รู้ลึกเรื่องรถ
คุณภาพชีวิตระดับ 5 ดาว (ตอน 1)
ปัจจัยในการเลือกซื้อรถยนต์ นอกเหนือจากความสวยงาม สมรรถนะ ราคา แล้วเรื่อง “ความปลอดภัย” ดูจะเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญหนึ่งในองค์กรที่มีความเป็นกลางในการทดสอบ และประเมินหัวข้อด้านความปลอดภัยของรถยนต์ที่ผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ให้ความเชื่อถือ ได้แก่ หน่วยงานประเมินคุณภาพรถใหม่ของสหภาพยุโรป EUROPEAN NEW CAR ASSESSMENT PROGRAMME หรือ EURO NCAP ระบบคะแนนของ EURO NCAP ใช้จำนวนดาวคะแนนสูงสุด คือ “5 ดาว” วิธีการนี้ช่วยให้ผู้บริโภค และหน่วยงานต่างๆ สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเลือกรถยนต์ที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน โดยรูปแบบการประเมินมาจากการจำลองการเกิดอุบัติเหตุในหลายแง่มุม รวมถึงสภาพความเสียหายที่ตามมา มาตรฐานการประเมินในปัจจุบัน “ดาว” ที่ได้ไม่เพียงแต่บ่งบอกว่ารถคันนั้นมีความแข็งแรง แต่ยังบอกถึงคุณลักษณะ และเทคนิคของอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใส่เข้าไปในรถด้วย โดยในปัจจุบันไม่เพียงแต่ประเมินคุณค่าของโครงสร้างที่จะลดอาการบาดเจ็บล้มตายของผู้โดยสารภายในรถเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนเดินถนน และการ “หลีกเลี่ยง” มิให้เกิดอุบัติเหตุด้วย คงเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ารถยนต์ในปัจจุบันทุกคันออกแบบให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัย แต่หากรถยนต์ที่ทดสอบหวังเพียงแค่ผ่านกฎหมายก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ได้ดาวเลย ดังนั้นจึงสามารถบอกได้เลยว่า แม้จะได้ไม่สูงถึง 5 ดาว ก็ไม่ได้แปลว่ารถคันนั้นไม่ปลอดภัย เพียงแต่ว่าหากเทียบกับรถคันอื่นในท้องตลาดแล้ว รถรุ่นอื่นๆ ทำได้ดีกว่าเท่านั้นเอง ดังนั้นระบบคะแนนจึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาด้วยเช่นกัน นั่นคือ รถรุ่นใหม่ขึ้นก็ยิ่งปลอดภัยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ดังนั้นรถที่ได้คะแนน 5 ดาว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะไม่สามารถเทียบกับรถที่ได้คะแนน 3 ดาว ในปัจจุบันได้ จึงต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับปีการผลิตของมันด้วย โดยจำนวนดาวแปลความหมายได้ดังนี้ “5 ดาว” หมายความว่า มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองร่างกายของทั้งผู้โดยสาร และคนที่โดนชนจากอุบัติเหตุได้ดี และมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วย “หลีกเลี่ยง” การเกิดอุบัติเหตุที่มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้มาจากโรงงาน “4 ดาว” หมายความว่ามีประสิทธิภาพในการคุ้มครองร่างกายของทั้งผู้โดยสาร และคนที่โดนชนจากอุบัติเหตุได้ดี และ “สามารถ” ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วย “หลีกเลี่ยง” การเกิดอุบัติเหตุเป็นอุปกรณ์เสริมได้ “3 ดาว” หมายความว่ามีประสิทธิภาพในการคุ้มครองร่างกายของทั้งผู้โดยสาร และคนที่โดนชนจากอุบัติเหตุได้ในเกณฑ์ดีกว่าค่าเฉลี่ย แต่ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วย “หลีกเลี่ยง” การเกิดอุบัติเหตุ “2 ดาว” หมายความว่ามีประสิทธิภาพในการคุ้มครองร่างกายของทั้งผู้โดยสาร และคนที่โดนชนจากอุบัติเหตุได้ในเกณฑ์เฉลี่ย แต่ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วย “หลีกเลี่ยง” การเกิดอุบัติเหตุ “1 ดาว” หมายความว่ามีประสิทธิภาพในการคุ้มครองร่างกายของทั้งผู้โดยสาร และคนที่โดนชนจากอุบัติเหตุได้ในเกณฑ์พอรับได้ โดยหากจะพิจารณารถที่ได้ คะแนน 5 ดาว ของยุคปัจจุบัน ต้องดูด้วยว่า รถที่นำมาทดสอบนั้นได้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อความปลอดภัยมาเต็มรูปแบบหรือไม่ โดยรถที่ได้ระดับ 5 ดาว ไม่ใช่มีแต่รถราคาแพงเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบ และการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง แม้จะเป็นรถระดับมหาชนก็ตาม เช่น โตโยตา โคโรลลา ปี 2020 มาซดา 3 ปี 2020 ฮอนดา ซีอาร์-วี โฉมปัจจุบัน ก็ได้รับการประเมินว่ามีความปลอดภัยสูงระดับ 4-5 ดาวทั้งสิ้น น้อยมากที่จะได้เพียง 3 ดาว หรือต่ำกว่า แต่ก็มีรถบางรุ่นที่ได้คะแนนต่ำอย่างเหลือเชื่อ เช่น จีพ แรงเลอร์ ปี 2018 ได้เพียง 1 ดาว และเฟียต ปันดา ปี 2018 สอบตก เพราะไม่ได้ดาว หลักเกณฑ์ในการประเมิน แบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. การคุ้มครองผู้โดยสาร และผู้ขับที่เป็นผู้ใหญ่ (ADULT OCCUPANT) 2. การคุ้มครองผู้โดยสารที่เป็นเด็ก (CHILD OCCUPANT) 3. การคุ้มครองผู้ร่วมใช้ทาง คนเดินถนน และคนขี่จักรยาน (VRU, VULNERABLE ROAD USERS) 4. อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย หรือระบบช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ โดยแต่ละหัวข้อจะมีรูปแบบการทดสอบที่แตกต่างกัน รวมถึงการเลือกใช้หุ่นดัมมี (CRASH TEST DUMMY) ที่มีขนาดแตกต่างกันด้วย เพื่อประเมินการทำงานขององค์ประกอบแต่ละส่วน เนื่องด้วยพื้นที่ของเรามีจำกัด ดังนั้นในฉบับนี้จะขอกล่าวเฉพาะหัวข้อที่ 1 การคุ้มครองผู้โดยสาร และผู้ขับที่เป็นผู้ใหญ่ (ADULT OCCUPANT) การคุ้มครองผู้โดยสาร และผู้ขับที่เป็นผู้ใหญ่ แบ่งการทดสอบออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่ 1. การทดสอบการชนแบบเยื้องเข้ากับสิ่งกีดขวางที่ยุบตัวได้ (ODB: OFFSET-DEFORMABLE BARRIER) 2. การทดสอบการชนแบบหน้าเต็มเข้ากับสิ่งกีดขวางที่ไม่ยุบตัว (FULL WIDTH RIGID BARRIER) 3. การทดสอบการถูกวิ่งเข้าชนจากด้านข้าง (SIDE MOBILE BARRIER) 4. การทดสอบรถไถลเอาด้านข้างเข้าชนกับเสา (SIDE POLE) 5. การทดสอบความบาดเจ็บของกระดูกสันหลังต้นคอจากการชนด้านท้าย (WHIPLASH) 6. การทดสอบระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติช่วงความเร็วต่ำ (AEB CITY, AUTONOMOUS EMERGENCY BRAKING