รอบรู้เรื่องรถ
ถูกปรับเพราะขับเร็วเกิน ไม่ต้องกลัวกันขนาดนั้นก็ได้
แค่ได้ฟังและได้อ่านข่าว ที่หน่วยงานด้านการจราจร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปล่อยออกมาขู่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะบนทางด่วนในกทม. และทางต่างจังหวัด จะเป็นครั้งที่เท่าไรผมก็ไม่ได้นับหรือจดจำไว้ ว่าครั้งนี้จะ “เอาจริง” แล้ว ต่อผู้ที่ไม่ไปชำระค่าปรับ (ซึ่งจะเป็นความชอบธรรมจริงหรือไม่นั้น ผมขอให้รออ่านจนจบก่อนนะครับ) ก็มีอาการเกร็งกันไปหมด พฤติกรรมทำนองนี้ทำให้ผมผิดหวังอย่างมาก เพราะมันบอกอะไรอย่างอื่นๆ อีกมากที่ล้วนเป็นด้านลบครับผมอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ทางด่วนเป็นประจำ จะมองว่าถูกสถานการณ์บังคับให้ใช้ ก็คงไม่ผิด แต่ถ้าให้บอกความเห็น ผมก็อยากจะบอกว่า ผมอยู่ในกลุ่มผู้ที่ชอบใช้ด้วย เพราะมันมีแต่ด้านดี เมื่อเทียบกับการที่ต้อง “คลาน” อยู่บนถนนปกติ และผมไม่ไช่พวกที่ด่ากราด เมื่อใดก็ตามที่ต้องจ่ายเงิน โดยไม่ดูความคุ้มหรือเหตุผลอื่นใดทั้งสิ้น ใครที่ต่อต้านการใช้ทางด่วนเพราะเสียดายเงินที่ต้องจ่าย ผมว่าคงเป็นเพราะมองเห็นแต่ด้านที่เสียไปชัดๆอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก็คือเงินที่หยิบส่งให้พนักงาน(ผู้ที่เข้าใจและเต็มใจมักใช้บัตรทางด่วน ซึ่งสะดวกกว่ามาก) และอาจจะยังนึกข้อดีไม่ออกก็ได้ ก่อนอื่นใดคือค่าเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการคำนวณ ผมขอใช้ตัวเลขอย่างหยาบแต่ใกล้เคียงความจริง คือให้ถือว่าการใช้ทางด่วน ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ครึ่งหนึ่ง เช่นถ้าต้องใช้เมื่อขับบนถนน “ข้างล่าง” ราวๆ 2 ลิตร ก็จะลดลงเหลือลิตรเดียว เราก็จะประหยัดเชื้อเพลิงได้ราว 30 บาทแล้ว แล้วส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกราว 20 บาท ล่ะ ง่ายมากครับ มันคือค่าประหยัดเวลา ค่าประหยัดแรงงานในการเบรค เลี้ยว ใส่เกียร์ ปลดเกียร์ ค่าประสาทเสียและความเครียด ในการที่ต้องขอทางเพื่อเปลี่ยนลู่ แล้วเจอพวกเห็นแก่ตัวมันกันท่าทุกวิถีทาง หรือในทางกลับกัน ต้องต่อสู้กับพวกสันดานเอาเปรียบ ที่มาเบียดแทรกเข้าเพราะถือว่าเราต้องกลัวการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ามัน คุ้มยิ่งกว่าคุ้มครับกับการใช้เงินราวๆ 20 บาทแลกมา และถ้าเป็นการใช้ในระยะทางไกลกว่าในตัวอย่าง ก็จะไม่ต้องแลกด้วยเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะค่าเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้ ก็แทบจะไม่ต่างจากค่าใช้ทางด่วนเลย ถ้าใกล้กว่าในตัวอย่าง ประเมินค่าเสียเวลากับค่าประสาทเสียในการ “ต่อสู้” เพิ่มอีกสัก 10 บาท ก็ยังคุ้มอยู่ดี ออกนอกเรื่องไปหน่อยครับ เพราะผมอยากอธิบายเรื่องความคุ้มในการใช้ทางด่วนนี้มานานแล้ว ตามที่กล่าวมาแล้ว ผมใช้ทางด่วนเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุดก็ตาม และเส้นทางที่ใช้บ่อยที่สุดคือทางด่วน “เอกมัย-รามอินทรา” ที่ขอเรียกตามชื่อดั้งเดิม จะได้ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาชื่ออย่างเป็นทางการนะครับ หลังจากที่มีการปล่อยข่าวข่มขู่ผู้ใช้ทางด่วน และทางหลวงสายหลักระหว่างจังหวัดออกมา ว่าต่อไปนี้ “พวกคุณไม่รอดแน่ ถ้าคุณติดค้างค่าปรับ จะไม่สามารถต่อทะเบียนรถประจำปีได้” ภาพที่ผมคุ้นตาบนทางด่วนสายนี้และสายอื่นๆ ด้วย ได้อันตรธานไปหมดแล้ว สิ่งที่ผมต้องทนดูทุกวันนี้ก็คือ รถที่แล่นด้วยความเร็วเท่ากันทั้งสามลู่ ซ้าย กลาง และขวา ที่แย่ไปกว่านี้และทำให้ผมหงุดหงิด และทำให้ผู้อื่นที่ร่วมใช้ทางด่วนนี้ด้วย ต้องเดือดร้อนกันหมดก็คือ รถในทั้งสามลู่นี้ใช้ความเร็วกันแค่ประมาณ 70 กว่าเท่านั้นโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งๆ ที่กฎหมายอนุญาตให้ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม. ไม่ต้องเสียเวลาหาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครับ เพราะเห็นได้ชัดเจนว่ามันคือความกลัวจะต้องเสียเงินค่าปรับ หลังจากได้ฟังหรือได้อ่านคำข่มขู่กันมา ผมไม่ขัดข้องอะไรนะครับ ถ้าผู้ขับรถคนไหนจะมีอาการ “ปอดแหก”ระดับนี้(จากประสพการณ์กว่า 30 ปีของผม สมาชิกและผู้อ่านประจำของนิตยสารเรา ไม่อยู่ในกลุ่มที่ว่านี้ เอาเป็นว่าผมฝากไปเผยแพร่ต่อนะครับ) แค่ขอให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องเท่านั้นเอง ซึ่งก็คือการใช้ลู่ซ้าย เพราะใช้ความเร็วต่ำกว่าค่าสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต คำถามที่ตามมาในใจของเราทันทีก็คือ แล้วอีก 2 ลู่ที่เหลือ มันมีไว้สำหรับผู้ขับประเภทไหน ลู่กลางคือลู่สำหรับผู้ที่เข้าใจและรู้ประโยชน์ที่แท้จริงของทางด่วน แต่ไม่ต้องการฝ่าฝืนกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น คำถามที่สองที่ตามมาทันทีก็คือ ความเร็วที่ผู้ขับที่รักความถูกต้อง (แต่ไม่ใช่พวก “หัวสี่เหลี่ยม” ) ควรเลือกนั้น มีค่าเท่าไร ต้องใช้เหตุผลและข้อมูลหลายด้านในการเลือกค่านี้ครับ เริ่มต้นกันที่ด้านเทคนิค ผู้ผลิตรถทุกรายมีกฎเกณฑ์เหมือนกันหมดในเรื่องนี้ครับ ซึ่งก็คือการกำหนดให้มาตรบอกความเร็วของรถทุกคัน ให้ค่าที่มากกว่าค่าจริงไว้เสมอ เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องฝ่าฝืนกฎหมายจำกัดความเร็วโดยไม่ได้เจตนา เช่นมาตรวัดของรถบอกความเร็ว 100 กม.ต่อชั่วโมงพอดี ความเร็วจริงของรถอาจจะแค่ 94 ถึง 95 เท่านั้น นี่คือมุมมองในฝ่ายผู้ขับนะครับ มามองกันจากมุมของผู้รักษากฎหมายจราจรบ้าง ก่อนอื่นเลย การกำหนดโทษและเงื่อนไขในการลงโทษนั้น เจตนาหลักคือการป้องปราม ให้ผู้ใช้รถยำเกรงต่อโทษและไม่ฝ่าฝืน ไม่ใช่การฉวยโอกาสหารายได้(ส่วนแบ่งจากค่าปรับ)จากความผิดพลาดหรือพลั้งเผลอของประชาชนผู้ใช้รถ ตามมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลกนั้น จะผ่อนปรนค่านี้ให้เกินได้ไม่น้อยกว่า 10 กม.ต่อชม. หมายความว่าบนถนนที่จำกัดความเร็วสูงสุดตามกฎหมายไว้ที่ 90 กม.ต่อชม. รถที่ใช้ความเร็วเกิน 100 กม.ต่อชม. จึง สมควรถือว่าละเมิดกฎหมาย แต่ในเมื่อไม่มีเครื่องมือวัดใดในโลกนี้ที่ปราศจากความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาด ฝ่ายผู้รักษากฎหมายจะต้องคำนึงถึงปัญหานี้โดยไม่มีข้อยกเว้น และความผิดพลาดนี้มีโอกาสสูง ที่จะเกินร้อยละ 5 ครับ หมายความว่าผู้รักษากฎหมายไม่สมควรมีสิทธิอ้างว่า ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้ละเมิดกฎหมาย ด้วยการใช้ความเร็วเกินกว่า 105 กม.