รู้ลึกเรื่องรถ
รถแดดเดียว กินไม่ได้ แต่ใช้ดี
ช่วงหลังมานี่ เราแทบจะไม่ได้เห็นพัฒนาการของเครื่องยนต์สันดาปภายในกันอีกแล้ว เพราะเกือบทุกสำนักมองตรงกันว่า อนาคต คือ โลกของพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในเชิงกายภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คนในหลายด้าน สิ่งที่ยังชะลอการมาถึงของรถไฟฟ้าจึงมีอยู่หลายมิติตัวอย่างที่ชัดเจน คือ แม้การเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนยานพาหนะจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศและเสียง แต่ก็มีคนแย้งว่า พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งได้มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เราสามารถจำแนกโรงงานผลิตไฟฟ้าได้ 4 แบบ 1. โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการนำสารอินทรีย์ที่เหลือใช้ในการเกษตร เช่น ชานอ้อย แกลบ กากปาล์ม หรือเศษไม้ มาใช้ผลิตไฟฟ้า ข้อดี คือ ผลิตกระแสไฟได้อย่างต่อเนื่อง และได้ประโยชน์จากของเหลือใช้ แต่ข้อเสีย คือ ลงทุนสูง และสารอินทรีย์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีโอกาสขาดแคลน 2. โรงไฟฟ้าจากขยะ เป็นการนำขยะมาแปรรูปเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ขยะสามารถรับมาจากทั้งภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม ข้อดี คือ ช่วยลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปฝังกลบ แต่ข้อจำกัด คือ ต้องลงทุนสูง 3. โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันเทคโนโลยีถ่านหินได้พัฒนาจนมีความสะอาดมากขึ้น ข้อดี คือ เงินลงทุนต่ำแต่ได้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก กระแสไฟฟ้ามีความสม่ำเสมอ และมีเสถียรภาพ ส่วนข้อเสีย คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ทันสมัย สามารถก่อให้เกิดมลพิษ 4. โรงไฟฟ้าจากแกสธรรมชาติ เป็นพลัง งานที่ต้นทุนไม่สูงมากนัก และการเผาไหม้มีความสะอาดมากกว่าการใช้ถ่านหิน ข้อจำกัด คือ แกสไม่มีสี กลิ่น และจุดติดไฟได้ง่าย จำเป็นต้องมีกระบวนการขนส่ง และจัดเก็บแกสธรรมชาติที่ปลอดภัย จะเห็นได้ว่า หากทำอย่างถูกต้อง มลภาวะทางอากาศ และการปล่อยแกสคาร์บอนได ออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสามารถควบคุมได้ง่ายกว่า การเผาไหม้ “น้ำมัน” ในรถยนต์อย่างแน่นอน และจะยิ่งมีมลภาวะต่ำลงไปอีก ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติอย่าง น้ำ ลม หรือแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แบบ มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป โรงไฟฟ้าพลังน้ำจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และส่งผลต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ส่วนพลังลม ก็มีข้อจำกัดด้านสถานที่ และยังมีความไม่สม่ำเสมอในกำลังการผลิต ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์มาแรงเป็นอันดับต้นๆ ในยุคนี้ เพราะสะอาด และไม่มีต้นทุนพลังงาน จึงมีการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นทุกปี แต่ข้อจำกัดของมัน คือ ใช้พื้นที่มากและต้องลงทุนสูงกับแผงโซลาร์เซลล์ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากจะผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่เพียง 4-5 ชั่วโมง/วันเท่านั้น ยังมีโรงไฟฟ้าอีกประเภท คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ ซึ่งใช้ความร้อนจาก น้ำพุร้อน หรือ “แมกมา” (MAGMA) จากแกนโลก มาต้มน้ำให้เป็นไอน้ำ เพื่อนำไปปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ให้พลังงานสะอาด แต่มีข้อจำกัดเรื่องทำเลที่ตั้ง เนื่องจากต้องตั้งอยู่เฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพเอื้ออำนวยเท่านั้น สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ แม้จะมีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนพลังงานที่ต่ำมาก แต่ก็เปราะบางและอ่อนไหวต่อความผิดพลาด ซึ่งจะก่อความเสียหายในวงกว้าง เช่นที่ เชอร์โนบิล ในสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของประเทศยูเครน) และฟุกุชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น แม้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีส่วนจำกัดการเติบโตของรถไฟฟ้า แต่ก็มี “เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก” (และรายเล็กมาก) เกิดอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ มีทั้งขายไฟฟ้าให้กับ EGAT (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) และขายตรงให้ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง กลุ่มผู้ผลิตรายเล็กมากมักจะมีกำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ในโรงงานแปรรูปการเกษตร และขายให้ MEA (กฟน. หรือ การไฟฟ้านครหลวง) และ PEA (กฟภ. หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ข้อจำกัดอันดับต่อไป ได้แก่ พฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่ต้องปรับเปลี่ยน จากเดิมที่เราจะขับรถไปเรื่อยๆ จนน้ำมันใกล้หมด จึงจะเข้าปั๊ม แต่สำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้า วิธีคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตจะแตกต่างออกไป เพราะต้องกำหนดตารางเวลาชีวิตสำหรับภารกิจชาร์จไฟที่แน่นอน เช่น ชาร์จทุกวันเมื่อกลับถึงบ้าน เรื่องนี้คงจะไม่สร้างปัญหาอะไรหากคุณอยู่อาศัยในบ้านเดี่ยว แต่ถ้าคุณพักในอาคารชุดร่วมกันกับผู้อื่น เช่น ที่มีการใช้ที่จอดรถหมุนเวียนกัน รับรองว่าเป็นเรื่องแน่นอน นอกจากอาคารชุดนั้นจะตระเตรียมจุด หรือสถานีสำหรับชาร์จไฟไว้ทั่วทุกช่องจอด ซึ่งอาจจะเป็นไปได้สำหรับอาคารในยุคต่อไป แต่อาคารที่สร้างไปแล้ว การติดตั้งจุดจ่ายไฟเพิ่มทุกช่องจอดเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารที่พักระดับหรูที่ใช้ “ลิฟท์จอดรถ” ซึ่งสามารถส่งรถไปจอดในหลุมจอดได้โดยอัตโนมัติ แม้จะดูไฮเทค แต่ไม่เข้ากับยุครถพลังไฟฟ้าที่ต้องเสียบปลั๊กเลย แต่ขณะนี้อาคารที่พักอาศัยรุ่นใหม่ๆ ตื่นตัวติดตั้งจุดจ่ายไฟให้แก่บรรดาเจ้าของร่วม และผู้พักอาศัยกันมากขึ้น เช่น คอนโดที่ผู้เขียนพักอยู่เริ่มติดตั้งตู้ไฟสำหรับระบบรถไฟฟ้าให้เจ้าของร่วม ที่ใช้รถประเภท พลัก-อิน ไฮบริด และโชคดีว่า หลุมจอดของรถแต่คันนั้นลอคตำแหน่งตามกรรมสิทธิ์ของเจ้าของร่วม จึงไม่มีปัญหาแย่งจุดชาร์จไฟกัน แต่ข้อจำกัด