"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์ แพรพรรณ หิรัญศรีสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางเขนฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ HONDA (ฮอนดา) พร้อมศูนย์บริการมาตรฐานครบวงจร ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 21 ปี กล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤต COVID-19 แนวทางการรับมือ และมุมมองต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต"เชื่อว่าวิกฤต COVID-19 กระทบต่อทุกองค์กร โชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ ก็เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ด้านงานขายในช่วงเดือนแรกๆ นิ่งมาก ยอดขายในหลายๆ โชว์รูมตกลงประมาณ 60-70 % ยอดจองรถใหม่แทบไม่มีเลย มีแค่รอส่งมอบรถตามยอดจองเก่า เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้าชะลอการตัดสินใจใช้เงิน เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ บริษัทไฟแนนศ์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เพราะไม่มั่นใจรายได้ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง แต่ในเดือนมิถุนายนตัวเลขก็เริ่มดีขึ้นเล็กน้อย จากการที่ลูกค้าระดับที่การเงินยังแข็งแรงเริ่มซื้อรถใหม่ เพราะคลายความกังวลจากการลอคดาวน์ และอยากให้คนในครอบครัวมีรถยนต์ส่วนตัวใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดยสารรถสาธารณะ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงของการติดโรคระบาด แต่ก็ยังคงเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เฉพาะลูกค้าที่มีเครดิทดี มั่นคงเพียงพอที่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้ได้ และยอดจองยังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากการเข้าร่วมงาน MOTOR SHOW ในด้านศูนย์บริการ งานซ่อมบำรุงเครื่องยนต์และซ่อมสี ก็ลดลงประมาณ 30-40 % ในช่วงแรกๆ ลูกค้าหลายท่านต้องทำงานที่บ้าน ไม่ได้ใช้รถ และไม่กล้าออกท่องเที่ยว แต่บางท่านยังคงนำรถมาซ่อมบำรุงเตรียมไว้ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็นำรถมาเชคระยะซ่อมบำรุงเพื่อเวลาออกนอกบ้านจะได้ไม่ต้องใช้รถสาธารณะ อีกทั้งเป็นการเตรียมรถเพื่อการท่องเที่ยว ปัจจุบัน ศูนย์บริการยังมีตัวเลขผู้มาใช้บริการไม่แตกต่างไปจากปกติมากนัก เพราะราคาค่าแรงและค่าอะไหล่ของ HONDA ในการบำรุงรักษาต่ำมาก ไม่กระทบกับลูกค้า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายท่านอาจมองว่า แนวโน้มการขายรถยนต์ในประเทศไทย คงจะแย่ไปตามพิษของเศรษฐกิจ เพราะรถยนต์เป็นสินค้าราคาแพงและฟุ่มเฟือย แต่ดิฉันกลับมองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะแตกต่างออกไปจากอุตสาหกรรมอื่น เพราะหลังวิกฤต COVID-19 พฤติกรรมของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม มีแนวโน้มจะทำให้กระแสของการใช้บริการร่วมกัน และการใช้ขนส่งสาธารณะ ลดน้อยลงไป ดังนั้นขนาดของอุตสาหกรมยานยนต์จึงไม่น่าลดลงมาก เพียงแต่จะทำให้ทิศทางการขาย หรือการใช้ชีวิตกับยานยนต์เปลี่ยนไปเท่านั้น แนวคิดในการใช้บริการรวมกัน จะเปลี่ยนเป็นการขอเป็นเจ้าของในสิ่งนั้นๆ แทน หรือแนวคิดที่เพิ่มขึ้นของการเช่าระยะยาว ทั้งกับสถานที่ รถยนต์ และงานบริการ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากการใช้ของร่วมกันในที่สาธารณะ การอยากเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวจะมีมากขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างยอดขายรถยนต์ในอนาคต การฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมคงต้องใช้วลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี ไม่ใช่แค่รอมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เพราะสถานการณ์ที่ยังยืดเยื้อในต่างประเทศ ส่งผลให้ขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต เมื่อผลิตได้ไม่เยอะ ก็คงไม่สามารถกลับมามียอดขายได้มากมายเช่นเดิม แต่งานซ่อมบำรุงคงจะกลับสู่ภาวะปกติในอีกไม่นาน โชคดีที่เราอยู่ภายใต้บแรนด์ที่แข็งแกร่งอย่าง HONDA ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง น้ำท่วม แฮมเบอร์เกอร์ มาจนถึง COVID-19 