รู้ลึกเรื่องรถ
บังคับให้รถแข่งติดแอร์ ! กติกาใหม่ F1 ฤดูกาล 2025
ก่อนเปิดฤดูกาลแข่งขันรถสูตรหนึ่งทุกปี จะมีสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตามองนอกเหนือจากเรื่องทีมแข่ง ตัวนักแข่ง รถแข่งที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ นั่นคือเรื่อง กติกาที่มักจะมีข้อกำหนดใหม่ๆ เพื่อให้การแข่งขันมีความเป็นธรรม และท้าทายยิ่งขึ้น รวมถึงยกระดับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของนักแข่งเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับกติกาการแข่งขัน F1 ฤดูกาล 2025 มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง เชิญติดตาม
1) กำหนดให้รถแข่งต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดความร้อนให้แก่นักแข่ง โดยกติการะบุว่า เมื่อมีการตรวจพบ และทำนายล่วงหน้าว่า สภาพภูมิอากาศระหว่างการแข่งขันจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 30.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของนักแข่งอย่างรุนแรง (HEAT HAZARD) เพราะในคอคพิทอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส และเมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน นักแข่งอาจเสียน้ำหนักร่างกายถึง 3-4 กิโลกรัม ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะการเสียน้ำอาจจะทำให้นักแข่งหมดสติได้ และตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือ การที่ ESTEBAN OCON (เอสเตบาน โอคอน) อาเจียนในหมวกนิรภัยของเขา เพราะความทรมานจากความร้อน
ดังนั้น หากพบว่าอุณหภูมิเข้าเกณฑ์อันตราย ผู้อำนวยการแข่งจะต้องสั่งให้ทุกทีมติดตั้งอุปกรณ์ลดอุณหภูมิในห้องคนขับ ก่อนหน้าเราสามารถพบเจอเหตุนี้ได้ในการแข่งในประเทศเขตร้อนชื้น อาทิ สิงคโปร์ และกาตาร์ แต่คราวนี้ถูกระบุให้เป็นส่วนหนึ่งในกติกา โดยสิ่งที่ทีมสามารถทำได้มีหลายวิธี ทั้งการใช้ชุดแข่งที่ต่อเข้ากับระบบลดอุณหภูมิ หรือปล่อยลมเย็นออกมาในห้องคนขับ โดยมีข้อกำหนดว่า อุปกรณ์จะต้องมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 5 กิโลกรัม และจะอนุญาตให้น้ำหนักรถต่ำสุดเพิ่มเป็น 805 กิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 5 กิโลกรัม จากฤดูกาล 2024)
ต้องขอแสดงความยินดีกับเหล่านักแข่ง สำหรับกติกาใหม่นี้ด้วย เพราะความร้อนนั้นส่งผลกระทบโดยตรงทั้งกับร่างกายของมนุษย์ และตัวรถแข่ง ส่วนหนึ่ง คือ ยางจะสึกหรอเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลต่อจำนวนการเข้าพิท และรูปแบบการขับ อีกส่วน คือ การออกแบบระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์
แต่ในทางกลับกัน อุณหภูมิที่ต่ำเกินไปก็ส่งผลกระทบต่อตัวรถด้วยเช่นกัน แม้จะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม แต่ในบางสนาม อาทิ NURBURGRING (นืร์บวร์กริง) หรือ SPA-FRANCORCHAMPS (สปา-ฟรองโกร์ชองพ์ส) อาจได้เจอกับอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปได้ เพราะอุณหภูมิต่ำจะทำให้ยางรถมีอุณหภูมิน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ควบคุมรถได้ไม่ดีเท่าที่ควร
