Denza D9 (เดนซา ดี 9) คือ การประเดิมแบรนด์หรูจากค่าย BYD (บีวายดี) กับตัวถังเอมพีวีหรู พร้อม 2 รุ่นย่อย คือ Premium ราคา 1,999,900 บาท (ช่วงแนะนำ) และ Performance AWD ราคา 2,699,900 บาท ครั้งนี้ทีมงานของเราได้ทดลองขับ และนั่งบนเบาะนั่งแถวที่ 2 ทั้ง 2 รุ่นย่อย มาดูกันว่า แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
อ่านสเปคของ Denza D9 เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.autoinfo.co.th/online/565699
Denza D9 Premium
เราเริ่มต้นทริพกับรุ่น Denza D9 Premium ซึ่งเป็นรุ่นเริ่มต้น ภายใต้ราคาที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทเล็กน้อย ตัวถังภายนอกมีความใกล้เคียงกับรุ่นทอพ Performance AWD ไม่ว่าจะเป็นกระจังหน้าขนาดใหญ่ ตัวถังทรงกล่องที่แลดูใหญ่โต ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว ในแง่ของความใหญ่โตถือว่าใกล้เคียงกับบรรดาคู่แข่ง เอมพีวีพลังไฟฟ้าทั้งหลาย โดย Denza D9 มีความยาวที่ 5,250 มม. และระยะฐานล้อที่ 3,110 มม. จุดเด่น คือ ความสูงถึง 1,920 มม. ไว้ใจได้เรื่องความใหญ่โต ภูมิฐาน
เราได้ลองนั่งบนเบาะแถวที่ 2 ของ Denza D9 Premium แม้เป็นรุ่นเริ่มต้น แต่ความกว้างขวางก็ทำได้ดีอย่างน่าพอใจ ตัวเบาะนั่งได้สบาย แต่ยังคงเผื่อเหลือพื้นที่ว่างระหว่างเบาะให้ผู้โดยสารสามารถเดินไปยังเบาะแถวที่ 3 ได้โดยไม่ต้องพับเบาะแถวที่ 2 (ขณะที่หลายยี่ห้อตัวเบาะแถวที่ 2 จะชิดสนิทกัน ทำให้การไปยังเบาะที่ 3 ต้องอาศัยการพับเบาะแถวที่ 2) ฟังค์ชันการใช้งานของตัวเบาะมีความทันสมัย สั่งงานผ่านจอดิจิทอล พร้อมระบบนวดที่เลือกได้หลายโหมด แม้เป็นรุ่นเริ่มต้น แต่มีการติดตั้งออพชันที่น่าสนใจ คือ ตู้เย็นแบบเลื่อนออกมาใช้งานได้ โดยติดตั้งบริเวณระหว่างเบาะคู่หน้า แต่การเลื่อนออกมาใช้งานต้องถอยเบาะแถวที่ 2 ให้มีระยะห่างมากพอด้วย ไม่อย่างนั้น ระบบจะไม่ยอมเปิดเลื่อนตู้เย็นออกมา (มีการแจ้งเตือนบนจอใช้งานของเบาะ)
เมื่อเราได้ลองขับ กับมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ชุด กำลังสูงสุด 230 กิโลวัตต์/313 แรงม้า แม้ตัวเลขกำลังสูงสุดจะค่อนข้างมาก แต่กับตัวถังที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ อัตราเร่งโดยรวมเน้นความไหลลื่น ให้ความรู้สึกของการขับรถเอมพีวีขนาดใหญ่ ในแง่การใช้งานทั่วไปถือว่ามีอัตราเร่งที่เหลือเฟืออยู่แล้ว (ทางผู้ผลิตระบุว่า 0-100 กม./ชม. ในเวลา 9.5 วินาที) แบทเตอรีความจุ 104 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็ม คือ 580 กม. (NEDC) รองรับการชาร์จแบบ DC สูงสุด 166 กิโลวัตต์ (ทั้ง 2 รุ่นย่อย)
ส่วนระบบรองรับแบบ FSD หรือ Frequency Selective Damping ซึ่งมีติดตั้งในซีดานพลังไฟฟ้าร่วมค่าย รุ่นทอพอย่าง BYD Seal Performance AWD การตอบสนองยังคงเน้นความนุ่มนวล แม้ขณะใช้ความเร็วสูง การเข้าโค้งทำได้ค่อนข้างน่าพอใจ แต่ระบบรองรับที่ค่อนข้างนุ่ม กับตัวถังเอมพีวีขนาดใหญ่เช่นนี้ ยังคงต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสม เน้นการขับขี่สบายๆ มากกว่า แต่ที่น่าใจ คือ การตอบสนองของพวงมาลัยทำได้ดีเกินคาด มีน้ำหนักที่พอเหมาะ (ผู้ขับสามารถปรับเปลี่ยนระดับการตอบสนองได้) การตอบสนองของระบบรองรับทำให้ Denza D9 รุ่น Premium มีความสบายอย่างเหมาะสมสำหรับการโดยสารบนเบาะแถวที่ 2 แรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนนถูกดูดซับได้อย่างพอเหมาะ ในแง่ของเอมพีวีหรู ราคาไม่ถึง 2 ล้านบาท เช่นนี้ จัดเป็นความสะดวกสบายที่คุ้มค่าดีอยู่แล้ว
Denza D9 Performance AWD