คือ ไม่สามารถติดตั้งระบบชาร์จด่วนได้เหมือนกับบ้านเดี่ยว เลยได้แค่เพียง 230 โวลท์ ทำให้ใช้เวลาชาร์จนานมาก เราจะเห็นได้ว่า การผลิตพลังงาน และการเข้าถึงแหล่งพลังงานในที่สาธารณะ คือ สิ่งที่สังคมยังไม่พร้อมสำหรับกลับเข้าสู่ยุคของรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ แต่ปัจจุบันมีแนวความคิดใหม่เกิดขึ้นในยุโรป ซึ่งได้แก่ รถยนต์พลังไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง โดยไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเรียกว่า CARBON NEUTRAL โดยผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนตัวรถ การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนตัวถังรถนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการติดตั้งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานอุปกรณ์บางอย่างภายในรถ อาทิ เครื่องปรับอากาศในรถบ้าน หรือมอเตอร์โฮม เท่านั้น การติดตั้งแผงจำนวนมาก เพื่อให้รถนำพลังงานมาใช้ในการขับเคลื่อนยังมีแต่สำหรับแข่งขันเท่านั้น ผู้บุกเบิกเรื่องนี้มีด้วยกัน 2 ราย คือ บริษัท โซโน (SONO) จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ที่เปิดตัวด้วยรถต้นแบบ ไซออน (SION) และบริษัท ไลท์เยียร์ (LIGHTYEAR) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เปิดตัวด้วยรถแนวคิด ไลท์เยียร์ วัน (LIGHTYEAR ONE) โซโน พัฒนา ไซออน ขึ้นด้วยแนวคิดที่จะปฏิวัติรูปแบบการใช้รถยนต์ในชีวิตของคนรุ่นใหม่ ด้วยการระดมทุนผ่านระบบ คราวด์โซร์ซิง (CROWDSOURCING) กับคนรุ่นใหม่และนักลงทุนที่มีความคิดตรงกับพวกเขา กล่าวคือ พวกเขาจะพัฒนา รถยนต์ระบบปันขับ หรือ CAR SHARING ที่สามารถชาร์จไฟได้แบบเสียบปลั๊ก และยังสังเคราะห์พลังงานไฟฟ้าขึ้นได้เองเมื่อจอดกลางแดด การจอดกลางแดด 1 วัน สามารถวิ่งได้ไกลราว 34 กม. เพียงพอกับการใช้งานในเขตชุมชนแต่ละวัน โดยที่ไม่ต้องอาศัยพลังงานจากโรงงานผลิตไฟฟ้า แต่ถ้าต้องการเดินทางไกล ก็สามารถชาร์จไฟแบทเตอรีชนิด 400 โวลท์ ขนาด 35 กิโลวัตต์ชั่วโมง กับไฟบ้าน ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 120 กิโลวัตต์ ขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งจะวิ่งได้ไกลราว 250 กม. ทำความเร็วสูงสุดได้ 140 กม./ชม. นอกจากนั้นตัวรถยังติดตั้งระบบอินเวอร์เตอร์ (INVERTER) ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่เก็บไว้ในแบทเตอรีให้เป็นกระแส สลับ (AC) เพื่อใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน หรือขายไฟที่ได้จากโซลาร์เซลล์ให้ผู้ผลิตไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งชาร์จไฟให้กับรถไฟฟ้าคันอื่น ส่วนการชาร์จนั้นสามารถเลือกได้หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะชาร์จกับไฟบ้าน 230 โวลท์ ที่ใช้หัวปลั๊กแบบ ไทพ์ 2 เอซี 11 กิโลวัตต์ (TYPE 2 AC 11KW) ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จจาก 0-80 % ราว 5-6 ชั่วโมง หรือแบบ CCS สำหรับการชาร์จเร็ว 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้เวลาชาร์จจาก 0-80 % เพียง 30 นาที โซโน ไซออน เป็นรถทรงกล่องเดียว ขนาดกะทัดรัด ยาวเพียง 4.1 