รู้ลึกเรื่องรถ
รถไฟฟ้า มาหา (ช้าหน่อย) นะเธอ
เมื่อกล่าวถึง “รถไฟฟ้า” เชื่อแน่ว่าหลายท่านยังคงฟันธงว่า มันยังไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้ ซึ่งว่ากันตามจริง ก็มีส่วนถูกอยู่ไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในปัจจุบัน และสิ่งแวดล้อมน้อยใหญ่ที่อยู่รอบตัวเรามักจะได้ยินเรื่องอุปสรรคนานาชนิดที่บั่นทอนความรู้สึกในการเป็นเจ้าของรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาในการชาร์จ ราคาค่าตัว การดูแลแบทเตอรีที่เสื่อมสภาพ ศักยภาพของโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตเมือง ฯลฯ ขณะเดียวกันรถไฟฟ้า ก็มีข้อดีอีกมากมายที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลายสนใจ นั่นคือ มีสมรรถนะที่ดีเยี่ยม และมีความเรียบง่ายในการออกแบบและผลิต ซึ่งความเรียบง่ายในการผลิตนี้ ทำให้มีรถไฟฟ้าจากบริษัทหน้าใหม่ เกิดขึ้นเป็นทิวแถว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยในปีที่ผ่านมา (2017) ขายรถไฟฟ้าได้มากถึง 777,000 คัน ! จากตัวเลขอาจมองว่ามากมายมหาศาล แต่ก็เป็นเพียง 2.7 % ของยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนทั้งหมดเท่านั้น เพราะในประเทศขนาดยักษ์อย่างจีน ขายรถยนต์กันมากกว่า 20 ล้านคัน/ปี ถึงกระนั้นยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ก็ยังเติบโตสูงขึ้นกว่าปี 2016 ถึงกว่า 53 % เลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจว่าเราจะพบบริษัทรถไฟฟ้าหน้าใหม่หลากหลายบแรนด์ในงาน มหกรรมยานยนต์ ทั้งที่ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่ได้มีความเลอเลิศด้านวิศวกรรมมากมายอะไร จุดขายไปอยู่ที่ราคาเย้ายวนใจ เนื่องจากผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ โดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลนั่นเอง เรื่องราวการปรับเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ นั้น มีการถกเถียงกันมานักต่อนัก ถึงข้อเด่นและข้อด้อยของการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยอุปสรรคที่จะทำให้ รถไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ยากนั้น ก็ได้มีการวิเคราะห์กันมาแล้วว่ามีปัจจัยใดบ้าง และหากปัจจัยนั้นได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง รถไฟฟ้าก็จะสามารถได้เกิดอย่างเต็มตัว แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ในต่างประเทศหลายสำนัก จะทำนายว่าปี 2020 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ในขั้นต่อไป ซึ่งทว่ากลับมีหลายสัญญาณที่บ่งชี้ว่า สังคมอาจจะไม่สามารถรับรถไฟฟ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้รวดเร็วอย่างที่คาดไว้ สิ่งสำคัญในการที่จะทำให้คนเราเปลี่ยน แปลงพฤติกรรม หันไปยอมรับในสิ่งใหม่ได้นั้น การมอบ “คำตอบ” ที่แก้ปัญหาในชีวิตของพวกเขาในเวลานี้ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันจะต้องเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างที่นวัตกรรมเก่าๆ ไม่สามารถมอบให้ได้ต่างหาก หมายความว่า วิวัฒนาการ (EVOLUTION) เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะนวัต-กรรมใหม่เป็นการปฏิวัติ (REVOLUTIONIZED) วิธีการที่เราใช้ชีวิตกันเลยทีเดียว อยากจะขอให้เปรียบเทียบกับ “สมาร์ทโฟน” อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตปัจจุบัน ถ้าย้อนกลับไปยังทศวรรษแรกของสหัสวรรษใหม่นี้ เรายังคงใช้สิ่งที่เรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” แบบกดปุ่ม ยุค 2 จี ดั้งเดิมกันอยู่ และชีวิตก็มีปกติสุขดี เรามีอี-เมลใช้กันแล้ว