การจอดรถกีดขวางการจราจรเป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้รถติด ถ้าใครฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์แจกใบสั่ง-จับ-ปรับ ได้นะครับ
พฤติกรรมเข้าใจผิด ที่ต้องเลิก "มโน"
เปิดไฟหน้า พร้อมไฟตัดหมอก สว่างกว่า
ในรถยนต์ยุคใหม่ ผู้ผลิตอาจเพิ่มไฟตัดหมอกติดมากับรถด้วย เอาไว้เปิดเวลาที่ทัศนวิสัยเลวร้ายเท่านั้น เช่น หมอกลงจัด ฝนตกหนัก หรือผ่านกลุ่มควันที่มองไม่เห็น เพราะไฟเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้รถคันอื่น มองเห็นรถเรา ในยามคับขัน ไม่มีผลทำให้สว่างขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ควรเปิดไฟตัดหมอกในสถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะไฟตัดหมอกหลัง เพราะจะไปรบกวนสายตาของรถที่ตามหลัง อาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้
ขับเร็วตามกำหนด ไม่ต้องชิดซ้าย
มีหลายคนที่คิดว่า ถ้าขับรถเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่จำเป็นต้องเข้าเลนซ้าย ถ้ามีความคิดแบบนี้ อยากจะให้ทำความเข้าใจเสียใหม่นะครับ ตามกฎหมายแล้ว เลนขวาสุดเป็นช่องทางที่ "เอาไว้แซง" เท่านั้น เมื่อแซงพ้นแล้ว ต้องเข้าเลนซ้ายเสมอ ถ้าวิ่งแช่ขวา อาจโดนใบสั่งได้ และอาจกีดขวางรถที่มีเหตุจำเป็นต้องวิ่งเร็วกว่า สร้างปัญหาจราจรได้
เปิดสัญญาณไฟขอทาง ต้องได้เข้าทันที
ในการเปลี่ยนช่องทางของรถ การให้สัญญาณไฟเลี้ยวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลืมที่จะคำนวณ "จังหวะ" การเปลี่ยนเลนด้วย รวมถึงสังเกตรถที่เราขอแทรกเลนด้วยว่า เขาพร้อมให้เราเข้าหรือไม่ เพราะบางครั้งรถเขาอาจมีจังหวะที่ดีกว่าเรา ถ้าเขาไม่ให้เข้า ก็ไม่ควรไปตัดหน้า หรือต่อว่าเขา เรื่องแบบนี้อยู่ที่จังหวะ และความมีน้ำใจครับ
ใส่รองเท้าอะไรก็ได้ ถ้าถนัด
การบังคับควบคุมรถ ให้ได้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ คือ การสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นทุกครั้งที่ขับรถ จะทำให้ควบคุมแป้นคันเร่ง เบรค หรือคลัทช์ ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน การใส่รองเท้าแตะ หรือรองเท้าส้นสูง รวมถึงการถอดรองเท้าขับรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมาแล้วมากมาย จากการลื่น หรือเหยียบพลาด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรใส่รองเท้าหุ้มส้นทุกครั้งที่ขับรถ
รถใหญ่ ต้องได้ไปก่อน
การใช้รถใช้ถนนของคนยุคนี้ ต้องพบเจอกับการเบียดแย่งช่องทางอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะรถคันใหญ่ ที่มักคิดเอาเองว่า รถที่เล็กกว่าต้องหลบให้รถคันใหญ่ได้ไปก่อนเสมอ ตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่ารถเล็กหรือรถใหญ่ ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร อย่างเสมอภาค รถที่อยู่ช่องทางเอก มีสิทธิ์ได้ไปก่อนรถที่อยู่ในช่องทางโท ถ้าเป็นทางร่วมก็ควรสลับกันไปทีละคัน ดังนั้นไม่ว่ารถจะเล็กหรือใหญ่ ก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
พฤติกรรมเอาเปรียบ ที่ต้องแก้
จอดรถในที่คนพิการ
ตามศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ จะมีที่จอดรถสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ สังเกตได้จากสัญลักษณ์รถเข็นคนพิการขนาดใหญ่บนพื้นช่องจอด ที่จะมีช่องจอดขนาดใหญ่กว่าทั่วไป เอาไว้เผื่อขนวีลแชร์ หรือของจำเป็นสำหรับคนพิการ และที่สำคัญมักอยู่ในตำแหน่งใกล้ประตูทางเข้าของห้าง จึงเป็นที่หมายตาของพวกชอบ "ลักไก่" ที่แกล้งเสแสร้งว่าเป็นคนพิการ (ทางสมอง) แอบเข้ามาจอดอยู่เสมอๆ
จอดรถไร้น้ำใจ
ปัญหาการจอดรถ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในสังคมไทย ความจริงเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่เล็กมาก ถ้าผู้ใช้รถใส่ใจเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย เช่น ถ้าต้องจอดรถขวางรถคันอื่น ก็ต้องไม่ลืมที่จะปลดเบรคมือ พร้อมเข้าเกียร์ว่าง ถ้าต้องจอดในช่องจอด ก็ควรจอดให้อยู่ในช่องจอดของตัวเอง อย่าคร่อม อย่าจอดแนวทแยง เพื่อให้รถคันอื่นได้จอดบ้าง
อย่าเร็วเกิน!
