รายงาน(formula)
FORMULA FORUMระดมความคิดฝ่าวิกฤต COVID-19 ชี้ชะตาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย !
• อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รวมถึงในบ้านเรา ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพิษของโรคระบาด COVID-19 ทั้งยอดการจำหน่าย การผลิตรถยนต์ในประเทศ และการส่งออก ชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการทุกราย ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์นี้ • “ฟอร์มูลา” ถือโอกาสในวาระครบรอบ 44 ปี ระดมสมองของผู้บริหารสถาบัน และสมาคมต่างๆ ในแวดวงยานยนต์ 5 แห่ง ตลอดจนฟังเสียงของผู้ประกอบการตัวจริง เพื่อสะท้อนภาพ และค้นหาทางรอดของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “ตอนต้มยำกุ้ง ใช้เวลา 5 ปี กว่า ยอดขายรถจะกลับมาเท่าเดิม COVID-19 ก็คงใช้เวลาพอๆ กัน” องค์กรที่รวมผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนา เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมนำเสนอปัญหา และมาตรการแก้ไข ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค ฟอร์มูลา : วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร ? สุรพงษ์ : ผลกระทบรุนแรงมาก ทุกโรงงานหยุดการผลิต เดือนเมษายน 2563 มียอดผลิตรถยนต์เพียง 24,000 กว่าคัน ซึ่งเท่ากับเมื่อประมาณปี 2530 กว่าๆ ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยมียอดผลิตรถยนต์ปีละ 100,000 คัน วิกฤต COVID-19 รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตที่เกิดจากปัญหาด้านการเงินของประเทศไทย และบางประเทศในเอเชีย แต่บริษัทแม่ของผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้รับผลกระทบ และสามารถเพิ่มทุนการดำเนินงานในประเทศ ไทยได้ ซึ่งทำให้ในขณะนั้น และบริษัทแม่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในประเทศไทยมากขึ้น ขณะที่ COVID-19 เป็นวิกฤตทั่วโลก บริษัทแม่จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ทุกแห่งต้องหยุดการผลิตทั้งหมด ด้านการส่งออกรถยนต์ของไทยก็กระทบด้วยเช่นกัน เพราะการผลิตของโรงงานในไทย 54 % จะเป็นการส่งออก จากเดิมที่ส่งออกเดือนละประมาณ 90,000 คัน เดือนเมษายน เหลือเพียงเดือนละ 20,000 คัน แต่พอเดือนพฤษภาคม มีโรงงานบางแห่งเริ่มเปิดดำเนินการทำให้มียอดการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 56,000 คัน สรุปแล้ววิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรม ยานยนต์ไทยสะเทือนมาก ทั้งด้านการผลิต การขาย และการส่งออก ฟอร์มูลา : คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัวจนกลับสู่สภาพเดิมได้เมื่อไร ? สุรพงษ์ : คงต้องใช้เวลาพอสมควร ต้มยำกุ้ง ใช้เวลา 5 ปี กว่าจะฟื้นตัว และยอดขายรถยนต์กลับมาเท่าเดิม คาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 ก็น่าจะใช้เวลาพอๆ กัน จะแตกต่างกันตรงที่ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทอ่อนมากจาก 25-26 บาท เพิ่มเป็น 54 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ตลาดส่งออกขยายตัว แต่ COVID-19 ผลกระทบเกิดขึ้นทั่วโลก การส่งออกคงต้องใช้เวลาฟื้นฟู จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายคาดว่าวิกฤตจะยืดไปถึงกันยายน-ตุลาคม ยอดการผลิตรถยนต์ในไทยน่าจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน จากเดิม 2 ล้านคัน หายไป 50 % ยอดขายในประเทศหายไป 500,000 คัน ส่งออกหายไป 500,000 คัน ระยะเวลาในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่จะกลับมาได้ภายในกี่ปีจึงต้องรอดูสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงต้องดูว่าภาครัฐจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้รวดเร็วแค่ไหน เพราะเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น มีอนาคตที่ดีขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อกลับมา แต่สำหรับปีนี้ เป้าหมายสูงสุด คือ มียอดขายในประเทศ 700,000 คัน และส่งออก 700,000 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 30 % ฟอร์มูลา : ชะตาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเป็นอย่างไรหลังวิกฤต COVID-19 ? สุรพงษ์ : ถ้าวิกฤต COVID-19 ยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายน ยอดการผลิตรถยนต์จะหายไปประมาณ 30-40 % ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละค่ายคงต้องปรับแนวทาง และวางแผนด้านการผลิตให้สอดคล้องกับยอดขายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่าภาครัฐจะอัดฉีดเงินช่วยเหลือได้รวดเร็วแค่ไหน การฟื้นฟูจะดำเนินการอย่างไร การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจกลับมาเร็ว ปัญหาการเลิกจ้างก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังต้องการที่จะลงทุนในไทย เพราะเรามีความได้เปรียบเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงรัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง ฟอร์มูลา : NEW NORMAL ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คืออะไร ? สุรพงษ์ : COVID-19 ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้บริโภคก็สนใจอ่านข้อมูล บทวิเคราะห์เกี่ยวกับรถยนต์ผ่านสื่อออนไลน์ บริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์จึงเริ่มมีการขายรถทางออนไลน์ ดังนั้นในอนาคตระบบออนไลน์จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ “COVID-19 ทำให้การตรวจสอบมาตรฐานการผลิต และคุณภาพสินค้ายานยนต์ชะลอตัวลง” สถาบันยานยนต์ เป็นหน่วยทดสอบมาตรฐานชิ้นส่วน และอุปกรณ์ยานยนต์ พร้อมจัดอบรมพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ฟอร์มูลา : วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสถาบันยานยนต์อย่างไร ? พิสิฐ : งานของสถาบันยานยนต์เป็นงานยกระดับมาตรฐาน การเกิดวิกฤต COVID-19 ทำให้การทดสอบมาตรฐานชะลอตัว เนื่องจากรถรุ่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาดน้อยลง ชิ้นส่วนที่จะนำมาทดสอบก็น้อยลงไปด้วย รายได้จากการทดสอบลดลง นอกจากนี้ งานด้านการบริการอื่นๆ เช่น การตรวจสถานที่ การตรวจฟรีโซน การตรวจพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI (บีโอไอ) หรือการตรวจรับรองกระบวนการผลิตในต่างประเทศของรถยนต์บางยี่ห้อที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมถึงการจัดงาน เช่น งานซัมมิท งานแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ก็ไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากวิทยากรต่างประเทศไม่สามารถเดินทางมาร่วมงาน รวมทั้งงานในประเทศที่มีคนเข้าร่วมมากๆ ก็มีข้อจำกัด ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของสถาบันฯ ลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน เราเป็นองค์กรที่ต้องเลี้ยงตัวเอง เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ทำให้ต้องปรับตัวเรื่องการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส โดยขณะที่การผลิตหยุด หรือลดลง บางหน่วยงานอาจมีความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มพูนทักษะพนักงาน สถาบันยานยนต์จึงเตรียมหลักสูตรอบรมต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เราเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร เน้นเรื่องการทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการอยู่รอด บางหลักสูตร มีการลดราคา บางหลักสูตรเปิดให้อบรมฟรี เช่น หลักสูตรในการวัดฝีมือแรงงานในสายการผลิต และจัดให้เรียนฟรี เพื่อเป็นการช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ ยังริเริ่มโครงการใหม่ ที่จะเป็นแม่แบบในการนำผลดำเนินการมาพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น SME (เอสเอมอี) ผู้ผลิตชิ้นส่วน จำนวนมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งเราทราบดีว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน ชิ้นส่วนบางอย่างจะหมดไป จุดนี้เราต้องมีโครงการต่างๆ มารองรับ เช่น โครงการการพัฒนาบุคลากรในงานอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึง การเตรียมการห้องปฏิบัติการทดสอบแบทเตอรียานยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าอาคารจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนอุปกรณ์ตามมาตรฐานในการทดสอบน่าจะมาครบในกลางปีหน้า และจะเริ่มดำเนินการทดสอบได้ในปีหน้า ฟอร์มูลา : โครงการในอนาคตของ สถาบันยานยนต์ ? พิสิฐ : สถาบันฯ มีแผนระยะ สั้น กลาง และยาวแผนระยะสั้น คือ การขยายขอบเขตการให้บริการงานทดสอบ ซึ่งสถาบันยานยนต์มีเครื่องมือหลากหลาย ซึ่งบางอย่างสามารถใช้ทดสอบวัสดุต่างๆ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้ เช่น งานโยธาก่อสร้าง เหล็กเส้น ทดสอบความแข็งแรง การยืดตัว ระบบราง ฯลฯ รายได้หลักของเรามาจากการเป็นหน่วยทดสอบของหน่วยงานภาครัฐ เวลาภาครัฐออกมาตรฐาน โดยเฉพาะงานของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) แต่ต่อไปเราต้องขยายขอบเขตไปหน่วยงานอื่น เช่น กรมการขนส่งทางบก ที่ดูแลมาตรฐานของรถยนต์ ซึ่งมีการทดสอบระบบต่างๆ เราต้องปรับตัวให้อยู่ในเงื่อนไข และกฎเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกยอมรับ โดยต้องมีคนที่มีความสามารถ มีเครื่องมือในการทดสอบที่ได้มาตรฐานระดับสากล เราจะเสนอตัวเป็นผู้ให้บริการงานทดสอบเรื่องงานวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมพัฒนาพลังงานทดแทน ดูแลการใช้พลังงาน การใช้น้ำมัน เรื่องมลพิษจากการใช้น้ำมัน ประสิทธิภาพการใช้น้ำมัน การใช้พลังงาน ซึ่งสถาบันฯ มีเครื่องมือในการทดสอบ ส่วนแนวทางในระยะกลาง และระยะยาว เราเตรียมการเป็นหน่วยทดสอบเรื่องมลพิษ มาตรฐาน ยูโร 5 ยูโร 6 ซึ่งตามมติ ครม. ปีหน้าต้องใช้มาตรฐาน ยูโร 5 โดยสถาบันฯ จะเตรียมจัดหาเครื่องมือ บุคลากร อาคารทดสอบ แบทเตอรีไฟฟ้า รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ที่ใช้ในรถยนต์ และยังมีเรื่องมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์ ตามกติกาอาเซียน เราก็กำลังดำเนินการให้พร้อมเป็นตัวแทนของอาเซียนในการทดสอบและรับรองมาตรฐานคุณภาพ สิ่งสำคัญที่สุด คือ บุคลากร เครื่องมือเก่าตามเทคโนโลยี แต่คนต้องตามให้ทัน เราจึงสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ของคน และการทำให้คนมีความสุขในการทำงาน ฟอร์มูลา : ยานยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็น NEW NORMAL ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหรือไม่ ? พิสิฐ : รถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยต้องมีส่วนประกอบหลายอย่างร่วมกัน ประชาชนต้องได้รับข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้อง รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด ต้องยอมรับอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิมยังมีการจ้างงานจำนวนมาก และยังมีส่วนช่วยเกษตรกรในเรื่องน้ำมัน แกสโซฮอล และไบโอดีเซล ถ้าตัดเลยก็จะเกิดปัญหา เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จยังไม่มีการขยาย หรือแผนรองรับ ถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยว่ายานยนต์ไฟฟ้า วิ่งได้ระยะทาง 50-100 กม. ในเมือง ในแต่ละวันจะไม่เป็นปัญหา แต่คนที่ซื้อรถคันแรกเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์หลากหลาย ต้องเดินทางไกลไปในจังหวัดต่างๆ จะไปชาร์จไฟที่ไหน ระยะเวลาการชาร์จจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น นโยบายรัฐบาลต้องมีความชัดเจน เช่น เรื่องของการลดภาษี และการสนับสนุนด้านต่างๆ เรื่อง KNOW HOW แต่ละค่ายมีเทคโนโลยีพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องมองตลาดว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบัน รัฐได้แต่งตั้งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยก้าวแรกจะเน้นที่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะมองว่าผลักดันให้เกิดขึ้นได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องเทคโนโลยี แบทเตอรี การชาร์จ และสินเชื่อ ที่จะต้องเตรียมแผนรองรับ โดยกลุ่มนี้จะมีผู้ใช้กว่า 2 แสนคัน จะทำอย่างไรให้คนยอมรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าว่าใช้งานได้จริง ไม่ได้ขี่เล่น บรรทุกคน 3 คน บรรทุกของหนัก