บีเอมดับเบิลยู เซด 4 รหัสตัวถัง จี 29 เจเนอเรชัน 3 กับ โตโยตา ซูพรา รหัสตัวถัง เอ 90 เจเนอเรชัน 5 “แฝดคนละฝา” ผลงานความร่วมมือของ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ จาก 2 ทวีป ที่อวดโฉมสู่สาธารณชนในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดย เซด 4 เปิดตัวที่งานการกุศล PEBBLE BEACH CONCOURS D’ELEGANCE รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ขณะที่ ซูพรา เปิดตัวที่มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ 2019 ช่วงต้นเดือน มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการดีไซจ์นทั้งภายนอก และภายใน ทีมงาน นักออกแบบของเราจะวิเคราะห์เจาะลึกไปในทิศทางใด เชิญติดตามได้เลยภัทรกิติ์ : ถ้าย้อนความถึง บีเอมดับเบิลยู เซด 4 รุ่นล่าสุด ผมได้ยินเสียงบ่นอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกับ โตโยตา ซูพรา เอ 90 ทั้งที่ไม่เคยเห็นตัวจริง เห็นแต่ในรูป แต่มาสับกันเสียยับเยิน เพราะมีบางคนบอกว่า ไม่เห็นเหมือนตอนเป็น คอนเซพท์คาร์ ผมก็สงสัยว่ายุคนี้แล้ว ยังมีคนเอารถแนวคิดมาเป็นพื้นฐานกันอยู่อีกหรือ คุณไม่รู้หรือว่า คอนเซพท์คาร์ เขาใส่ทุกอย่างที่ฝัน แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องปรับสารพัด เพื่อให้รับกับกติกา มารยาท และราคา หลายคนจะบอกว่า อยากได้กว้างๆ เตี้ยๆ แบบคอนเซพท์คาร์ แบบนั้นต้องไป รอชมผลงานของสำนักตกแต่งครับ บีเอมดับเบิลยู เซด 4 พยายามใช้หน้าตาของรถรุ่นเก่าจาก บีเอมดับเบิลยู 507 (รถโบราณ) กลับไปสู่ เส้นสายที่สะอาดตา คือ ถ้าคุณเคยชินกับ เซด 4 ที่ผู้หญิงเป็นคนออกแบบ คุณจะผิดหวังกับรถรุ่นนี้ เพราะมองเผินๆ อาจจะคิดว่าเป็น ฮอนดา เอส 2000 อย่างว่าคนซื้อไม่พูด คนพูดไม่ซื้อ โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่า บีเอมดับเบิลยู เซด 4 ตัวใหม่ ไม่ตื่นเต้นเอาซะเลย อภิชาต : จากรูปที่เห็นน่าจะเป็นเอเชียนดีไซจ์เนอร์ คือ ดูในลักษณะการออกแบบสัดส่วนทั้งหมด ผมไม่ค่อยชอบเท่าไร ยกเว้นด้านหน้าที่ดูแล้วมันมีเรื่องราว และแปลกตา ภาพรวมไม่น่าตื่นเต้นเหมือนรุ่นเก่า กลายเป็นรถสปอร์ทธรรมดา ภัทรกิติ์ : เซด 4 รุ่นก่อน มันมีความคลาสสิคของเส้นอยู่มาก คือ เหมือนกับเรือที่กำลังแหวกคลื่นน้ำ อภิชาต : ตรงนี้มันมาจากที่ คริส เบงเกิล ไปร่วมเพ้อฝันกับดีไซจ์เนอร์ ซึ่งมันกลายเป็นผลดีนะ ภัทรกิติ์ : มันเป็นฟอร์มของรถคลาสสิคจริงๆ รถเตี้ยๆ จนเเทบจะไปเด็ดดอกไม้ได้ นั่นคือ รถรุ่นเก่า แต่สำหรับ เซด 4 ตัวใหม่นี้ ไม่ให้ความรู้สึกโปร่งเลย