รายงาน(formula)
มอเตอร์เวย์ใหม่ มีกี่สาย ไปถึงไหนแล้ว ?!?
กรมทางหลวงได้พัฒนาแผ่ขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ เส้นทางใหม่ ออกสู่ภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ละสายมีความคืบหน้าอย่างไร สร้างไปถึงไหนแล้ว ใช้งานได้เมื่อไร ? มาเชคกันที่นี่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) มอเตอร์เวย์สายนี้ เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ขนาด 4-6 ช่องจราจร เชื่อมต่อเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มต้นจาก อ. บางปะอิน จ. พระนครศรีอยุธยา ไปสิ้นสุดที่ จ. หนองคาย โดยจะก่อสร้างช่วง บางปะอิน-นครราชสีมา เป็นช่วงแรก ระยะทางประมาณ 196 กม. ทางหลวงพิเศษสายนี้ทอดขนานไปกับถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพ ซึ่งเมื่อเทศกาลสงกรานต์ 2564 มีการเปิดให้ประชาชนได้ใช้ เส้นทางช่วงปากช่อง-สีคิ้ว ฟรีชั่วคราว กำหนดเปิดบริการเต็มรูปแบบประมาณปี 2565 ค่าธรรมเนียมช่วง 5 ปีแรก หากวิ่งตลอดเส้นทางจากด่านขามทะเลสอมาถึงด่านบางปะอิน หรือจากด่านบางปะอินไปสิ้นสุดที่ด่านขามทะเลสอ จ. นครราชสีมา รถยนต์ 4 ล้อ 240 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 380 บาท และรถยนต์ที่เกิน 6 ล้อขึ้นไป 550 บาท ทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่กำลังก่อสร้าง มีเส้นทางเชื่อมต่อ จ. นนทบุรี กับจังหวัดทางภาคตะวันตก โดยเริ่มต้นที่ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ จุดตัดของถนนกาญจนา-ภิเษกกับถนนรัตนาธิเบศร์ (บริเวณหน้าห้างเซนทรัลเวสต์เกท) ช่วง อ. บางใหญ่ จ. นนทบุรี และเชื่อมต่อจากถนนรัตนาธิเบศร์มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ จ. นครปฐม ผ่าน อ. พุทธ-มณฑล อ. นครชัยศรี อ. เมืองนครปฐม จากนั้นเข้าสู่ อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี ก่อนที่จะเข้าสู่ จ. กาญจนบุรี ที่ อ. ท่ามะกา และสิ้นสุดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324 ที่ อ. ท่าม่วง ระยะทางประมาณ 96 กม. ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้ว 50 % เร็วกว่าแผนงาน ราว 6 % โดยมีการแก้ไขรูปแบบงานสะพานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมชลประทาน และเพิ่มงานโครงสร้างชะลอการทรุดตัวบริเวณคอสะพาน คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2566 การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง เป็นแบบระบบปิด คิดตามระยะทางที่ใช้จริง โดยวิธีจัดเก็บมีทั้งแบบเงินสด และแบบอัตโนมัติ รถยนต์ 4 ล้อ 150 บาท รถยนต์ 6 ล้อ 240 บาท รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 350 บาท (ค่าผ่านทางสูงสุดตลอดเส้นทาง) ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว) แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อได้โดยตรงกับโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสิ้นสุดที่บริเวณเขตพื้นที่ อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 25 กม. มีด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง คือ ด่านพันท้ายนรสิงห์, มหาชัย 1, มหาชัย 2, สมุทรสาคร 1, สมุทรสาคร 2, บ้านแพ้ว โดยในระยะแรกจะดำเนินการก่อสร้างช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้วก่อน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพระรามที่ 2 โครงการทางพิเศษ ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ตามกำหนดการเดิมคาดว่าจะสร้างเสร็จทั้งหมดในปี 2566 แต่เนื่องจากมีปัญหาในการประมูล ทำให้คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2567 ตอกเสาเข็ม ! โครงข่ายสู่ภาคใต้ โครงการสายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี 2560-2579 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทาง และการขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงสู่ภาคใต้ของประเทศ โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ • ช่วงที่ 1 บางขุนเทียน-เอกชัย เริ่มต้นบริเวณ กม. 9+731 