รายงาน(formula)
รู้ทัน พรบ. จราจรใหม่ ใบสั่งต้องจ่าย ใบขับขี่ห้ามยึด !
พรบ. จราจรทางบกฉบับใหม่ ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อ 20 กันยายน 2562 มีกฎหมายหลายข้อเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับใบขับขี่ และใบสั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนใช้รถต้องรู้
“ใบขับขี่” ยึดไม่ได้
ตำรวจขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ได้ แต่ไม่มีอำนาจเรียกเก็บ
ตำรวจบันทึกข้อมูลความผิดเขียนใบสั่ง แล้วส่งต้นขั้วไปยังสถานีตำรวจผู้ออกใบสั่ง เพื่อตัดแต้มเจ้าของ ใบขับขี่ที่มีทั้งหมด 12 แต้ม ถ้าถูกตัดครบ 12 แต้ม จะถูกพักใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน ผู้ขับขี่ต้องไปอบรมการขับขี่ และสอบอีกครั้ง โดยสามารถติดต่อไปยังกรมการขนส่งทางบก ถ้าผ่านจะได้รับ 12 แต้มคืน ภายใน 3 ปี ถ้าผู้ขับขี่ถูกพักใช้ใบขับขี่ถึงครั้งที่ 3 จะทำให้ถูกพักใช้ใบขับขี่ 1 ปี ระหว่าง 1 ปีนี้ถ้ากระทำผิดอีกเป็นครั้งที่ 4 จะถูกเพิกถอนใบขับขี่ทันที ผู้ขับขี่สามารถเลือกแสดงใบขับขี่ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. ใบขับขี่ตัวจริงแบบเดิม 2. ใบขับขี่ดิจิทอล ผ่านแอพพลิเคชัน DLT QR LICENCE และ 3. สำเนาภาพถ่ายใบขับขี่ โดยต้องมี QR CODE เพื่อให้เจ้าหน้าที่สแกนตรวจสอบในฐานข้อมูลได้ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดขั้นตอนการใช้งาน DLT QR LICENCE
แอพพลิเคชันแสดงใบขับขี่บนสมาร์ทโฟน สามารถใช้แสดงแทนใบขับขี่ตัวจริงได้ มีระบบแจ้งเตือน การเปลี่ยนชนิด การต่อใบอนุญาตขับขี่ การแสดงข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ประวัติแพ้ยา กรุพเลือด โรคประจำตัว สิทธิการรักษาพยาบาล รายชื่อผู้ติดต่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งสามารถแชร์ตำแหน่ง ที่ตั้งพร้อมหมายเลขทะเบียนของผู้ถือใบขับขี่ได้ดาวน์โหลดง่ายๆ เพียงสแกน QR CODE
IOS
ANDROID
6 ขั้นตอนใช้งานง่ายๆ
1. โหลดแอพพลิเคชัน DLT QR LICENCE ลงในสมาร์ทโฟน ใช้ได้ทั้งระบบ ANDROID และ IOS 2. ลงทะเบียน กรอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน และอี-เมล 3. ระบบจะส่งรหัส OTP 6 หลัก ให้ทางอี-เมล 4. ตั้งรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ 5. สแกน QR CODE หลังใบขับขี่ 6. เข้าสู่เมนูเพื่อเเสดงใบขับขี่ * หมายเหตุ: ผู้ถือใบขับขี่แบบเก่าที่ด้านหลังไม่มี QR CODE สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชันนี้ได้ โดยเลือกลงทะเบียนแบบไม่มี QR CODE แต่จะไม่สามารถใช้แสดงใบขับขี่เสมือนจริง และไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อต่ออายุใบขับขี่ หากต้องการใช้ครบทุกเมนูต้องนำไปเปลี่ยนเป็นใบขับขี่ใหม่ สามารถติดต่อขอเปลี่ยนได้ที่กรมการขนส่งทางบกทั่วประเทศ“ใบสั่งต้องจ่าย”
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เชื่อมโยงข้อมูลการออกใบสั่งกับกรมการขนส่งทางบก ในระบบออนไลน์ข้อมูลใบสั่งแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 เจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2561 จะต่อภาษีไม่ได้จนกว่าจะชำระค่าปรับที่ค้างอยู่ โดยกรมการขนส่งทางบกจะรับชำระค่าปรับที่ค้างชำระแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถสามารถชำระค่าปรับพร้อมค่าภาษีประจำปีได้ที่สำนัก งานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ แต่จะชำระใบสั่งที่กรมการขนส่งทางบก ได้ไม่เกิน 18 ใบ หากเกินกว่านั้นต้องนำใบสั่งที่เหลือ ไปชำระยังสถานีตำรวจที่ออกใบสั่ง ถ้าหากมีการทำผิดกฎจราจรแต่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ ตำรวจไม่สามารถเขียนใบสั่งไว้ที่รถได้ ต้องส่งใบสั่งพร้อมหลักฐานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไปยังเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถเพื่อให้มาชำระค่าปรับ ผู้ที่ชำระค่าภาษีต่อทะเบียน แต่ไม่ชำระค่าปรับที่ค้างอยู่ กรมการขนส่งทางบกจะออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีฉบับชั่วคราวให้ โดยผู้ขับขี่จะชำระค่าปรับช่องทางอื่นได้ เช่น ไปรษณีย์ทุกแห่ง, เคาน์เตอร์บริการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ตู้เอทีเอม ธนาคารกรุงไทย, แอพพลิเคชัน กรุงไทย NEXT, และหน่วยบริการรับชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ PTM (POLICE TICKET MANAGEMENT) เช่น กลุ่ม CENPAY และตู้บุญเติม ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน จากนั้นจึงนำใบเสร็จค่าปรับไปขอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีตัวจริง แต่ถ้าไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน จะเป็นขั้นตอนของเจ้าพนักงานตำรวจจราจรตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป ที่จะมีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก ให้งดออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้น ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถ เห็นว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง สามารถทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหาแล้วส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ไปยังสถานีตำรวจตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งจากนายทะเบียนขนส่งโดนใบสั่งไม่รู้ตัว ตรวจสอบได้ !
