รอบรู้เรื่องรถ
สารพันความเห็น เรื่องรถคลาสสิค ตอนที่ 2
ยังคงเหลือข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้รถคลาสสิคอยู่อีกหลายข้อด้วยกันครับ และผมคงขอใช้แนวเดิมในการให้ความเห็น คือ ไม่เรียงลำดับความสำคัญ เพราะเรื่องใหญ่ของคนๆ หนึ่ง อาจเป็นเรื่องเล็กของคนอื่นก็ได้ กระแสเรื่องรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน กำลังแพร่ไปในหมู่ผู้ใช้รถส่วนหนึ่ง ที่เชื่อว่าการทำอะไรใหม่ตามความนิยม มันเป็นความพิเศษ ที่คงจะได้รับ
ความชื่นชมจากใครก็ตามที่ได้รับรู้ ผมว่าเป็นการคิดไปเองมากกว่า คนที่รอบคอบจะต้อง “ตั้งหลัก” แล้วพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน ไม่มีอะไรที่ต้องรีบเลย นี่หมายถึง รถใหม่นะครับ ส่วนรถคลาสสิค ต้องยิ่งกว่านี้ไปอีก คือ ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ควรรอให้อาการ “ฝุ่นตลบ” จากการรีบผลิต รีบขาย และรีบพัฒนารถไฟฟ้ารุ่นใหม่ มันจางลงไปก่อน หมายความว่าเมื่อถึงช่วงเวลานั้น คุณภาพ และความไว้วางใจได้ของระบบต่างๆ ในรถไฟฟ้า จะมีพอแล้ว และสภาวะ “หนูลองยา” ของพวกเราซึ่งเป็นลูกค้า น่าจะเกือบหมดแล้ว ถึงจะหน้าเริ่มสำรวจ “ตลาด” ของชุดดัดแปลง ที่เปลี่ยนระบบขับเคลื่อน จากการใช้เครื่องยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรี เพราะผู้ที่จะผลิตชุดดัดแปลงที่ว่านี้ออกมาขาย ก็ต้องอาศัยการเลียนแบบระบบนี้ในรถรุ่นใหม่นี่แหละ เพียงแต่ลดระดับความซับซ้อนลงไปค่อนข้างมาก
แม้ว่าจะถึงช่วงเวลานั้นแล้ว ผมก็ยังอยากให้ทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ถ้าจะเปลี่ยนระบบ เพราะคิดว่ามันเป็นของดีกว่าสำหรับรถคลาสสิคล่ะก็ ไม่ใช่อย่างแน่นอน คุณค่าของรถจะด้อยลงไปอย่างมาก พูดอย่างหยาบๆ ผมว่าเหลือไม่ถึงครึ่งครับ ยกเว้นว่า ต้องการใช้รถนั้นประจำวัน และหาอะไหล่เพื่อซ่อมเครื่องยนต์เดิมไม่ได้จริงๆ แบบนี้คงต้องยอมแล้ว ถ้าเหตุผลของเราเพียงพอตามที่ว่ามานี้ และเราพอใจกับรูปลักษณ์ภายนอกของมันเท่านั้น ก็ไม่ต้องไปสนใจการตำหนิของใครทั้งนั้นครับ เพราะเท่าที่ผมเห็นในสังคมไทยยุคนี้ ที่จะติติงกันด้วยความหวังดีนั้น หายากมาก ส่วนใหญ่แล้วมาจากความริษยา แนว “ไหนๆ เราก็ไม่มีเหมือนมัน แกล้งติให้มันเซ็ง และหมดกำลังใจไปเลยดีกว่า”