แต่ให้ความรู้สึกแคบเหมือนกับรถแข่ง อภิชาต : ตัวเก่าจะมีดีไซจ์นที่ด้านข้าง คือ เราซื้อรถรุ่นนี้ เพราะเส้นสายที่ออกแนวตัวเซด (Z) ภัทรกิติ์ : มันเป็นเอกลักษณ์ของเขา มีความอ่อนช้อย เซด 4 มีคาแรคเตอร์แบบนี้มาตลอด แต่รุ่นใหม่ ไม่เหลือแล้ว โฉมใหม่มันกลายเป็น ฮอนดา เอส 2000 พุ่งไปข้างหน้า ไม่มีเส้นสายที่เเหวกว่าย รุ่นนี้ จะพุ่งไปด้านหน้าอย่างเดียว มันไม่มีเส้นสายแบบนั้นแล้ว อภิชาต : ใช้แนวทางการออกแบบสไตล์พุ่งทะยาน เท่าที่คุยกันดู อาจารย์ชอบรุ่นเดิม ภัทรกิติ์ : รุ่นเดิม คุณสามารถเอนจอยกับรถได้เลย คุณไม่ต้องวิ่งเร็ว แต่รุ่นใหม่มันคือ รถสปอร์ท ต้องขับเร็ว เข้าโค้งโอเวอร์สเตียร์ อารมณ์แบบนี้เลย ดุดัน ความโรเเมนทิคมันหายไป ฟอร์มูลา : สำหรับ โตโยตา ซูพรา อาจารย์มีความเห็นอย่างไร ภัทรกิติ์ : โตโยตา ไม่ได้มอง ซูพรา เป็นเส้นสายที่มาใช้ในพัฒนา แต่มองย้อนกลับไปถึง โตโยตา 2000 จีที คือ ซูพรา รุ่นเดิม (เอ 80) อ้วน/ใหญ่/ยาว เหมือนปลาช่อน ในขณะที่ โตโยตา 2000 จีที กระชับ/เล็ก/แน่น แต่เผอิญว่าคันนี้มันขึ้นอืดไปนิด ฟอร์มูลา : ดูเหมือนเขาไม่สนใจในตำนานเดิม อภิชาต : เหมือนใหม่หมดทั้งคัน ภัทรกิติ์ : หรือเขาอาจคิดว่าตัวนี้ไม่ใช่ ซูพรา ตั้งแต่เเรกเลยก็ได้ ฟอร์มูลา : แค่เอาชื่อ ซูพรา มาใช้ ? ภัทรกิติ์ : เป็นไปได้นะครับ ตัวนี้ถ้าเรามองว่าเป็น 86 ทุกคนก็แฮพพี พอ โตโยตา ใช้ชื่อ ซูพรา เลยเป็นเรื่อง ทั้ง เซด 4 และ ซูพรา คนที่บ่นๆ ควรจะคิดว่านี่คือ 86 อัพไซซ์เครื่องยนต์จะสบายใจกว่า พอเราเห็นตัวนี้นะ ซูพรา รุ่นก่อนหน้านี้ราคาคงไม่ลดลงแน่นอน หลายคนจะลืมว่า ซูพรา แบบเดิมหน้าตาเป็นยังไง เพราะส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะเห็นกันแต่ ซูพรา ที่แต่งเเล้ว เพราะรถเดิมๆ ไม่น่าจดจำ ฟอร์มูลา : เดิมๆ ดูไม่ลงตัว ภัทรกิติ์ : รูปร่างเหมือนปลาช่อน จริงๆ ต้องย้อนกลับไปที่ออริจินอลของมัน ซูพรา คือ เซลิคา ซึ่งเดิมใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ หลังจากที่ โตโยตา ส่งรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ ออกมา จึงใช้ชื่อว่า โตโยตา เซลิคา ซูพรา หลังๆ เซลิคา กลายเป็นรถขับหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ (เครื่องยนต์วางขวาง) ซูพรา เลยกลายเป็นรถ 6 สูบ ขับหลัง แยกจากกันไปพักใหญ่ ตอนนี้ โตโยตา มี 86 นี่คือ ซูพรา ที่ย้อนกลับไปสู่ออริจินอลของ ซูพรา จริงๆ ที่คนลืมกันไปหมดเเล้ว ฟอร์มูลา : ต้องไฟพอพอัพ ภัทรกิติ์ : ตัวถังท้ายลาด อภิชาต : จำได้ว่าสมัยเรียน