“เวียงแหง” อำเภอเล็กๆ ที่เงียบสงบ ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาสุดชายแดนไทย-เมียนมาร์ ด้านทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นดินแดนที่ต้องตั้งใจมาเท่านั้น จนถูกขนานนามว่าเป็น เมืองลับแลแห่งเชียงใหม่ “ฟอร์มูลา” ขอพาแฟนๆ สายธรรมชาติ ไปสัมผัสความหลากหลายของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของที่นี่ควบ XPANDER CROSS สู่ดินแดนลับแล น้อยคนนักที่เคยไปเวียงแหง เนื่องจากไม่ใช่เป็นเมืองทางผ่าน การจะไปได้ต้องตั้งใจไปเท่านั้น เพราะทางเข้าทางออกมีทางเดียว และต้องขับรถข้ามเขาสูงชันที่อันตราย เราออกเดินทางสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเชียงใหม่ กับพาหนะคู่ใจ MITSUBISHI XPANDER CROSS (มิตซูบิชิ เอกซ์แพนเดอร์ ครอสส์) ขุมพลัง 1.5 ลิตร 150 แรงม้า แม้มีระยะทางเพียง 150 กม. แต่กลับใช้เวลาเดินทางนานกว่า 3 ชม. ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องข้ามเขาหลายลูกที่คดเคี้ยว และสูงชัน แต่สำหรับ XPANDER CROSS แล้ว ก็ถือว่าสอบผ่านสบายๆ เพราะเครื่องยนต์ถูกปรับเซทให้ไต่ทางลาดชันได้ดีในเกียร์ 1 ทำให้ขับผ่านเขาสูงชันมาได้แบบไม่ต้องลุ้นมากนัก เมืองแหง แหล่งเดินทัพที่สำคัญ อำเภอเวียงแหงแห่งนี้ มีชื่อเดิมว่า “เมืองแหง” เคยเป็นเมืองหน้าด่านตามเส้นทางเดินทัพ และการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่ (อาณาจักรล้านนา) กับเมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์) เมืองแหง เป็นเมืองกึ่งกลางเส้นทางตามลำน้ำ แม่แตง มีพื้นที่ราบที่กว้างใหญ่ เหมาะแก่การเพาะปลูกและสะสมเสบียงให้กับกองทัพในยุคนั้น ที่นี่จึงมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย อาทิ • เคยเป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าบุเรงนอง ที่ทรงกรีธาทัพทหาร 90,000 นาย มายึดเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2101 • จากตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ช่วงสุดท้าย ที่ว่าพระองค์เดินทัพผ่านเมืองแหง เพื่อไปตีกรุงอังวะแต่ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน) บางตำนานก็ว่าสิ้นพระชนม์ที่เมืองแหง (เวียงแหง) • เป็นเส้นทางเดินทัพของ 19 เจ้าฟ้าไทใหญ่ ทหาร 60,000 นาย ที่พระเจ้าบุเรงนองส่งมาช่วยเมืองพิษณุโลก ตามคำขอของขุนพิเรนทรเทพ เนื่องจากทางล้านช้างยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลกในปี 2108 • เป็นเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงยกทัพทหาร 100,000 นาย มุ่งไปยึดเมืองนายกลับคืน และตรงไปทำลายพระเจ้ากรุงอังวะในปี 2148 • เป็นเส้นทางหลบหนีของเนเมียวสีหบดี ขุนศึกพม่าผู้พิชิต 3 อาณาจักร คือ ล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา หลังจากถูกกองทัพพระเจ้าตากขับไล่ออกจากเมืองเชียงใหม่ในปี 2317 • เป็นเส้นทางรับเจ้าเมียนมาร์ มาเมืองเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ปี 2408 สักการะข่วงอนุสรณ์ สมเด็จพระนเรศวร หลังลงจากเขาก่อนถึงตัวเมืองเวียงแหง เราจะพบกับข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ควรแวะสักการะเป็นที่แรก เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขนาด 1 เท่าครึ่ง ขององค์จริง ในท่าทรงนั่งหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ โดยที่มือซ้ายทรงพระแสงดาบ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระองค์ทรงเสียสละกอบกู้เอกราชให้เราเป็นไทยมาจนทุกวันนี้ชาวเมืองเวียงแหงเชื่อว่า การสักการะท่านจะทำให้การเดินทางราบรื่นปลอดภัย พระธาตุแสนไห กับตำนานศักดิ์สิทธิ์ เวียงแหง มีวัดเก่าแก่อีกแห่ง