“หน่วยงานรัฐบาล ต้องทำให้พี่วิน ซึ่งเป็นฝ่ายถูกกฎหมายอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้คู่แข่งทางธุรกิจสามารถเข้ามาต่อสู้ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม”ผมได้ดูคลิพที่ผู้เรียกใช้บริการ “กแรบไบค์” ทะเลาะกับพี่วินแล้ว รู้สึกหนักใจแทนคนกลางในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่าง กแรบไบค์ ที่มีผู้ใช้บริการหนุนหลังกับวินไบค์ ที่มีกฎหมายเป็นเกราะคุ้มกัน เนื่องจากเหตุผลที่แต่ละฝ่ายยกขึ้นมาอ้างนั้น “ฟังขึ้น” ด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายผู้บริโภคบอกว่า มีสิทธิ์เลือกใช้บริการตามความพอใจของตน และที่เลือกกแรบไบค์ เพราะค่าบริการถูกกว่า ส่วนฝ่ายพี่วิน ยืนกรานว่า กแรบไบค์ เป็นบริการที่ผิดกฎหมาย (เอารถป้ายขาวมาวิ่งรับผู้โดยสาร) ไม่สมควรที่ประชาชนจะเรียกใช้บริการ ทั้งสองเหตุผลล้วนถูกต้องในมุมของตัวเอง แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้น เหตุผลของแต่ละฝ่ายก็ใช่ว่าจะไม่มีแง่มุมให้โต้แย้งเสียเลย เช่นสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการของประชาชน ก็ควรจะมีข้อจำกัดว่า ต้องเป็นบริการที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ทำนองเดียวกับที่เราไม่สามารถใช้บริการพวกรับจ้างทำใบขับขี่ ทำใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว หรือติดต่องานราชการอื่นๆ แม้มันจะสะดวกกว่า หรือถูกกว่าก็ตาม ด้านพี่วิน ถึงจะเป็นฝ่ายถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ไปขัดขวาง หรือข่มขู่ ผู้บริโภค และผู้ขับขี่กแรบไบค์อย่างที่ทำกันทั่วไปในตอนนี้ บางวิน ถึงขนาดเขียนป้ายประกาศห้ามกแรบไบค์ไปให้บริการในเขตของพวกเขา แถมสำทับด้วยว่า “เราเตือนคุณแล้ว” หนักกว่านั้น คือ ห้ามประชาชนใช้บริการอย่างในคลิพ และถึงขั้นทำร้ายผู้ขี่กแรบไบค์ก็มี อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ฝ่ายพี่วินมีสิทธิ์ที่จะออกมาปกป้องอาชีพของตนเอง เหมือนกับที่เจ้าของร้านโชห่วยต้องสู้กับการรุกคืบของห้างสรรพสินค้าข้ามชาติ แม้เจ้าของห้างจะอ้างสิทธิ์ของผู้บริโภคในการเลือกซื้อตามความพอใจก็ตาม ฉะนั้น หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยว ข้องกับเรื่องนี้จึงต้องพิจารณาถึงความถูกต้องเหมาะสมในหลายมิติ (สำนวนลุงตู่) นั่นคือ ต้องทำให้พี่วิน ซึ่งเป็นฝ่ายถูกกฎหมายอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้คู่แข่งทางธุรกิจสามารถเข้ามาต่อสู้ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่อาศัยทุนหนา ลดแลกแจกแถมจนคู่แข่งหมดทางหากิน ผมอยากเห็นบริการรถรับจ้างสาธารณะ ทั้งวินไบค์ และแทกซี มีความศิวิไลซ์ เหมือนการรับส่งพัสดุ ที่เดี๋ยวนี้มีผู้ให้บริการหลากหลาย แข่งกับไปรษณีย์ไทยอย่างสนุกสนาน