ก่อนงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” จะเริ่มขึ้นเพียงสองวัน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ลงข่าวพาดหัวตัวใหญ่ “อุตสาหกรรมยานยนต์สาหัส” โดยในเนื้อข่าวระบุว่า นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ลดประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงอีก 200,000 คัน จาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน โดยปรับลดผลิตขายในประเทศจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1.15 ล้านคัน เป็น 1.05 ล้านคัน ซึ่งเป็นการลดยอดผลิตเป็นครั้งที่ 2 จากรอบแรกปรับไป 200,000 คัน เท่ากับปีนี้ลดลงถึง 400,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 240,000 ล้านบาท จากเป้าหมายแรกตั้งแต่ต้นปีตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน เพราะยอดขายในประเทศลดลงจากการเข้มงวดให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน โดยยอดการผลิตดังกล่าวต่ำสุดใน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 1.6 ล้านคัน
“ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่ลดลงมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259.330 ล้านบาท ในเดือน กค. 67 ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ปีนี้ แค่ 2.3 % และคาดว่าปี 2567 จะเติบโตแค่ 2.7-2.8 %”
นอกจากนี้ การส่งออกยังลดลงทุกตลาด จากผลกระทบของสงครามระหว่าง อิสราเอลกับฮามาส
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ในช่วงเดือน มค.-ตค. 67 มีจำนวน 1.24 ล้านคัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 19.28 % แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 384,952 คัน และผลิตเพื่อส่งออก 861,916 คัน
สำหรับยอดขายรถยนต์เดือน ตค. 67 มีจำนวน 37,691 คัน ลดลงจากเดือน กย. 67 ที่ 36.08 % ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ยกเลิกลอคดาวน์จากการระบาดของ COVID-19 เมื่อเดือน พค. 63 จากการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินเป็นหลัก
ทั้งนี้ ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ไตรมาส 3 มี 6.36 ล้านบัญชี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 199,655 บัญชี หรือลดลง 3.0 % จำนวนเงินหนี้รถยนต์ไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.46 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5.8 % โดยรถบรรทุกลดลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอเติบโตอัตราต่ำ และหนี้ครัวเรือนสูง
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวนิคเคอิเอเชียก็รายงานว่า ยอดขายรถยนต์ไตรมาส 3 ของไทยลดหนักถึง 28 % เมื่อเทียบปีต่อปี โดยลดลงมากสุดในกลุ่ม 5 ประเทศในอาเซียน ส่งผลให้ไทยเสี่ยงถูกฟิลิปปินส์แซงหน้าเป็นตลาดรถอันดับ 3 ในภูมิภาค
บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดรถไทยที่ตกต่ำลง 28 % ต่อปี หรือลดลง 9.5 % เมื่อเทียบรายไตรมาส เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนที่สูงมานาน ส่งผลให้สินเชื่อรถยนต์ในประเทศได้รับผลกระทบ
เวบไซท์นิคเคอิเอเชียรวบรวมข้อมูลยอดขายเดือน กค.-กย. จากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่า ยอดขายรถยนต์รวมใน 5 ตลาดนี้อยู่ที่ประมาณ 763,000 คัน หรือลดลง 7 % จากปีก่อน ซึ่งสวนทางทุกประเทศที่แม้ชะลอตัวแต่ฟื้นกลับมาได้ใน 1-2 ไตรมาส
ขณะที่ยอดขายของฟิลิปปินส์ที่เป็นตลาดรถอันดับ 4 ในภูมิภาคกำลังไล่ขยับขึ้นมาให้ยอดขายระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ห่างกันแค่เพียง 12,604 คัน จากเดิมเคยห่างถึง 113,111 คัน เมื่อ 2 ปีก่อน
ตลาดรถยนต์ไทยชะลอลง อธิบายได้ผ่านหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 89.6 % ของจีดีพีไตรมาส 2 ปีนี้ จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิทแห่งชาติ จำกัด พบหนี้เสียเดือน กค. พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 1.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 22 % ของหนี้เสียในอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งผลให้ธนาคารระวังในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น
สรุปแล้ว ข้อมูลชี้ชัด อาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตลอดปีที่ผ่านมาเข้าขั้นสาหัสจริง ก็ได้แต่หวังว่า งานของเราคงจะพอช่วยประคับประคองให้ไม่ถึงกับต้องหามเข้าไอซียู ส่วนสถานการณ์ปีใหม่นี้คงไม่สามารถทำนายได้ จนกว่าจะผ่านไตรมาสแรกไปก่อน แต่ถึงอย่างไร ผมยังเชื่อในศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่สั่งสมมากว่า 5 ทศวรรษว่า เราเอาตัวรอดได้แน่นอน
บทความแนะนำ