IN CITY SPEED) การทดสอบแรก คือ การทดสอบการชนแบบเยื้องเข้ากับสิ่งกีดขวางที่ยุบตัวได้ (ODB: OFFSET-DEFORMABLE BARRIER) เป็นการจำลองรูปแบบของอุบัติเหตุร้ายแรง ที่ทำให้เกิดความพิการไปจนถึงคร่าชีวิต และสร้างความเสียหายมากกว่าอุบัติเหตุรูปแบบอื่นๆ โดยจำลองมาจากการประสานงาระหว่างรถยนต์ที่วิ่งสวนกัน และทั้ง 2 ฝ่ายพยายามหักพวงมาลัยหลบ แต่ไม่พ้นจึงชนกัน โดยเกิดขึ้นบางส่วนของตัวรถด้านหน้า นี่คือ รูปแบบการชนที่ส่งผลกับโครงสร้างร้ายแรงที่สุด เนื่องจากโครงสร้างเพียงส่วนเดียวของรถรับแรงกระแทกจากการชนทั้งหมด การทดสอบนี้ รถยนต์จะพุ่งเข้าหาเป้าหมายด้วยความเร็ว 40 ไมล์/ชม. หรือ 64 กม./ชม. โดยใช้พื้นที่ด้านหน้าเพียง 40 % ชนกับก้อนโลหะที่ทำจากแผ่นอลูมินัมโครงสร้างแบบรังผึ้ง (ALUMINUM HONEYCOMB SHEET) หลายแผ่น ทากาวยึดติดกันคล้ายรูปทรงรถยนต์ โดยผลของการจำลองรูปแบบการชนจะเหมือนการปะทะกับรถที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน หุ่นดัมมีใช้ “เพศชาย” ที่มีขนาดร่างกายระดับเฉลี่ย ในตำแหน่งผู้ขับขี่ และหุ่นดัมมี “เด็ก” นั่งในเก้าอี้เด็กยึดกับเบาะหลัง ผลการทดสอบจะบอกว่า มีโครงสร้างของตัวรถที่หัก หรือแทงทะลุเข้าไปทำอันตรายต่อคนขับมากเพียงใด ดูมีการออกแบบโครงสร้างที่ช่วยกระจาย และดูดซับแรงปะทะออกไปจากผู้โดยสารได้ดีเพียงใด อีกทั้งโครงสร้างที่ออกแบบให้ยุบตัวเพื่อซับแรงกระแทกนั้น ต้องเป็นไปในลักษณะคาดการณ์ไว้ โดยจะต้องหลีกเลี่ยงการเกิดความเสียหายในห้องโดยสารให้มากที่สุด ขณะที่พวงมาลัยกับชุดขาคันเร่ง และเบรคต้องเคลื่อนที่น้อยที่สุด เพื่อไม่สร้างบาดแผลให้ผู้ขับขี่ การทดสอบต่อไป คือ การชนแบบหน้าเต็มเข้ากับสิ่งกีดขวางที่ไม่ยุบตัว (FULL WIDTH RIGID BARRIER) ที่คิดค้นขึ้นในปี 2015 โดยสมมติฐานของการทดสอบนี้ คือ รถยนต์ในปัจจุบันนั้นมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ช่วยให้ลดอาการบาดเจ็บของศีรษะ กับขาท่อนล่าง แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การบาดเจ็บจากการทำงานของเข็มขัดนิรภัยที่รั้งอย่างรุนแรง เมื่อรถลดความเร็วลง (DECELERATE) อย่างรวดเร็ว ชนิดที่อาจจะทำให้กระดูกซี่โครงร้าวได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้โดยสารที่รูปร่างเล็ก หรือเป็นคนชรา การทดสอบนี้จะใช้หุ่นดัมมี “เพศหญิง” ที่มีร่างกายเล็กกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกนั่งในตำแหน่ง ผู้ขับขี่ ส่วนอีกตัวนั่งที่เบาะหลัง รถจะพุ่งชนสิ่งกีดขวาง (กำแพง) ที่ไม่ยุบตัวด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. โดยความสนใจจะมุ่งประเด็นไปที่ระบบเข็มขัดนิรภัยที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ไม่ทำอันตรายต่อร่างกายของคนร่างเล็ก ขณะเดียวกัน ระบบที่มีอยู่จะต้องแข็งแรงพอที่จะคุ้มครองร่างกายของชายขนาดเฉลี่ย ในการชนแบบเยื้องที่ความเร็ว 64 กม./ชม. ด้วยเช่นกัน
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