ขึ้นสะพานได้ไหม ต้องวิเคราะห์ ปัจจุบันรถบางยี่ห้อทำได้แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้คนยอมรับ อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย “เราได้เบี้ยประกัน COVID-19 มาชดเชยเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ลดลง” การประกันภัยเป็นธุรกิจที่ช่วยบริหารความเสี่ยงให้ภาครัฐ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ดูแลผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภท รวมถึงรถยนต์ ฟอร์มูลา : วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อสมาคมประกันวินาศภัยไทยอย่างไร ? อานนท์ : การประกันภัย เป็นธุรกิจแถว 2 ปกติจะเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ โดยประกันฯ จะดีกว่า เฉลี่ยประมาณ 2 เท่า เช่น GDP โต 4 % ประกันฯ โต 8 % GDP 5 % ประกันฯ โต 10 % แต่เวลาลด ประกันฯ จะลดลงถึง 50 % คนไทยยังเข้าถึงระบบประกันไม่เต็มที่ เพราะการประกันภัยยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการซื้อประกันเต็ม 100 % สำหรับปีนี้ คาดว่า GDP จะลดประมาณ 8 % เบี้ยประกันน่าจะติดลบประมาณ 4 % แต่วิกฤต COVID-19 ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 เพราะ COVID-19 เป็นการสร้างโอกาส ทำให้เกิดประกันสุขภาพเฉพาะโรค COVID-19 และเป็นประกันฯ ราคาถูก ราคาหลักร้อย ไม่เกินพันบาท มีผู้สนใจซื้อกรมธรรม์ถึง 9 ล้านกรมธรรม์ สร้างรายได้รวมประมาณ 4,000 ล้านบาท มาชดเชยเบี้ยรถยนต์ ที่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ติดลบ 2.5 % คิดเป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท เบี้ยรถยนต์ที่หายเนื่องจากยอดขายรถยนต์ใหม่ ตกลง ปีนี้น่าจะเหลือประมาณ 5 แสนคัน เดือนพฤษภาคม ลดลงประมาณ 64 % แต่ภาพโดยรวมหายไป 40 % รถยนต์ใหม่หายไป 50 % ในส่วนของประกันฯ เบี้ยจากรถใหม่มีประมาณ 10 % เบี้ยส่วนใหญ่เป็นการต่ออายุ และช่วงนี้รถยนต์ก็ต่อเบี้ยน้อยลง เจ้าของรถลดการใช้จ่าย โดยเปลี่ยนประกันภัยจากประเภท 1 เป็น 2+ และ 3+ เบี้ยประกันรถยนต์ลดลง ประกันเดินทางลดลง นักท่องเที่ยวเดินทางไม่ได้ ประกันนักท่องเที่ยวหาย โรงแรมปิด การขนส่งสินค้าน้อย มารีน หายไป ครัวปิด ห้องพักปิด ความเสี่ยง ลดลง เบี้ยกระทบหมด ทั้งประกันทรัพย์สิน รถยนต์ ที่ดีอย่างเดียว คือ ประกันสุขภาพ ติดลบนิดหน่อย วิกฤตมีโอกาส แต่วิกฤตมากกว่า เบี้ย COVID-19 ยังทดแทนเบี้ยที่หายไปไม่ได้ ฟอร์มูลา : ต้องการให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือด้านใด ? อานนท์ : ที่ผ่านมารัฐและหน่วยงานที่ควบคุมได้ออกมาตรการช่วยเหลือประกันในหลายด้าน แต่เดิม การขายกรมธรรม์ต้องขายเป็นปี ปัจจุบันผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้ขายระยะสั้น จากเดิมการจ่ายเบี้ยต้องจ่ายงวดเดียว ก็ผ่อนผันเป็นผ่อนชำระได้ รัฐเน้นช่วยประชาชน ทำให้ประกันแข็งแรง วิกฤตน้ำท่วมปี 2554 จ่ายเคลม 4 แสนกว่าล้านบาท ไม่มีบริษัทปิด โรงงานได้รับค่าสินไหม ไม่ย้ายโรงงาน มีเงินมาประกอบธุรกิจใหม่ ธุรกิจประกันวินาศภัยไทย จึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่ช่วยเหลือประเทศ บริหารความเสี่ยงให้ภาครัฐ ใหญ่สุดก็คือประกันข้าวนาปีที่เบี้ยประกันสูงสุด 3,500 ล้านบาท ประกันสุขภาพให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เกิดเหตุเคลมประกันฯ ได้ รัฐก็ไม่กระทบ ใช้ธุรกิจประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงของประเทศ ฟอร์มูลา : ชะตาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเป็นอย่างไรหลังวิกฤต COVID-19 ? อานนท์ : อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแข็งแกร่ง เป็นฐานการผลิตที่แข็งแรง แต่สิ่งที่เหนือการคาดเดา คือ จีนที่โตมาก อีกทั้งยังไม่เห็นการลงทุนของจีนในประเทศไทยมากนัก ถือเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะตลาดผู้ผลิตรถยนต์ของโลกเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่ผู้เล่นเดิม ตามไม่ทัน เจอ TESLA (เทสลา) และผู้ผลิตจีนรายใหม่ เป็นตัวแปรที่คาดเดายาก ในอนาคตธุรกิจรถยนต์จะเปลี่ยนไปอาจเป็น 10 เท่าของเมื่อ 50 ปีก่อน รถไฮบริดยังใช้ไม่เต็มตลาดเลย รถไฟฟ้ามาแล้ว รถไฟฟ้าเป็นไปได้ไหม TESLA ผลิตรถไฟฟ้า จีนผลิตดโรนบินได้ สิ่งเหล่านี้จะชี้อนาคต เพราะในยุโรปอีก 10 ปี ไม่มีรถใช้น้ำมันแล้ว เดิมต้องรอยุโรปเปลี่ยน ญี่ปุ่นเปลี่ยน แต่ปัจจุบัน ยุโรปเปลี่ยนพร้อมกับไทย เทคโนโลยีมาพร้อมกัน จีนเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเทคโนโลยีอย่างมาก จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนโลก ความคุ้มครองกว้างขึ้น เบี้ยไม่จำเป็นต้องโตมาก ทำฐานให้แน่น ค่าใช้จ่ายต่ำ รถไฟฟ้าอุบัติเหตุลดลง เบี้ยถูกลง ปัจจุบันอุบัติเหตุชนคนเสียชีวิตปีละ 20,000 กว่าราย ถ้าชนคนเสียชีวิตจ่าย 1 ล้านบาท อีกหน่อย 10 ล้านบาท แต่คนเสียชีวิตแค่ 2 พันคน รถเบรคเอง รถไร้คนขับ ไม่มีเมา ไม่มีง่วง ไม่มีอารมณ์เสีย คาดว่าอุบัติเหตุลดลงหลาย 100 % ฟอร์มูลา : NEW NORMAL ของประกันวินาศภัยไทย คืออะไร ? อานนท์ : สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจาก วิกฤต COVID-19 คือ กรมธรรม์ราคาถูกลง การขายประกันภัยเปลี่ยนเป็นการขายในระบบดิจิทอล แต่เดิมลูกค้าไม่นิยมซื้อกรมธรรม์ผ่านระบบออนไลน์ แต่หลังจากที่รัฐบาลปูฟื้นเรื่องของ พร้อมเพย์ การจ่ายเงินสงเคราะห์ผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ผู้บริโภครับรู้เรื่องการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ระบบออนไลน์กันมากขึ้น อีกส่วนหนึ่ง กรมธรรม์ราคาประหยัด ขายผ่านตัวแทนไม่คุ้ม เพราะต้องมีพนักงานออกกรมธรรม์ครั้งหนึ่งต้นทุน 300-500 บาทแล้ว เดิมขายออนไลน์ไม่เกิน 1 % ของเบี้ยโดยรวมทั้งหมด แต่ COVID-19 ทำให้การซื้อออนไลน์โตขึ้นเป็น 5-10 % ขยายตัวโตมาก ถือเป็นวิถีใหม่ นอกจากเรื่องวิถีการขายแล้ว การทำงานที่บ้าน (WFH) การประชุมออนไลน์ ทำให้สะดวกรวดเร็ว และประหยัดมากขึ้น มีการปรับตัวกันมากขึ้น ถ้าประชาชนเปิดใจในการซื้อประกันออนไลน์มากขึ้น ต่อไปจะมีพโรดัคท์ที่มีราคาถูก เราพอคาดเดาได้ว่าจะเผชิญกับอะไร แต่ไม่รู้ชัด คาดว่าเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามา แต่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเร็วแค่ไหน การเตรียมตัวที่ดีที่สุด คือ ทำตัวให้แข็งแรง องค์กรกะทัดรัด ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว คนขายนิดเดียว กรมธรรม์ก็ไม่ต้องออก และไม่มีค่าใช้จ่าย วิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย “วิกฤต COVID-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อรถยนต์มือ 2 มากนัก ภายในปีหน้าทุกอย่างจะค่อยๆ กลับมาเข้าที่เข้าทาง” สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เป็นการรวมกลุ่มของบริษัทเช่าซื้อ 12 แห่ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ฟอร์มูลา : วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์อย่างไร ? วิสิทธิ์ : วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อแวดวงยานยนต์อย่างมาก ตลาดมียอดการขายรถใหม่ลดลงถึง 60-70 % ขณะที่ในส่วนรถเก่า สมาคมฯ คาดการณ์ในช่วงแรกว่า ยอดขายจะลดลงมากกว่านี้ แต่กลับลดลงเพียง 10-20 % เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะความต้องการในการ ใช้รถส่วนตัวยังคงสูงอยู่ โดยช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ผู้คนไม่ต้องการที่จะเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ และนิยมการซื้อรถในราคาที่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ประกอบกับราคาของรถยนต์มือ 2 ในช่วง COVID-19 ยังลดลงเยอะ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้วิกฤต COVID-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อรถยนต์มือ 2 มากนัก หากมองในมุมของธุรกิจเช่าซื้อ ก็จะมีผลกระทบในด้านการปล่อยสินเชื่อที่ยากขึ้น เนื่องจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 สมาคมฯ ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ ทางไฟแนนศ์ก็จะมีการอนุมัติที่ยากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบมายังส่วนด่านหน้าของสมาคมฯ แน่นอน ส่วนด่านหลังก็เป็นเรื่องหนี้เสีย แต่ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้ามาช่วยเหลือ ให้พักชำระหนี้ และในอนาคตก็อาจจะมีมาตรการใหม่ๆ เพื่อช่วยลูกหนี้หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปแล้ว ฟอร์มูลา : คาดว่าการค้ารถยนต์ และธุรกิจเช่าซื้อ จะใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นตัวจนกลับสู่ภาวะปกติ ? วิสิทธิ์ : หากไม่เกิดการระบาดระลอก 2 แวดวงยานยนต์บ้านเราก็คงจะมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และผมเชื่อว่าในบ้านเราก็คงมีความเข้มงวดพอสมควร ในการป้องกันการระบาดระลอก 2 ทำให้ต้องใช้เวลานานหน่อยสำหรับการฟื้นตัวจนกลับมาเป็นปกติ แต่คาดว่าภายในปีหน้าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางในรูปแบบที่ควรเป็น ฟอร์มูลา : ต้องการให้รัฐออกมาตรการ ช่วยเหลือในด้านใด ? วิสิทธิ์ : ที่ผ่านมารัฐได้ให้ความช่วยเหลือด้วยมาตรการ SOFT LOAN หรือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการสามารถกู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยมากที่สุด คือ ป้องกัน หรือควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 2 เพราะตอนนี้ทุกอย่างกำลังพัฒนา ฟื้นตัวกลับเข้าภาวะเดิมอย่างช้าๆ ฟอร์มูลา : อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเป็นอย่างไรหลังวิกฤต COVID-19 ? วิสิทธิ์ : ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางได้ ต้องขึ้นอยู่กับเวลา ที่ผ่านมาผู้คนอัดอั้นกับการออกรถยนต์มาก ต่อจากนี้ผมเชื่อว่าค่ายรถต่างๆ จะเร่งยอดขาย ทั้งรถเก่า และรถใหม่ โดยแข่งกันออกแคมเปญเพื่อดึงดูดจูงใจลูกค้าทั้งราคา และพโรโมชัน ประกอบกับช่วงปลายปี จะมีการจัดงาน “มหกรรมยานยนต์” หรือ MOTOR EXPO ซึ่งผมก็มั่นใจว่าหากสถานการณ์ปกติไปเรื่อยๆ ยอดขายรถจะค่อยๆ กลับมา แบบค่อยเป็นค่อยไป ฟอร์มูลา : NEW NORMAL ของสมาคม ธุรกิจเช่าซื้อไทย คืออะไร ? วิสิทธิ์ : ช่วงก่อน COVID-19 สมาคมฯ ทำงานโดยการออกไปพบปะลูกค้า แต่ปัจจุบัน จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้พัฒนาระบบจัดการ และการอำนวยความสะดวกลูกค้าใน รูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สามารถเชค ราคา และอัตราไฟแนนศ์ได้ง่าย ในอนาคตการเซ็นสัญญา รวมถึงการดำเนินการส่วนอื่น อาจพัฒนาใช้ระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานให้สะดวก และง่ายยิ่งขึ้น ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย “ภาครัฐต้องสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและอยากให้เป็นตัวเลือกแรกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อรถใหม่” สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มีหน้าที่ส่งเสริม ให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และช่วยลดปัญหามลพิษบนท้องถนน ฟอร์มูลา : วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อแวดวงยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไร ? ยศพงษ์ : เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ได้ทำให้เกิดมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ ทั้งการลอคดาวน์ การประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงการเว้นระยะห่าง ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และเกิดวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป บางหน่วยงานได้นำระบบการสื่อสารแบบออนไลน์ เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศก็ถูกปรับลดลงไปตามสัดส่วน ซึ่งหากมองภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือผลกระทบองค์กรแล้ว ผู้บริโภคคงมีความกังวล จึงชะลอการตัดสินใจซื้อรถ ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ที่ผ่านมา มีสัดส่วนการผลิตลดลง แต่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มาก ดังนั้น ผลกระทบจาก COVID-19 กับยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงไม่สามารถเห็นได้ชัด ฟอร์มูลา : อนาคตของอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ? ยศพงษ์ : อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ผ่านมาตลาดอาจสะดุดบ้าง แต่คงไม่มากเท่าอุตสาหกรรมยานยนต์หลักที่ใช้น้ำมัน แต่จากนี้ค่ายรถต่างๆ ต้องวางแผน และทบทวนว่าจะมีวิธีกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกอยากใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นอย่างไร ผมเชื่อว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์หลายๆ ปัญหาของเราได้อย่างแน่นอน ฟอร์มูลา : ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือในด้านใด ? ยศพงษ์ : ก่อนอื่นต้องย้อนไปตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงต้องมียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคำตอบก็คือ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหา และลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ หรือการผลิตรถไฟฟ้า 100 % นั้น มีข้อดีที่ไม่ก่อมลพิษให้สภาพแวดล้อม ซึ่งปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างถาวร ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือ จากภาครัฐให้ช่วยผลักดัน และสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เป็นตัวเลือกแรกสำหรับผู้ต้องการซื้อรถใหม่ เพื่อแก้ปัญหามลพิษได้เร็วที่สุด ฟอร์มูลา : NEW NORMAL ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คืออะไร ? ยศพงษ์ : ที่ผ่านมาบริษัทรถต่างประสบปัญหายอดขายที่ลดลงอย่างหนัก จากการเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 จนต้องปรับตัวด้วยการขายผ่านช่องทางต่างๆ และให้ความสำคัญกับระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผมมองว่าหลังจากนี้ คงมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงาน รวมถึงกลยุทธ์การขายที่ผสมผสานงานด้านออนไลน์มากขึ้น การบริหารจัดการก็ต้องการปรับรูปแบบ ทั้งเรื่องการขายชิ้นส่วน อะไหล่ต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านระบบการผลิตมากขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เสียงจาก ผู้ประกอบการ จันทร์นภา สายสมร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟีล์มกรองแสง LAMINA “สถานการณ์ COVID-19 เริ่มรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 มากที่สุด คือ เดือนเมษายน 2563 ทำให้ยอดขายรวมของตลาดรถยนต์ตกลงไป 65 % ส่งผลถึงฟีล์มกรองแสงด้วย เนื่องจากตลาดหลัก คือ ฟีล์มกรองแสงรถยนต์ โดยรวมทั้งตลาดฟีล์มตกลงไปกว่า 60 % สำหรับฟีล์มกรองแสง LAMINA (ลามีนา) ยอดขายในเดือนเมษายน ตกลงไปประมาณ 53 % แต่สิ่งสำคัญ คือ ขวัญและกำลังใจของพนักงาน เพราะว่าตอนนั้นมีความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การควบคุม COVID-19 ในเมืองไทยก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องให้กำลังใจบุคลากรและออกมาตรการต่างๆ วางแนวทางการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ COVID-19 ลดโอกาสไปสัมผัสกับผู้คน เว้นระยะห่างทางสังคม นโยบายของ บริษัทฯ คือ ต้องปลอด COVID-19 เป็น 100 % ซึ่งเราก็ผ่านพ้นมาได้ บริษัทฯ ไม่มีการลดเงินเดือน หรือลดพนักงาน แต่มีการปรับความเข้าใจกันเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ แนวทางการทำตลาดของ LAMINA คือ เป็นฟีล์มสำหรับยุคดิจิทอล สอดคล้องกับวิถีปกติใหม่ ลดการสัมผัสทุกด้าน อย่างเรื่องผลิตภัณฑ์ ก็มี E-BROCHURE ให้ลูกค้าสแกนคิวอาร์โคด เพื่อเชคข้อมูลผลิตภัณฑ์ และสื่อสารโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของบริษัทฯ ไม่ว่่าจะเป็น LINE หรือ FACEBOOK อีกทั้งยังสามารถ เชคราคา พโรโมชันต่างๆ รวมถึงชำระเงิน จองสินค้า ผ่านระบบออนไลน์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังแจกมาตรการให้แก่ร้านค้าในการปฏิบัติ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่ามาใช้บริการที่ศูนย์ตัวแทนจำหน่ายของเราแล้วจะไม่มีปัญหาเรื่อง COVID-19 ส่วนเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเมื่อไร วัคซีน คือ ตัวแปรสำคัญ และขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย” เออิจิโร อิวาเสะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเอ็กซ์ นิปปอน ออยล์ แอนด์ เอเนอจี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น ENEOS “ธุรกิจนํ้ามันหล่อลื่นได้รับผลกระทบอย่างมาก และแน่นอนบริษัทฯ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากสัดส่วน 80 % เป็นลูกค้า OEM ซึ่งลูกค้าหลักเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาดหนัก ลูกค้าเหล่านี้ได้ระงับไลน์การผลิต ส่งผลให้ยอดขายของเราตกลงพอสมควร ส่วนตลาดอาฟเตอร์มาร์เกท ภายใต้บแรนด์ ENEOS (เอเนออส) ยอดขายก็ลดลง แต่ไม่มาก เพราะคนชะลอซื้อรถใหม่ แล้วหันมาใส่ใจเรื่องการบำรุงรักษารถมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของเราในการขายสินค้าในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2563 ที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น และหลังจากมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ น่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น มาช่วยทดแทนตัวเลขที่ลดลงไปในช่วงที่ COVID-19 ระบาด เนื่องจาก COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน จึงยังรับมือได้ไม่ดี เพราะการผลิตน้ำมันหล่อลื่นในประเทศไทย ต้องนำเข้า วัตถุดิบต่างๆ จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น รวมถึงสิงคโปร์ และเกาหลี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน ที่ต้องมีการคิดให้ละเอียดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้น ต้องดูด้วยว่า ประเทศอื่นมีการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองทั้งหมด สถานการณ์ในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ และหาแนวทางรับมือในอนาคต จริงๆ บริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ หรือ BUSINESS CONTINUITY PLAN (BCP) แต่ทำไว้สำหรับเคสที่โรงงานลูกค้าปิด หรือการคมนาคมไม่มีการเคลื่อนไหว เนื่องจากน้ำท่วม แต่ครั้งนี้เป็นโรคระบาด BCP จึงไม่รองรับ ฉะนั้น หลังจากนี้คงต้องขยายวง