ม. ตัวรถรอบคันเป็นพื้นที่ของโซลาร์เซลล์ จำนวน 330 ชุด ติดอยู่บนหลังคา ฝากระโปรงหน้า/หลัง และแผงประตู โดยตัวรถพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ มีราคา 16,000 ยูโร (ประมาณ 640,000 บาท) ไม่รวมแบทเตอรีที่เจ้าของรถต้องเช่าใช้งาน พวกเขามีแผนจะผลิต โซโน ไซออน ในโรงงานเก่าของรถยนต์ ซาบ (SAAB) ที่เมืองทโรลล์ฮัททัน (TROLLHATTAN) ในประเทศสวีเดน โดยผู้ซื้อสามารถจะเลือกรถเป็นสีอะไรก็ได้ ตราบใดที่สีนั้นเป็นสีดำ (มุกเดียวกับของ ฟอร์ด โมเดล ที) สาเหตุ คือ ถ้าเลือกสีอื่น มันคงจะเด๋อน่าดูที่เห็นแผงโซลาร์เป็นแผ่นๆ ส่วนอีกบริษัท คือ ไลท์เยียร์ หรือ “ปีแสง” นั้น แม้จะเป็นรถไฟฟ้าที่เน้นว่าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองจากแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับ โซโน แต่รูปแบบและราคาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะขณะที่ โซโน นำเสนอความกะทัดรัด และสามารถใช้กับสังคมเมืองแบบปันขับได้ “ไลท์เยียร์ วัน” รถแนวคิดซีดานท้ายลาดทรงเพรียวลม กลับยาวกว่า 5 เมตร และถูกสร้างขึ้นมาอย่างพรีเมียมที่สุด ไลท์เยียร์ วัน พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ของการทำทีมแข่งรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ที่เคยแข่งวิ่งข้ามทวีปออสเตรเลียมาแล้ว โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นรถที่มีความลู่ลม ด้านบนของรถเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ของแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ตัวรถด้านบนเป็นสีดำจากแผงโซลาร์เซลล์ พื้นที่รวมของแผงมีมากถึง 5 ตารางเมตร ส่วนเรื่องความทนทานไม่ต้องเป็นห่วง เพราะโซลาร์เซลล์ถูกครอบทับด้วยกระจกทนแรงกระแทก ที่แข็งแรงจนคนสามารถขึ้นไปยืนได้โดยไม่แตก ไลท์เยียร์ วัน สร้างขึ้นบนโครงสร้างน้ำหนักเบาที่ทำจากอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ เพราะรู้ดีว่าศัตรูของรถไฟฟ้า คือ “น้ำหนัก” ส่วนระบบขับเคลื่อนจะลดการสูญเสียพลังงานในระบบขับเคลื่อนและเฟืองทดให้มากที่สุด ด้วยการใช้มอเตอร์ฝังในดุมล้อทั้ง 4 รถคันนี้หากชาร์จไฟด้วยแสงอาทิตย์ ในเวลา 1 ชม. จะวิ่งได้ราว 12 กม. ส่วนไฟบ้าน 230 โวลท์ (3.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง) จะวิ่งราว 35 กม. และหากชาร์จ 1 คืน จะวิ่งได้ราว 350 กม. และถ้าชาร์จด้วยเครื่องชาร์จสาธารณะ 22 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ชม. จะวิ่งได้ราว 209 กม. ยิ่งชาร์จกับเครื่องชาร์จเร็ว 60 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะวิ่งได้มากถึง 570 กม. ในเวลาเพียง 1 ชม. เท่านั้น แถมพวกเขายังเคลมว่า หากชาร์จไฟจนเต็มจะวิ่งได้ไกลถึง 725 กม. ! รถทั้ง 2 คันนี้อาจไม่สามารถแก้ทุกปัญหาเรื่องระยะเวลาชาร์จไฟ และการชาร์จไฟในอาคารที่พักอาศัยร่วมกัน อย่างอพาร์ทเมนท์ หรือคอนโดได้ 100 % แต่อย่างน้อย เราก็จะจอดรถกลางแจ้งได้อย่างสบายใจ จากเดิมที่เคยกลัวว่าสีจะซีด ต่อไปจะกลายเป็นจอดแล้วประหยัดไม่ต้องเสียบปลั๊ก เผลอๆ อาจแย่งกันจอดตากแดดจนที่จอดรถในร่มโล่งเลย ก็เป็นได้
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