รู้ลึกเรื่องรถ
ฮอนดา เอนเอสเอกซ์ 2017 ซูเพอร์คาร์แห่งอนาคต
นับตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์มีความฝันที่จะก้าวไปได้ไกลกว่า และเร็วกว่าเดิมเสมอ เริ่มตั้งแต่การที่เราจับสัตว์ต่างๆ มาเป็นพาหนะ และต่อมาเมื่อมนุษย์คิดค้นล้อได้เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เราก็ไม่รอช้าที่จะนำ ล้อมาเทียม หรือพ่วงเข้ากับสัตว์ กลายเป็น เกวียน และรถศึก ซึ่งรถศึกนี้เองได้ถูกนำเข้ามาแข่งขันความเร็ว และเพื่อที่จะได้ชัยชนะ มนุษย์ได้นำม้าจำนวนมากมาพ่วงเข้าด้วยกัน การเพิ่มม้าเข้าไปกี่ตัว มันก็มีความเร็วสูงสุดได้เท่ากับม้า 1 ตัว แต่ม้าที่มีจำนวนมากจึงช่วยให้แต่ละตัวรับภาระน้อย ทำให้ลากรถไปได้อย่างว่องไวขึ้น จะเห็นได้ว่า การแข่งความเร็วช่วยกระตุ้นให้ บรรดานักคิด และวิศวกร ได้คิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอเมื่อมีรถแข่งขันเกิดขึ้นในโลก คนยุคก่อนมักมีความเชื่อว่า เครื่องยนต์ที่แรงกว่า คือ ผู้ที่กำชัยชนะ ดังที่ เอนโซ แฟร์รารี ผู้ก่อตั้งคอกรถแข่ง แฟร์รารี เคยกล่าวปรามาส โคลิน แชพแมน ผู้ก่อตั้งทีมโลทัส และเป็นผู้บุกเบิกการนำเอาด้านอากาศพลศาสตร์มาใช้ในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งว่า “เพราะ โลทัส ทำเครื่องยนต์ไม่เป็น” อันเป็นการสะท้อนถึงปรัชญาการออกแบบของ แฟร์รารี ในยุคของ เอนโซ แฟร์รารี ว่า รถที่ดี คือ รถที่มีเครื่องยนต์แรง แต่สุดท้ายเขาก็ได้ยอมรับในที่สุดว่า อากาศพลศาสตร์ที่เหนือชั้น ก็สามารถทำให้รถยนต์ที่แรงน้อยกว่าชนะรถยนต์ที่แรงกว่าได้ และเป็นการยอมรับว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย เราจะเห็นได้ว่า ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการขับเคลื่อน บ่อยครั้งจะเป็น “หน้าใหม่” หรือ “ม้ารอง”ในตลาด แต่จะขอไม่กล่าวถึงกรณีของ โพร์เช 959 และ แฟร์รารี เอฟ 40 ในยุคทศวรรษที่ 80 ที่เราได้เห็นรถที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด อย่าง 959 ปะทะรถยนต์ที่มีขุมพลังและแชสซีส์ที่ดีที่สุดแห่งยุค ส่วนองค์ประกอบอย่างอื่นนั้นดิบๆ ไปเสียหมด อย่าง เอฟ 40 เพราะแน่นอนว่าในท้ายที่สุด ทั้งคู่ถือเป็นรถยนต์คลาสสิคตลอดกาล แต่เราคงอดที่จะไม่กล่าวถึงสุดยอดรถยนต์จากต้นทศวรรษที่ 90 อย่าง นิสสัน สกายไลน์ จีทีอาร์ หรือ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เอโวลูชัน และ ฮอนดา เอนเอสเอกซ์ ไม่ได้ เพราะทั้ง 3 คันนี้ คือ ผู้ที่เปลี่ยนความคิดของสาธารณชนเกี่ยวกับความเร็วไปตลอดกาล 2 คันแรก อย่าง นิสสัน สกายไลน์ จีทีอาร์ และ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เอโวลูชัน คือ การบุกเบิกระบบสมองกลอีเลคทรอนิคในการ ควบคุม และกระจายแรงขับเคลื่อนรถยนต์ในทุกสภาพถนน