BCP ให้รองรับมากยิ่งขึ้น” จิตวุฒิ ศศิบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาวเด้น แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด นายหน้าประกันภัยครบวงจรทั้งในประเทศไทย และนานาชาติ “ธุรกิจประกันได้รับผลกระทบแน่นอน ปกติจะเติบโตควบคู่กับ GDP ของประเทศ เมื่อคาดการณ์ว่า GDP จะตกประมาณ 3-5 % ประกันภัยก็น่าจะลดลงประมาณ 3-5 % เพราะประกันรถยนต์ ท่องเที่ยว โรงแรม และทัวร์ ยอดตกลงไปเยอะ แต่ในช่วงแรกๆ มีประกัน COVID-19 มาช่วย ส่วนฮาวเด้น แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ฯ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ตัวเลขตกลงประมาณ 10 % จากยอดขายปีที่แล้ว เนื่องจากพโรเจคท์ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเกิด การลงทุนของรัฐบาล สาธารณูปโภคต่างๆ ก็น้อยลง หรือเลื่อนออกไปหมด เพราะรัฐบาลต้องเอางบไปช่วย COVID-19 ส่วนภาคเอกชน ลูกค้าที่จะขยายธุรกิจ ก็น้อยลง รถยนต์ที่ปกติยอดขายเพิ่มทุกปี ก็ถอยลงไปเยอะ ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เราก็ต้องอยู่แบบพอเพียง และพยายามมองอนาคต ต้องนำเรื่องดิจิทอลพแลทฟอร์มมาช่วย พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมให้ดีที่สุด ต้องช่วยกัน ให้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปให้ได้ จนกว่าจะมีวัคซีน คาดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะจบลงภายในปีหน้า เพราะต่างประเทศยังติดเชื้อกันมากอยู่ ตัวแปรมันอยู่ที่วัคซีน ตอนนี้อยู่ในขั้นทดลอง แต่กว่าจะใช้กับคนจริงๆ ก็ประมาณปีหน้า ถ้าเรายังปิดประเทศอยู่เศรษฐกิจเราก็แย่ แต่ถ้าเราเปิดประเทศ เราก็จะเจอเฟส 2 แน่ๆ มันต้องชั่งใจว่าจะเอาอย่างไร ผมตอบไม่ได้ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไร แต่พอคนเริ่มชินกับคำว่า NEW NORMAL ชินกับการประชุมทางออนไลน์ ไม่ต้องเดินทาง บางบริษัทก็ยังให้ทำงานอยู่ที่บ้าน การซื้อขายก็หันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น เพราะประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย หลายๆ องค์กรก็อาจจะหันมาใช้แผนนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตก็จะเปลี่ยนไป” อินสอน เขื่อนคำป้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ เอส บี พลาสติก จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ RBS “ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ยอดขายลดลงไปประมาณ 50 % เพราะงานของเรา มีทั้งผลิตให้ OEM และส่งต่างประเทศ ส่วนงานขายในประเทศเท่ากับศูนย์เลย แต่มันก็มีงานที่คงค้างอยู่ อย่างงานโครงการต่างๆ เราก็ทำเตรียมไว้ พอเดือนมิถุนายน สถานการณ์ถึงเริ่มดีขึ้น บริษัทที่เคยสั่งซื้อก็เรียกของเข้าแล้ว มีการเปิดกิจการต่างๆ ยอดขายในประเทศก็เริ่มขยับขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่ได้หยุดงาน เพียงแค่เตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ COVID-19 ไว้ คือ 1. หยุดวันเสาร์ 2. ลดค่าแรงตามมาตรฐาน 3. ตัด OT 4. หยุดจ้างซัพพายเออร์ แต่ก็ไม่ได้ใช้ สิ่งที่เราทำ คือ มีจุดคัดกรอง วัดไข้พนักงานทุกคนก่อนเข้างาน เปลี่ยนการสแกนนิ้วมือเป็นลงเวลาแทน เพื่อลดการสัมผัส และให้ความรู้คนของเราให้ใส่หน้ากาก ใช้เจลล้างมือ พูดง่ายๆ คือ เปลี่ยนวิธีปฏิบัติใหม่ รวมถึงสร้างความมั่นใจให้พนักงานด้วยการทำประกัน COVID-19 ให้ทุกคน ในช่วงนั้นพนักงานยังมาทำงานผลิตเพื่อเตรียมที่จะขาย เชคสตอคดูว่าในสโตร์มีสินค้ารุ่นใดบ้าง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะมีอะไรขายบ้าง รุ่นไหนที่ไม่มีก็ผลิตเตรียมไว้ เลี้ยงไลน์ผลิตสินค้าอาฟเตอร์มาร์เกท มันไม่มีการสั่งซื้อ เราต้องผลิตเตรียมไว้อยู่แล้ว ลูกค้าสั่งมาเมื่อไรเราก็ส่งได้เลย เราเป็นธุรกิจเล็กๆ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดแบบนี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบกันหมด เราต้องพยายามพึ่งตัวเองก่อน ต้องเก็บเงิน สร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ พยายามลดหนี้ ไม่ก่อหนี้เพิ่ม บริหารจัดการงานและแรงงานให้สมดุลกัน จะคาดหวังให้รัฐบาลมาช่วยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะช่วยจริงๆ ก็อยากให้ช่วยเรื่องลดดอกเบี้ย” มูเลียดี บุดิทเรสโน กรรมการผู้จัดการ A.J AUTOMOTIVE (THAILAND) CO., LTD. ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายล้อแมก FUEL “ช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา คนส่วนมากจะ WORK FROM HOME ไม่ต้องขับรถออกข้างนอก ไม่เปลี่ยนยาง ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ ค่อนข้างมาก แวดวงที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ยอดขายตกประมาณ 60-70 % และเริ่มดีขึ้นช่วงมิถุนายน แต่ที่สหรัฐอเมริกาในช่วง LOCKDOWN พวกเขาไม่มีอะไรทำ ก็นำเงินช่วยจากรัฐบาลไปซื้อล้อแมก ซื้อของตกแต่งรถยนต์ ซึ่งต่างจากเมืองไทย รัฐบาลได้ออกกฎหมายช่วยเหลือ เรื่องยืดเวลาชำระหนี้ให้กับธุรกิจทั่วไป แต่ไม่ทัน และได้ขอกู้ดอกเบี้ยต่ำกับธนาคาร เพราะต้องการใช้แค่นี้ ก็ได้รับการอนุมัติ ทำให้มั่นใจที่จะทำธุรกิจต่อไป และเรามีธุรกิจส่งสินค้าไปประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็นเรื่องโชคดี คุณต้องปรับตัว และคิดว่า จะทำธุรกิจอะไรที่ดีกว่าคนอื่น และไม่ซ้ำ มองหาความต้องการสินค้า และตลาด หาความแตกต่าง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการขายตัดราคา เราประชุมกับลูกน้องว่า คู่แข่งจะมากขึ้น ต้องหาวิธีลดสตอค หรือหาตลาดต่างประเทศ คิดว่าต่อไปคงต้องขับรถมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ คนไม่กล้าขึ้นรถประจำทาง รถไฟฟ้า หรือรถแทกซี เราคงต้องเน้นล้อแมกที่มียี่ห้อ เพราะคนยังมีกำลังซื้อ และดูความนิยมด้วย สิ่งสำคัญ คือ ต้องอดทน อย่างน้อยน่าจะ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี ทำให้คนยังมีความมั่นใจที่จะประกอบธุรกิจที่นี่” กตัญชลี แซ่อึ้ง ผู้จัดการทั่วไป PIONEER ENGINEERING INTERNATIONAL CO., LTD. ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายชอคอับ EXPLORER “เดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงวิกฤตหนัก เราประชุมกับพนักงานว่า ไม่มีการลดองค์กร ให้ดูแลรักษาสุขภาพของตน ทำงานปกติ 8 ชั่วโมง ซึ่งในช่วง 30 วัน ทำงานตลอด แต่ลดโอที ส่วนโรงงานที่เรารับออร์เดอร์ มีปัญหาเรื่องการส่งออก มีบางประเทศที่ปิด ไม่สามารถรับสินค้าได้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีหลายประเทศที่เปิดเพื่อทำธุรกิจ จึงได้ไปเจรจาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น เรื่องออร์เดอร์โดยทยอยส่งเป็นลอท และส่งออร์เดอร์ที่สั่งไว้ก่อนช่วง COVID-19 ส่วนภายในประเทศที่เป็นคู่ค้า บริษัทฯ ปรับกลยุทธ์ด้วยการบริการลูกค้าถึงที่ ซึ่งเป็นการค้าแนวใหม่ ส่วนการออกงาน EXHIBITION บริษัทฯ ทำเป็นปกติ พร้อมเพิ่มสื่อโซเชียล เช่น FACEBOOK, INSTAGRAM และเวบไซท์ต่างๆ ให้ลูกค้าต่างประเทศหาเจอง่าย รวมถึงโฆษณาให้ลูกค้าแต่ละประเทศค้นหาเจอได้ใน GOOGLE และทำตลาดวีดีโอ เอมวี เพิ่มขึ้น พรีเซนท์ให้ลูกค้าเห็น การรับมือวิกฤต ต้องทำการตลาดที่หลากหลาย มีตลาดบน ตลาดล่าง แต่โชคดีที่บริษัทฯ มีสินค้าหลายกลุ่ม อย่างกลุ่มไฮเอนด์ บแรนด์ EXPLORER หรือกลางไปล่าง GSUS SHOX และสินค้าที่บริการถึงผู้บริโภค E-BOARD และได้รับการสนับสนุนเรื่องดอกเบี้ยต่ำ สำหรับ SME ให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้” เจมส์ แมธิส ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด VIVA ENERGIA (THAILAND) CO., LTD. ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันเครื่อง REPSOL “ภาพรวมธุรกิจน้ำมัน ได้รับผลกระทบเหมือนกันทุกราย แต่โชคดีของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น หรือน้ำมันใส หากพูดกันในชีวิตประจำวัน มีความจำเป็นต้องใช้ มีผลกระทบประมาณ 30-40 % แต่ไม่กระทบกับบริษัทฯ โดยตรง ถ้าหากมองในเรื่องน้ำมันดิบ มีทั้งเรื่องวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันถูก อย่างในระดับภูมิภาค เช่น ประเทศไทย ทาง VIVA กระทบประมาณ 30 % ส่วนใหญ่เป็น ผู้จำหน่ายถึงผู้ใช้รายย่อย เนื่องจากปิดเมือง มีเคอร์ฟิว ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้รถ ใช้จักรยานยนต์ไม่ออกจากบ้าน แต่ยังมีการใช้รถเชิงพาณิชย์ เช่น รถกระบะขนส่ง รถสิบล้อ และกลุ่มเดลิเวอรี มาเฉลี่ยตรงนี้ ทำให้ภาพรวมบริษัทฯ อยู่ได้ การฟื้นตัวต้องบอกว่า เป็นความฉลาดของบริษัท REPSOL ที่ประเทศสเปน มีแท่นขุดเจาะน้ำมันเอง 44 แห่งทั่วโลก เป็นสินค้านำเข้า ทำให้โรงงานผลิตหลายแห่งในภูมิภาคเอเชีย ปิดตัวไปช่วงหนึ่ง เมื่อเอเชียฟื้นตัว ก็ผลิตส่งต่อไปที่อื่นได้ และส่งกลับมายังภูมิภาคนี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ทั้ง COVID-19 การเมือง หรือสงคราม เราไม่ได้สั่งหยุดการผลิต เป็นโชคดีของประเทศไทย บริษัทฯ แต่งตั้ง SUB DISTRIBUTOR ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งมีสตอค 2-3 เดือน ดังนั้น ทำให้สินค้าไม่ขาด และได้ผลิตน้ำมันให้บริษัทรถยนต์ด้วย ทำให้สินค้าซัพพลายไปถึง ออสเตรเลีย และตะวันออก กลาง บริษัทฯ จึงกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เราจัดซื้อสินค้าเข้าสตอค เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการกระจายสินค้า แล้วนำเรื่องการไม่เสียภาษีนำเข้ามาใช้ เพื่อส่งไปประเทศอื่น ทำให้มีรายได้เข้าประเทศ และบริษัทฯ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยเพิ่มฟรีโซนให้มากขึ้น เพราะไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เวียดนาม ออสเตรเลีย ลาว และเมียนมาร์ ฯลฯ รวมถึงถ้าคืนภาษีเร็วกว่าปกติก็จะดีมาก แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ช่วยเหลือผู้ใช้ เช่น คนใช้มอเตอร์ไซค์รายได้น้อย รวมถึงการขนส่ง อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คิดว่าในวงการยานยนต์จะมีวิถีใหม่ในการใช้ชีวิต โดยลดสัดส่วนความต้องการใช้รถหรูหรา รถประสิทธิภาพสูง และหันไปใช้อีโคคาร์มากขึ้น หรือใช้น้ำมันที่ผลิตในประเทศ มีคุณภาพ ราคาไม่สูง พยายามเก็บเงินไว้กับตัวเอง ใช้จ่ายให้น้อย หรือหาน้ำมันเครื่องที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น” สาโรช เลี้ยงอำนวย ผู้จัดการทั่วไป AUTOVISION CO., LTD. ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกล้องติดรถยนต์ PROOF “COVID-19 มีผลกระทบกับบริษัทพอสมควร ยอดขายลดลงมาก เริ่มดีขึ้นช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา เกือบจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่หากมีรอบ 2 ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ช่วงที่ตลาดเงียบได้ปรับตัวพัฒนาคุณภาพสินค้าโดยออกโมเดลใหม่ทดแทนสินค้าเดิม ธุรกิจน่าจะซบเซาไปถึงสิ้นปี และจะกลับคืนสู่ปกติ ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า ก็พอดีกับที่บริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้ารุ่นใหม่ โดยใส่ฟีเจอร์เพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าตัวปัจจุบันเป็นกล้องติดรถยนต์ที่มี GPS พร้อมแผนที่ 3 มิติ ทำงานแบบเรียลไทม์ รองรับการเชื่อมต่อ WI-FI เพื่อใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน ใส่ซิมคาร์ดตรวจสอบสถานะของรถยนต์ด้วย GPS พร้อมกล้องติดรถ รองรับการเชื่อมต่อ WI-FI เพื่อใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน เรื่องภาครัฐ อยากให้สนับสนุนด้านลดภาษี เพราะสินค้าของบริษัท มีทั้งการนำเข้าและผลิตในประเทศ รวมถึงการยืดระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้ของบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังได้ปรับกลยุทธ์ในการขาย เช่น ลูกค้าซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่าย หรือทางออนไลน์ เรามีทีมงานเซอร์วิศที่เป็น PROOF EXPRESS ให้บริการดูแลถึงบ้าน ไม่ต้องเสี่ยงออกมาข้างนอก พร้อมทำ ความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งก่อนเข้าไปทำงาน ก็เป็นการปรับตัวในการทำงานของเรา” ชะตาจะดีหรือร้าย “ขอเพียงอย่าให้มีการระบาดรอบ 2 ขึ้นมาเท่านั้น ตัวเลขก็จะค่อยๆ กลับมาช้าๆ” ผ่านพ้นปี 2563 กันมาได้ครึ่งปี และนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์โลก