“เครื่องยนต์ที่พ่นควันดำ คือเครื่องยนต์ดีเซลคุณภาพต่ำ หมดอายุ หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องของรถเมล์ และรถบรรทุก ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซลที่ทันสมัย ของพิคอัพ หรือ เอสยูวี รุ่นใหม่ๆ รวมถึงรถเก๋งบางรุ่น”ถึงตอนนี้ ปัญหาปริมาณฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัดจะคลี่คลายไปแล้ว แต่มาตรการและแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น-ระยะยาวที่ระดมกันออกมาในช่วง “ฝุ่นตลบ” นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าพูดถึงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับรถเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตัวการใหญ่ที่ถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ต้นเหตุส่วนใหญ่ของมลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่ได้เกิดจาก “ควันดำ” ที่เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยออกมา แต่ที่ต้องพูดให้ชัดและแยกให้ออกคือ เครื่องยนต์ที่พ่นควันดำ คือเครื่องยนต์ดีเซลคุณภาพต่ำ หมดอายุ หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องของรถเมล์ และรถบรรทุก ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซลที่ทันสมัยของพิคอัพ หรือ เอสยูวี รุ่นใหม่ๆ รวมถึงรถเก๋งบางรุ่น ดังนั้น ถ้ารถเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล ที่ติดตั้งระบบจำกัดควันพิษสารพัดของเราถูกห้ามวิ่งเข้าเมือง ก็เท่ากับว่าพวกเขาตีค่ารถของเราเท่ากับรถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ เครื่องยนต์หมดอายุ ที่พ่นควันดำ ทั้งๆ ที่รถ 2 ประเภทนี้มันเป็นความเหมือน ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง จริงๆ แล้ว สิ่งที่ท่านต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน คือ การกำจัดรถที่พ่นควันดำให้หมดสิ้นไปจากท้องถนนทั่วประเทศ โดยในต่างจังหวัดยังต้องเพิ่มความเข้มงวดกับการเผาไร่ในช่วงหน้าแล้งของบรรดาเกษตรกรด้วย ถ้าทำ 2 เรื่องนี้สำเร็จ ผมเชื่อว่าในปีต่อๆ ไป ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดความรุนแรงลง และสามารถคลี่คลายไปได้ด้วยกลไกของธรรมชาติทั้งลม และฝนตามฤดูกาล สรุปง่ายๆ คือ ไม่ต้องยุ่งกับผู้ใช้รถดีเซลรุ่นใหม่หรอกครับ หรือถ้าอยากส่งเสริมให้รถบรรทุกใช้น้ำมันดีเซล B20 ก็ทำไป แต่ต้องบอกวัตถุประสงค์ตามตรงว่าเพื่อช่วยเหลือผู้ปลูกปาล์ม พร้อมระบุด้วยว่า เป็นน้ำมันสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ได้รับการดัดแปลงเครื่องยนต์ให้ใช้ได้ โดยศูนย์บริการมาตรฐานแล้วเท่านั้น เช่นเดียวกับความพยายามจะยกมาตรฐานน้ำมันดีเซลเป็นระดับยูโร 5 ก็ควรมองภาพรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราใช้ยูโร 5 ในขณะที่เพื่อนบ้านยังอยู่ที่ยูโร 2 หรือ 3 เพราะฝุ่นพิษมันลอยมาตามลมได้อย่างที่เห็นกันอยู่ ทางที่ดีจึงควรวางแผนยกระดับมาตรฐานเป็นขั้นๆ ไปพร้อมกันทั้งอาเซียน โดยมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แน่นอนครับ ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากความรู้พื้นฐานที่ว่า เครื่องยนต์ดีเซลชั้นดี กับเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำนั้น เป็นคนละชนิดกัน !
บทความแนะนำ