เราได้เปลี่ยนมาทดลองขับรุ่นทอพ Denza D9 Performance AWD กับมอเตอร์คู่ 275 กิโลวัตต์/374 แรงม้า ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา และพละกำลังที่เพิ่มขึ้น ทำให้การขับขี่เอมพีวีพลังไฟฟ้าคันใหญ่ มีความไหลลื่นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด การไต่ความเร็วมีความฉับไวกว่ารุ่น Premium อย่างชัดเจน จนบางครั้งแทบลืมไปว่า เรากำลังขับเอมพีวีขนาดใหญ่ (อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จากผู้ผลิต คือ 6.9 วินาที) แบทเตอรีความจุ 104 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็ม คือ 600 กม. (NEDC) ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ทำให้ตัวรถสามารถแล่นได้อย่างนิ่งสนิท และเรียบเนียนอย่างน่าพอใจ หากคาดหวังความสะดวกสบาย ภายใต้สมรรนะที่ทันใจ รุ่นทอพ Performance AWD ก็น่าสนใจมาก
ขณะที่ระบบรองรับมีการอัพเกรดไม่น้อย กับระบบรองรับอัจฉริยะ มีชื่อเรียกว่า DiSus-C สามารถแปรผันการตอบสนองได้จากการประมวลผลของระบบควบคุม ตามสภาวะการขับขี่ และการปรับเปลี่ยนโหมดการตอบสนองของผู้ขับ จัดเป็นระบบรองรับที่มีความล้ำสมัยมาก เมื่อได้ของขับแล้ว มีความรู้สึกว่า ภายใต้โหมดปกติ ระบบรองรับมีการตอบสนองที่น่าพอใจมาก นั่นคือ ความนุ่มนวลขณะแล่นบนทางตรง สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่ารุ่น Premium อย่างชัดเจน โดยไม่เสียการบังคับควบคุมแม้แต่น้อย ขณะที่การปรับโหมดที่เพิ่มความหนึบแน่นให้กับระบบรองรับ มีการเข้าโค้งที่ดีขึ้น ให้อารมณ์ขับสนุกผสมผสานอย่างพอเหมาะ (ในแง่ของการขับขี่ด้วยตัวเอง) ถือเป็นหนึ่งในจุดเด่นของรุ่นทอพ Performance AWD ระบบรองรับที่หลากหลายยังช่วยให้การโดยสารบนเบาะแถวที่ 2 มีความสะดวกสบายอย่างเหมาะสมเช่นกัน โดยเฉพาะโหมดที่เน้นความนุ่มนวล การนั่งโดยสารให้ความรู้สึกที่นิ่งกว่ารุ่น Premium
ส่วนความแตกต่างของห้องโดยสาร เบาะแถวที่ 2 มีรูปทรงเหมือนกัน แต่ตัวเบาะของรุ่นทอพ Performance AWD จะใช้ชุดหนังแบบ Nappa มีลวดลาย และความหรูหรามากกว่า นอกจากนี้เบาะแถวที่ 1 ติดตั้งระบบนวดในตัว และมีฟังค์ชันของระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่มากกว่า ยกระดับความหรูหรา และความทันสมัยขึ้นมาอีกขึ้นสำหรับรุ่นทอพจาก Denza D9
สรุปเบื้องต้น
หลังจากได้ลองขับ และลองนั่ง (เบาะแถวที่ 2) กับ Denza D9 เรามีความรู้สึกว่า นี่คือ เอมพีวีพลังไฟฟ้าที่ให้ความรู้สึกหรูหรา ภูมิฐาน ในแบบที่ผู้เป็นเจ้าของมีความคุ้มเคยจากบรรดาเอมพีวีหรู เช่น Toyota Alphard ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของตัวถัง การตกแต่งห้องโดยสาร พื้นที่ใช้สอยในแง่ของการโดยสาร เป็นความหรูหราที่ผสมผสานความ “อนุรักษ์นิยม” ในตัว แต่ก็เสริมแต่งความทันสมัยตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างน่าพอใจ การใช้งานหลายส่วนทำได้ง่ายดาย ส่วนเบาะแถวที่ 2 มีความสะดวกสบายอย่างยอดเยี่ยม เน้นความนุ่มนวลที่พอเหมาะ แต่หากต้องการระบบรองรับที่ตอบสนองได้ลงตัว และหลากหลาย ต้องเพิ่มงบประมาณมาเล่นรุ่นทอพ Performance AWD (กับราคาที่ต่างจากรุ่นพื้นฐานเกือบ 7 แสนบาท) สุดท้าย คือ ราคาที่น่าสนใจ กับรุ่นเริ่มต้น Premium มีราคาช่วงแนะนำไม่ถึง 2 ล้านบาท ต่างจากบรรดาคู่แข่งที่มีราคาเกิน 2 ล้านบาทแทบทั้งหมด ส่วนรุ่นทอพมีราคาที่ 2,699,900 บาท ขยับสูงขึ้นมาพอสมควร แต่คนที่ถูกใจออพชันที่เพิ่มเข้ามา (โดยเฉพาะระบบรองรับ DiSus-C ที่ลงตัวมากๆ) ราคาระดับนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากคู่แข่งระดับเดียวกันมากมาย