ต่อชม. บทสรุปก็คือ ผู้ใช้รถอย่างพวกเราย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรม ในการใช้ความเร็วตามมาตรวัดของรถที่ขับอยู่ ได้เกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดได้ แต่ต้องไม่มากกว่า 15 กม.ต่อชม.โดยประมาณ และฝ่ายผู้รักษากฎหมายจะต้องตั้งเกณฑ์ความเร็วและตั้งเครื่องมือวัด ที่ถือว่าเข้าขั้นละเมิดกฎหมาย ไว้สูงกว่าค่าที่ห้าม ไม่น้อยกว่า 20 กม.ต่อชม. ซึ่งก็คือ 110 กม.ต่อชม. หรือเกินกว่านี้อีกสัก 5 ก็จะยิ่งดี ไม่มีอะไรเสียหายนะครับ ถ้าหากว่าใจบริสุทธิ์ ไม่ได้อยากจะ “ปล้น” ประชาชน มาดูข้อต่อไปของฝ่ายพวกเราผู้ใช้รถ อ่านช้าๆ นะครับแล้วถึงจะเข้าใจ เพราะพวกเราถูกล้างสมองกันมานาน ว่าทุกการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้น เป็นความผิดจริงๆ หรือไม่ก็อาจถึงขั้นเชื่อว่าเป็นความเลวเสียอีกด้วย ไม่จริงเลย อย่าหลงประเด็นครับ กฎหมายหลายข้อทั่วโลก ถูกกำหนดโดยคนที่ไม่ได้มีความหวังดีใดๆ ทั้งสิ้น หลายข้อมีวาระซ่อนเร้น การมีความรู้รอบตัวให้มากพอ การมีทัศนคติที่ดี จะช่วยให้เรามีวิจารณญาณ ไม่ถูกคนชั่วหลอกหรือบิดเบือนให้เห็นผิดเป็นชอบ หรือไม่ก็เห็นชอบเป็นผิด ดูง่ายๆจากเรื่องการจำกัดความเร็ว ผมขอยกตัวอย่างผู้ใช้รถมาแค่ 2 คนก็พอ นาย ก ซึ่งภูมิใจในการเป็นคนเถรตรง แล้วยังมีความ “ปอดแหก” เป็นนิสัยประจำตัว จึงขับรถบนทางด่วนซึ่งจำกัดความเร็วไว้ที่ 90 กม.ต่อชม. โดยเลือกใช้ความเร็ว 70 กม.ต่อชม. ตามมาตรวัดของรถ เอาเป็นว่าเลือกใช้ลู่กลาง ยังไม่เลวถึงขั้นมาขวางทางอยู่ในลู่ขวาสุดครับ ส่วนนาย ข เป็นคนดีคนหนึ่ง มีนัดที่ไม่อยากไปถึงผิดเวลา จึงใช้ความเร็วประมาณ 115 ถึง 120 กม.ชม. นาย ข เป็นคนเลวไหมครับที่เจตนาละเมิดกฎหมายโดยไม่ได้พลั้งเผลอ ไม่เลยครับ เพราะในทางเทคนิคแล้ว การขับบนถนนนี้ที่ความเร็วเกือบ 120 ไม่ได้เสี่ยงอันตรายใดๆ ทั้งสิ้นครับ ฝีมือขับก็ดี ไม่มีความประมาท รถรุ่นใหม่เพียบพร้อมทุกระบบที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ส่วนนาย ก เถรตรง แต่ชุ่ยและประมาท นอกจากจะเกะกะขวางทางแล้วยังก้มหน้าส่งข้อความหรืออ่านด้วย สลับกันไปตลอดทาง ใครผิดหรือเลวกว่ากันครับ คนเฮงซวยพวกนี้ละครับ ที่ทำให้เครือข่ายทางด่วนที่สร้างด้วยเงินเป็นแสนล้าน หมดคุณค่าและหมดความคุ้มค่าไปด้วย มาถึงเรื่องที่กลัวกันหนักหนา ถึงขั้นพร้อมใจกันคลาน 70 กว่าทั้งสามลู่ ขวางทางจนเดือดร้อนคนที่คิดเป็น และอยากใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับทางที่ลงทุนสร้างกันมา และไม่ผิดกฎหมายด้วย ซึ่งก็คือการหลงเชื่อต่อคำขู่ซึ่งมิได้มี อะไรรองรับแม้แต่น้อย ผมจะไม่ทำนายว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่จะลองคิดแบบอิงตรรกะ ว่าน่าเชื่อหรือไม่ ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ 1. ถ้าผมเป็นผู้บริหารระดับสูงของกรมการขนส่งทางบก ย่อมหมายความว่าผมเป็นข้าราชการที่ทำงานมาด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนก้าวหน้ามาได้ถึงระดับนี้ ผมย่อมสำนึกอยู่ตลอดเวลา ว่าเงินเดือนของผมมาจากภาษีที่ประชาชนจ่ายให้รัฐ งานของผมคือการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ในเรื่องความถูกต้องของการครอบครองรถ และด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่มีหน้าที่ขัดขวางการต่อทะเบียนของเจ้าของรถ ตามรายชื่อที่มีใครก็ตามส่งมาให้หน่วยงานของผม ว่าเจ้าของรถเหล่านี้ยังเป็นหนี้เขาอยู่เป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ ทั้งๆ ที่ผมและเจ้าหน้าที่ของผม ก็ตรวจสอบไม่ได้เลย ว่าจริงหรือไม่ และถ้าจริง หนี้ดังกล่าวนี้มันเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมาโดยความชอบธรรมหรือไม่ ผมต้องการทำงานสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้ยานพาหนะ ให้พวกเขาพอใจและชื่นชม มองพวกผมด้วยความเป็นมิตร ผมไม่ใช่ “เบ๊” รับใช้ ผู้ที่จะมายืมมือผมให้ล้วงเงินจากกระเป๋าของประชาชน แล้วใส่พานไปให้ โดยที่ผมไม่ได้อะไรเลย นอกจากความเกลียดชัง และหากจะมีการแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ของผม ก็ย่อมผิดกฎหมาย และอาจจะเข้าข่ายคอรัปชันอีกด้วย อีกเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องตลกแต่ขำไม่ออก ก็คือตัวผมและเจ้าหน้าที่ทั้งกรมการขนส่งทางบก ก็ไม่ได้ถูกยกเว้น ต่อการถูกปรับเงินโทษฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พวกผมทั้งกรมฯคงต้องบังคับและเอาเรื่องตัวเอง ให้จ่ายค่าปรับ จึงจะยอมต่อทะเบียนให้ คงสนุกพอๆกับการเขกหัวตัวเองเล่น และถ้าผมเป็นผู้บริหารของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผมจะถือว่าผู้ใช้ทางด่วนทุกคน คือลูกค้าที่ดีของหน่วยงานที่ผมบริหาร เป็นหน้าที่ของผมโดยตรง ที่จะให้ผู้ใช้รถได้รับความรู้สึกที่ดี ประทับใจ(ซึ่งผมเองเห็นได้ชัดเจน จากความสุภาพของพนักงานรับเงินเกือบทุกคน รวมทั้งพนักงานที่ต้องวิสาสะกับประชาชนของทุกด่านด้วย จึงขอชมเชยมา ณ ที่นี้ด้วย) ผมจะออกกฎและกำชับผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ดูแลบรรยากาศของทุกด่าน ไม่ให้มีผีเปรต อสูรร้ายจากที่ไหน มารังควานผู้ใช้ทางด่วนในความดูแลของผม ให้ต้องเสียเงินค่าปรับ ที่ตรวจสอบไม่ได้ว่ามีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ด้วยการแอบอ้างแค่ “เครื่องวัดของเรา มันให้ตัวเลขขึ้นมา ว่าคุณขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาต” เพราะฉะนั้น ช่วยตะเพิดไปให้พ้นทุกด่านด้วยครับ ก่อนจบผมขอให้ปรับความคิดกันใหม่ อย่าไปกลัวครับ ไม่มีใครหรือวัฒนธรรมไหนบนโลกนี้ ที่ยกย่องคนขี้ขลาด พวกเราเสียเงินกับสิ่งที่ถูกใจแต่ไร้สาระกันมาทั้งนั้น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปกติ ผมเห็นกินดื่มกันแบบล้างผลาญกันได้หน้าตาเฉย แต่พอขับรถ ที่เสี่ยงต่อการถูกปรับแค่ไม่กี่ร้อยบาท กลับกลัวหัวหด คลานเท่ากันทั้ง 3 ลู่ เดือนร้อนกันไปหมด กล้าเข้าไว้ครับ และรอดูให้มันรู้ไป ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และใครมันจะมาล้วงเอาเงินเราไปได้สักแค่ไหน และด้วยวิธีใด เนื้อเรื่องของคอลัมน์ “รอบรู้เรื่องรถ” ทุกตอน ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะครับ หากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ใช้รถทั่วไป โดยเฉพาะชมรมผู้ใช้รถทั้งหลาย รวมทั้งสื่อสังคมต่างๆ ที่มิได้ใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปเผยแพร่ได้ ขอเพียงให้เครดิทต่อนิตยสาร “ฟอร์มูลา” และผู้เขียนเท่านั้นเองครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