พิเศษ
โตโยตา โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ส่งหมายเชิญให้เราร่วมเดินทางในทริพสุดพิเศษ ชมรถต้นแบบรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีสุดล้ำอนาคต ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019 (TOKYO MOTOR SHOW 2019)แนวคิดประจำปีครั้งนี้ คือ OPEN FUTURE สื่อถึงขอบข่าย และความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปี 2020 กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิค มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ "โตเกียว 2020" ดังนั้นเราจะเห็นบรรยากาศการเตรียมความพร้อมของงานใหญ่ระดับโลก แพร่กระจายไปทุกพื้นที่ของกรุงโตเกียว ไม่เว้นแม้แต่ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว เช่นกัน สำหรับงานโตเกียว 2020 โตโยตา มอเตอร์ คอร์พอเรชัน ยังสวมบทบาทเป็นผู้สนับสนุนด้วย และแน่นอนว่า ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019 โตโยตา ได้เตรียมไฮไลท์เด็ดๆ มารอต้อนรับกองทัพนักข่าวจากทั่วโลก ชนิดที่ว่ามีของดีมาอวดโฉมละลานตาจริงๆ สถานที่จัดงานในครั้งนี้ ใช้พื้นที่ในอาริอาเกะ เขตโอไดบะ โดยยึดโตเกียว บิกไซจ์ท์เป็นสถานที่จัดงานเพียงครึ่งเดียว ใช้ฮอลล์ฝั่งตะวันตก และใต้ (ฝั่งตะวันออก และเหนือ ปิดปรับปรุงพื้นที่ เพื่อรองรับงานโตเกียว 2020) เป็นสถานที่จัดแสดง และเป็นครั้งแรกที่ผู้จัดงานขยายอาณาเขตพื้นที่การจัดงาน ไปสู่โซนอาโอมิ และเมกาเวบ (MEGA WEB) นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่จัดงานโซนใหม่ OPEN ROAD ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอาริอาเกะ และอาโอมิ เพื่อสร้างธีมพาร์คด้านยานยนต์ วันแรก เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ พโรแกรมวันนี้เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ผสานกับปรัชญาของชาวญี่ปุ่น โดย โตโยตา วางแนวคิด MOBILITY FOR ALL เพื่อต่อยอดจากผู้ผลิตรถยนต์ โดยต้องการเปิดกว้างด้านเทคโนโลยีสู่มหาชน เราได้ชมการแสดงวิสัยทัศน์ และแนวคิดต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของ โตโยตา ซึ่งแน่นอนว่า ก้าวต่อจากนี้ โตโยตา จะมุ่งเน้นรถพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ที่จะถูกพัฒนาปรับปรุงจากรถต้นแบบสู่รถที่ผลิตเพื่อจำหน่ายจริง และความพิเศษของการจัดโชว์ ในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019 ครั้งนี้ ภายในบูธของ โตโยตา และเลกซัส จะไม่เน้นการพรีเซนท์ หรืออธิบายรายละเอียดของตัวรถมากนัก แต่จะเน้นการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยียานยนต์ยุคใหม่ ผ่านการจัดแสดงในพาวิเลียน นอกจากนี้ ยังมีการทดลองขับ โตโยตา ไอ-โรด (I-ROAD), ไอ-วอลคิง (I-WALKING), ทดลองนั่งรถดริฟท์ โตโยตา ซูปรา จีอาร์ (SUPRA GR) และ 86 จีอาร์ (86 GR) พร้อมกันนี้ ยังมีการสาธิตรถบัสไฟฟ้า รุ่น โซรา (SORA) ที่มีระบบเข้าจอดเทียบชานชาลาแบบอัตโนมัติ โดยจอดเทียบห่างไม่เกิน 15 มม. และชมการสาธิตรถต้นแบบ เอพีเอม (APM) ที่จะถูกนำมาใช้เป็นยานพาหนะอเนกประสงค์ สำหรับขนส่งนักกีฬาที่บาดเจ็บจากการแข่งขันในงานโตเกียว 2020 วันที่ 2 ชมงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว 2019 วันนี้ คณะเราตื่นตาตื่นใจกับการเดินชมงานแสดงยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ ติดอันดับต้นๆ ของโลก "มหกรรมยานยนต์โตเกียว" ปีนี้บรรยากาศในงานจะมีกลิ่นอายของโอลิมปิค 2020 ผสมผสานอยู่ โดยเฉพาะพาวิลเลียนของ โตโยตา จัดยิ่งใหญ่สมกับเป็นผู้สนับสนุนงานโตเกียว 2020 บูธ โตโยตา ในงานปีนี้ วางแนวคิด PLAY THE FUTURE ปีนี้ไม่เน้นพโรดัคชันคาร์ แต่เน้นรถต้นแบบไฟฟ้า รุ่นต่างๆ อาทิ โตโยตา มิราอิ ทู (MIRAI II) เป็นรถพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสุดล้ำสมัย ที่มีอัตราการปล่อยไอเสีย 0 % โดย โตโยตา จัดแสดง มิราอิ ในโซนจัดแสดง FUTURE EXPO บริเวณเมกาเวบ โตโยตา แนะนำ มิราอิ รุ่นแรก เมื่อปี 2557 มียอดจำหน่ายสะสมกว่า 10,000 คันทั่วโลก สำหรับ มิราอิ เจเนอเรชันที่ 2 จะถูกผลิต และจำหน่ายภายในปี 2563 โดยเริ่มจากในประเทศญี่ปุ่น ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปยุโรป ผู้บริหารของ โตโยตา บอกกับเราว่า รถรุ่นนี้จะเป็นมากกว่ารถที่ประหยัดพลังงาน และรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่จะเป็นรถยุคใหม่ของยานยนต์พลังงานไฮโดรเจน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง และยังมีถังเก็บพลังงานไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ทำให้เดินทางได้ไกลขึ้นจากเดิม ประมาณ 30 % โตโยตา อี-พาเลทท์ (E-PALETTE) เป็นรถไฟฟ้าแบทเตอรี ขับเคลื่อนอัตโนมัติ แบบไร้คนขับ รถรุ่นนี้ โตโยตา ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่องานโตเกียว 2020 โดยกำหนดให้วิ่งอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิคเท่านั้น โตโยตา อี-พาเลทท์ ถูกแนะนำครั้งแรกในปี 2561 เป็นรถแบทเตอรีไฟฟ้าคันแรกของ โตโยตา ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการขับขี่อัตโนมัติ และต่อยอดพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในการสัญจรขนส่งนักกีฬาเป็นหมู่คณะ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 20 คน มีการติดตั้งประตูขนาดใหญ่ ทางลาดระบบไฟฟ้า ที่ช่วยให้การขึ้น/ลงสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับนักกีฬาพาราลิมปิค และที่สำคัญรถรุ่นนี้ ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ที่ความเร็วไม่เกิน 20 กม./ชม. และมีเจ้าหน้าที่ประจำรถ คอยดูแลด้านความปลอดภัย อี-พาเลทท์ ขับเคลื่อนด้วยระบบขับขี่อัตโนมัติ ระดับ SAE 4 มีการผสานการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์ แผงควบคุม ซอฟท์แวร์ และเซนเซอร์ล้ำสมัย เช่น กล้อง และเซนเซอร์วัดแสงเทคโนโลยี ไลดาร์ (LIDAR) ทำงานร่วมกับแผนที่ 3 มิติ และเพื่อความปลอดภัย อี-พาเลทท์ มีหน้าจอแสดงผลเพื่อแสดงการทำงาน และการควบคุมระบบปฏิบัติการต่างๆ ช่วยสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวรถ รวมถึงคนเดินเท้า ขณะที่รถเคลื่อนที่ ไฟหน้า/หลังของตัวรถ จะเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ด้วยการสื่อสารทางสายตา เพื่อแจ้งเตือนให้คนเดินเท้าทราบว่าตัวรถกำลังเคลื่อนที่อยู่ นอกจากนี้ อี-พาเลทท์ ยังสามารถวิ่งได้ไกลถึง 250 กม./การชาร์จไฟ 1 ครั้ง โตโยตา แอลคิว (LQ) เป็นรถแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก โตโยตา คอนเซพท์-ไอ (CONCEPT-I) ที่เคยแนะนำไปแล้วในงาน CES 2017 รถต้นแบบ แอลคิว เป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระดับ SAE 4 ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ "YUI" มีความสามารถในการโต้ตอบ ซึ่งออกแบบให้เรียนรู้ และสร้างรูปแบบการขับขี่เฉพาะบุคคล มีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น มีระบบค้นหา และจอดรถอัตโนมัติ, ระบบ HEAD UP DISPLAY แบบเสมือนจริง, ที่นั่งพร้อมระบบเตือนเพื่อความปลอดภัยและระบบผ่อนคลาย (ครั้งแรกของโลก), เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ (YUI), เทคโนโลยีหน้าจอออร์แกนิค แอลอีดี, ระบบกรองอากาศ เป็นต้น โตโยตา แอลคิว สามารถวิ่งได้ไกลถึง 300 กม./การชาร์จไฟฟ้าเพียงครั้งเดียว รองรับผู้โดยสารได้ 4 คน นอกเหนือจากรถต้นแบบ ที่เป็นไฮไลท์เด็ดแล้ว ยังมีโซนจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะในเมกาเวบ ที่อัดแน่นด้วยกิจกรรมมากมาย เช่น โซน อี-มอเตอร์สปอร์ท และอื่นๆ วันที่ 3 เยือน TRI-AD ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระดับโลก วันนี้เรามีโอกาสได้มาเยือนศูนย์ R & D TRI-AD (TOYOTA RESEARCH INSTITUTE-ADVANCE DEVELOPMENT) ศูนย์วิจัย และออกแบบแห่งนี้ ใช้เงินลงทุนกว่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีพนักงานประจำการกว่า 1,200 คน เป็นการร่วมมือกับ DENSO และ AISIN สถานที่แห่งนี้อุดมไปด้วยคนชั้นหัวกะทิในหลากหลายสาขา วันนี้เราได้ดูความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ที่จะถูกนำมาช่วยงานต่างๆ ให้กับมนุษย์ และจะมีการนำหุ่นยนต์เหล่านี้ไปช่วยเหลือกรรมการ, เจ้าหน้าที่ต่างๆ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค โตเกียว 2020 ช่วงบ่าย พาไปชมสำนักงานโอลิมปิค กรุงโตเกียว ดูความพร้อมของการเตรียมงานการแข่งขัน และชมสนามกีฬาแห่งชาติ ที่จะใช้เป็นสถานที่เปิดงานโตเกียว 2020 ขอขอบคุณ : บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เชิญไปชมเทคโนโลยีล้ำอนาคต
ABOUT THE AUTHOR
แ
แอลเอนนิวส์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)