รู้ลึกเรื่องรถ
เมื่ออัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใน 2.1 วินาที ยังช้าไป !
สำหรับมนุษย์ทั่วไปแล้ว รถยนต์ที่เรารู้สึกว่าแรงดี รวดเร็ว และขับสนุก น่าจะมีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ต่ำกว่า 10 วินาที ถ้าเป็นรถสปอร์ท ก็คาดหวังว่าต้องไม่เกินกว่า 6 วินาที ส่วนบรรดาซูเพอร์คาร์นั้น ควรใช้เวลาน้อยกว่า 4.5 วินาทีสำหรับรถยนต์ที่มีอัตราเร่งต่ำกว่า 3 วินาที ต้องเรียกได้ว่า “ขนหัวลุก” แค่คิดก็เสียวไส้เหลือเกินแล้ว ผู้เขียนยังไม่เคยขับรถที่มีอัตราเร่งต่ำกว่า 3 วินาที เลยสักครั้ง แต่มีประสบการณ์ได้ลองนั่ง TESLA MODEL S P90D (เทสลา โมเดล เอส พี 90 ดี) โดยให้เพื่อนเป็นผู้ขับ เพราะผมต้องการบันทึกภาพอัตราเร่ง ผลคือ อัตราเร่งระดับ 1 จี จากแรงบิดกว่า 91.7 กก.-ม. ของ P90D อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3 วินาที ทำเอาสมาร์ทโฟนหลุดจากมือเลยทีเดียว ความลับของความสามารถในการทำอัตราเร่งได้รวดเร็ว ไม่ได้มีเพียงแค่ “พละกำลัง” เท่านั้น แต่แรงยึดเกาะของ “ยาง” ก็มีผลมาก เพราะหากมีกำลังมาก แต่เมื่อออกตัวแล้วล้อหมุนฟรีอย่างเดียว ไม่มีแรงยึดเกาะ รถก็ไม่สามารถพุ่งออกไปได้ ดังนั้น เราจึงเห็นการใช้ยางชนิดพิเศษกับรถยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันอัตราเร่ง หรือรถ DRAG RACING CAR (ดแรก เรซิง) โดยยางที่พวกเขาเลือกใช้จะเป็นยางหน้ากว้างชนิดไร้ดอกยาง หรือยาง DRAG RACING SLICK TIRES (ดแรก เรซิง สลิค) เพราะต้องการให้มีหน้าสัมผัสยางกับพื้นถนนมากที่สุด ซึ่งผู้ผลิตยางประเภทนี้มักจะมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกา อาทิ ยาง MICKEY THOMPSON TIRES (มิคคีย์ ธอมพ์สัน) หรือ HOOSIER TIRES (ฮูเชอร์) เคล็ดลับแรงยึดเกาะของยางประเภทนี้อยู่ที่การใช้แรงดันลมยาง “ต่ำกว่าปกติ” เพื่อให้ได้พื้นที่หน้าสัมผัสกับพื้นถนนเพิ่มขึ้น โดยใช้แรงดันลมยางน้อยจนเรามองเห็นว่า ขณะจอดอยู่กับที่ “แก้มยาง” มันย่นย้อยเหี่ยวกองกับพื้นผิวเลยทีเดียว ซึ่งยางประเภทนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “WRINKLE WALL” คุณลักษณ์ของแก้มยางย่นๆ ย้อยๆ แบบนี้ คือ เมื่อล้อเริ่มหมุนยางจะไม่ไถลตัวง่ายๆ แต่เมื่อรถแข่งเร่งอย่างรุนแรง แรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง หรือ CENTRIFUGAL FORCE ก็จะเหวี่ยงให้แก้มยางพองออกไปเอง ยางประเภทนี้มักจะมีการใช้ยางในร่วมด้วย เพื่อป้องกันลมรั่ว สรุปว่า พละกำลังอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะทำให้รถยนต์มีอัตราเร่งเร็วขึ้น แต่มันต้องทำงานควบคู่ไปกับแรงเสียดทานจากยางด้วย ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าบรรดาไฮเพอร์คาร์ทั้งหลาย ยังไม่มีใครสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ต่ำกว่า 2 วินาที เนื่องจากคุณสมบัติการยึดเกาะของยาง หรือ TRACTION (ทแรคชัน) นั่นเอง รถที่ระบุว่าทำอัตราเร่งได้เร็วที่สุด คือ TESLA ROADSTER (เทสลา โรดสเตอร์) ซึ่ง เคลมว่ามีแรงบิดที่ล้อมากถึง 1,019.7 กก.-ม. ! โดยสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ที่ 2.1 วินาที ซึ่งถ้าไม่นับรถแข่งที่ใช้ยางพิเศษอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังไม่มีไฮเพอร์คาร์ที่ผลิตจากโรงงาน ทำเวลาได้น้อยกว่านี้ ส่วนที่พอสูสี คือ PORSCHE 918 SPYDER (โพร์เช 918 สไปเดอร์) ซึ่งเป็นรถไฮบริด และ DODGE CHALLENGER SRT DEMON (ดอด์จ ชาลเลนเจอร์ เอสอาร์ที เดมอน) ที่เปลี่ยนใส่ล้อ และยางชนิดพิเศษที่แถมมาให้ สำหรับการแข่งขันดแรกเรซิงโดยเฉพาะ TESLA ROADSTER ปี 2020 นี้ นอกจากจะมีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เร็วจนน่าขนลุกแล้ว ยังสามารถทำเวลาควอร์เตอร์ไมล์ (0-402 ม.) ภายในเวลาเพียง 9 วินาที ถือเป็นตัวเลขที่น่าทึ่งสำหรับรถเดิมๆ จากโรงงาน เพราะเร็วกว่า DODGE CHALLENGER SRT DEMON ที่เปลี่ยนใส่ล้อ และยางชนิดพิเศษ ทำเวลา 9.65 วินาที และเร็วกว่า BUGATTI VEYRON SUPERSPORT (บูกัตตี เวย์รน ซูเพอร์สปอร์ท) ซึ่งทำได้ 9.7 วินาที เรียกได้ว่า รถที่จะเร็วกว่านี้ต้องเป็นรถที่ทำมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ไม่ใช่รถที่ แอร์เย็น เพลงเพราะ และขับไปสนามกอล์ฟได้แบบคันนี้แน่นอน แต่เราก็พอจะเดาได้ว่า พ่อมดวิทยาศาสตร์อย่าง ELON MUSK (เอลอน มัสค์) แห่งบริษัท TESLA (เทสลา) ไม่ใช่คนที่พอใจกับอะไรง่ายๆ และจะต้องใช้เวทมนตร์แห่งวิศวกรรมที่คนอื่นเข้าไม่ถึง มาสร้างเสียงฮือฮา แล้วมันก็เป็นเช่นนั้น โดยเขาประกาศว่า TESLA ROADSTER รถสปอร์ทพลังไฟฟ้า จะมีออพชันพิเศษที่มีชื่อ SPACEX PACKAGE (สเปศเอกซ์ แพคเกจ) ให้ลูกค้าเลือกติดตั้งได้ เราคงจะพอคุ้นหูกับคำว่า SPACEX กันบ้าง เพราะมัน คือ โครงการจรวดเพื่อการขนส่งทางอวกาศของ ELON MUSK นั่นเอง ฟังแค่นี้ก็จินตนาการได้ทันทีว่าจะมีการ “ติดจรวด” กับรถสปอร์ทคันนี้ ! ใช่ครับ คุณเข้าใจใกล้เคียงกับสิ่งที่ ELON MUSK ตั้งใจทำมาก SPACEX PACKAGE คือ การเอาชนะข้อจำกัดของแรงยึดเกาะของยาง ที่จำกัดบรรดา ไฮเพอร์คาร์ และรถพลังไฟฟ้าคันใดก็ตาม ที่จะทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ต่ำกว่า 2 วินาที ด้วยการใช้แรงดันจากภายนอก เดิมทีที่จะต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือมอเตอร์ไฟฟ้าในการหมุนล้อเพียงอย่างเดียว เคล็ดลับของพลังจรวด คือ “อากาศอัด” ในรถที่เลือกติดตั้ง SPACEX PACKAGE จากเดิมที่เป็นรถแบบ 4 ที่นั่ง จะเหลือเพียง 2 ที่นั่งด้านหน้า