วิถีตลาดรถยนต์
ดีขึ้นมาบ้าง
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -31.3 %
รถยนต์นั่ง -26.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -38.2 %
กระบะ 1 ตัน -34.7 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -21.1 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2024/2023
ตลาดโดยรวม -26.7 %
รถยนต์นั่ง -23.6 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -1.6 %
กระบะ 1 ตัน -39.8 %
รถเพื่อการพาณิชย์ -11.8 %
เหลืออีกเพียงเดือนเดียวก็จะหมดฤดูกาลค้าขายรถใหม่ประจำปี 2567 กันแล้ว สถานการณ์การค้าการขายในเดือนพฤศจิกายน 2567 แทบจะไม่แตกต่างจากเดือนก่อนๆ ยอดจำหน่ายรถยนต์แต่ละกลุ่มก้อนล้วนแล้วแต่มีตัวเลขเป็นสีแดงเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นรถยนต์ยี่ห้อใหม่ โมเดลใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเข้าสู่ตลาด ที่ยังไม่มีฐานข้อมูลตัวเลขยอดจำหน่ายในปีก่อนหน้านี้มาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ก็จะมีการจัดงานกระตุ้นยอดจำหน่ายงานใหญ่ส่งท้ายปีเกิดขึ้น เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน งาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” กำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนคาบเกี่ยวต่อเนื่องถึงต้นเดือนธันวาคม เกือบกลางเดือนเหมือนเช่นทุกปี ซึ่งปี 2567 จะกระตุ้นตัวเลขยอดจำหน่ายของรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ให้สูงขึ้นได้มากน้อยเพียงไร ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ประจำเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี จะนำมาเล่าขานบอกกล่าวกันอีกครั้ง
สำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน และตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มากพอ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนพฤศจิกายน 2566 แล้ว ยอดจำหน่ายเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นตัวเลขที่ปรับตัวลดลง 31.3 % ยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาดอยู่ที่ 42,309 คัน ลดน้อยหายไป 19,302 คัน รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA (โตโยตา) จำหน่ายได้ 17,107 คัน ลดลง 4,593 คัน หรือ 21.2 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 40.4 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) จำหน่ายได้ 6,068 คัน ลดลง 4,347 คัน หรือ 41.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.3 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) จำหน่ายได้ 4,874 คัน ลดลง 2,454 คัน หรือ 33.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % อันดับ 4 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) จำหน่ายได้ 2,155 คัน ลดลง 31 คัน หรือ 1.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 5.1 % และอันดับ 5 BYD (บีวายดี) จำหน่ายได้ 1,998 คัน ลดลง 2,514 คัน หรือ 55.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.7 %
11 เดือนของปี 2567 ผ่านไป ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมของรถใหม่ป้ายแดง มีจำนวนทั้งสิ้น 518,659 คัน ลดลงถึง 188,879 คัน หรือ 26.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ของปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 560,000-570,000 คันเท่านั้น ถึงแม้จะมีรถใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเกือบจะทุกเดือนก็ตาม โดยรถยนต์ที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA ยอดสะสมรวมอยู่ที่ 199,487 คัน ลดลง 42,357 คัน หรือ 17.5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 38.5 % อันดับ 2 ISUZU 77,429 คัน ลดลง 64,242 คัน หรือ 45.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.9 % อันดับ 3 HONDA 67,322 คัน ลดลง 17,194 คัน หรือ 20.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.0 % อันดับ 4 BYD 25,530 คัน ลดลง 847 คัน หรือ 3.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.9 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 24,640 คัน ลดลง 5,826 คัน หรือ 19.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.8 %