และสามารถเข้าสู่ระบบอินเตอร์เนทได้จากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน โดยใช้สัญญาณร่วมกันกับสายโทรศัพท์บ้าน โดยเน้นแนวคิดว่า “CONNECTING PEOPLE” หรือ “เชื่อมต่อคนเข้ากับคน” (สโลแกนของโนเกียในช่วงเวลานั้น) เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแทบทุกค่าย ยังมุ่งมั่นในการนำเสนอข้อความ “เสียงคมชัด” เป็นหลัก ในเวลาต่อมา สมาร์ทโฟนยุคแรกๆ เริ่มเข้ามาเปิดตลาด แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรมากนัก เพราะมีราคาแพงและยังไม่ได้มีอะไรโดดเด่นนัก นอกจากเรื่องของการ “ทำงาน” ทั่วๆ ไป และเมื่อเปรียบเทียบกับโทรศัพท์มือถือในยุคนั้นที่ชาร์จไฟ 1 ครั้งก็อยู่กันได้ 2-3 วันสบายๆ สมาร์ทโฟน ที่ราคาสูงกว่ากันหลายเท่า แต่แบทเตอรีกลับไม่เพียงพอสำหรับใช้งานได้เต็มวัน เรียกว่าคล้ายคลึงกับสถานการณ์ของรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่คนทั่วไปก็รับรู้ถึงการปรากฏตัวของรถไฟฟ้าในตลาดรถยนต์แล้ว แต่พวกเขายังไม่รู้สึกว่ามันมีอะไรน่าสนใจจะทำให้พวกเขาต้องจ่ายเงินก้อนโตเพื่อเป็นเจ้าของมัน แม้ว่าจะมีข้อดีที่ชัดเจน อาทิ ความเงียบ ไร้มลภาวะ อีกทั้งมีความประหยัดในการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรืออัตราเร่งที่รวดเร็วทันใจ ฯลฯ ทว่าพวกเขาก็เลือกที่จะมองที่ข้อด้อยของมันไปเสียก่อน คล้ายกับที่ในสมัยก่อนเปรียบเทียบอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือกับสมาร์ทโฟน ยุคแรกนั่นเอง สิ่งที่เป็นตัวเปลี่ยนเกมก็คือ การมาถึงของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายความเร็วสูงแบบดิจิทอล 3 จี (ปัจจุบันกลายเป็น 4 จี ไปแล้ว) ซึ่งทำให้สมาร์ทโฟน สามารถส่งและรับข้อมูลในระบบอินเตอร์เนท และหลอมรวมความสามารถด้านดิจิทอลเข้าเป็นหนึ่งเดียวได้ หรือที่เรียกว่า “คอนเวอร์เจนศ์” (CONVERGENCE) ได้ทำให้สิ่งที่อยู่ในมือนั้นเปลี่ยนสภาพจากเครื่องมือสื่อสารไปเป็น “อุปกรณ์เพื่อการเชื่อมต่อเข้าสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ” การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้จากการเป็นเพียง การเชื่อมต่อ “คนกับคน” กลับกลายเป็นการเชื่อมต่อ “คนกับสังคมและโลกไซเบอร์” และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “โซเชียลเนทเวิร์ค” อย่างเฟศบุค และเครือข่ายอื่นๆ ที่ขยายตัวมากจนทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมบางอย่างถึงกับซวนเซไม่เป็นท่า จนถึงอาจ “สูญพันธุ์” และในขณะเดียวกันก็เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่เห็นได้จาก กิจการของ “กแรบ” (GRAB) หรือ “ไลน์แมน” (LINEMAN) ที่เกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยี 3 จี อย่างแท้จริง สิ่งนี้ทำให้โลกของโทรศัพท์มือถือแบบ 2 จี ที่ส่งได้แต่เสียงและข้อความล่มสลายไปแบบกู่ไม่กลับ ลองจินตนาการว่า สักวันหนึ่งสมาร์ทโฟนของคุณไม่สามารถใช้เครือข่าย 3 จี, 4 จี หรือ ไวไฟ ได้ และคุณเหลือเพียงเนทเวิร์ค E (เอดจ์: EDGE) ให้ใช้ได้เพียง “รับและส่ง” ข้อความเสียง หรือตัวอักษรเหมือนกับยุค 2 จี เชื่อเหลือเกินว่า วันนั้นหลายๆ ท่านอาจจะเกิดอาการลงแดงไข้ขึ้นเป็นแน่ จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำให้ตลาดหันมาใช้สมาร์ทโฟน จริงๆ แล้วไม่ได้มาจากความสามารถในการ “รับสายและโทรออก” แต่มาจากความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคไม่เคยแม้แต่จะจินตนาการ อันเป็นเหตุให้สมาร์ทโฟนได้ก้าวข้ามขอบเขตของโทรศัพท์ 2 จี ไปอย่างไม่ต้องหันกลับมามองอีก ส่วนเรื่องอายุการใช้งานของแบทเตอรีที่ยังเป็นข้อจำกัดอยู่นั้น เราก็สามารถหาวิธีการนานาชนิดที่จะทำให้ สมาร์ทโฟนของเรามีอายุแบทเตอรียืนยาวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพาเวอร์แบงค์ หรือจะพกสายชาร์จติดตัว หากเปรียบเทียบเรื่องราวข้างต้นกับเรื่อง “รถไฟฟ้า” จะเห็นได้ว่า เรายังคงอยู่แค่ขั้นเปรียบเทียบคุณลักษณ์พื้นฐานของรถไฟฟ้ากับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ภายใต้บริบทของ “การเดินทาง” เหมือนที่ในอดีต สมาร์ทโฟน ต้องเปรียบเทียบกับ โทรศัพท์ 2 จี ว่าเครื่องใดเสียงชัดกว่ากัน หรือเครื่องใดแบทเตอรีใช้งานได้นานกว่ากันนั่นเอง เรื่องนี้ “สภาเศรษฐกิจโลก” หรือ WORLD ECONOMIC FORUM ที่เมืองดาวอส ประเทศ สวิทเซอร์แลนด์ ได้มีการหารือกันว่าจะทำอย่าง ไร ให้รถไฟฟ้าได้รับการยอมรับ และที่ประชุมได้มีรายงานออกมา ชื่อว่า “ELECTRIC VEHICLES FOR SMARTER CITIES: THE FUTURE OF ENERGY AND MOBILITY” หรือ “ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเมืองอัจฉริยะ อนาคตของพลังงานและการเดินทาง” โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. TAKE A MULTI-STAKEHOLDER AND MARKET-SPECIFIC APPROACH คือ จะต้อง บูรณาการการทำงานของหลายภาคส่วนเข้าหากัน และจะต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ต่างกัน นั่นคือ การลงทุนและการสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป โดยแผนงานจะต้องสอดคล้องกับคุณลักษณ์ 3 ประการของแต่ละพื้นที่นั่นคือ 1. รูปแบบและการออกแบบระบบสาธารณูปโภคในแต่ละท้องที่ 2. ระบบพลังงานของท้องที่ 3. วิถีและรูปแบบการใช้ยานพาหนะของแต่ละท้องถิ่น ผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างนิยามใหม่ของสังคมเมือง ที่ก้าวข้ามมิติของความคิดในปัจจุบันให้ได้ โดยสิ่งที่ได้สามารถเติบโตขึ้นเป็นนโยบายของรัฐได้ในอนาคต เนื่องจากในต่างประเทศนั้นมีการคิดราคาค่าไฟ ในช่วงกลางวันและกลางคืนไม่เท่ากัน โดยช่วงกลางวันที่มีความต้องการใช้ไฟมาก ราคาค่าไฟจะสูงกว่าช่วงกลางคืน เดนมาร์ค จึงริเริ่มแนวคิดที่น่าสนใจ สำหรับพลังงานไฟฟ้าในรถไฟฟ้า โดยจะชาร์จไฟรถไฟฟ้าในเวลากลางคืน ส่วนตอนกลางวันที่ไม่ได้ใช้รถ ก็แปลงไฟฟ้าที่เก็บอยู่ในแบทเตอรีกลับเป็นไฟฟ้ากระแสสลับป้อนเข้าสู่ชุมชน เป็นการขายไฟฟ้าคืนให้แก่รัฐ หรือที่เรียกว่า วี 2 จี (V2G: VEHICLE-TO-GRID) ซึ่งว่ากันว่า สามารถทำรายได้ต่อปีได้หลายหมื่นบาท หรือจะใช้แนวคิด วี 2 เอกซ์ (V2X: VEHICLE-TO-EVERYTHING) คือ ใช้รถไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟให้อะไรก็ได้ที่เราต้องการ เรียกว่าเปลี่ยนบทบาทสลับไปมา ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต ในแต่ละช่วงของวันได้ 2. PRIORITIZE HIGH-USE ELECTRIC VEHICLES แนวคิดนี้จะให้ความสนใจกับยาน-ยนต์ที่มีการใช้งานมากก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งชัดเจนว่า แทกซี และรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่วิ่งทั้งวันทั้งคืนนั้น หากได้รับการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ จะสามารถลดมลภาวะได้มหาศาล และนอกจากนั้นแนวคิดเรื่องของ รถยนต์ “ปันใช้ ปันขับ” หรือ CAR-SHARING ขนาดเล็ก ก็จะช่วยให้ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนลงได้ และจะส่งผลโดยตรงกับมลภาวะดังที่กล่าวมา 3. DEPLOY CRITICAL CHARGING INFRASTRUCTURE TODAY WHILE ANTICIPATING THE MOBILITY TRANSFORMATION คือ ต้องมีการติดตั้งระบบชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ตอนนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องจับตาให้ดีว่า รูปแบบของการเดินทางจะมีการกลายพันธุ์ไปในทิศทางใด