สำหรับผู้ที่จะบูรณะรถคลาสสิคให้ “สมบูรณ์แบบ” เพราะมีทุนอยู่พร้อม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหาช่าง หรือจะเรียกรวมว่าอู่ก็ได้ที่ฝีมือดีพอ ต้องยอมเสียเวลากับการเสาะหา หรือสืบค้นครับ อย่าฟัง และเชื่อความเห็นของใครเพียงรายเดียว เพราะถ้าผิดพลาดในเรื่องนี้แล้ว ผมรับรองได้ว่า เราจะไม่มีวันได้รถในสภาพที่คาดหวังไว้เลย ยังไม่รวม “ของแถม” ที่หนักหนายิ่งกว่า คือ ความเครียดจากความผิดหวัง ความเสียดายเงิน หรืออาจจะถึงขั้นต้องฟ้องร้องถึงศาลกันเลย วิธีที่ดีที่สุด คือ การสมัครเป็นสมาชิกของชมรมรถบแรนด์เดียวกับรถของเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลเสมอไปนะครับ ต้องโชคดีด้วย เช่น ประธานหรือหัวหน้ากลุ่ม เป็นคนดี ใจกว้าง พร้อมที่จะช่วยเหลือสมาชิก ไม่ใช่แค่เป็นเพื่อให้ได้หน้า หรือเอาไว้โม้โอ้อวด เราจะได้ความรู้และข้อมูลว่ามีอู่ไหนบ้างที่มีฝีมือระดับที่เราต้องการ และคิดค่าบริการแบบสมเหตุผล
แล้วเจ้าของรถควรจะต้องการฝีมือในการบูรณะระดับไหน ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับข่าวสารในวงการรถคลาสสิคของต่างประเทศ จะต้องคุ้นเคยกับประโยคนี้ ในการบรรยายสภาพของรถที่เจ้าของประกาศขาย ว่า “BETTER THAN NEW” ซึ่งหมายความถึงสภาพของรถ หลังจากเสร็จสิ้นการบูรณะ ดีกว่าสภาพของรถคันนี้เมื่อถูกผลิตเสร็จสิ้นในโรงงาน และพร้อมที่จะส่งมายังตัวแทนจำหน่าย โม้เกินจริงหรือเปล่า ฝีมือดีกว่าผู้ผลิตดั้งเดิมได้ด้วยหรือ
ได้แน่นอนครับ เพราะขึ้นชื่อว่ารถคลาสสิคของพวกเรา ย่อมถูกผลิตเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ในสมัยนั้นเครื่องมือในการผลิต ยังไม่มีความละเอียด และแม่นยำเท่าปัจจุบัน มาตรฐานในการผลิตรถยุคนั้น จึงต่ำกว่าสมัยนี้มาก และในเมื่อช่างซ่อมตัวถังยุคนี้ จำเป็นต้องซ่อมรถที่ถูกผลิตอย่างละเอียด ที่พวกเราใช้กันอยู่ หลังเกิดอุบัติเหตุ ให้กลับมาอยู่ในสภาพเสมือนใหม่ได้ ย่อมหมายความว่า ด้วยฝีมือระดับที่ว่านี้ ตัวรถคลาสสิคของเราหลังการบูรณะ จึงควรมีความละเอียด แม่นยำ และสวยงาม กว่าตอนที่รถนี้ออกจากโรงงานที่ผลิตในอดีต และผมขอแนะนำให้ตั้งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด ในการตกลงว่าจ้างบูรณะไว้เลยครับ อย่ายอมรับข้ออ้างที่ว่า ของเดิมหรือของแท้ “ก็ถูกทำมาห่วยอย่างนี้แหละ”
เรื่องสีของตัวถัง ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ว่าต้อง (หรือควร) เป็นสีเดิมของรถคันนั้น ตั้งแต่ออกจากโรงงานเลยหรือไม่ และก็ไม่เคยมีบทสรุปเป็นชิ้นเป็นอันกันเลย จากการวิเคราะห์ปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ผมเชื่อว่ามาจากการที่ ทั้งสองฝ่ายขาดข้อมูลที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ รถคลาสสิคดั้งเดิม ที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายโดยตัวแทนในประเทศเรา มีเพียงไม่กี่สีเท่านั้น