สัมภาษณ์พิเศษ(formula)
เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด และเลขาธิการกลุ่ม มิชลิน ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย
ตลาดยางรถยนต์ปัจจุบันเน้นการแข่งขันด้านความปลอดภัย และความประหยัดมากกว่าด้านราคา “ฟอร์มูลา” สัมภาษณ์พิเศษ เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด และเลขาธิการกลุ่ม มิชลิน ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย และนายกสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทยฟอร์มูลา : คุณมีหน้าที่รับผิดชอบงานส่วนใดบ้าง ? เสกสรรค์ : ผมรับผิดชอบตลาดในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นนายกสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย จริงๆ แล้วผมเพิ่งเข้ามาในธุรกิจยานยนต์ไม่นาน แต่ถือว่าโชคดี เพราะที่ สยามมิชลินฯ มีการบริหารจัดการแบบทีม ทำงานอย่างอิสระ ไม่ต้องรอให้สั่ง ผมเข้ามาปรับในบางส่วน เหมือนเป็นโคช ผมนำประสบการณ์จากธุรกิจค้าปลีกมาใช้ควบคู่กัน ทำให้งานบางอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้รวดเร็ว ฟอร์มูลา : ทิศทาง และนโยบายของ มิเชอแลง ? เสกสรรค์ : ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางโลกมีการผลิตมากกว่าความต้องการ บวกกับโรงงานที่จีนสามารถผลิตป้อนตลาดโลก ทำให้หลายประเทศมีความกลัว แต่ยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ยังพัฒนาไปได้อีกมากตามการพัฒนาของยานยนต์ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีสันดาปภายในเป็น พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน ไฮบริด ยางรถยนต์ก็จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีเช่นกัน ดังนั้น มิเชอแลง จึงมีทิศทาง และนโยบายที่จะพัฒนายางรถยนต์ให้เทคโนโลยีไปพร้อมกับยานยนต์ ฟอร์มูลา : การผลิตยางรถยนต์ที่ล้นตลาด จะส่งผลกระทบกับไทยหรือไม่ ? เสกสรรค์ : โอเวอร์ซัพพลาย ส่งผลกระทบในทุกธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ยางรถยนต์เท่านั้น เพียงแต่ต้องหาวิธีการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเรื่องการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ โดยพึ่งทิศทางขององค์กรการค้าระหว่างประเทศ เช่น WTO หรือ FTA ซึ่งหากขยายตัว ก็จะส่งผลให้เติบโตได้ ฟอร์มูลา : มิเชอแลง มีการขยายตัวมากน้อยเพียงใด ? เสกสรรค์ : มิเชอแลง มีการขยายตัวอย่างแน่นอน โดยล่าสุด ลงทุนขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยถึง 100 ล้านยูโร แต่การจะเติบโตเพิ่มขึ้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด โดยปัจจุบัน มิเชอแลง มียอดขายในประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 หรือ 4 แต่สิ่งสำคัญตลาดส่งออกต้องมีการขยายตัว อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูทิศทางการตลาดในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะความต้องการยางขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจ ในประเทศไทย มุ่งเน้นการตลาดไปที่ FTA ทุกครั้งที่เจรจากับกระทรวงพาณิชย์ จะให้ทีมเจรจาเร่งเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศ การนำผลิตภัณฑ์ไปแสดง เพราะเป็นประเทศส่งออก ผู้ผลิตจึงต้องเน้นเรื่องมาตรฐานเป็นสำคัญเพื่อที่จะนำสินค้าไปสู่ตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตจึงรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทยขึ้น (TATMA: THAI AUTOMOBILE TYRE MANUFACTURERS ASSOCIATION) ฟอร์มูลา : สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย (TATMA) เกิดขึ้นได้อย่างไร ? เสกสรรค์ : ที่ผ่านมาผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทย ไม่มีการรวมกลุ่มกัน โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปเป็นสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่หลังจากที่ผู้ผลิตยางรถยนต์ได้ขยายการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งมองถึงการสร้างเครือข่ายการตั้งฐานในเมืองไทย จึงได้ตัดสินใจตั้งสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย เมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยางรถยนต์ (2) กำหนดและใช้ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสมาชิก (3) กำหนดและดำเนินการตามนโยบายด้านความปลอดภัยของยางรถยนต์ (4) กำหนดและดำเนินมาตรการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับยางรถยนต์ (5)ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต และการบริโภคยางรถยนต์เพื่อช่วยให้สมาชิกสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งใน และต่างประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค (6) ส่งเสริมการสื่อสาร และความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพกับรัฐบาลขององค์กรในประเทศ และต่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางรถยนต์ (7) จัดสัมมนา หรือเผยแพร่บทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางรถยนต์ (8) การให้คำแนะนำหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางรถยนต์แก่องค์กรสาธารณะของสมาชิก และองค์กรอื่นๆ แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อีกวัตถุประสงค์หลักของสมาคม คือ สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทยาง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกยางรถยนต์จากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ฟอร์มูลา : ปัจจุบันมีสมาชิกมากน้อยเพียงใด ? เสกสรรค์ : สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย ประกอบด้วยบริษัทยาง 8 บริษัท คือ บริดจ์สโตน กูดเยียร์ แมกซิส มิเชอแลง ดันลอพ ซูมิโตโม โยโกฮามา และคอนทิเนนทัล ฟอร์มูลา : อุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศไทยมีมูลค่าเท่าไร ? เสกสรรค์ : อุตสาหกรรมยางรถยนต์มีผลผลิตและมูลค่าใกล้เคียงผู้ผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมชั้นนำอื่นๆ ซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยบริษัทยางทั้ง 8 ที่เป็นสมาชิกอยู่ในสมาคมฯ มีผลผลิตรวมกันเท่ากับ 193 ล้านเส้น (ประกอบด้วยยางรถยนต์และรถบรรทุก 72 % และยางรถมอเตอร์ไซค์ 28 %) และคาดว่าจะเพิ่มผลผลิตอีก 30 % ในระยะเวลา 5 ปี โดยที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8 %/ปี มีการจ้างงานประมาณ 40,000 คน สำหรับในประเทศไทยมีบริษัทผลิตยางรถยนต์ทั้งหมด 17 บริษัท มีโรงงานรวมกัน 32 โรงงาน (เฉพาะโรงงานผลิตยาง ไม่รวมส่วนประกอบอื่นๆ ยางใน ลวด เหล็ก แม่พิมพ์) มีการลงทุนที่จดทะเบียนกับ BOI มูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ฟอร์มูลา : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาด้านยางพารา ? เสกสรรค์ : ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 หรือ 2 ของโลก ราคายางจะสูง หรือต่ำไม่สำคัญ แต่ต้องมีความเสถียร โดยทุกเจ้าสามารถซื้อยางในราคาเดียวกัน รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพยางพาราเพื่อส่งป้อนโรงงานตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่ และทุกรัฐบาลล้วนสนับสนุนกิจการยางพารา เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงอยากให้รัฐบาลก่อตั้งหน่วยกลางเพื่อควบคุมซัพพลาย รวบรวมรายการสินค้าที่มีอยู่ เก็บข้อมูลสวนยางให้เป็นไปตามแนวทางการตลาด (เป็นผู้ควบคุม SUPPLY/DEMAND ให้เหมาะสม) ซึ่งจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว เราจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนสิ้นสุด ก็จะทำให้อาเซียนได้รับผลดีด้านการส่งออก หากยังยืดเยื้อ อาเซียนอาจมีปัญหาเรื่องการส่งออก เนื่องจากมีกำลังการผลิต แต่ไม่มีที่ส่งออก รวมถึงปัญหาเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทด้วย เราจึงต้องผลักดันให้มีผลประโยชน์ที่ดีขึ้นเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราในการผลิต ฟอร์มูลา : ผลประกอบการของอุตสาหกรรมยางเป็นอย่างไร ? เสกสรรค์ : ในด้านการส่งออก ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกยางรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออก 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าเป็นอันดับ 5 ของโลก มีอัตราการเติบโต 8 % หรือเท่ากับ 1.7 % ของยอดการส่งออกทั้งหมด (มิเชอแลง ส่งออก 70 %) ฟอร์มูลา : ปัจจุบันมีบริษัทยางเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ? เสกสรรค์ : มีบริษัทจีนจดทะเบียนเพื่อรอการสร้างโรงงาน หรือขยายกำลังการผลิต ซึ่งในอนาคตสมาคมฯ คงมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยจะส่งผลดีต่อสมาคมฯ ทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น รวมถึงผลักดันแรงจูงใจที่ดีขึ้น ฟอร์มูลา : ทิศทางอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในอนาคตเป็นอย่างไร ? เสกสรรค์ : อุตสาหกรรมยางรถยนต์มีทิศทางที่ดี มีการเติบโต 7-8 %/ปี และในอนาคตคาดว่าจะเติบโตประมาณนี้ ซึ่งการรวมกลุ่มทำให้สามารถแชร์ปัญหา และวางรากฐานการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการเพิ่มมูลค่าเสนอหน่วยงานต่างๆ การเจรจากับภาครัฐจะมีน้ำหนัก เพราะทุกบริษัทที่ร่วมในสมาคมฯ มีฐานการผลิต และลงทุนในประเทศไทย ฟอร์มูลา : อุปสรรคทางการค้าของไทย คือส่วนใด ? เสกสรรค์ : แรงงานที่มีความรู้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตยางที่ค่อนข้างสูง ยังมีน้อย ทำให้ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ การขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะในแถบ ASEAN/ACEP ยังไม่สำเร็จ โดยส่งออกได้แต่บังคับให้ผู้ส่งออกต้องไปทดสอบยางในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และโควตาในการนำเข้าก็ยังต้องขอ ฟอร์มูลา : ทิศทางยางรถยนต์ในอนาคต ? เสกสรรค์ : ผู้ผลิตยางต้องพัฒนายางให้ดีขึ้น เนื่องจากรถมีน้ำหนักมากขึ้น ช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น ซึ่งหากมีการพัฒนาร่วมกันกับผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตเครื่องบิน จะส่งผลดี นอกจากนี้ ปัจจุบันคุณสมบัติของยางช่วยประหยัดพลังงานได้มากขึ้น วัสดุที่ใช้ในการผลิตน้อยลง และใช้งานได้นานกว่าเดิม
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
ภาพโดย : เกรียงศักดิ์ ปันสม นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2563
คอลัมน์ Online : สัมภาษณ์พิเศษ(formula)