ในเขตพื้นที่ จ. สมุทรสาคร กม. 20+295 ระยะทาง 10.564 กม. เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้น-ลง จำนวน 2 แห่ง คือ ด่านพันท้ายนรสิงห์ และด่านมหาชัย 1 โดยเก็บค่าผ่านทางแบบคิดตามระยะทาง (ระบบปิด) ปัจจุบันกรมทางหลวงกำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จประมาณปี 2565 • ช่วงที่ 2 เอกชัย-บ้านแพ้ว ส่วนนี้กรมทางหลวงจะเปิดประมูลให้เอกชนมาก่อสร้าง และรับสัมปทานเก็บค่าผ่านทางตลอดสาย เริ่มต้นบริเวณ กม. 20+295 ในเขตพื้นที่ อ. เมืองสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณ กม. 36+645 ในเขตพื้นที่ อ. บ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร รวมระยะทาง 16.4 กม. โดยเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีทั้งหมด 6 ด่าน ได้แก่ ด่านมหาชัย 1, ด่านมหาชัย 2, ด่านสมุทรสาคร 1, ด่านสมุทรสาคร 2, ด่านบ้านแพ้ว และด่านพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น (M-FLOW) ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการเตรียมการ การจัดเก็บค่าผ่านทางจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริงจากต้นด่านถึงปลายทาง รถยนต์ 4 ล้อ ค่าแรกเข้า 10 บาท เพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาท/กม. โดยหากวิ่งจากกรุงเทพฯ ถึงบ้านแพ้วจะตกประมาณ 64 บาท, รถยนต์ 6 ล้อค่าแรกเข้า 16 บาท เพิ่มตามระยะทาง 3.2 บาท/กม. และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ ค่าแรกเข้า 23 บาท เพิ่มขึ้นตามระยะทาง 4.6 บาท/กม. คาดว่า ทั้ง 2 ช่วงจะพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในต้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้การเดินทางลงใต้ของพี่น้องประชาชนสะดวกสบายยิ่งขึ้น และเพิ่มความสมบูรณ์ให้โครงข่ายเส้นทางคมนาคมของไทย เส้นทางที่เปิดให้บริการปัจจุบัน มอเตอร์เวย์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2541 และ 2542 ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางที่สร้างเสร็จ และเปิดบริการแล้ว 2 สายทาง คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด (กรุงเทพฯ-บ้านฉาง) มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง 12 ด่าน คือ ด่านฯ ลาดกระบัง บางบ่อ บางปะกง พนัสนิคม บ้านบึง บางพระ หนองขาม โป่ง พัทยา ห้วยใหญ่ เขาชีโอน และอู่ตะเภา รวมระยะทาง 149 กม. อีกสายทาง คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เส้นทางสายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง 2 ด่าน คือ ด่านฯ ธัญบุรี และด่านฯ ทับช้าง รวมระยะทาง 64 กม. *ตรวจสอบสภาพเส้นทาง และรายละเอียดเพิ่มเติม/สายด่วนกรมทางหลวง 1586, สายด่วนมอเตอร์เวย์ 1586 กด 7 และตำรวจทางหลวง 1193 ทางหลวง 5 ประเภท ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พศ. 2549 ได้แบ่งทางหลวงในประเทศไทย ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้ 1. ทางหลวงพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ • เป็นทางหลวงที่สร้างขี้นเพื่อให้การจราจรผ่านตลอดอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา 2. ทางหลวงแผ่นดิน • เป็นทางหลวงสายหลักเชื่อมระหว่าง ภาค จังหวัด อำเภอ รวมถึงสถานที่สำคัญ กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา 3. ทางหลวงชนบท • ตัวอักษรย่อในป้าย บอกถึงจังหวัดที่ตั้งของสายทางนั้นๆ เช่น นบ. หมายถึง ทางหลวงชนบทที่อยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี หรือ ชบ. หมายถึงทางหลวงชนบทที่อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี เป็นต้น 4. ทางหลวงท้องถิ่น • เป็นทางหลวงที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ตำบล หรือเทศบาล 5. ทางหลวงสัมปทาน • เป็นทางหลวงที่กรมทางหลวงให้สัมปทานแก่เอกชน ปัจจุบันกรมทางหลวงมีทางหลวงสัมปทาน 1 สาย คือ ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เฉพาะช่วงทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ/อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)