อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอาการไม่ดีเลยครับ ปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์รวมลดลงจากปีก่อนถึงประมาณ 26 % ส่วนปีนี้ เดือนแรกขายได้รวมๆ 48,082 คัน ลดลง 12.3 % จากมกราคม 2567 ส่วนเดือนสอง ยอดขายยังสรุปไม่เสร็จ แต่คาดว่าจะลดลงจากกุมภาพันธ์ปีก่อน ราว 7 % เพราะฉะนั้น ไตรมาสแรกปีนี้ ตลาดติดลบแบบไม่ต้องลุ้นแน่นอน
ยอดขายในประเทศย่ำแย่ไม่พอ ยอดส่งออกยังทำท่าจะมีปัญหาใหญ่อีก เมื่อโดนัลด์ ทรัมพ์ ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ แบบไม่สนลูกใคร จาก 2.5 % เป็น 25 % ตั้งแต่ 3 เมษายน 2568 เนื่องจากทรัมพ์เชื่อว่า รถยนต์ และชิ้นส่วนนำเข้า ส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตภายในประเทศ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
แน่นอนว่า มาตรการภาษีใหม่นี้ จะทำให้ประเทศที่ส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนไปยังสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา เมกซิโก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทย เดือดร้อนไปตามๆ กัน
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ไทยมีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง มูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท
ดังนั้น การขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของสหรัฐฯ จึงส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลายมิติ ทั้งต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเบื้องต้น สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะทำให้การส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนจากไทยไปสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 10 %
ทางแก้ไข หรือทางออกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นอกจากหวังพึ่งภาครัฐให้ไปช่วยเจรจา ซึ่งดูสภาพแล้วคงยากถึงยากมาก ภาคเอกชนคงต้องพยายามช่วยตัวเองด้วยการหันไปเจาะตลาดอื่นที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา ที่ยังมีความต้องการรถยนต์สูง และอัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่า
บังเอิญผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี และเชื่อเรื่องการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ฉะนั้น ผมจึงมองว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คราวนี้ รวมถึงการหดตัวของตลาดในประเทศ เป็นโอกาสอันท้าทายที่ไทยจะได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีความยืดหยุ่น ทั้งเรื่องการบริหารต้นทุน การกำหนดราคา การขยายตลาดใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกระจายฐานการผลิต และการใช้กลไกทางการค้าให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และไปต่อได้ในทุกสถานการณ์