รอบรู้เรื่องรถ
สายพานยุคใหม่ ยิ่งทนทานก็ยิ่ง ”หวิว”
ผมตั้งใจไว้ว่าจะลงเรื่องนี้ให้ทันก่อนที่จะถึงเทศกาลฉลองปีใหม่ บังเอิญมีเหตุขัดข้องบางประการ จึงล่าไปหนึ่งเดือน แต่ไม่ได้มีอะไรสูญเสียเลยนะครับ เพราะเทศกาลสงกรานต์กำลังจ่อคิวรออยู่ ใครที่เกิดเป็นคนไทย และมีอาชีพที่รับเงินเดือนแลกกับการทำงาน ถือว่ามีความโชคดีกันถ้วนหน้าโดย “อัตโนมัติ” เพราะมีผู้บริหารประเทศที่ใจกว้างดั่งมหาสมุทร หาช่องทางแถมวันหยุดให้เปล่าๆ เสมอ ขอเพียงให้มีใครช่วยคิดหาข้ออ้างที่จะพอ “ถูไถ” ไปได้มาให้เท่านั้น เพราะเหตุผลที่เหมาะสม สมควรแก่การ “แถมวันหยุด” เช่นที่เราเห็นกันมาหลายปีแล้วนั้น มันมิได้มีอยู่เลยผมเอ่ยถึงเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกที่เป็นกลางจริงๆ ผสมกับความรู้สึกที่เห็นแก่ประโยชน์ของชาติเป็นหลักครับ ซึ่งน่าจะพอเชื่อถือกันได้ เพราะผมไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ อยู่ในใจเลย เคยทำงานมาเกือบครบทุกหมู่แล้ว เป็นทั้งลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งทำงานให้กับกิจการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าอยู่ในประเภทที่ได้เปรียบเสมอ คือใครจะได้วันหยุด ได้สวัสดิการ เงินตอบแทนในรูปแบบใด (อาจจะยกเว้นบำนาญ) จะต้องได้ร่วมกับเขาด้วยเสมอ และยังแถมด้วยสิทธิประโยชน์ที่ผู้สังกัดหน่วยงาน อื่นๆ ไม่ได้รับอีกด้วย แน่นอนอยู่แล้วครับที่จะต้องมีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ การแถมวันหยุดพร่ำเพรื่อ หรือกล่าวให้ตรงจุดก็คือ ย่อมมีทั้งผู้ได้และผู้สูญเสีย ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน หรือข้าราชการ ย่อมปลาบปลื้ม นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ ก็เช่นเดียวกัน ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก แต่ผมขอละเว้นไว้เพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่ ส่วนฝ่ายผู้สูญเสียก็คือ เจ้าของโรงงานผลิต เจ้าของธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม ส่วนรายใหญ่ที่รวยหนักนั้นไม่ต้องเอ่ยถึงครับ เพราะไม่ได้มีผลกระทบอะไรนัก ที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้ผมไม่ได้ต่อต้าน หรือหาเรื่องจับผิดใครทั้งสิ้น เช่น กรณีเพิ่มวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โดยประกาศเพิ่มวันอังคารที่ 30 ให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญของทุกคน และเพิ่มขึ้นมาเพียงวันเดียว ทำให้ได้วันหยุดต่อเนื่องจาก 3 เป็น 5 วัน เหมาะสมแล้วครับ แต่ถ้าเป็นโอกาสอื่น (อาจจะต้องยกเว้นเทศกาลสงกรานต์) ไม่ต้องพิจารณาเลยครับ เพราะหาเหตุผลที่ดีมารองรับไม่ได้ มันกลายเป็นความเคยตัวที่มาจากความขี้เกียจเป็นพื้นฐาน คนไทยยุคนี้จึงคอยดูปฏิทินกันล่วงหน้า ว่ามีช่วงวันหยุดพิเศษในเดือนไหนบ้าง ที่มีวันทำงานอยู่ตรงกลางไม่กี่วัน รู้จักกันในนาม ”ฟันหลอ” ก็จะหวังและหาวิธีส่งสัญญาณเรียกร้องถึงรัฐบาล เลิกวิธีตามใจแบบไร้เหตุผลได้แล้วครับ และถ้าไม่เข้าข่ายที่จะหวังได้ ก็จะเปลี่ยนเป็นการลาหยุดเองอย่างเห็นแก่ตัวที่สุด ไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหาย หรือความเดือดร้อนของนายจ้างใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็คือการลาแทรกตรงกลาง เช่น วันจันทร์ และอังคารเป็นวันหยุด ซึ่งรวมกับเสาร์และอาทิตย์ได้ 4 วันก็เพียงพอแล้ว แต่กลับลาหยุดวันพุธถึงศุกร์แทรกเพิ่มเข้าไปอีก ด้วยความรู้สึกว่าเป็นความคิดอันชาญฉลาด (ที่จริงพวกหมา ลิง และนกบางพันธุ์มันก็คิดได้) โดยไม่นึกถึงความเดือดร้อน หรือความสูญเสียของนายจ้างแต่อย่างใดทั้งสิ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เขามีกฎง่ายๆ เอาไว้ป้องกันลูกจ้างเห็นแก่ตัวเหล่านี้ครับ ถ้าลาแทรกกลางจนทำให้กลายเป็นวันหยุดต่อเนื่องกัน เขาจะนับรวมให้วันหยุดหัวและท้ายเป็นวันลาของผู้นั้นทั้งหมด เช่น จากตัวอย่างที่ผมยกมาข้างบนนี้ ใครฉวยโอกาสลาแทรกวันพุธถึงวันศุกร์ โดยไม่ใส่ใจว่าการหยุดทำงาน 9 วันอย่างต่อเนื่องของตนนั้น มันจะทำให้เกิดความสูญเสียของฝ่ายนายจ้างเพียงใด ก็จะถูกนับวันที่หยุดงานทั้ง 9 วัน เป็นวันลาของผู้นั้น ถ้ามีเหลืออยู่แค่ 7 วันในปีนั้น ส่วนต่างอีก 2 วันก็จะถูกนับเป็นวันที่ขาดงานของผู้นั้นไป แต่ถ้าลาเพิ่มเติมเฉพาะช่วงก่อน หรือหลังวันหยุดที่เป็นทางการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไร ไม่ถือว่าเอาเปรียบนายจ้างครับ กลับมาเข้าเรื่องเทคนิคกันต่อครับ สมัยที่ผมยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งก็คือประมาณ 50 กว่าปีก่อน ภาพรถที่จอดเสียอยู่ข้างทางนั้น ถือกันว่าเป็นเรื่องปกติอย่างมาก มันเป็นเสมือนเหตุการณ์ที่ทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนต้องประสบ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เท่าที่พอจำสาเหตุได้ก็ประมาณนี้ครับ น้ำมันหมด เพราะสมัยนั้นมาตรวัดยังไม่ค่อยมีความเที่ยงตรงพอ หรือน้ำหล่อเย็นเดือดเพราะลืมเติม ยุคนั้นยังไม่มีฝาหม้อน้ำแบบควบคุมความดัน น้ำจึงเดือดและระเหยได้ง่าย หรือท่อน้ำชำรุดฉีกขาด และน้ำเดือดเพราะเหลือปริมาณน้ำในเครื่องยนต์น้อยเกินไป หรือสายพานขาดกลางทาง เพราะยุคนั้นคุณภาพและอายุใช้งานของสายพานยังต่ำมาก ผสมกับวิธีบำรุงรักษารถกันแบบไม่มีแบบแผนตายตัว คือเป็นประเภทเสียเมื่อไรจึงจะซ่อม ไม่มีการนำรถเข้าตรวจสภาพตามกำหนดของผู้ผลิต สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว จากการพัฒนาชิ้นส่วนจนมีอายุใช้งานสูงกว่ายุคนั้นมาก บางอย่างเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 เท่า จำนวนรถที่เกิดปัญหากลางทางระดับที่ขับต่อไม่ได้ ก็เลยลดลงอย่างมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดปัญหาเหล่านี้ไปแล้ว ยังไม่ถึงขนาดนั้นครับ ท่อน้ำ หรือสายพานที่ถูกใช้งานแบบ ”ลากยาว” จนเกินอายุใช้งานที่ผู้ผลิตเขากำหนดไว้ไปมากมาย ก็ยังทำให้เราเดือดร้อนได้ไม่ต่างจากยุคก่อน ที่จริงแล้วอาจจะหนักหนากว่าเสียด้วย จากปริมาณรถอันมากมายบนถนน โดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น ไม่มีคำว่าปราณีกันแล้วนะครับ ความเห็นใจของผู้ร่วมใช้ถนนเหมือนอย่างสมัยก่อนนั้น มันอันตรธานไปนานแล้ว นอกจากจะไม่ได้รับความเห็นใจ หรือการให้อภัยใดๆ แล้ว ยังอาจจะโดนก่นด่าเสียอีกด้วย สายพานที่ใช้กันในรถยนต์ของพวกเรา มีอยู่ 3 แบบครับ แบบแรก สายพานทรงตัววี หรือ V-BELTS ที่เราใช้กันมาราวๆ ร้อยปีจนคุ้นเคยกันดี แบบที่ 2 คือ สายพานทรงแบน ที่หลักการทำงานของมันเทียบเท่าการย่อส่วนสายพานทรงตัววีให้เล็กลงมาก แล้วเพิ่มจำนวนให้มันช่วยกันทำงาน ชื่อในภาษาอังกฤษมีหลายชื่อด้วยกันครับ เช่น MULTI-RIB BELTS, MULTIPLE V-RIBBED BELTS, POLY V-BELTS, POLY-V SERPENTINE BELTS ความแบนของมันช่วยให้เนื้อยางถูกอัด และถูกยืดตอนงอตัวน้อยกว่าสายพานทรงตัววี อายุใช้งานจึงสูงกว่าพอสมควร อย่างหยาบๆ โดยประะมาณก็ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า ส่วนแบบที่ 3 คือ สายพานที่ใช้ขับเพลาลูกเบี้ยว ช่างไทยชอบเรียกแบบทับศัพท์เพราะสั้นกว่า ว่าสายพานไทมิง หรือ TIMING BELTS เป็นสายพานทรงแบน แต่มีฟันที่ ”ท้อง” ป้องกันการลื่นไถล เพราะต้องใช้ความแม่นยำสูง และคงตำแหน่งเดิมตลอดเวลาในการควบคุมการทำงานของวาล์วทั้งไอดี และไอเสีย

ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