รู้ลึกเรื่องรถ
เทคโนโลยีจาก ฟอร์มูลา 1 แข่งไปแล้วได้อะไร ?
ในอดีตเรามักได้ยินคำโฆษณาในวงการยานยนต์อยู่เสมอว่า “พัฒนาจากเทคโนโลยีที่ใช้ในสนามแข่ง” ซึ่งปัจจุบันก็ซากันไปแล้วกับวลีนี้ อาจเป็นเพราะนักการตลาดพบว่า ผู้บริโภคไม่ได้ใส่ใจเรื่องเทคโนโลยีจากสนามแข่ง หรือไม่ก็รถรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีจากสนามแข่งสักเท่าไร ส่วนใหญ่กลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องมลภาวะ และความประหยัดมากกว่าความแรง แถมตลาดที่เติบโตก็เป็นกลุ่มรถ เอสยูวี ซึ่งดูห่างไกลเทคโนโลยีจากสนามแข่งรถรถรุ่นที่สร้างชื่อเสียงการนำเทคโนโลยีจากสนามแข่งรถสูตร 1 มาใช้ เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็น บีเอมดับเบิลยู เอม 5 และเอม 6 รหัสตัวถัง E60/61 และ E63/64 ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 10 สูบ รหัส S85 ที่ได้แนวคิดมาจากเครื่องยนต์รถแข่งสูตร 1 ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 10 สูบ ในยุคนั้น ไม่มีระบบอัดอากาศรวมไปถึงเครื่องยนต์ รหัส S65 แบบ วี 8 สูบ ในรถรุ่น เอม 3 รหัส E92 ที่เอาเครื่องยนต์ รหัส S85 ซึ่งแผดเสียงคำรามได้แสบโสตประสาท ใกล้เคียงเสียงเครื่องยนต์รถแข่งสูตร 1 มากที่สุดเครื่องหนึ่งโดยเฉือนลูกสูบออกไป 2 ลูก อีกคันหนึ่ง คือ เลกซัส แอลเอฟเอ ที่ใช้เครื่องยนต์ รหัส 1LR-GUE แบบ วี 10 สูบ ที่พัฒนาร่วมกับ ยามาฮา ซึ่งเป็นที่เลื่องลือว่าให้เสียงไพเราะราวกับเสียงคำรามของเทวดา (ROAR OF AN ANGEL) เร่งรอบได้รวดเร็ว และจัดจ้าน โดยหมุนได้ถึง 9,500 รตน. เรื่องการเร่งรอบนั้นถือเป็นมรดกมาจากรถแข่งสูตร 1 ชัดเจน เพราะเครื่องรุ่นนี้สามารถเร่งรอบถึงจุดสูงสุดได้ในเวลาเพียง 0.6 วินาที เท่านั้น ถือเป็นสถิติโลก จึงทำให้ เลกซัส ต้องใช้มาตรวัดรอบแบบดิจิทอล เนื่องจากเข็มแบบแอนาลอกไม่สามารถตอบสนองได้เร็วพอ อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ ระบบ KERS หรือ KINETIC ENERGY RECOVERY SYSTEM ที่เก็บเกี่ยวพลังงานจลน์มาใช้ภายหลัง ซึ่งในยุคแรกมี 2 แบบ ได้แก่ แบบฟลายวีล และเก็บในรูปแบบพลังงานไฟฟ้าในแบทเตอรี หรือซูเพอร์คาพาซิเตอร์ ซึ่งได้จุดประกายให้เทคโนโลยีด้านนี้กับรถถนนหลายรุ่นในเวลาต่อมา ในวงการรถยนต์ รถแข่งสูตร 1 นับตั้งแต่ปี 2014 เราได้เห็นความพยายามที่จะผสมผสานเทคโนโลยีไฮบริดมาใช้กับตัวรถเพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานที่เคยสูญเปล่ากลับมาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แม้แนวคิดจะแตกต่างกับรถไฮบริด และระบบพลัก-อิน ไฮบริด ที่เราคุ้นเคย แต่โดยหลักการมีความใกล้เคียงกัน นั่นคือ พยายามจะลดขนาดของความจุเครื่องยนต์ลง แล้วใช้เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าเข้ามาเสริมอัตราเร่ง เพื่อรักษาสมรรถนะที่เร้าใจในการแข่งขัน เทคโนโลยีปัจจุบัน รถแข่งสูตร 1 มีกติกาให้ใช้เครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ ความจุ 1.6 ลิตร พ่วงระบบอัดอากาศด้วยเทอร์โบ ติดตั้งระบบ “เก็บเกี่ยวพลังงาน” หรือ ERS (ENERGY RECOVERY SYSTEMS) โดยแนวคิดนี้มุ่งลดการบริโภคเชื้อเพลิงระหว่างการแข่งขัน โดยมีเทคโนโลยี 2 รูปแบบที่ใช้ นั่นคือ MGU-H และ MGU-K MGU-H ย่อมาจาก MOTOR GENERATOR UNIT-HEAT หรือมอเตอร์ปั่นไฟจากระบบความร้อน ส่วน MGU-K ย่อมาจาก MOTOR GENERATOR UNIT-KINETIC หรือมอเตอร์ปั่นไฟจากพลังงานจลน์ MGU-H หรือมอเตอร์ปั่นไฟจากระบบความร้อน แม้ชื่อดูเหมือนจะเปลี่ยนพลังงานความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงมันทำงานเรียบง่ายกว่านั้นมาก โดยพลังงานความร้อนที่ว่านี้ไม่ได้เป็นความร้อนที่ปล่อยออกมาแบบสะเปะสะปะ แต่เป็นพลังงานจากการไหลของกระแส “ไอเสียร้อน” ผ่านทางท่อร่วมไอเสีย อ่านถึงตรงนี้ผู้อ่านสงสัยว่า “นี่มันไม่ใช่ระบบเทอร์โบหรือ ?” ต้องบอกว่า เกือบใช่ครับ เพราะในระบบ MGU-H วิศวกรเครื่องยนต์เขาได้นำเอา ไดนาโม เข้าไปพ่วงร่วมแกนเพลากับชุดเทอร์โบ โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าจะเกิดทุกครั้งที่เทอร์โบบูสต์ ในทางกลับกันไดนาโมนอกจากจะทำงานในลักษณะเครื่องปั่นไฟ ป้อนกระแสไฟฟ้าไปเก็บไว้ในคาพาซิเตอร์ หรือแบทเตอรีก็ยังสามารถจะทำงานในลักษณะ “มอเตอร์ไฟฟ้า” โดยการทำงานของมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อนักขับยกคันเร่งขณะเข้าโค้ง ซึ่งตามปกติแล้วบูสต์จะตก เนื่องจากกระแสไอเสียลดลง และถ้าต้องการที่จะเร่งให้เทอร์โบบูสต์อีกครั้ง เราจะพบว่ามีการหน่วงรอรอบของระบบเทอร์โบ ที่เรียกว่า “เทอร์โบแลก” (TURBO LAG) อันเกิดจากแรงดันของระบบไอเสียไม่เพียงพอ ซึ่งการจะสร้างแรงอัดให้ได้อีกก็ต้องเร่งจากรอบต่ำสู่รอบสูงให้เร็วที่สุด เพื่อรวบรวมกระแสแรงดันจากระบบไอเสียไปหมุนกังหันเทอร์ไบน์



ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2563
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