จบจากเรื่องความร้อนกับสวัสดิภาพของนักแข่งไป อีกกติกาหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ คือ การเข้มงวดเรื่องความเท่าเทียมของระบบอากาศพลศาสตร์ เพื่อรับมือกับช่องโหว่ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยรถแข่งของทีม McLAREN (แมคลาเรน) ในการแข่งขันรายการ AZERBAIJAN GP (อาเซอร์ไบจานจีพี) ช่วงเดือนกันยายน 2024 สาเหตุที่ทำให้เป็นประเด็นขึ้น คือ พบว่าสปอยเลอร์หลังของทีม McLAREN มีการ “เผยอ” ปลายปีกขึ้นมาได้ด้วยตัวเองที่ความเร็วสูง แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้อากาศไหลผ่านปีกหลังได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้รถแข่งทีม McLAREN มีความเร็วสูงกว่ารถของทีมอื่น 3 กม./ชม. และในทางกลับกัน รถของพวกเขาในช่วงที่อนุญาตให้ใช้ระบบ DRS หรือการเปิดปีกให้ลดแรงกด และปล่อยอากาศไหลผ่านปีกได้ง่ายขึ้นนั้น ตัวรถของพวกเขากลับไม่ได้มีความเร็วสูงเท่ารถคันอื่น ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะกติกาอนุญาตให้ใช้ระบบ DRS ได้ก็เฉพาะตอนที่ไล่จี้รถคันหน้าโดยมีระยะห่างไม่เกิน 1 วินาทีเท่านั้น
เนื่องจากปีกที่เผยอขึ้นได้เองจากคุณสมบัติของวัสดุ ซึ่งเห็นได้ชัดจากกล้องที่ติดอยู่บนรถ จึงสามารถสร้างข้อได้เปรียบในการขับส่วนใหญ่ได้ จากการที่มันสามารถทำความเร็วได้สูงกว่ารถคันอื่น ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดข้อครหา และการเอาเปรียบแบบนี้ขึ้นอีก กติกาใหม่จึงกำหนดให้ชิ้นส่วนด้านอากาศพลศาสตร์ใดๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ขับ จะต้องไม่สามารถขยับได้ด้วยตนเอง ต้องติดตั้งให้มีความมั่นคงอยู่เสมอ และตรงกับแบบอ้างอิงที่ยื่นกับคณะกรรมการ
นอกเหนือจากเรื่องราวด้านเทคนิคใน 2 ส่วนที่กล่าวไปแล้ว ก็จะเป็นเรื่องกติกาการแข่ง และการเก็บคะแนนที่เปลี่ยนไป ซึ่งโดยทั่วไป คะแนนจะมอบให้แก่นักแข่ง 10 คนแรกที่เข้าเส้นชัย โดยผู้เข้าที่ 1 จะได้ 25 คะแนน ที่ 2 ได้ 18 คะแนน ที่ 3 ได้ 15 คะแนน และผู้เข้าที่ 10 ได้ 1 คะแนน ซึ่งที่ว่าไปนั้นจะเป็นคะแนนที่ได้ หากการแข่งขันนั้นสามารถขับได้ครบตามจำนวนรอบที่กำหนด แต่ได้มีการกำหนดกติกาขึ้นใหม่ สำหรับกรณีที่การแข่งนั้นถูกยุติลงด้วยเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็นจากสภาพภูมิอากาศ หรือใดๆ ดังนี้
หากการแข่งยุติลงตั้งแต่การแข่งเริ่มไปได้เพียง 2 รอบ หรือวิ่งไปได้ 25 % ของระยะทางที่กำหนดไว้ ผู้ที่ได้คะแนนจะมีเพียง 5 อันดับ คือ ที่ 1 ได้ 6 คะแนน ที่ 2 ได้ 4 คะแนน ไล่เรียงลงไปถึงที่ 5 ได้ 1 คะแนน
แต่ถ้าการแข่งต้องยุติลงในช่วง 25 %-50 % ของระยะทางรวมทั้งหมด ผู้ที่ได้คะแนนจะเหลือเพียง 9 อันดับ โดยที่ 1 จะได้ 13 คะแนน ที่ 2 จะได้ 10 คะแนน ที่ 3 ได้ 8 คะแนน ไล่เรียงไปจนถึง ที่ 9 ได้ 1 คะแนน
และหากการแข่งยุติลงในช่วง 50 %-75 % ของระยะทางรวมทั้งหมด ผู้ที่ได้คะแนนก็จะมี 10 อันดับ โดยอันดับ 1 จะได้ 19 คะแนน ที่ 2 ได้ 14 คะแนน ที่ 3 ได้ 12คะแนน ไล่เรียงไปจนถึง ที่ 10 ได้ 1 คะแนน
ถือว่ามีความเป็นธรรมดี เพราะคะแนนที่ได้ก็สมน้ำสมเนื้อกับความเหนื่อยยากที่เกิดขึ้น และนอกเหนือไปจากคะแนนปกติที่ได้จากการแข่งขันวันอาทิตย์แล้ว ยังจะสามารถเก็บเกี่ยวคะแนนได้จากการแข่งรอบพิเศษ ที่เรียกว่า SPRINT RACE (สปรินท์ เรศ) อีกด้วย
SPRINT RACE เป็นการแข่งขันย่อยที่จัดขึ้นก่อนการแข่งขันจริงในวันอาทิตย์ โดยเป็นการแข่งขันที่วัดกันด้วยระยะทางเพียง 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางแค่ 1 ใน 3 ของรอบการแข่งขันจริง
การแข่งขันรูปแบบนี้จะมีการควอลิฟายด์กันในวันศุกร์บ่ายของสุดสัปดาห์ที่มีการจัดแข่งขัน โดยรอบควอลิฟายด์จะมีการตัดตัวออกไปเรื่อยๆ รอบแรก หรือ SQ1 จะมีเวลาเพียง 12 นาที ที่นักแข่งทั้งหมด 20 คนจะต้องทยอยลงไปจับเวลา และคัดผู้ที่ช้าที่สุด 5 คนสุดท้ายออก