เราก็ผ่านมันไปได้ด้วยดี ทุกวิกฤตเรารับมือได้ ทั้งเรื่องสตอคสินค้า เงินทุนหมุนเวียน ทีมงานที่ใจสู้ การบริการที่ไม่หยุดพัฒนา และไม่ลืมที่จะตอบแทนสังคมในยามยาก โดยช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก เราออกมาตรการให้พนักงานทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอลล้างมือ มีฉากกั้นระหว่างพนักงานกับลูำกค้า จัดที่นั่งคอยให้มีระยะห่าง รวมถึงฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อในรถของลูกค้าทุกคันที่มาใช้บริการ ในอนาคตจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีกก็ตาม ถ้าเรามีสติ มีความรักในทีมงาน จริงใจต่อลูกค้า ห่วงใยชุมชนข้างเคียง เชื่อว่าเราก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ ดิฉันเชื่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเดินหน้าต่อได้แน่นอน ถ้าเราประคองตัวผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ เพราะประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของบริษัทรถยนต์ต่างชาติ ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งหนึ่งของภูมิภาค เรามีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และภาครัฐก็คอยสนับสนุน ต้นทุนการดำเนินงานไม่สูงมาก โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ความเสียงต่ำด้านค่าเงินที่ผันผวน อาจมีปรับปรุงเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ แต่ประเทศไทยในปัจจุบันก็ยังมีจุดแข็งที่จะเกื้อหนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไป แม้ว่าเวียดนามจะพยายามพัฒนาขึ้นมาเทียบเคียง แต่เนื่องจากความไม่พร้อมในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ รวมถึงระบบสาธาณูปโภคชั้นพื้นฐาน ถึงจะมีข้อดีเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า ที่ดูเหมือนจะดึงดูดนักลงทุน แต่ถ้าประเทศไทยยังพัฒนาต่อเนื่องไม่ให้เวียดนามแซงได้ เราก็ยังคงเป็นศูนย์กลางที่หอมหวานของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ดี โดยเฉพาะการเตรียมการรองรับการผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในอนาคต NEW NORMAL ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือ การที่เราอยากเดินทางไปถึงจุดหมายโดยรถส่วนตัว ไม่อยากไปพร้อมกับคนไม่รู้จัก ไม่อยากจ่ายเงินเยอะ ไม่อยากเสียเวลาเข้าซ่อมบำรุง ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น รถพลังงานไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ ไพรเวทเจท ดโรนของอูเบอร์ รวมถึง HYPER LOOP ที่เริ่มขุดไปบ้างแล้วในบางประเทศ พาหนะเหล่านี้จะเข้ามาในชีวิตพวกเราทุกคนอย่างแน่นอน รถพลังงานไฟฟ้าที่หลายๆ บริษัทกำลังเดินหน้าทยอยลงสนาม อย่างล่าสุดในงาน MOTOR SHOW ก็มีกระบะพลังงานไฟฟ้าราคาไม่ถึง 400,000 บาท และคาดว่าสิ้นปีนี้ในงาน MOTOR EXPO ก็คงมีให้เห็นอีกหลายบแรนด์แน่นอน รถยนต์ไร้คนขับ มีการใช้งานจริงแล้วทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยอาจจะต้องแยกช่องทางการจราจรสำหรับรถไร้คนขับ และรถก็จะสื่อสารกันเองตลอดเวลากับรถที่วิ่งอยู่ใกล้ๆ กัน โดยไม่ชนกัน ส่วนแบทเตอรีลิเธียมชนิดที่จะใช้กับรถยนต์อัตโนมัติ จะต้องทนทาน ชาร์จได้เร็ว และใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิม ต่อไปรถยนต์จะมีเพียงแบทเตอรี แชสซีส์ กับชิ้นส่วนอีกไม่กี่ตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษามากมาย โชว์รูมและศูนย์บริการอาจไม่ต้องมีเยอะแบบในปัจจุบัน เพราะรายได้หลักทั้งหมดจะลดลง หรือหายไปเลย เช่น งานช่อมบำรุง เหลือเพียงเปลี่ยนแบทเตอรี งานช่อมสีและตัวถังต้องปิดไป เพราะตัวถังรถทำด้วยพลาสติค เมื่อควบคุมด้วยไฟฟ้า ด้วยเซนเซอร์คอมพิวเตอร์พูดคุยกันเองได้ก็ไม่เกิดการชนกัน ไม่ต้องซ่อมตัวถัง งานขายเบี้ยประกันภัยต้องเลิก เพราะไม่มีรถชนกัน กันสนิมก็ไม่ต้องพ่น เคลือบแก้วก็ไม่ต้องทำ เผลอๆ รถก็ไม่ต้องล้าง แค่ปัดฝุ่นก็เงางาม ณ เวลานั้นคงต้องเปิดร้านกาแฟ มี WI-FI ไว้รองรับลูกค้าที่มานั่งรอเปลี่ยนแบทเตอรี หรือลบข้อมูลหน้าจอคอมพิวเตอร์นิดหน่อย แต่มาใช้เวลานั่งชาร์จแบทเตอรี หรือนั่งทำงาน ส่งอี-เมล์ เชคอิน เซลฟี ในร้านกาแฟของโชว์รูมแทน"
บทความแนะนำ