เลยก็ว่าได้ ที่เกิดกรณีโรคระบาดร้ายแรง วิกฤต COVID-19 ทำเอาอุตสาหกรรมยานยนต์ปั่นป่วนกันไปทั่วโลก เรียกว่าโดนผลกระทบกันทั่วทุกประเทศ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แม้ปัจจุบัน บ้านเราจะสามารถควบคุมเจ้าโรคระบาดที่ว่านี้ชนิดอยู่หมัด ไม่ปรากฏว่ามีคนไทยในประเทศติดเชื้อมานานนับเดือนแล้ว แต่ประเทศรอบข้างของเรา ยังอยู่ในขั้นวิกฤตกันมากมาย ทำให้ยังต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ชีวิตในแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ กันอย่างเข้มงวด มาลองดูผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรากันบ้าง เริ่มกันตั้งแต่ต้นปี ที่เริ่มเกิดเหตุการณ์โรคระบาดในอู่ฮั่น สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ที่มีมาก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่เพิ่งมาประกาศเป็นขั้นร้ายแรงเอาเมื่อตอนต้นปี ความที่บ้านเราไม่ค่อยได้พึ่งพาชิ้นส่วน ยานยนต์จากจีนมากเท่าใดนัก สายการผลิตในช่วง 2 เดือนแรก มกราคม-กุมภาพันธ์ ยังดำเนินไปได้ด้วยตัวเลข 156,266 และ 150,604 คันตามลำดับ แม้ว่าจะลดลง 12.99 และ 17.73 % ก็ตาม ขณะที่ยอดขายก็ลดลงเช่นกัน 71,688 และ 68,271 คัน ลดลง 8.2 และ 17.1 % ยอดส่งออกก็ลดลง แต่ยังไม่เป็นที่ตื่นตระหนก แม้ว่าข่าวคราวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีการปิดเมืองในจีนแล้วก็ตาม บ้านเราก็ยังอยู่ในระดับเรื่อยๆ มาเรียงๆ ประชาชนไม่ค่อยตื่นตระหนกสักเท่าใด แต่พอขึ้นต้นเดือนมีนาคม เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ สบค. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม เท่านั้นเอง ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับประชาชนคนไทย แม้ว่าตัวเลขการผลิตยานยนต์ จะลดลงยังไม่มากนัก ในเดือนมีนาคม ยังผลิตกันเพียง 146,812 คัน ขายได้ 60,105 คัน ลดลง 16.16 และ 41.74 % ก็ตาม ก็เกิดเหตุการณ์หลังจากการประกาศตั้ง สบค. และมีประกาศห้ามกิจกรรมทุกประเภท แต่ก็ยังมีผู้อยู่ในเครื่องแบบ ฝ่าฝืนจัดการแข่งขันชกมวย เกรียงไกร ขึ้นมา เลยทำให้คนไทยได้รู้จักกับ SUPER SPREADER หรือการแพร่หลายของโรคระบาดขึ้นมา ด้วยการติดต่อกันเป็นกลุ่ม ซึ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายมากขึ้น พอถึงเดือนเมษายน หน้าเทศกาลสงกรานต์ ที่ตามปกติจะต้องหยุดงานกันนานนับสัปดาห์ เพื่อร่วมในประเพณีสงกรานต์ มีการเดินทางท่องเที่ยวกันทั่วประเทศ รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากมายเช่นกัน ปีนี้รัฐบาลก็ประกาศไม่หยุดงาน ยังคงเป็นวันทำงานตามปกติ เพราะเกรงว่าการเดินทางกันเป็นหมู่คณะจำนวนมาก อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ข่าวคราวการรับมือกับโรคระบาดของโรงพยาบาล สถานพยาบาลทั่วประเทศ ก็ทำให้เกิดการให้กำลังใจแก่ผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์ พยาบาล แพร่หลายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยเร่งการแพร่ขยายการให้กำลังใจได้เพิ่มขึ้น โดยปกติของทุกปี เดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่มียอดการผลิตน้อยอยู่แล้ว เนื่องจากมีวันหยุดจำนวนมาก แต่ปีนี้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมของ สบค. ที่สั่งห้ามกิจกรรมทุกประเภท แม้แต่กิจกรรมทางศาสนา เล่นเอาโรงงานผลิตรถยนต์ต้องประกาศหยุดสายการผลิต ทั้งเพื่อการป้องกันโรค และการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต ทำเอายอดการผลิตลดลงเหลือเพียง 24,711 คัน ลดไป 83.55 % เช่นเดียวกับยอดขาย ที่ขายกันได้เพียง 30,109 คัน ขายลดลง 65.02 % เรียกได้ว่าเป็นจุดต่ำสุดของโรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้ เพราะบุคลากรด้านการแพทย์ของเรา สามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี จากนั้น ในเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ก็เริ่มกลับมาฟื้นตัว ยอดการผลิตเริ่มกลับมา ด้วยตัวเลข 56,035 และ 71.704 คัน ในเดือนมิถุนายน แต่ยังลดลง 69.1 และ 58.52 % ขณะที่ยอดขายก็เริ่มกลับมากระเตื้องขึ้น 40,418 และ 58,013 คัน ยังลดลงเช่นกัน 54.12 และ 32.60 % สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เชื่อได้ว่า ยอดการผลิตน่าจะค่อยๆ เริ่มกลับมาเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าภายในปี 2563 นี้ อาจจะยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในเร็ววัน แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความตื่นตระหนกที่ลดน้อยลง สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติตามสมควร ก็เชื่อได้ว่าตัวเลขต่างๆ น่าจะค่อยๆ กลับมาดีเพิ่มขึ้นในไม่ช้า แต่สิ่งที่ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ การส่งออก ที่เป็นไปในลักษณะเดียวกับยอดการผลิต และยอดขาย ที่ค่อยๆ ฟื้นกลับขึ้นมาอย่างช้าๆ จนเดือนมิถุนายน ส่งออกได้ 50,049 คัน แต่ก็ยังลดลง 48.71 % ที่น่าจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้ากว่าในประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดร้ายแรงนี้ให้อยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัยได้ แต่เป็นสิ่งซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ขอเพียงอย่าให้มีการระบาดรอบ 2 ขึ้นมาเท่านั้น ตัวเลขก็จะค่อยๆ กลับมาช้าๆ จนกว่าจะมีการควบคุมโรคระบาดได้อย่างเข้มงวดเด็ดขาด หรือจนกว่าจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคขึ้นมา ให้ผู้คนได้นำมาใช้ในการป้องกันได้แพร่หลาย เมื่อนั้นสถานการณ์ก็จะค่อยๆ กลับเข้าสู่ปกติ ที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีหน้า ห้วงเวลานี้ เราก็ได้แต่ดำรงชีวิตกันในแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ สวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาสุขอนามัยกันถ้วนทั่วทุกตัวคน เพื่อความปลอดภัย ปราศจากโรคาพยาธิ ทำหน้าที่ของตนเองตามปกติ โดยไม่ตื่นตระหนกเท่านั้นก็น่าจะเพียงพอ
ABOUT THE AUTHOR
ส
สุดาภรณ์ ไกรแก้ว
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2563
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)