ปัญหาแบทเตอรีเสื่อม เป็นเรื่องปกติที่คนใช้รถต้องพบเจอ เนื่องจากแบทเตอรีมีอายุเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น หากอายุถึงกำหนด หรือมีอาการเครื่องยนต์สตาร์ทติดยาก แนะนำให้เปลี่ยนทันที DIY…คุณทำเองได้ ฉบับนี้ มีวิธีเปลี่ยนแบทเตอรีแบบสำรองไฟ เพื่อไม่ให้ไฟหายจากระบบหน้าที่ของแบทเตอรี แบทเตอรีทำหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่สะสมพลังงานไฟฟ้าไว้สำหรับการสตาร์ทเครื่องยนต์ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์ต่างๆ ตอนเครื่องยนต์ดับ เป็นแหล่งพลังงานสำรองเมื่อใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างพร้อมกัน จนกระแสไฟที่ใช้เกินกว่ากระแสไฟที่ไดชาร์จผลิตได้ และสุดท้าย จ่ายกระแสไฟให้อุปกรณ์ไฟฟ้าแม้จะดับเครื่องแล้ว เช่น ระบบกันขโมย ระบบลอคประตูไฟฟ้า หน่วยความจำวิทยุ เป็นต้น ชนิดของแบทเตอรี แบทเตอรี แบ่งแบบหยาบได้ 2 ชนิด 1. แบบตะกั่ว-น้ำกรด (LEAD-ACID BATTERY) หรือ “แบบเปียก” แบทเตอรีแบบนี้จะเก็บ และคายพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างตะกั่ว และน้ำกรด ทำให้เกิดความดันภายใน เลยต้องมีรูระบาย ทำให้ต้องหมั่นเติมน้ำกลั่นอยู่บ่อยๆ ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบหมุนวนไอระเหยจากน้ำกรด (MAINTENANCE FREE) ไอที่ถูกดันออกจะวนกลับที่เดิม ทำให้ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น 2. “แบบแห้ง” มักนิยมใช้ในเมืองหนาว ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แต่มีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับแบบเปียก ทำไมต้องเปลี่ยนแบบสำรองไฟ ? การเปลี่ยนแบทเตอรีแบบสำรองไฟ จะทำให้ระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์มีความต่อเนื่อง ไม่ขาดหายไปขณะเปลี่ยนแบทเตอรี เพื่อให้ผู้ใช้รถมีความสะดวก ไม่ต้องตั้งค่าต่างๆ ใหม่ เช่น ตั้งเวลาในรถ ตั้งช่องสถานีวิทยุในเครื่องเล่นวิทยุ เป็นต้น และที่สำคัญเป็นการป้องกันกล่องอีเลคทรอนิคในรถไม่ให้เกิดความเสียหาย อุปกรณ์ 1. ถุงมือ 2. แบทเตอรีลูกใหม่ 3. แบทเตอรีสำรองไฟ 4. สายพ่วงแบทเตอรี 2 เส้น 5. ประแจเบอร์ 10 ขั้นตอนเปลี่ยนแบทเตอรี แบบสำรองไฟ 1. นำประแจเบอร์ 10 คลายนอทเหล็กยึดแบทเตอรีออกเสียก่อน 2. คลายนอทบริเวณขั้วลบ และขั้วบวก แต่ยัง “ไม่ต้องถอดขั้วออก” 3. หนีบสายพ่วงขั้วบวกต่อกับแบทเตอรีสำรอง โดยขั้วลบต่อกับกราวน์ดรถยนต์ 4. ถอดขั้วแบทเตอรีขั้วลบออกก่อน ตามด้วยขั้วบวก แล้วยกแบทเตอรีลูกเดิมขึ้น 5. นำแบทเตอรีลูกใหม่ใส่ลงไป นำขั้วบวกเสียบก่อน ตามด้วยขั้วลบ ต้องเสียบให้แน่น 6. ถอดสายพ่วงกับแบทเตอรีสำรอง โดยทำย้อนทางเดิม โดยเริ่มต้นที่กราวน์ดเครื่องยนต์ 7. ใช้ประแจขันนอทที่ขั้วบวก และขั้วลบให้แน่น และใส่ตัวยึดแบทเตอรีให้เรียบร้อย 8. เชคความเรียบร้อยอีกครั้ง แล้วลองสตาร์ทเครื่องยนต์ดู เป็นอันเสร็จ