และมีความเข้าใจผิดในวงการเจ้าของ และผู้ที่ชอบรถคลาสสิค ว่าล้วนเป็นสีที่ “เข้า” หรือเหมาะกับรถรุ่นนั้นๆ ซึ่งไม่มีมูลความจริงแม้แต่นิดเดียวครับ การที่พวกเราได้เห็นหรือรับรู้กันว่ารถคลาสสิคดั้งเดิมในเมืองไทย มีเพียง 4 ถึง 5 สี เท่านั้น โดยประมาณ ไม่ใช่สีที่ผู้ผลิตเขาเห็นว่าสวย หรือเหมาะกับรถเลยนะครับ แต่เป็นเพียงไม่กี่สีที่เจ้าของตัวแทนจำหน่าย และหุ้นส่วน หรือไม่ก็ให้ผู้จัดการมาร่วมด้วย เขาพยายามคัดเลือกอย่างเต็มที่ จากตัวอย่างสีที่ผู้ผลิตจัดมาให้เลือก (จากตัวอย่างที่ผมสุ่มนำมาให้ดู ก็นับได้ถึง 184 สี) โดยหวังว่าลูกค้าชาวไทยเราเห็นแล้ว จะชอบถึงขั้นอยากซื้อ
สาเหตุมีอยู่เท่านี้เองครับ ในมุมมองของผู้ผลิตรถ เขาไม่ได้สนใจเลย ว่าสีอะไรบ้างที่พ่นรถของเขาแล้วจะ “สวย” ต้องการเพียงให้รองรับความต้องการที่หลากหลายมากที่สุด สีสำหรับลูกค้าที่เข้าข่าย “บ้า” หรือ “เพี้ยน” แค่ไหน ต้องมีพร้อมหมด เช่น สีอิฐ สีโคลน สี “เปลือกกล้วยเริ่มเน่า” สี “ผิวช้ำเลือดช้ำหนอง” สีเนยถั่ว สี MUSTARD ฯลฯ ขอแค่อย่าให้ถึงขั้นที่ลูกค้าหาไม่เจอ แม้กระทั่งสีที่ใกล้เคียงกับที่ชอบ แล้วหันไปซื้อรถบแรนด์อื่นแทนเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นรถยุคนี้ ที่เป็นรถหรู หรือรถสปอร์ทราคาสูง เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ เพราะคู่แข่งระดับทัดเทียมกัน หรืออย่างน้อยก็หนึ่งบแรนด์ ที่เรียกกันว่า “คู่กัด” กรณีนี้ถ้าเป็นคันที่จะขึ้นเวทีในพิธี “เปิดตัว” เรื่องสีของตัวรถ จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ผู้ผลิตจะเฟ้นหาสีที่น่าจะสวยที่สุด ที่เข้ากันได้ดีกับขนาด และรูปทรงของรถ กับรสนิยมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เช่น FERRARI ROMA (แฟร์รารี โรมา) สีเทาหรือน้ำตาล McLAREN ARTURA (แมคลาเรน อาร์ทูรา) สีเขียว LOTUS EMIRA (โลทัส เอเมียร์อา) สีขาว และบางครั้งสีเป็นที่รู้กันว่า “แย่มาก” เช่น สีชมพู ถ้าใช้กับรถที่รูปทรงดี และเป็นรุ่นที่พิเศษ สร้างน้อย ราคาสูง สำหรับ
ลูกค้าอายุน้อยแต่เงินมาก ก็สวยจริงได้เหมือนกัน เช่น สีม่วงปนชมพู ของ PORSCHE CARRERA RS (โพร์เช คาร์เรรา อาร์เอส) รหัสตัวรถ 964
