ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของค่าย แอสตัน มาร์ทิน ที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในเดือนนี้ คือ รถสปอร์ทติดป้ายชื่อ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 11 เอเอมอาร์ (ASTON MARTIN DB11 AMR) ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในเมืองผู้ดีเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2018 และเริ่มการจำหน่ายไปแล้วเมื่อไม่นาน หลังจากนั้นค่าตัวซึ่งซื้อขายกันในอังกฤษเริ่มต้นที่ 174,995 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 7.87 ล้านบาทไทย แต่ในยุโรปประเทศอื่นๆ เช่น ในเยอรมนีค่าตัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 218,595 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 8.74 ล้านบาทไทยก่อนการปรากฏตัวของรถโมเดลใหม่นี้ ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีมีรถคูเป แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 11 (ASTON MARTIN DB11) ให้คนรักรถสปอร์ทกระเป๋าใหญ่ใจถึงเลือกใช้ 2 โมเดล คือ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 11 วี 12 (ASTON MARTIN DB11 V12) กับ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 11 วี 8 (ASTON MARTIN DB11 V8) โดยที่โมเดลแรกซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปลายปี 2016 พร้อมกับป้ายค่าตัว 154,900 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 6.97 ล้านบาทไทย เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังของเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 12 สูบ 5,204 ซีซี 447 กิโลวัตต์/608 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ และโมเดลหลังซึ่งเพิ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อกลางปี 2017 โดยกำหนดค่าตัวเริ่มต้นไว้ที่ 144,900 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 6.52 ล้านบาทไทย เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังของเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 3,982 ซีซี 375 กิโลวัตต์/510 แรงม้า ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ส่วนรถโมเดลใหม่ที่กำลังอวดโฉมอยู่นี้ เป็นรถที่ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีเพิ่งบรรจุเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 11 วี 12 (ASTON MARTIN DB11 V12) หลังจากขายรถโมเดลนี้ในตลาดทั่วโลกไปแล้วเกือบ 4,200 คัน ชื่อ AMR ที่ห้อยท้ายย่อมาจาก ASTON MARTIN RACING ในส่วนของตัวถัง ความแตกต่างระหว่างรถโมเดลใหม่กับรถโมเดลเก่ามีอยู่ไม่มาก ตัวอย่างเช่น การตกแต่งตัวถังภายนอกบางจุดด้วยคาร์บอนไฟเบอร์และวัสดุเคลือบสีดำมัน กับการหุ้มเบาะในห้องโดยสารด้วยวัสดุสังเคราะห์ราคาแพง อัลคันทารา (ALCANTARA) ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญของรถ 2 โมเดลนี้อยู่ที่เครื่องยนต์ระบบส่งกำลัง และระบบระบายไอเสีย เครื่องยนต์ที่ใช้ยังคงเป็นเครื่องทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 12 สูบ ความจุ 5,204 ซีซี บลอคเดิม แต่ปรับแต่งจนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 447 กิโลวัตต์/608 แรงม้า เป็น 470 กิโลวัตต์/639 แรงม้า คือ เพิ่มขึ้น 23 กิโลวัตต์/31 แรงม้า หรือเพิ่มร้อยละ 5.1 ระบบเกียร์ก็ยังคงเป็นเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ของ ZF เช่นเดิม แต่ปรับแต่งใหม่เพื่อให้รับกับกำลังที่เพิ่มขึ้น ส่วนระบบระบายไอเสียก็มีการปรับปรุงเพื่อให้ได้เสียงแบบรถแข่ง ผลลัพธ์ของการปรับปรุงที่กล่าวอย่างพอสังเขปข้างต้น อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่เคยทำได้ในเวลา 3.9 วินาที ลดเหลือ 3.7 วินาที คือ เร็วขึ้น 0.2 วินาที ความเร็วสูงสุดที่เคยทำได้ 322 กม./ชม. ก็เพิ่มเป็น 334 กม./ชม. คือ เร็วขึ้น 12 กม./ชม. ส่วนอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนักสำหรับรถระดับนี้ มีค่าเฉลี่ยที่ 11.4 ลิตร/100 กม. หรือ 8.8 กม./ลิตร เมื่อวัดตามมาตรฐาน NEDC (NEW EUROPEAN DRIVING CYCLE) ส่วนอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คือ 265 กรัม/กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน NEDC ของยุโรปเช่นกัน และจะเพิ่มเป็น 386 กรัม/กม. เมื่อใช้มาตรฐานอเมริกัน