ยอดขายรถยนต์บ้านเราในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกันปีก่อน ลดลง 24 % และรวมครึ่งปีแรกอาจลดลงถึง 40 % (ตัวเลขคาดการณ์)ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาด “ฉากทัศน์” ไว้อย่างน่าสยดสยองว่า หากวิกฤต COVID-19 ยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายน ยอดผลิตในประเทศ จากเป้า 2 ล้านคัน จะลดเหลือ 1.4 ล้านคัน และถ้าลากยาวถึงเดือนกันยายน จะเหลือเพียง 1 ล้านคัน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นยอดส่งออก กับยอดขายในประเทศอย่างละครึ่ง นั่นคือ ปีนี้ยอดขายรถยนต์โดยรวมของไทยอาจเหลือเพียง 5 แสนคัน ซึ่งเท่ากับลดลงจากปีก่อนถึง 50 % ! แน่นอนว่า ถ้า “ฉากทัศน์” เลวร้ายที่สุดนี้ดันเป็นจริงขึ้นมา ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งทางตรงทางอ้อมนับล้านคน ย่อมจะเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่ขณะเขียนบทความนี้ (ปลายเดือนพฤษภาคม) จำนวนผู้ติดเชื้อเบาบางลงมาก จนดูเหมือนจะ “เอาอยู่” แล้ว ผมก็เชื่อว่า ตลาดรถยนต์ของเราช่วงครึ่งปีหลังจะไม่เลวร้ายอย่างที่คิด เพราะทันทีที่โรคระบาดซาไป ผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ จะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง อาจไม่ถึงกับ “โอนไว ไม่พอใจโอนเพิ่ม” เหมือนเดิม ทว่ารถยนต์เป็นสินค้าที่เจ้าของส่วนใหญ่มักเปลี่ยนทุก 5-6 ปี ยิ่งช่วงนี้ค่ายรถต่างกระหน่ำแคมเปญลดแลกแจกแถม ยิ่งเร่งเร้าให้เจ้าของรถที่ถึงเวลาเปลี่ยน ตัดสินใจง่ายและเร็วขึ้น นอกจากนี้ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” (คำแปล NEW NORMAL ของราชบัณฑิตฯ) ยังจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้คนรุ่น COVID-19 ตัดสินใจซื้อรถส่วนตัวเพิ่มขึ้น เพราะกลัวการไปแออัดยัดทะนานกันบนยานขนส่งสาธารณะทั้ง รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รวมถึง รถพี่วิน และรถแทกซี ประกอบกับช่วงครึ่งปีหลัง จะมีการจัดงานแสดงยานยนต์หลายรายการมากระตุ้นการซื้อขายรถยนต์ทั้งป้ายแดง และมือสอง รวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ให้คึกคัก โดยเฉพาะ “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37” งานใหญ่ส่งท้ายปี น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการกอบกู้ตัวเลขยอดขายรถปีนี้ ไม่ให้ตกต่ำถึงระดับที่คาดการณ์กันไว้ สรุปแล้ว ผมยังมองโลกในแง่ดีว่า เราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไม่สาหัสนัก ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้รัฐบาล ที่ออกมาตรการสู้ COVID-19 ได้เหมาะสม จน “ไทยชนะ” และจะดีที่สุด ถ้าหลังจากนี้ รัฐบาลปล่อยให้กลไกตลาด (รถยนต์) ทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงด้วยอะไรก็ตาม ที่คล้ายๆ โครงการ “รถคันแรก” !