ความเร็วรถตาม พรบ จราจรทางบกฉบับที่ 8 ปี 2551
1. สำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กก. หรือรถบรรทุกคนโดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลไม่เกิน 60 กม./ชม. หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 80 กม./ชม.
2. สำหรับรถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ในข้อ 1. ขณะลากจูง รถพ่วง รถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกิน 1,200 กก.หรือรถยนต์ 3 ล้อ ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 45 กม./ชม. หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 60 กม./ชม.
สำหรับรถยนต์อื่นนอกจากรถที่ระบุไว้ในข้อ 1. หรือ 2. หรือรถจักรยานยนต์ ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 90 กม./ชม. และอัตราความเร็วของพาหนะบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางสายกรุงเทพมหานคร-พัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) สำหรับรถยนต์นั่ง กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.
* ข้อมูลจากโครงการการวิจัยการใช้ความเร็วในการขับขี่ที่ปลอดภัย www.tarc.ait.ac.th/th/speed7.php
ปรับไม่เลี้ยง
อัตราค่าปรับตามพรบ. จราจรทางบกปี 2552
[table]
ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร,300 บาท
ไม่คาดเข็มคัดนิรภัย,200 บาท
ฝ่าฝืนสัญญาณมือ,300 บาท
จอดรถในที่ที่มีเครื่องหมายห้าม,200 บาท
ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย,200 บาท
จอดรถซ้อนคัน,200 บาท
ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร,400 บาท
ไม่สวมหมวกนิรภัย,200 บาท
ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียว,400 บาท
ไม่ขับรถตามทิศทางที่กำหนด (ย้อนศร),200 บาท
แซงรถในที่ขับคัน,400 บาท
เดินรถผิดช่องทางเดินรถ,400 บาท
เลี้ยวหรือกลับรถในที่ที่มีเครื่องหมายห้าม,400 บาท
จอดรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย,400 บาท
กลับรถในที่ขับขัน ทางร่วม ทางแยก,400 บาท
ใช้วัสดุกรองแสงผิดกฏหมาย,400 บาท
ใช้รถที่ยังไม่จดทะเบียนเสียภาษี,1000 บาท
ไม่มีสำเนาภาพถ่ายคู่มือการจดทะเบียนรถ,200 บาท
ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน,200 บาท
เปลี่ยนแปลงสี/เครื่องยนต์ ไม่แจ้งต่อนายทะเบียน,1000 บาท
อุปกรณ์ไม่ครบถ้วน,200 บาท
ใช้โคมไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยวไฟตัดหมอก ผิดกฎกระทรวง,200 บาท
เปลี่ยนแปลงสภาพรถ,1000 บาท
ปิดปังแผ่นป้ายทะเบียนทั้งหมดหรือบางส่วน,200 บาท
ขาดต่อภาษีประจำปี,200 บาท
ไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปี,200 บาท
ไม่มีใบอนุญาตขับขี่,200 บาท
ขับรถที่มีไว้เพื่อขายหรือซ่อมแซมในเวลากลางคืน,200 บาท
ท่อไอเสียดัง,1000 บาท
ใช้รถไม่ตรงกับประเภทที่ได้จดทะเบียนไว้,200 บาท
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2557
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)