แม้ว่าหลายคนจะปรามาสว่ามันไม่เจ๋งเท่าการควบคุมด้วยทักษะของคนขับล้วนๆ แต่ความเร็วและเวลาต่อรอบในสนามแข่งขันที่โดดเด่นของมัน ก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน สำหรับ ฮอนดา เอนเอสเอกซ์ เป็นรถสปอร์ทเครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ความจุ 3.0 ลิตร วางขวางกลางลำ (TRANSVERSELY MOUNT MID-ENGINE) ที่มาพร้อมตัวถังอลูมิเนียมน้ำหนักเบา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดของรถสปอร์ทในช่วงเวลานั้นไปเลย จากที่ “ซูเพอร์คาร์” คือ รถที่คนขับต้องเป็น “ซูเพอร์แมน” เพราะต้องสู้กับน้ำหนักพวงมาลัย คลัทช์หนัก เกียร์แข็ง ที่นั่งคับแคบ เสียงดัง แถมต้องใช้ทักษะในการควบคุมระดับสูง กลับมาเป็นรถสปอร์ทที่พวงมาลัยเบาแต่แม่นยำ คลัทช์เบา เกียร์เข้าง่าย นั่งสบาย และเป็นรถที่ใครๆ ก็ขับให้ “เร็ว” ได้อย่างสบาย แถมยังประหยัดเชื้อเพลิงอีกด้วย การฉีกกรอบนี้ จึงทำให้รถสปอร์ทจากยุโรปและสหรัฐอเมริกายุคหลัง จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการออกแบบ แม้จะไม่เดินตามทางของ ฮอนดา แต่ก็ไม่มีใครคิดจะหวนกลับไปสู่ยุค “ซูเพอร์คาร์” เพื่อ “ซูเพอร์แมน” อีกแล้ว เราจะเห็นได้ทันทีว่า การผ่าเหล่าผ่ากอในโลกความเร็วเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และจะมีรถสไตล์ “มวยรอง” ที่ฉีกกรอบ และบุกเบิกเส้นทางให้คนอื่นได้เดินตาม อันเป็นที่มาของเรื่องราวของเราในฉบับนี้ นั่นคือ แนวคิดใหม่ๆ ใน ฮอนดา เอนเอสเอกซ์ ปี 2017 ตัวแทนของการสะสมภูมิปัญญาด้านความเร็วของบรรดาวิศวกรของ ฮอนดา หลังจากทิ้งช่วงมานานกว่า 27 ปี เราจะมาดูว่าพวกเขาได้คิดค้น และนำเสนอแนวคิดอะไรใหม่ และมันจะเปลี่ยนโฉมวงการรถสปอร์ทได้อีกครั้งหรือไม่ ? ชื่อ “เอนเอสเอกซ์” ดั้งเดิมมาจากคำว่า N = NEW, S = SPORTCAR และ X = EXPERIMENTAL หรือแปลโดยรวมได้ว่า “รถสปอร์ททดลองรุ่นใหม่” หรือ รถสปอร์ทรุ่นใหม่ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีล่าสุดที่ยังไม่มีในรถยนต์รุ่นอื่นก็ว่าได้ และเมื่อศึกษาข้อมูลของรถรุ่นใหม่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า มันเหมาะที่จะใช้ชื่อว่า เอนเอสเอกซ์ โดยไม่เคอะเขิน แต่อย่างไรก็ตาม ทีมงานของ ฮอนดา เขาได้เปลี่ยนนิยามของคำว่า NSX ใหม่แล้ว เป็น N = NEW S = SPORT และ X = EXPERIENCE ซึ่งแปลได้ว่า “ประสบการณ์สปอร์ทแบบใหม่” ซึ่งเราต้องมาค้นหากันว่า อะไรคือประสบการณ์ใหม่ที่พวกเขาต้องการจะนำเสนอ ฮอนดา เอนเอสเอกซ์ รุ่นล่าสุดคันนี้ เปิดตัวขึ้นมาในยุคที่เรามีไฮเพอร์คาร์หัวกะทิในวงการอยู่แล้ว 3 คัน ได้แก่ แฟร์รารี ลา แฟร์รารี จากอิตาลี ตามด้วย แมคลาเรน พี 1 จากอังกฤษ และ โพร์เช 918 สไปเดอร์ จากเยอรมนี รถทั้ง 3 คันนี้เป็นรถที่ใช้ระบบไฮบริดทั้งสิ้น