โดยสถานีจ่ายไฟควรจะต้องติดตั้งตามสถานที่ดังนี้ 1. ตั้งเป็นระยะบนทางหลวง 2. สถานที่ที่เป็นจุดหมาย (มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น) และ 3. ใกล้กับสถานีขนส่งมวลชน ประเด็นสุดท้ายนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก 3 ประการด้วยกัน คือ 1. ระบบสาธารณูปโภคจะต้องสามารถตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตให้ได้ 2. ลดความวิตกกังวลของผู้บริโภค ด้วยการมีจุดจ่ายไฟที่อยู่ในสถานที่ซึ่งสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง 3. เป็นการช่วยให้ผู้บริโภคกล้าที่จะเลือกใช้นวัตกรรมใหม่ ในเกาะฮ่องกง เราจะพบว่า จำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากความสะดวกสบายในเรื่อง การจ่ายค่าไฟที่ใช้กับรถไฟฟ้าของพวกเขา โดยผู้ใช้รถไฟฟ้าสามารถเติมไฟฟ้าในสถานี และชำระค่าไฟผ่านบัตร OCTOPUS ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินสมาร์ทคาร์ด ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเกาะฮ่องกง สำหรับเดินทางและใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว อ่านมาถึงตรงนี้ หากคุณยังไม่รู้สึกว่าความพยายามทั้งหมดนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า ก็ต้องบอกว่าไม่แปลกใจ เพราะในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก คนก็ยังมองว่ารถไฟฟ้าไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้ แม้ว่าสักวันหนึ่ง ระบบแบทเตอรีจะพัฒนาจากยุคของลิเธียม-ไอออน (LI-ION) ไปสู่ยุคของแบทเตอรีแบบโซลิด-สเตท (SOLID-STATE) ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว และมีอายุการใช้งานยาวนาน หรือจะเป็นเทคโนโลยี ซูเพอร์ คาพาซิเตอร์ส (SUPER CAPACITORS) ก็ตาม หากผู้บริโภคยังมองเห็นว่า สุดท้ายแล้วเป็นแค่การเปลี่ยนแหล่งกำเนิดพลังงาน ขณะที่เชื้อเพลิงเดิมก็ไม่ได้มีราคาสูงเหมือนในอดีต เหตุผลของการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าก็คงจะต้องชะลอออกไปอีก ไม่ต่างไปกับยุคของสมาร์ทโฟน บนคลื่น 2 จี แต่เส้นทางความคิดหนึ่งที่น่าสนใจและสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของรถไฟฟ้าในอนาคต ที่แม้ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์แบบในเวลานี้ จนเชื่อกันว่านวัตกรรมนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนได้ ก็คือ ระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ (AUTONOMY) ที่อาจจะสามารถเป็นจริงได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า ด้วยเม็ดเงินลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆ บริษัทของโลก อาทิ อเมซอน (AMAZON) กูเกิล (GOOGLE) อูเบอร์ (UBER) อาลีบาบา (ALIBABA) ฯลฯ ที่จะพัฒนาระบบไร้คนขับเพื่อใช้เป็น แทกซี หรือรถส่งของที่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง เพราะค่าแรงของคนขับในต่างประเทศ เป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ ซึ่งจุดนี้นับว่าตรงกับแนวคิดของสภาเศรษฐกิจโลก ในการที่จะมุ่งพัฒนาให้รถไฟฟ้าสามารถใช้กับอุตสาหกรรมขนส่งนั่นเอง เราคงต้องจับตาดูกันว่า ตัวแปรไหนที่จะส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าได้เหมือนกับระบบ 3 จี ที่พลิกโฉมรูปแบบการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นยุคของสมาร์ทโฟน และถ้ามีสิ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร รูปแบบของรถยนต์ในชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปตลอดกาลแน่นอน
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2561
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