ผมต้องนั่งสเกทช์รูปทรงลักษณะนี้เป็น 100 ๆ รูป ภัทรกิติ์ : มันเป็นปัญหานะครับ สิ่งที่ดีไซจ์เนอร์พูดกับลูกค้า ความรู้สึกมันคนละเรื่องกัน หรือแม้แต่บริษัทรถยนต์รู้สึก มันก็คนละเรื่องกัน โตโยตา บอกนี่แหละประวัติศาสตร์ของตู ลูกค้าบอกว่าเห็น ซูพรา อยู่รุ่นเดียว คือ รุ่นที่เเล้ว นอกนั้นเกิดไม่ทัน ฟอร์มูลา : แล้วกลุ่มนี้เขาจะเอาอะไรละครับ ? ภัทรกิติ์ : นิยามได้เลยว่า คนซื้อไม่บ่น คนบ่นไม่ซื้อ บีเอมดับเบิลยู เซด 4 พยายามทำรถให้ดูสปอร์ทมากขึ้นกว่าเดิม ไม่กินลมชมวิวเหมือนแต่ก่อน ส่วน ซูพรา ก็เป็น 86 แต่มีรุ่นเครื่องยนต์ 6 สูบ ให้ใช้ ถ้าคิดได้แบบนี้ก็จบ แต่รูปลักษณ์ภายนอก คนอาจคิดว่า เซด 4 ไปแชร์ไอเดียกับ เอส 2000 ภัทรกิติ์ : ด้านหัวรถ อาจารย์ เพราะอะไร โตโยตา ถึงพยายามทำให้เหมือนรถ ฟอร์มูลา วัน อภิชาต : นั่นสิครับ ฟอร์มูลา : บริเวณจมูกใช่ไหมครับ ภัทรกิติ์ : จะมีรถสักกี่คันที่ทำจมูกแบบ ฟอร์มูลา วัน แล้วประสบความสำเร็จบ้าง อภิชาต : ไม่มีครับ ฟอร์มูลา : ลา แฟร์รารี ภัทรกิติ์ : ผมว่า เอฟ 50 มากกว่า ฟอร์มูลา : ห้องโดยสารเป็นอย่างไร ? ภัทรกิติ์ : ห้องโดยสาร บีเอมดับเบิลยู ก็คือ บีเอมดับเบิลยู กราฟิค คือ บีเอมดับเบิลยู แต่ภายในตัวนี้ ดูน่าเบื่อ กลายเป็นรถที่คนไม่รักแล้ว แต่อาจจะมารักที่หลังก็ได้นะ ฟอร์มูลา : ผมมองว่า ภายใน โตโยตา ล้าหลังกว่า บีเอมดับเบิลยู ไป 1 เจเนอเรชัน เหมือน โตโยตา ยกเอา เจเนอเรชัน ปัจจุบันไปใช้ ส่วน บีเอมดับเบิลยู ใช้เจเนอเรชันใหม่เเล้ว ภัทรกิติ์ : ถามว่าสวยไหม ผมว่าเฉยๆ ดีไซจ์นแบบนี้ทำให้รู้สึกเหมือนเคยเห็นมาแล้ว มันไม่ตื่นเต้น จากรถที่ตื่นเต้น มาเป็นรถที่น่าเบื่อได้อย่างไร อภิชาต : งงมากกับดีไซจ์นแดชบอร์ด ภัทรกิติ์ : การออกแบบภายในไม่โรแมนทิคนี่มันอะไรกัน ฟอร์มูลา : อาจารย์สื่อว่ามันน่าจะล้ำกว่านี้ แค่นี้มันยังไม่ใช่ ภัทรกิติ์ : มันไม่ฉีกกรอบ อภิชาต : ถ้าพูดถึง บีเอมดับเบิลยู ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมย่ำอยู่กับที่ ภัทรกิติ์ : คนออกแบบเขาอยู่มานาน แต่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นอีกเรื่องก็ได้ คนใช้อาจจะกลัวอะไรที่คาดไม่ถึง อภิชาต : ถ้าคุณเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของคุณดีจริง คุณก็ผลิตออกมาเลย ภัทรกิติ์ : ทั้ง 2 คัน ดัดแปลงตัวตนแบบที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง โตโยตา พยายามยกระดับให้เป็นเยอรมัน แล้วก็เเชร์ชิ้นส่วนให้ราคาย่อมเยา ซึ่งถือว่าลงตัวแต่ไม่ถูกใจ คือ ลงตัวทางธุรกิจ แต่ไม่ถูกใจสาวก