เพราะเป็นการนำเอาจุดเด่นเรื่องแรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีให้ใช้ตั้งแต่เริ่มทำงานมาอุดช่องโหว่ให้กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน จึงทำให้ไฮเพอร์คาร์ ไฮบริด ทั้ง 3 คัน มีพลังในทุกย่านความเร็ว แถมยังอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีนานาชนิดที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้เร็วสุดๆ รวมถึงราคาที่สูงลิ่วเกินกว่าที่มนุษย์ 99.99% ในโลกจะซื้อไหว แน่นอนว่า ฮอนดา ไม่ได้มีความต้องการที่จะไปได้เร็ว หรือแพงขนาดนั้น เพราะ เอนเอสเอกซ์ ยังคงเป็นซูเพอร์คาร์ที่จับต้องได้ (ได้ยินว่าราคารถนำเข้าจะอยู่ที่ 30 ล้านบาทในเวลานี้ก็ตาม) และเป็นรถที่ยังสามารถใช้งานได้ทุกวัน ซึ่งหากเทียบชั้นกันแล้ว มันคือ คู่แข่งโดยตรงของ โพร์เช 911 และ แฟร์รารี 488 มากกว่า แต่สิ่งที่แตกต่างจากรถคู่แข่งทั้ง 2 คัน คือ มันใช้ระบบไฮบริดเหมือนอย่างไฮเพอร์คาร์ทั้ง 3 คัน ดังกล่าวข้างต้น ฮอนดา เอนเอสเอกซ์ ยังคงใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ความจุ 3.5 ลิตร แต่จัดรูปแบบใหม่ให้เป็นแบบวางกลางลำ ตามยาวของตัวรถ (LONGITUDINALLY MOUNT MID-ENGINE) และขนาบด้วยเทอร์โบอีกฝั่งละลูก มีพละกำลัง 500 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 56.1 กก.-ม. และมีการใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อน 3 ชุด พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มอเตอร์ชุดแรกมีชื่อว่า “ไดเรคท์ดไรฟมอเตอร์” เป็นแบบมอเตอร์แม่เหล็กถาวรแบบ ซิงโครนัส กระแสสลับ (AC SYNCHRONOUS PERMANENT MAGNET MOTOR) ที่การบำรุงรักษาต่ำ ประกบติดกับตัวเครื่องยนต์ ให้กำลัง 47 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 15.0 กก.-ม. อาจจะดูจิ๊บจ๊อย เมื่อเทียบกับกำลัง 500 แรงม้า และแรงบิด 56.1 กก.-ม. ของเครื่องยนต์ แต่แรงบิดของไดเรคท์ดไรฟมอเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องยนต์กับระบบส่งกำลังแบบคลัทช์คู่ ส่งผลให้มีแรงบิดสูงสุดออกมาให้ใช้ตั้งแต่ช่วง 500-2,000 รตน. เท่านั้น สามารถลดความรู้สึก “รอรอบ” ของเครื่องยนต์เทอร์โบได้ชะงัด ส่วนมอเตอร์อีก 2 ตัวที่เหลือนั้น ช่วยในการขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งทำให้รถคันนี้เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และเมื่อรวมกำลังของมอเตอร์ทั้ง 3 ตัว เข้ากับเครื่องยนต์เทอร์โบคู่แล้ว จะได้พละกำลัง 573 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 65.8 กก.