เฉพาะตลาดรถกระบะ หรือรถพิคอัพ 1 ตัน ถึงแม้จะมีรถกระบะหน้าใหม่ที่มีลูกเล่นแพรวพราว พร้อมกับการขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือกใหม่ เปิดตัวเข้าสู่ตลาดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาบนท้องถนน ว่าแต่จะมีความอดทนพอจนกว่าจะถึงเวลานั้นหรือไม่ ? เดือนพฤศจิกายน 2567 ตลาดใหญ่ตลาดนี้มีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้นเพียง 14,435 คัน เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 จำหน่ายรวมกันน้อยลง 7,669 คัน หรือ 34.7 % สำหรับรถขายดี 5 อันดับ ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA จำหน่ายได้ 6,521 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ 2,023 คัน หรือ 23.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.2 % อันดับ 2 ISUZU จำหน่ายได้ 5,251 คัน ลดลง 4,126 คัน หรือ 44.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 36.4 % อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 1,603 คัน ลดลง 721 คัน หรือ 31.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 11.1 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 694 คัน ลดลง 618 คัน หรือ 47.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.8 % และอันดับ 5 NISSAN (นิสสัน) จำหน่ายได้ 203 คัน ลดลง 249 คัน หรือ 55.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.4 %
เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 รถพิคอัพป้ายแดงถูกถอยออกจากโชว์รูมผู้จำหน่าย รวมทั้งสิ้น 181,286 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ปรากฏว่าตัวเลขยอดจำหน่ายปี 2567 น้อยลงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 119,715 คัน หรือ 39.8 % ตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมสูงสุดประกอบด้วย TOYOTA 82,940 คัน ลดลง 35,135 คัน หรือ 29.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 45.8 % ISUZU 67,267 คัน ลดลง 59,993 คัน หรือ 47.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.1 % FORD 19,023 คัน ลดลง 14,613 คัน หรือ 43.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.5 % MITSUBISHI 7,951 คัน ลดลง 8,128 คัน หรือ 50.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 % และ NISSAN 2,684 คัน ลดลง 1,581 คัน หรือ 37.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
รถเอสยูวี เดือนพฤศจิกายน 2567 มีทั้งรถเอสยูวีหน้าใหม่ และหน้าค่อนข้างเก่า ติดอันดับจำหน่ายขายดีถึง 3 ยี่ห้อ ตลาดนี้มีตัวเลือกให้เลือกใช้เยอะจริงๆ ภาพรวมทั้งตลาดจำหน่ายได้ทั้งสิ้น 6,922 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 4,278 คัน หรือ 38.2 % อันดับ 1 เป็น TOYOTA จำหน่ายได้ 3,648 คัน ลดลง 899 คัน หรือ 19.8 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 52.7 % อันดับ 2 HONDA 1,045 คัน ลดลง 2,355 คัน หรือ 69.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 15.1 % อันดับ 3 เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ CHANGAN (ฉางอัน) จำหน่ายได้ 686 คัน (ไม่มีฐานข้อมูลปี 2566) ส่วนแบ่งการตลาด 9.9 % อันดับ 4 เป็นของ NETA (เนทา) จำหน่ายได้ 288 คัน (เช่นเดียวกับ CHANGAN) ส่วนแบ่งการตลาด 4.2 % และอันดับ 5 BYD 277 คัน ลดลง 865 คัน หรือ 75.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.0 %
เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 ตลาดรถเอสยูวีจำหน่ายรวมกันได้ทั้งสิ้น 99,479 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ตลาดหดตัวลงเล็กน้อย โดยจำหน่ายรวมกันได้น้อยลง 1,595 คัน หรือ 1.6 % ยอดจำหน่ายสะสมรวมมากที่สุดยังคงเป็น TOYOTA 46,520 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 23,604 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 103.0 % ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 46.8 % ตามด้วย HONDA 26,153 คัน ลดลง 7,066 คัน หรือ 21.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 26.3 % BYD 7,579 คัน ลดลง 10,913 คัน หรือ 59.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.6 % CHANGAN 3,269 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 3.3 % และ GMW (กเรท วอลล์ มอเตอร์) 3,266 คัน ลดลง 2,820 คัน หรือ 46.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 3.3 % เท่ากับ CHANGAN
สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เดือนพฤศจิกายน 2567 จำหน่ายได้รวมกัน 2,952 คัน ลดลง 789 คัน หรือ 21.1 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 34,473 คัน ลดลง 4,626 คัน หรือ 11.8 % มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และรถพิคอัพ ทั้งสิ้น 22,878 คัน ลดลง 9,973 คัน หรือ 30.4 % เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566