และพื้นที่เบาะหลังจะถูกแทนที่ด้วยถังอัดอากาศ ที่เรียกว่า COPV ย่อมาจาก COMPOSITE OVERWRAPPED PRESSURE VESSEL ซึ่งเป็นถังโลหะสำหรับอัดอากาศแรงดันสูงที่หุ้มภายนอกด้วยวัสดุคอมโพสิท ที่ได้มาจากโครงการจรวด FALCON 9 (ฟัลคอน 9) โดยถังจะบรรจุอากาศอัดที่มีแรงดันมากถึง 10,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว หรือ 700 บาร์ ซึ่งเป็นความดันระดับมหาศาล ซึ่งถ้า ELON MUSK ไม่มีอุตสาหกรรมสำรวจอวกาศ ก็คงไม่สามารถที่จะมีชิ้นส่วนสมรรถนะสูงแบบนี้อยู่ในครอบครอง อากาศที่เก็บไว้ในถัง COPV นี้ได้มาจาก ปั๊มลมที่คอยเติมลมอย่างต่อเนื่อง โดยอากาศที่ถูกอัดไว้ในถัง COPV จะถูกปล่อยออกไปยังปลายท่อจำนวน 10 ท่อ รอบตัวรถ ด้านหน้า 2 ท่อ ด้านท้าย 2 ท่อ ด้านข้าง ข้างละ 1 ท่อ และที่เหลือจะอยู่ด้านบนของตัวรถแต่ละมุม เพื่อช่วยเรื่องแรงกด ซึ่งปัจจุบัน TESLA ยังไม่เปิดเผยว่า ปลายท่อแต่ละปลายอยู่ที่ใดบ้าง แต่เราพอจะคาดเดาได้ว่า 2 ท่อด้านหลัง จะช่วยเพิ่มแรงผลักด้านท้าย อันเป็นที่มาของอัตราเร่งที่รุนแรง และเวทมนตร์แห่งอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จะขึ้นต้นด้วยเลข 1 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดย ELON MUSK กล่าวว่า “อัตราเร่งของ TESLA ROADSTER ที่ใช้จรวดแรงดันอากาศนี้ จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนนั่งกระสวยอวกาศ เพราะมันจะทำความแรงได้ในระดับ 3G !” แน่นอนว่า มันจะคล้ายกับในภาพยนตร์รถแข่งที่เวลาฉีดไนตรัสออกไซด์ แต่จะฉับพลันและรุนแรงกว่า ส่วนปลายท่อแรงดันด้านหน้านั้น ใช้ในการช่วยชะลอความเร็ว และด้านข้างใช้ในการเข้าโค้ง และแก้อาการหน้าดื้อ หรือท้ายปัด ซึ่งน่าจะทำงานโดยอัตโนมัติตามที่เซนเซอร์เริ่มจับได้ว่า รถกำลังจะเสียอาการ เพราะเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่ทำความเร็วได้เกินกว่าทักษะของผู้ขับในไม่ช้านี้ ELON MUSK เคลมว่า เขาตั้งใจจะขายรถรุ่นนี้ประมาณ 10,000 คัน/ปี สนนราคาคันละ 250,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8 ล้านบาท เชื่อว่าตลาดซูเพอร์คาร์ หวั่นไหวอย่างแน่นอน ไม่แน่นะครับ วงการรถ “ซิ่ง” ในบ้านเรา อาจจะหยิบยืมแนวคิดระบบท่อจรวดอัดลมของ ELON MUSK ไปใช้กันบ้างก็ได้ ต่อไปกระบะอาจจะไม่ได้พ่นควันดำ แต่พ่นลมออกท้ายรถกัน ส่วนมอเตอร์ไซค์ที่ขี่ตามมาก็ดูแลตัวเองกันด้วย เพราะขี่ตามหลังอยู่ดีๆ รู้ตัว อีกทีอาจโดนเป่าตกคลองไปแล้ว แต่อย่าลืมนะครับว่า ถ้าใช้ถัง COPV ไม่ได้มาตรฐาน อัดอากาศระดับ 10,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ก็เหมือนพกระเบิดเอาไว้ในรถนั่นแหละ !
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2563
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