-ม. แน่นอนว่าการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยในรอบต่ำในทุกล้อ จึงทำให้รถคันนี้สามารถพุ่งทะยานออกจากจุดหยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 2.8 วินาที และผ่านหลัก 0-402 ม. ในเวลาเพียง 10.8 วินาที ความเร็วปลายทะลุ 300 กม./ชม. ตามพิกัดของซูเพอร์คาร์อย่างแท้จริง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรถยี่ห้ออื่นก็ทำได้ สิ่งที่ทำให้รถคันนี้แตกต่างจากรถคันอื่นคือ “ระบบบังคับเลี้ยว” สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วไป เพียงแค่การรวมไดเรคท์ดไรฟมอเตอร์เข้ากับเครื่องยนต์ระดับ 500 แรงม้า น่าจะ “เกินพอ” แต่สำหรับวิศวกรของ ฮอนดา แล้ว ชื่อ เอนเอสเอกซ์ จะต้องเป็นมากกว่านั้น และพวกเขาจะต้องไปให้ไกลกว่าทางด้านความคิด นั่นคือ การมาถึงของระบบที่เรียกว่า “ระบบควบคุมแรงบิด” หรือ “ทอร์ค เวคเตอริง” (TORQUE VECTORING) การทำงานของระบบควบคุมแรงบิดนี้ จะกระทำกับล้อหน้าทั้ง 2 ด้านในการเข้าโค้ง ลองจินตนาการถึงกีฬา “วิ่งเปี้ยว” ของเด็กๆ หากเราต้องการวิ่งมาทางตรงอย่างเร็ว และต้องการวิ่งอ้อมหลักให้ได้เร็วที่สุด เราอาจจะยื่นมือออกไปเหนี่ยวเสาให้ตัวของเรานั้น “เหวี่ยง” วนรอบเสา และกลับตัวได้อย่างรวดเร็ว หลักการของ “ระบบควบคุมแรงบิด” หรือ “ทอร์ค เวคเตอริง” ก็ทำงานแบบเดียวกัน คือ ล้อหน้าที่อยู่ด้านในโค้งจะสามารถชะลอตัวได้มากกว่าปกติ เพื่อให้รถจิกเข้าไปในโค้งได้มากกว่าปกติ ระบบนี้ของฮอนดา มีใช้อยู่ในรถหรู และ เอสยูวี ของพวกเขามาหลายปีแล้ว มีชื่อทางการค้าว่า SH-AWD หรือ SUPER HANDLING ALL WHEEL DRIVE โดยจะทำงานผ่านเฟืองท้ายที่ควบคุมด้วยคลัทช์ไฟฟ้า แต่สำหรับ เอนเอสเอกซ์ แล้วมันต่างออกไป เนื่องจากเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง และล้อหน้าทั้ง 2 ไม่ได้มีกลไกโยงมาจากเครื่องยนต์แต่อย่างใด ล้อหน้าทั้ง 2 จึงถูกขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 ตัว เป็นชนิดแม่เหล็กถาวรแบบ ซิงโครนัส กระแสสลับ แยกซ้าย/ขวา โดยมอเตอร์นั้นสามารถหมุนไปข้างหน้าด้วยความเร็วไม่เท่ากันได้ แน่นอนว่าโดยทั่วไป ด้านที่อยู่ในโค้งจะหมุนช้ากว่า แต่ถ้าเราต้องการให้ “จิก” โค้งมากกว่าปกติ คอมพิวเตอร์จะทำการวิเคราะห์ และสั่งให้มอเตอร์ด้านที่อยู่ในโค้ง “หมุนถอยหลัง” รวมถึงล้อหน้าด้านนอกโค้งก็สามารถที่จะหมุนผลักให้แรงกว่าปกติได้เสียด้วย ดังในรูปประกอบ นักทดสอบรถในต่างประเทศที่ได้ทดสอบระบบ SH-AWD ของ เอนเอสเอกซ์ ต่างอัศจรรย์ใจกับความสามารถในการเข้าโค้งที่รวดเร็วและหนักแน่นของมันเป็นอันมาก และผลทดสอบนั้นออกมาว่า ฮอนดาเอนเอสเอกซ์ เป็นรถที่ขับในสนามทดสอบได้ว่องไวกว่าใคร เชื่อว่าอีกไม่นานนัก “ฟอร์มูลา” ก็คงจะได้คิวทดสอบ เอนเอสเอกซ์ บนท้องถนนในบ้านเรา และเมื่อถึงวันนั้น เราคงจะได้รู้กันอย่างลึกซึ้งว่ามันจิกโค้งได้อัศจรรย์เพียงใด
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