บทสรุปของสิ่งที่ผมกล่าวมานี้ก็คือ ความเชื่อที่ส่งต่อกันมายาวนาน ว่าสีดั้งเดิมจากโรงงาน (หรือที่พ่นใหม่ให้เหมือนเดิม) ของรถคลาสสิคในประเทศไทยเท่านั้น ที่จะทำให้รถนั้นๆ สวยหรือ “ดูดี” เป็นเรื่องไร้สาระทั้งสิ้นครับ ใครพอใจสีไหน ได้ทั้งนั้นครับ และผมเชื่อว่า เมื่อเลือกสีใหม่ได้แล้ว ถ้าลองเอามาเทียบกับตัวอย่างสีมากมายที่ผู้ผลิตเขามีให้เลือก จะต้องเจอสีที่เกือบเหมือนสีใหม่ ที่เราเลือกตามใจชอบนี้อย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นรถที่จะส่งเข้าประกวด โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่กรรมการเขามีข้อมูลอย่างละเอียดครบถ้วน แบบนี้ก็ต้องรักษาสีดั้งเดิมไว้ครับ แม้จะพ่นใหม่ก็ตาม ถึงจะเปลี่ยนสีใหม่เป็นสีอื่น ที่โรงงานมีให้เลือกตอนสั่งซื้อ ก็ไม่ได้นะครับ เพราะถ้าสีรถของเรา ไม่ตรงกับที่บ่งไว้ในใบส่งมอบรถ จะถูกตัดคะแนนทันที
อีกปัญหาที่เป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน โดยหาข้อยุติไม่ได้ คือ ความพร้อมของรถคลาสสิค ในการถูกใช้งาน (ไม่ใช่คุณภาพของรถหลังการบูรณะ ซึ่งผมได้ชี้แจงไว้ข้างบนนี้แล้วนะครับ) พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องบำรุงรักษา หรือบูรณะรถคลาสสิคของเราให้สมบูรณ์ระดับขับใช้งานได้เลยหรือไม่ ไม่ว่าจะมีความเห็นของกี่ฝ่าย หรือกี่ “ค่าย” ก็ตาม ไม่มีฝ่ายไหนที่ผิดครับ แล้วแต่จุดประสงค์ และเงื่อนไขของเจ้าของรถเป็นกรณีไป ว่าจะดูแล หรือบูรณะให้สมบูรณ์ ทั้งภายนอก และภายใน แต่เครื่องยนต์ และระบบเบรค ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะเจ้าของต้องการมีไว้จอดดูอย่างเดียว หรือจะลงทุนเต็มที่ ให้รถนั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ต่างจากตอนที่รถนั้นออกมาจากโรงงานที่ผลิต
เป็นตัวอย่างสองขั้วที่ผมตั้งใจยกมาให้ดูแนวอื่นๆ ก็จะต้องตกอยู่ระหว่างสองแบบนี้แหละครับ เช่น ติดเครื่องได้ แต่เกียร์ยังชำรุด ส่วนตัวผมเองอยู่ในฝ่ายหลังครับ คือ รถคลาสสิคของผมทุกคัน ต้องพร้อมใช้งานได้แบบปกติเสมอ (เป็นความเห็นหรือความชอบส่วนตัว ที่ไม่จำเป็นต้องถือว่าถูกต้อง หรือดีกว่านะครับ) หมายความว่า มันจะต้องพร้อมถูกใช้งานได้ดี เทียบเท่ากับตอนที่มันเพิ่งถูกซื้อโดยเจ้าของแรก (ถ้าไม่ใช่ผม) นั่นเองครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ผมสามารถขับมันจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ และกลับมาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสียกลางทาง
เป็นการคาดหวังมากเกินไปไหมกับรถที่มีอายุ 50 ถึง 60 ปี ไม่เลยครับ แต่กลับตรงกันข้ามเสียอีก เพราะชิ้นส่วนอะไหล่ใหม่ ที่ถูกใช้แทนของเดิม ล้วนถูกผลิตด้วยกรรมวิธี และวัสดุ ที่ทันสมัยกว่าของเดิม ความทนทาน และความไว้วางใจได้ จึงเหนือกว่าของเดิมยุคก่อนเป็นอย่างมาก เช่น ปั๊มเชื้อเพลิง ปั๊มน้ำ ลูกหมาก บุชยาง สายพาน หลอดไฟส่องสว่าง ฯลฯ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