รอบรู้เรื่องรถ
รถทนทาน เพราะผู้สร้าง หรือเพราะผู้ใช้ (ตอนจบ)
ขอต่อเรื่องเดิมจากฉบับที่แล้วเลยนะครับ คันสุดท้ายนี้ไม่ใช่แค่เป็นที่หนึ่งของกลุ่มที่ผมคัดมาเป็นตัวอย่างนะครับ เพราะไม่ว่าจะจัดกลุ่มของประเทศไหน หรือจะรวมทุกประเทศทั่วโลก ถ้าเป็นการคัดจากรถเก๋ง ไม่ว่าจะแบ่งประเภทแบบไหนก็ตาม จะใช้ส่วนตัว หรือเชิงพาณิชย์ คันนี้จะได้ตำแหน่งชนะเลิศเสมอ ถ้าเรียกตามความนิยมแบบไทย ก็คือ “แชมพ์โลก” นั่นเองครับ และไม่ต้องบอกเป็นพิเศษด้วยว่า สำหรับยุคสมัยไหน สำหรับผมแล้ว น่าจะเรียกได้เต็มปากเลยว่า เป็นแชมพ์โลกแบบถาวร หรือตลอดกาลเลย ถ้าเริ่มสงสัยแล้ว ว่ารายใหม่ๆ เขาอาจจะเพิ่งเกิด แล้วมาลบสถิติของคันนี้ไม่ได้เชียวหรือ รออ่านประวัติพร้อมกับตัวเลขต่างๆ ก่อน แล้วคงจะเห็นด้วยกับผมอย่างแน่นอน
รถคันที่ว่านี้ คือ VOLVO (โวลโว) รุ่น P1800 (พี 1800) เป็นรถแบบ COUPE แท้ ตามคำจำกัดความ ไม่ได้ถูกใช้กันแบบผิดเพี้ยนเหมือนสมัยนี้ คือ เป็นรถ 2 ประตู หลังคาแข็งเป็นชิ้นเดียวกับตัวรถ เจ้าของชื่อ IRVING GORDON เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา IRVING ซื้อรถคันนี้ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี ไม่ทราบแน่ว่าพ่อแม่ร่ำรวยหรือเปล่า เพราะรถรุ่นนี้ในยุคนั้น ถือเป็นรถสปอร์ทหรู ผลิตในประเทศสวีเดน ที่ราคาสูงพอสมควร คือ 4,150 เหรียญสหรัฐฯ ถ้าไม่ได้รวยก็คงจะเพราะชอบอย่างมาก เพราะมูลค่าของมัน เท่ากับเงินเดือนทั้งปีที่เขาได้รับ IRVING ส่อแววที่จะครองสถิติโลกมาตั้งแต่วันแรกที่ได้รถ เพราะรับรถคันนี้จากร้านที่ขายตอนเย็นวันศุกร์ พอตื่นมาเช้าวันรุ่งขึ้นก็เริ่ม “จัดหนัก” ทันที ทั้งวันเสาร์ และอาทิตย์ เช้าวันจันทร์พนักงานขายที่เห็นรถนี้กลับเข้ามา คิดว่าคงจะมีปัญหาอะไรให้แก้ไข แต่กลับกลายเป็นการส่งรถเข้าตรวจสภาพที่ 1,000 ไมล์ (1,609 กม.) เพราะ IRVING ขับไป 1,500 กว่าไมล์ ในเวลาแค่ 2 วันเท่านั้น เนื่องจากเป็นคนที่ชอบขับรถ โดยเฉพาะการเดินทางไกลระดับข้ามเขตรัฐต่างๆ ที่สำคัญต้องมีเงินพอ และยินดีที่จะจ่ายค่าเชื้อเพลิงด้วย ตัวเลขบอกระยะทางของเจ้า P1800 คันนี้ จึงขึ้นพรวดพราดแบบไม่มีช่วงขาดตอนเลย ล่วงเข้าปี 1987 ตัวเลขในมาตรวัดระยะทางของรถคันนี้ ก็กลับมาตั้งต้นที่ศูนย์ใหม่เป็นครั้งที่ 9 (เพราะยุคนั้นยังไม่มีหลักแสน) เป็นระยะทางราวๆ 1,600,000 กม. ในเวลา 11 ปี เฉลี่ยปีละ 145,000 กม. หรือวันละประมาณ 400 กม. ไม่ได้มากมายเป็นพิเศษนะครับ สำหรับคนที่ชอบขับรถท่องเที่ยว และบังเอิญบ้านกับที่ทำงานอยู่ห่างกันพอสมควร แต่ล้านที่ 2 นี่น่าทึ่งพอสมควร เพราะใช้เวลาแค่ไม่ถึงครี่งของ “รอบแรก” IRVING เห็นเลขศูนย์เรียงกัน 5 ตัวครบเป็นครั้งที่ 19 ในปี 1992 เฉลี่ยแล้วขับไปวันละเกือบ 900 กม. ถือว่าหนักเอาการครับ ไม่มีในรายงานที่ไหนบอกไว้ ผมจึงต้องขอเดาเองว่า ผลงานมันเพิ่มขึ้นมาเป็น 2 เท่าตัวได้อย่างไร ผมเชื่อว่าน่าจะมีเหตุอยู่ 