เป็นที่เคารพสักการะของชาวเวียงแหง ชาวบ้านเชื่อกันว่า ในปี 2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาพักทัพบริเวณนี้ และได้บูรณะพระธาตุ ร่วมกันกับชาวบ้าน ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอังวะ ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตพระพุทธเจ้า และพระอานนท์ได้เดินทางมาพักแรม ณ บริเวณนี้ โดยมีชาวกะเหรี่ยงนำอาหารมาถวายกับแตงโม พระอานนท์ได้นำแตงโมไปถวายพระพุทธเจ้า โดยทิ้งเปลือกลงในแม่น้ำ ต่อมาแม่น้ำแห่งนี้ ได้ชื่อว่า “แม่น้ำแตง” ซึ่งเรียกขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยแตงโม ฟันได้กะเทาะออก และกะเทาะภาษาเหนือ เรียกว่า “แหง” พระพุทธเจ้าจึงได้มอบพระทนต์ให้แก่ชาวกะเหรี่ยงเพื่อเป็นทาน ต่อมาเมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแหง” จากนั้นจึงได้นำพระทนต์บรรจุ และสร้างสถูปครอบไว้ จนเป็นพระธาตุแสนไหในปัจจุบัน บ้านเปียงหลวง ความหลากหลายชาติพันธุ์ หากเราขับรถมุ่งหน้าสู่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ บ้านเปียงหลวงจะเป็นหมู่บ้านสุดท้าย ที่นี่อากาศจะเย็นสลับฝนตลอดทั้งปี เนื่อง จากมีภูเขา ป่าไม้ค่อนข้างมากและสมบูรณ์ และที่นี่เองยังติดเขตชายแดนบ้านหลักแต่ง ติดกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งในอนาคตที่นี่อาจเปิดการค้าเสรีเชื่อมทั้ง 2 ชาติ ครอบคลุมในหลายๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ และการคมนาคม บ้านเปียงหลวงเป็นเมืองที่มีความเจริญ และเงียบสงบในเวลาเดียวกัน เป็นเมืองของคนหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้คนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่การมาเยือนที่นี่เมืองเดียวคล้ายกับเยือนหลายประเทศ สังเกตได้จากวัดของที่นี่เป็นศิลปะแบบเมียนมาร์ โบสถ์ของวัดจะเป็นลักษณะคล้ายบ้านไม้ยกสูง ส่วนบ้านเรือนก็คล้ายลักษณะบ้านของชาวจีนยูนนาน เป็นต้น วัดฟ้าเวียงอินทร์ สุดเขตประเทศไทย เราเดินทางต่อไป “วัดฟ้าเวียงอินทร์” ที่อยู่สุดเขตประเทศไทย วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2400 เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์พิเศษ คือ เป็นวัดเดียว แต่มี 2 แผ่นดิน ครึ่งหนึ่งอยู่ไทย อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในเมียนมาร์ โดยมีเจดีย์อยู่ฝั่งไทย แต่โบสถ์อยู่ฝั่งเมียนมาร์ เราสามารถมองเห็นได้จากบริเวณจุดชมวิวด้านบน นอกจากนั้นด้านหน้าของจุดชมวิว ยังเป็นสุสานของนายพลโมเฮง อดีตผู้นำชาวไทใหญ่ ผู้ที่ยอมเสียสละแขนของตัวเองเพื่ออุดมการณ์ สถาปัตยกรรมของที่นี่จะเป็นแบบไทใหญ่ ด้านหลังของเจดีย์จะมีศาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ ซึ่งชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งไทย หรือฝั่งเมียนมาร์ก็ให้ความเคารพนับถือกันมาก ดื่มด่ำธรรมชาติ ที่น้ำตกแม่หาด ในอำเภอเวียงแหง ยังมีน้ำตกแม่หาด เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่อุดมสมบูรณ์ ให้เราได้เล่นน้ำเพื่อคลายความร้อนกันอีกด้วย น้ำตกแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ บ้านแม่หาด อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีทั้งหมด 4 ชั้น ความสูงประมาณ 40-50 ม. น้ำตกแม่หาด ปัจจุบันมีการทำถนนคอนกรีท รถยนต์สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ถ้าใครพอมีเวลา สามารถเข้ามาเที่ยวชมธรรมชาติที่นี่ได้ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ห้ามพลาด อีกแห่งหนึ่งของอำเภอเวียงแหง โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ขอขอบคุณ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อพาหนะในการเดินทาง
บทความแนะนำ