วิถีตลาดรถยนต์
สวนได้ทุกเม็ด
เปรียบเทียบยอดจําหน่ายรถยนต์สะสม มกราคม-พฤษภาคม2022/2021
ตลาดโดยรวม +16.6 %
รถยนต์นั่ง +18.9 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) +14.1 %
กระบะ 1 ตัน +16.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ และรถประเภทอื่นๆ +11.7 %
เปรียบเทียบยอดจําหน่ายรถยนต์ เดือนพฤษภาคม 2022/2021
TOTAL VEHICLE/ตลาดโดยรวม +15.7%
SUV/รถกิจกรรมกลางแจ้ง +31.5%
กระบะ 1 ตัน +6.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ และรถประเภทอื่นๆ +17.1 %
ตลาดรถยนต์บ้านเรานี่น่าจะเรียกได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในปฐพีก็ไม่น่าจะเกินเลยจากความเป็นจริงไปสักเท่าไร เพราะไม่ว่าจะโดนคุกคามด้วยโรคระบาดระดับโลกอย่าง COVID-19 ที่ทำเอาเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วทุกมุมโลก หลายต่อหลายประเทศยังโงหัวไม่ขึ้น แต่บ้านเราหลังจากหลายๆ มาตรการทางสาธารณสุขที่ภาครัฐออกมาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเจ้าวายร้ายรายนี้อย่างได้ผล จนหน่วยงานระดับโลกยกย่องความยอดเยี่ยมของประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุขของไทยจนถึงทุกวันนี้ ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น อยู่ในช่วงฟื้นตัว ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจรากหญ้าจะยังได้รับผลกระทบอยู่บ้างก็ตาม และจากการที่ประชาชนปรับตัวให้เข้ากับการคงอยู่ของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้ตลาดซื้อขายรถยนต์ใหม่ยังคงเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เดือนพฤษภาคม 2565 ปัจจัยลบที่จะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกปัจจัยหนึ่งเริ่มก่อตัวขึ้น นั่นคือ ปัญหาในเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทุกคนรับรู้กันว่าเมื่อน้ำมันแพงขึ้น สินค้าทั้งอุปโภคบริโภคจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลถึงเรื่องของปากท้องเศรษฐกิจในครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น การซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในบ้านเราก็ยังไม่ถดถอยตามปัจจัยลบใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2565 ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา และยังเป็นการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแบบยกแผง คือ ทุกตลาดมีตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่รถยนต์ใหม่ป้ายแดงยังคงเป็นที่ต้องการของผู้ใช้รถ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการยอมรับในรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในร่วมกับพลังงานไฟฟ้า และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เห็นได้จากรถยนต์ไฟฟ้าบางยี่ห้อบางรุ่นถึงกับต้องปิดรับจองชั่วคราว เนื่องจากผลิตได้ไม่ทัน
กับยอดจองที่ทะลักล้นเข้ามา ส่วนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งประเภทเบนซิน และดีเซล ในปัจจุบันก็ตอบสนองความต้องการใช้งานได้อย่างค่อนข้างจะครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของสมรรถนะ และประสิทธิภาพ รวมถึงระดับความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงก็อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นที่พึงพอใจของผู้เป็นเจ้าของได้อย่างดี
สำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ทุกตลาดรวมกันอยู่ที่ 64,735 คัน เพิ่มขึ้น 15.7 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนพฤษภาคม 2564 ตัวเลขยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA (โตโยตา) เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ได้ยอดจำหน่ายไป 22,181 คัน เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น 12.2 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 34.3 % ISUZU (อีซูซุ) ตามมาเป็นอันดับ 2 จำหน่ายได้ 15,728 คัน เพิ่มขึ้น 5.8 % ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 24.3 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 5,035 คัน เพิ่มขึ้น 0.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.8 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 4,714 คัน เพิ่มขึ้น 39.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.3 % อันดับ 5 MAZDA (มาซดา) จำหน่ายได้ 3,005 คัน เพิ่มขึ้น 7.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 %