2 ประการ อย่างแรก คือ ความฮึกเหิมที่จะทำให้ถึงล้านที่ 2 โดยเร็วที่สุด ทั้งจากความรู้สึกส่วนตัว และจากการครองสถิติโลกเพิ่มเติม อย่างที่ 2 น่าจะเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทรถบแรนด์นี้ และบริษัทที่ผลิตน้ำมันหล่อลื่นบแรนด์ที่ IRVING ใช้อยู่ประจำ เพื่อขอนำไปใช้ในการโฆษณา แน่นอนครับว่าการสนับสนุนทำนองนี้ ย่อมไม่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ลดลง เกือบลืมบอกไปครับ ว่าเราจะเชื่อได้อย่างไร ว่าเลขบอกระยะทางมันกลับตั้งต้นใหม่ไปกี่ครั้งแล้ว แต่ละล้านไมล์ที่ว่าครบนี่ “แหกตา” เราหรือเปล่า ไม่มีปัญหาครับ มั่นใจได้ เพราะหลักฐานสำคัญอยู่ที่สมุดบันทึกการเข้ารับบริการ ที่จะต้องมีการประทับตรายืนยัน พร้อมทั้งวัน เดือน และปี อย่างชัดเจน โดยเฉพาะรายพิเศษอย่างนี้ ที่กำลังมุ่งมั่นกับการทำลายสถิติเดิม สามารถส่งหลักฐาน หรือนำรถไปให้กรรมการของสถาบัน GUINNESS ตรวจสอบเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอก็ได้ ส่วนล้านที่ 3 ครบในปี 2013 ใช้เวลา 11 ปี พอๆ กับล้านแรก ผมเดาว่าน่าจะเพราะอายุของคนขับที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะไม่มีใครสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงแล้ว หรือไม่ก็ทั้ง 2 เหตุด้วยกัน เมื่อผ่านหลักชัยที่ 3 ล้านไมล์ไปแล้ว IRVING น่าจะหมดความกดดันเรื่องการทำลายสถิติ เพราะคงเห็นว่า ทั้งอายุของตนเอง และสุขภาพ ไม่มีทางเป็นไปได้แน่ ในการทำระยะทางให้ได้ล้านที่ 4 และแค่สถิติ 3 ล้านไมล์นี่ ก็ไม่น่าจะมีใครมาลบล้างได้ และผมเองก็เชื่อเช่นนั้นครับ เพราะอะไรนั้น จะเฉลยในช่วงท้ายครับ
อีก 1 ปีต่อมา IRVING ขับท่องเที่ยวแบบ “สั่งลา” ตระเวนทั่วสหรัฐอเมริกาแบบไม่เน้นเรื่องเพิ่มระยะทาง คราวนี้จึงเพิ่มระยะทางขึ้นมาแค่ 40,000 ไมล์ บริษัท VOLVO เคยขอซื้อรถคันนี้ไปเก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ และยังใช้ในการโฆษณาได้ด้วย โดยให้ราคาสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาถึงตอนนี้จุดอ่อนของ “แชมพ์โลก” ก็ถูกเผยออกมา นั่นคือความโลภ IRVING ฉวยโอกาสตั้งราคาเป็น 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อระยะทาง 1 ไมล์ ใครจะยอมจ่ายเงินถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อรถคันนี้ครับ ถ้าผมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท VOLVO ผมว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ยังสูงเกินไป ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินซื้อมาเพื่อการโฆษณาเลย เพราะรถคันนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนผ่าน 2 ล้านไมล์ และก็มีคนติดตามกันเพิ่มขึ้นอีก ช่วงที่ใกล้จะครบ 3 ล้านไมล์ คงไม่มีคนใกล้ชิดกล้าไปกระซิบเตือน IRVING ด้วย ว่าเอาเงินติดตัวไปใช้หลังจากตายไม่ได้ ได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาง่ายๆ อย่างนี้ ก็ควรจะพอใจแล้ว อีก 4 ปีต่อมา IRVING ก็ลาจากโลกนี้ไปด้วยอายุ 77 ปี เลขระยะทางของ VOLVO คู่ชีพ หยุดอยู่ที่ 3.25 ล้านไมล์ ลูกหลานคงตัดพ้อกันในใจ ว่าปู่ ตา หรือพ่อ ของเขาไม่น่าโลภเลย น่าจะรับข้อเสนอตั้งแต่แรก เงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็จะเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลานได้ซาบซึ้ง และสุขสบายกันพอสมควรทีเดียว
ไม่ว่าจะไปแห่งหนใด ที่มีคนจำหน้าของเขาได้ IRVING จะต้องถูกขอให้เผยเคล็ดลับว่าดูแล และขับรถคันนี้ด้วยวิธีใด มันถึงได้อึดขนาดนี้ คำตอบหลักของเขาก็คือ “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องปฏิบัติทุกอย่างตามที่แนะนำไว้ในคู่มือสำหรับเจ้าของรถ” ไม่ได้เล่นลิ้น หรือบ่ายเบี่ยง เพื่อต้องการปิดบังอะไรทั้งสิ้นเลยนะครับ เพราะมันก็มีอยู่แค่นี้จริงๆ ด้วย ผมจะแยกเป็นหัวข้อเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย แล้วตอนท้ายเราก็จะได้เห็นกันเอง ว่ามันล้วนอยู่ในเนื้อหาที่ “คู่มือสำหรับเจ้าของรถ” แนะนำไว้นั่นเอง IRVING แนะนำไว้เป็นข้อดังนี้ครับ
1. เติมเชื้อเพลิงบแรนด์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเท่านั้น สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหานี้นะครับ ผมอยากจะเปลี่ยนเป็น พยายามเติมที่ปั๊มซึ่งน่าเชื่อถือเท่านั้น เท่าที่เคยพบ ไม่ค่อยขึ้นอยู่กับบแรนด์ แต่อยู่ที่ความซื่อตรงของเจ้าของปั๊มมากกว่า
2. ล้างรถตามโอกาสที่สมควร อย่าปล่อยให้รถสกปรก และเคลือบสีรถทุก 6 เดือน รถที่สกปรกเพราะคราบหนาของฝุ่น หรือโคลน เป็นแหล่งสะสมความชื้น และทำให้มีโอกาสเกิดสนิมง่ายขึ้น ถึงจะไม่เกี่ยวกับกลไกทั้งหลายในการขับเคลื่อน แต่ก็คงไม่มีใครอยากใช้รถยาวนาน ทั้งๆ ที่ตัวถังผุนะครับ ส่วนเรื่องเคลือบสีนั้น ไม่ได้หมายถึงการเคลือบแก้ว หรือเซรามิค ตามความนิยมในยุคนี้ ที่ราคาค่อนข้าง หรือไม่ก็สุดโหด ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีเลยนะครับ เขาหมายถึงการเคลือบด้วยผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาสีรถแบบทั่วไป เท่านั้นก็ดีพอแล้ว
3. ถ้าได้ยินเสียงผิดปกติขณะใช้งาน อย่าปล่อยปละเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต้องหาให้พบ หรือไม่ก็ส่งให้ช่างตรวจสอบหาเหตุ และแก้ไขให้สำเร็จ
4. สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ต่อช่างที่ซ่อมรถของเรา ข้อนี้เป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เขาซื้อรถคันนี้ เมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมานะครับ ไม่น่าที่พวกเราจะเลียนแบบได้ ในยุคที่ศูนย์บริการไม่ให้โอกาสเจ้าของรถวิสาสะกับช่างที่ซ่อม จะใช้ได้เฉพาะกับการซ่อมโดย “อู่อิสระ” เท่านั้น ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวของผม ไม่แนะนำให้ทำ หากต้องการใช้รถในสภาพดีเยี่ยม เป็นเวลายาวนาน โดยไม่เปลี่ยน ต้องใช้บริการของศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของบแรนด์รถของเราเท่านั้นครับ นี่ผมดูหมิ่นฝีมือ ความสามารถ และความรู้ของ “ช่างข้างนอกศูนย์ฯ” ขนาดนี้เชียวหรือ เปล่าเลยครับ เพราะผมเองเคยดูแลงานซ่อมรถทั้งใน และนอกศูนย์ฯ มาแล้ว มันมีข้อจำกัด และอุปสรรคหลายอย่างด้วยกัน ต้องขอผลัดไปชี้แจงเรื่องนี้อย่างละเอียด ในช่วงหน้าร้อนปีหน้านะครับ เพราะเนื้อที่ไม่พอจริงๆ
5. ใช้แต่อะไหล่แท้ของผู้ผลิตรถเท่านั้น ส่วนเขาจะหามาจากไหน ผลิตในประเทศใด ไม่ต้องไปสนใจ หรือสืบเสาะครับ เพราะเขาต้องตรวจสอบ และประเมินแล้วว่าคุณภาพสูงพอ ซึ่งก็ย่อมจะทนทานแน่นอน และนี่ก็เป็นหนึ่งในหลายสาเหตุ ที่ควรส่งรถเข้าซ่อมในศูนย์บริการอย่างเป็นทางการ ของบแรนด์รถของเรา
6. สละเวลาสัปดาห์ละครั้ง เพียงไม่กี่นาที เพื่อตรวจระดับของเหลวต่างๆ เช่น น้ำหล่อเย็น น้ำมันเครื่อง น้ำฉีดกระจก ท่อน้ำ สายพาน ข้อนี้ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่เจ้าของรถต้องปฏิบัติเสมอครับ ถึงแม้จะไม่ได้ต้องการให้รถทนทานเป็นพิเศษก็ตาม
7. ใช้น้ำมันเครื่องรุ่นเดียว และบแรนด์เดียวเท่านั้น ซึ่งผมเห็นด้วย เพราะถ้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบไม่เกี่ยง ย่อมมีโอกาสที่จะโดนน้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำเข้าจนได้ แต่ถ้าเข้าศูนย์บริการตามที่กำหนดไว้ในคู่มือ และมีศูนย์ฯ ที่ใช้บริการประจำ ก็ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
ข่าวดีสำหรับเจ้าของรถที่ทำใจไม่ค่อยได้ กับราคาของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ที่สูงเกินไปจริงๆ ในความเห็นของผม ซึ่งพอรู้ต้นทุนของน้ำมันเครื่องพวกนี้อยู่บ้าง มันเป็นเสมือนการ “ฮั้ว” ที่ไม่ได้ทำจริง เพียงแค่ทุกรายต่างพร้อมใจกันโก่งราคาเท่านั้น ความซวยจึงตกอยู่ที่พวกเราครับ บรรดารถ “ล้านไมล์” พวกนี้ ล้วนใช้น้ำมันเครื่องชั้นดี ที่ไม่ใช่น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ นอกจากนี้ผมยังมีข้อมูลจากรถในทวีปยุโรป ที่เครื่องยนต์ทนทานระดับทำสถิติ ทุกคันล้วนใช้น้ำมันเครื่องบแรนด์ระดับสูง แต่ไม่พบแม้แต่คันเดียว ที่ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ เสียดายที่ไม่มีข้อมูลจากความเห็นของเจ้าของรถ ถ้าจะให้ผมเดาเอง น่าจะเป็นเพราะบรรดานักใช้รถทนทานเหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่รู้ค่าของเงิน (ไม่อย่างนั้นคงเปลี่ยนรถคันใหม่กันไปแล้ว) คนประเภทนี้คงจะรับไม่ได้กับราคาเกินควรของน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ และในคู่มือฯ ของผู้ผลิตรถ ก็ล้วนแนะนำว่า น้ำมันเครื่อง “ธรรมดา” ก็ดีพอแล้ว ขอให้ค่าความหนืดเหมาะสมกับอุณหภูมิของอากาศ ที่รถนั้นถูกใช้งานเท่านั้นเองครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