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำเวบไซท์เพื่อให้ประชาชนผู้รับใบสั่งได้ตรวจสอบจำนวนใบสั่งที่ถูกเขียนทั้งหมด รวมถึงจำนวนค่าปรับ และช่องทางการชำระค่าปรับ ผ่านระบบออนไลน์ โดยระบบนี้มีชื่อว่า “ระบบใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน” (E-TICKET) ซึ่งสามารถลงทะเบียนด้วยทะเบียนรถยนต์ หรือใบขับขี่พร้อมข้อมูลบัตรประชาชนผ่านเวบไซท์ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ตรวจสอบใบสั่ง เพียงสแกน QR CODE
ขั้นตอนลงทะเบียน
1. เข้าเวบไซท์ จากนั้นกดปุ่มลงทะเบียนใช้งาน 2. กรอกข้อมูลส่วนตัวตามบัตรประจำตัวประชาชน โดย LASER ID สามารถดูได้จากด้านหลังบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทคาร์ด 3. ข้อมูลที่ใช้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน USERNAME&PASSWORD มีให้เลือก 2 แบบ คือ การใช้ข้อมูลรถที่ครอบครอง หรือข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ให้ระบุอี-เมลที่จะใช้ลงทะเบียน 4. ระบบจะส่งรหัสยืนยันไปที่อี-เมล จากนั้นให้ใส่รหัสยืนยัน 6 หลัก ที่ได้รับ และตั้งรหัสผ่านที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่มลงทะเบียน/ยอมรับข้อความข้างต้น/ยืนยัน 5. เสร็จสมบูรณ์พร้อมเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้เพื่อตรวจสอบข้อมูลใบสั่งของตนเองได้ทันทีทะเบียนขาด เกิน 3 ปี ถูกระงับ ค่าปรับบาน !
หากปล่อยให้ทะเบียนรถยนต์ขาดอายุ จะต้องเสียค่าปรับในการชำระภาษีย้อนหลัง 1 % ต่อเดือน จนถึงวันชำระ และหากเจ้าของรถไม่ต่อทะเบียน หรือไม่ชำระภาษี นานเกิน 3 ปี ทะเบียนจะถูกระงับ ต้องจดทะเบียนใหม่ โดยเจ้าของรถต้องคืนแผ่นป้ายทะเบียน และเล่มทะเบียนรถให้ทางกรมการขนส่งทางบกบันทึกการระงับภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท เมื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว จึงจะสามารถยื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้ พร้อมกับชำระภาษีที่ค้างทั้งหมด หรือค่าปรับ 1 % ต่อเดือน5 ข้อรู้เรื่อง มีอะไรใหม่ใน พรบ. จราจรทางบก 2562
1. เจ้าหน้าที่สามารถเรียกตรวจใบอนุญาตขับขี่ได้ แต่ไม่สามารถยึดใบอนุญาตขับขี่จากผู้ขับขี่รถทุกประเภท 2. ผู้ขับขี่สามารถแสดงใบอนุญาตได้ 3 รูปแบบที่มี คือ 1. ใบขับขี่ตัวจริงแบบเดิม 2. ใบขับขี่ดิจิทอล ผ่านแอพพลิเคชัน DLT QR LICENCE และ 3. สำเนาภาพถ่ายใบขับขี่ โดยต้องมี QR CODE เพื่อให้เจ้าหน้าที่สแกนตรวจสอบในฐานข้อมูลได้ ตามที่ กรมการขนส่งทางบกกำหนด 3. ผู้ขับขี่ที่กระทำความผิด และได้รับใบสั่ง ต้นขั้วของใบสั่งจะถูกส่งไปยังสถานีตำรวจผู้ออกใบสั่งเพื่อทำการตัดแต้มของผู้ขับขี่ 4. ผู้ขับขี่มีแต้มสะสม 12 แต้ม หากถูกตัดครบ 12 แต้ม จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน โดยแต้มจะกลับคืนสู่ผู้ขับขี่เมื่อไปอบรมการขับขี่ และสอบอีกครั้ง 5. ผู้ขับขี่ที่ได้ใบสั่ง แต่ยังไม่สะดวกจ่ายค่าปรับ สามารถจ่ายพร้อมค่าภาษีรถประจำปีได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือช่องทางอื่นได้ เช่น ไปรษณีย์ทุกแห่ง, เคาน์เตอร์บริการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ตู้เอทีเอม ธนาคารกรุงไทย, แอพพลิเคชัน กรุงไทย NEXT และหน่วยบริการรับชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ PTM (POLICE TICKET MANAGEMENT) เช่น กลุ่ม CENPAY และตู้บุญเติม ภายใน 30 วันABOUT THE AUTHOR
อภินันท์ อุ่นทินกร
ภาพโดย : อินเตอร์เนท, ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2562
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)