ผ่านไป 5 เดือนก็เกือบจะครึ่งปีแล้ว ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนพฤษภาคม มีทั้งสิ้น 359,351 คัน เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วเพิ่มสูงขึ้นถึง 16.6 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย TOYOTA 121,006 คัน เพิ่มขึ้น 27.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 33.7 % ISUZU 89,743 คัน เพิ่มขึ้น 13.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.0 % HONDA 35,766 คัน เพิ่มขึ้น 1.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.0 % MITSUBISHI 22,659 คัน เพิ่มขึ้น 15.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.3 % และ MAZDA 16,918 คัน เพิ่มขึ้น 6.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ISUZU ยังคงได้รับความนิยมจากผู้ต้องการใช้รถพิคอัพเป็นอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่น เดือนพฤษภาคมนี้กวาดตัวเลขยอดจำหน่ายเข้ากระเป๋าไปอีก 14,192 คัน เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น 5.9 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42.0 % ทางด้านพิคอัพของ TOYOTA เดือนพฤษภาคมนี้ร่นระยะห่างจาก ISUZU เข้ามาได้บ้าง โดยจำหน่ายได้ 13,909 คัน เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้น 11.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 41.1 % อันดับ 3 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 2,604 คัน เพิ่มขึ้น 19.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.7 % ตามด้วย FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 2,266 คัน ลดลง 16.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.7 % และ NISSAN (นิสสัน) อยู่ในอันดับ 5 จำหน่ายได้ 517 คัน เพิ่มขึ้น 3.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 % ทั้งนี้ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 33,822 คัน เพิ่มขึ้น 6.4 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564
ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวม 5 เดือน มีทั้งสิ้น 190,223 คัน เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 16.2 % อันดับ 1 ยังคงเป็น ISUZU จำหน่ายไปแล้วรวม 82,799 คัน เพิ่มสูงขึ้น 14.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 43.5 % ตามด้วย TOYOTA 76,603 คัน เพิ่มขึ้น 28.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 40.3 % MITSUBISHI 13,447 คัน เพิ่มขึ้น 13.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.1 % FORD 12,145 คัน ลดลง 10.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 6.4 % และ NISSAN 3,482 คันเพิ่มขึ้น 4.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.8 %
สำหรับตลาดรถเอสยูวี หรือรถกิจกรรมกลางแจ้ง เดือนพฤษภาคม 2565 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันที่ 6,925 คัน ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น 31.5 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 รถเอสยูวีที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรกไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย TOYOTA จำหน่ายได้ 2,101 คัน เพิ่มขึ้น 7.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 30.3 % HONDA จำหน่ายได้ 1,844 คัน เพิ่มขึ้นถึง 198.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.6 % MAZDA จำหน่ายได้ 1,143 คัน ลดลง 1.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 16.5 % MG (เอมจี) จำหน่ายได้ 927 คัน ลดลง 24.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.4 % และ GWM (กเรท วอลล์ มอเตอร์) จำหน่ายได้ 624 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.0 %
ปี 2565 ผ่านไป 5 เดือน รถเอสยูวีมีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมกันแล้วทั้งสิ้น 34,398 คัน เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2564 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 14.1 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย TOYOTA 9,076 คัน เพิ่มขึ้น 5.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.4 % HONDA 8,710 คัน เพิ่มขึ้น 67.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 25.3 % MAZDA 6,338 คัน เพิ่มขึ้น 1.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 18.4 % MG 4,630 คัน ลดลงถึง 38.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.5 % และ GWM 3,289 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 9.6 %
ทั้งนี้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนพฤษภาคม 2565 มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 3,904 คัน เพิ่มขึ้น 17.1 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายของเดือนพฤษภาคม 2564
5 เดือนแรก ปี 2565 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกันทั้งสิ้น 18,428 คัน เพิ่มขึ้น 11.7 % เมื่อเทียบกับห้วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2564
อนึ่ง เดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้นำรถยนต์ประเภทพิคอัพ 1 ตัน และรถเอสยูวีไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก รวมกันทั้งสิ้น 51,579 คัน เพิ่มขึ้น 12.3 % เมื่อเทียบกับตัวเลขจดทะเบียนของเดือนพฤษภาคม 2564
ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์