ต่อด้วย SQ2 ที่มีเวลาให้ 10 นาที เพื่อคัดคนที่ช้าที่สุดออกอีก 5 คน จนเหลือนักแข่งเพียง 10 คน ไปต่อใน SQ3 ซึ่งจะเป็นรอบจัดอันดับสตาร์ทในการแข่งขันวันเสาร์บ่าย
วันเสาร์บ่ายที่เป็น SPRINT RACE จะมีนักแข่งเพียง 10 คน ที่ลงชิงชัย และมีเพียง 8 คน ที่จะได้รับคะแนนพิเศษไป โดยผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกจะได้ 8 คะแนน และที่เหลือจะได้คะแนนลดหลั่นกันไป จนคนที่ 8 จะได้เพียง 1 คะแนน ส่วนอันดับ 9 และ 10 ไม่มีคะแนน
ตารางการแข่งขันฤดูกาล 2025 SPRINT RACE จะมี 6 สนาม (ปฏิทินการแข่งขัน F1 ฤดูกาล 2025 มี 24 สนาม) เรียกว่า SPRINT WEEKEND (สปรินท์ วีคเอนด์) โดยจะจัดขึ้นที่
1. CHINESE GP, SHANGHAI (ไชนีส จีพี, เซี่ยงไฮ้) วันที่ 21-23 มีนาคม 2025
2. MIAMI GP, MIAMI (ไมอามี จีพี, ไมอามี) วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2025
3. BELGIAN GP, SPA-FRANCORCHAMPS (เบลเยียม จีพี, สปา-ฟรองโกร์ชองพ์ส) วันที่ 25-27 กรกฎาคม 2025
4. US GP, COTA, AUSTIN (ยูเอส จีพี, เซอร์กิท ออฟ ธิ อเมริกา, ออสติน) วันที่ 17-19 ตุลาคม 2025
5. SAO PAULO GP, INTERLAGOS, SAO PAULO (เซา เปาโล จีพี, อินเตอร์ลาโกส, เซา เปาโล) วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2025
6. QATAR GP, LUSAIL (กาตาร์ จีพี, ลูเซล) วันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2025
โดยสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน SPRINT WEEKEND ถือเป็นสัปดาห์ที่ท้าทายทั้งนักแข่ง ทีมงาน และเป็นสุดสัปดาห์ที่คุ้มค่าสำหรับคนที่ติดตามการแข่งอย่างแท้จริง
นอกจากโครงสร้างการให้คะแนนในการแข่งขัน 2 รูปแบบแล้ว ยังมีการให้คะแนนพิเศษอีก 1 คะแนน สำหรับผู้ที่ทำเวลาต่อรอบได้เร็วที่สุด หรือ FASTEST LAB แต่สำหรับฤดูกาล 2025 นี้จะไม่มีคะแนนโบนัส สำหรับผู้ที่ทำเวลาต่อรอบได้ต่ำที่สุดอีกต่อไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ การให้คะแนนโบนัสเริ่มในฤดูกาล 2019 หลังจากที่ไม่มีการให้โบนัสมาถึง 60 ปี โดยจะให้ 1 คะแนนพิเศษ กับผู้ที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุด แต่มีข้อกำหนดว่าจะให้คะแนนเมื่อนักขับจบการแข่งขันใน 10 อันดับแรก ดังนั้น หากนักแข่งคนหนึ่งสามารถทำเวลาต่อรอบได้เร็วที่สุด แต่เกิดเหตุต้องออกจากการแข่งขัน ก็จะไม่มีใครได้คะแนนโบนัสนี้ไป ซึ่งการให้คะแนนโบนัสพิเศษนี้ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้นักแข่ง เพราะทุกคะแนนล้วนมีความหมาย โดยผู้ที่ได้รับโบนัสนี้มากที่สุด คือ MAX VERSTAPPEN (แมกซ์ เวอร์สแตพเพน) ทีม RED BULL ที่ได้มาทั้งหมด 29 คะแนน นับตั้งแต่มีการให้โบนัสมา ตามมาด้วย “ท่านเซอร์” LEWIS HAMILTON (ลูอิส แฮมิลทัน) ทีม MERCEDES
ไม่รู้ว่าทำไมถึงไม่มีการให้คะแนนโบนัส ทั้งนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของความสนุก และเป็นสีสันของการแข่งขัน เป็นไปได้ว่า เนื่องจากบรรดาทีมรองบ่อนอาจรู้สึกไม่แฟร์
นี่คือความเปลี่ยนแปลงของกติกา ทั้งในส่วนนักแข่ง รถแข่ง และการให้คะแนน สำหรับการแข่งขัน F1 ฤดูกาล 2025 ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จริงๆ จะเกิดขึ้นในฤดูกาล 2026 เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องขุมพลังที่จะก้าวสู่ยุคไฮบริดเต็มรูปแบบ โปรดติดตาม !