ธุรกิจฟาสต์ฟิทในเมืองไทยขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากเจ้าของรถที่พ้นระยะรับประกัน นิยมเข้าใช้บริการศูนย์บำรุงรักษารถยนต์มากกว่าอู่ซ่อมทั่วไป “ฟอร์มูลา” สนทนาธุรกิจกับ สันติ จิตพิชิตชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า QUICK LANE ประเทศไทยฟอร์มูลา : QUICK LANE (ควิคเลน) มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ? สันติ : QUICK LANE ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1997 ในสหรัฐอเมริกา ก็กว่า 20 ปีมาแล้ว เจ้าของบแรนด์ คือ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี หลังจากประสบความสำเร็จที่สหรัฐอเมริกาแล้ว จึงได้ขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ จนถึงปัจจุบันมีสาขาที่ อเมริกาใต้ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง และเริ่มเข้ามาในเอเชีย ที่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา และไทย รวมถึงโอเชียเนีย โดยประเทศไทยเพิ่งจะครบรอบ 1 ปี ไปเมื่อไม่นานมานี้ ฟอร์มูลา : เหตุใดจึงเลือกเปิดสาขาที่ประเทศไทย ? สันติ : มี 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ความพร้อมของ QUICK LANE เอง และปัจจัยที่ 2 คือ โอกาสทางธุรกิจ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ มีผู้ใช้รถจำนวนมาก และพฤติกรรมผู้บริโภค ก็เป็นปัจจัยที่ QUICK LANE ตัดสินใจเข้ามา คนไทยรักรถมาก สังเกตได้จากการดูแลรักษารถ และระยะเวลาในการถือครองรถยนต์ ค่าเฉลี่ยเกือบ 7 ปี แน่นอนในช่วง 3 ปีแรก คนที่มีวารันตีจะเอารถเข้าศูนย์ เชคระยะ แต่หลังจากหมดการวารันตีแล้ว ลูกค้าก็จะเริ่มหาทางเลือกในการดูแลรักษารถยนต์ที่ได้มาตรฐาน จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของ QUICK LANE ฟอร์มูลา : จุดเด่นของ QUICK LANE ที่เหนือกว่าคู่แข่ง คืออะไร ? สันติ : เรื่องความสะดวกสบาย เราพิถีพิถันในเรื่องของการเลือกทำเลที่ตั้ง และมีศูนย์บริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบสแตนด์ อโลน อยู่ในไฮเพอร์มาร์เกท ในสถานีบริการน้ำมัน โดยเน้นที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลัก เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น. ลูกค้าสามารถเข้ามาได้เลย โดยไม่ต้องนัดหมาย ภายในศูนย์แบ่งพื้นที่บริการเป็นสัดส่วน มีห้องรับรองลูกค้า พร้อมเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และ WI-FI นอกจากนี้ QUICK LANE ยังมีจุดแข็งในเรื่องความเชื่อมั่นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ประสบการณ์ของ QUICK LANE ที่มีมากกว่า 20 ปี มีสาขามากถึง 1,000 แห่งทั่วโลก และมีทีมงานสนับสนุนเต็มที่ พร้อมข้อได้เปรียบเรื่องข้อมูล การฝึกอบรมช่างที่สามารถดูแลรถได้ครอบคลุมทุกรุ่น และทุกยี่ห้อ ในประเทศไทย QUICK LANE เป็นบแรนด์เดียวในธุรกิจฟาสต์ฟิท ที่เจ้าของบแรนด์เป็นบริษัทรถยนต์ มีความเข้มแข็งเรื่องข้อมูลทางวิศวกรรม การเข้าถึงอุปกรณ์ เครื่องมือซ่อมบำรุง และการวิเคราะห์ที่ทันสมัย เทียบเท่าศูนย์บริการมาตรฐาน หรือใกล้เคียง QUICK LANE เป็นบแรนด์เดียวของธุรกิจฟาสต์ฟิทที่เป็นเจ้าของบแรนด์อะไหล่เอง คือ ผลิตภัณฑ์ MOTOR CRAFT (มอเตอร์คราฟท์) เมื่อเรามีแบคอัพเป็นบริษัทรถยนต์ ทำให้อะไหล่ที่ออกแบบมามีมาตรฐานสูง เทียบเคียงอะไหล่แท้ OEM ในการผลิต ควบคุมคุณภาพออกมาได้ใกล้เคียงกันมาก มีวารันตีเทียบเท่าอะไหล่รถยนต์ใหม่ อย่าง ไส้กรอง รับประกันตลอดอายุการใช้งาน อะไหล่ช่วงล่าง ตัวอย่าง ชอคอับ รับประกัน 1 ปี หรือ 20,000 กม. ซึ่งเท่ากับการรับประกันอะไหล่แท้ของศูนย์บริการ และยังมีราคาถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้ทั้งลูกค้า และผู้ลงทุนธุรกิจฟแรนไชส์ได้ประโยชน์ร่วมกัน ฟอร์มูลา : ปัจจุบัน QUICK LANE ประเทศไทย มีกี่สาขา ? สันติ : ปัจจุบันมีอยู่ 10 สาขา กรุงเทพฯ 6 สาขา และต่างจังหวัด 4 สาขา ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก คือ ชลบุรี ขอนแก่น ระยอง และสงขลา ส่วนในอนาคตมีแผนขยายสาขาระยะสั้น ภายในปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 9 สาขา รวมเป็น 19 สาขา และแผนต่อไปตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 25 สาขา ภายในปี 2024 ฟอร์มูลา : การแข่งขันของธุรกิจฟาสต์ฟิทในประเทศไทยเป็นอย่างไร ? สันติ : เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และมีขนาดใหญ่มาก ถ้าดูจากปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดกว่า 18 ล้านคัน จำนวนช่องซ่อมของศูนย์บริการทุกบแรนด์ในประเทศ รวมกับศูนย์บริการฟาสต์ฟิทแล้วก็ยังไม่เพียงพอ ลูกค้าบางคนต้องไปซ่อมที่อู่ ฉะนั้น ถึงจะมีการแข่งขันสูง แต่ขนาดตลาดก็ใหญ่มาก แต่ละบแรนด์ไม่ได้แข่งเพื่อแย่งลูกค้ากัน แต่เป็นเรื่องการดูแลลูกค้า ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการ พร้อมคุณภาพของงานซ่อม และอะไหล่ ฟอร์มูลา : แผนงานสำหรับสร้างการรับรู้คืออะไร ? สันติ : เรามีการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง สร้างการเรียนรู้ด้วยพโรโมชัน การเสนอราคาที่ดีกว่าคู่แข่ง เพื่อให้ลูกค้าทดลองใช้บริการ และติดใจเป็นลูกค้าของเรา โดยทำทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อทีวี บิลล์บอร์ด หรือนิตยสาร รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และกว้างยิ่งขึ้น ฟอร์มูลา : 1 ปีที่ผ่านมา QUICK LANE ประสบความสำเร็จมากน้อยอย่างไร ? สันติ : พอใจมากกับผลงานในปีแรก เราเริ่มจาก 0 แค่เพียง 1 ปี สามารถขยายได้ถึง 10 สาขา มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 5,000 กว่าราย QUICK LANE ประเทศไทยมีการเติบโตที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับ QUICK LANE ทั่วโลก แต่มีบางส่วนที่ต้องเร่งสร้าง สิ่งแรก คือ การขยายเครือข่าย โดยเร่งหาผู้ร่วมทุนแบบฟแรนไชส์ รูปแบบการลงทุนเป็นแบบเดียว แต่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยขนาดเล็กสุดเริ่มต้น 4 ช่องซ่อม ไปจนถึงใหญ่สุด 8 ช่องซ่อม พื้นที่ที่ต้องการประมาณ 300-400 ตรม. สำหรับ 4 ช่องซ่อม ใช้เงินลงทุน 7-8 ล้านบาทไม่รวมค่าที่ดิน แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ค่าก่อสร้าง ประมาณ 3 ล้านบาท ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ 2 ล้านบาท และค่าสตอคสินค้าเบื้องต้น 1-2 ล้านบาท แต่ถ้าเป็น 8 ช่องซ่อม จะใช้เงินลงทุนประมาณ 10-12 ล้านบาท ปีนี้ QUICK LANE จะเปิดฟแลกชิพสโตร์ เพื่อสร้างการรับรู้ของบแรนด์ให้กลุ่มลูกค้าเป้า-หมาย และเป็นเหมือนศูนย์การเรียนรู้ ให้คนที่สนใจเข้ามาดูโมเดลการทำธุรกิจจากพื้นที่จริง ซึ่งเราจะเปิดให้บริการจริงเหมือนกัน รวมถึงเป็นศูนย์ทเรนิง เมื่อใดมีผู้สนใจเปิดฟแรนไชส์สาขาใหม่ ก็จะให้ผู้ลงทุน ส่งพนักงาน และช่าง มาฝึกอบรมที่ฟแลกชิพสโตร์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสาทร ใจกลางเมือง กำหนดเปิดเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีทั้งหมด 8 ช่องซ่อม แล้วที่สำคัญจะมีพื้นที่สำหรับชาร์จรถ EV (อีวี) ด้วย เราต้องการให้ตรงนี้เป็นโมเดลสำหรับสาขาอื่น เพราะในอนาคตเมื่อรถ EV เข้ามา เราต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าทุกคน ฟอร์มูลา : การบริการของ QUICK LANE มีอะไรบ้าง ? สันติ : เราเน้นการให้บริการบำรุงรักษารถยนต์ ครอบคลุมลักษณะงาน 14 ประเภท ที่ทำเหมือนกันทั่วโลก อาทิ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยาง แบทเตอรี ตรวจเชคซ่อมบำรุงตามระยะทาง ระบบเบรค และแอร์ ซึ่งครอบคลุม 80-90 % ความต้องการดูแลรักษารถของคนทั่วไป ฟอร์มูลา : แผนงานระยะ 3-5 ปี เป็นอย่างไร ? สันติ : มั่นใจว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ แล้วขยับขึ้นไป แต่ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นปีไหน อยากให้ QUICK LANE ขยับขึ้นไปเทียบเท่า หรือแซงผู้นำตลาดในขณะนี้