เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม 2025/2024
ตลาดโดยรวม -12.3 %
รถยนต์นั่ง -22.0 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -1.1 %
กระบะ 1 ตัน -14.4 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +41.7 %
การขายรถใหม่ป้ายแดงฤดูกาล 2568 เริ่มต้นขึ้นแล้วกับความคาดหวังที่จะเห็นตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งปี ประมาณ 650,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ประมาณ 5 % จากที่คาดกันว่าเศรษฐกิจโดยรวมปี 2568 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อยานยนต์ อาจจะผ่อนคลายลงบ้าง โดยเฉพาะสินเชื่อรถกระบะ แต่จะเป็นจริงไปได้มากน้อยเพียงไร คำตอบสุดท้ายน่าจะอยู่ที่กำลังซื้อของผู้บริโภค และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานมากที่สุด รวมไปถึงราคาจำหน่ายที่จับต้องได้
เมื่อดูจากตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่เดือนมกราคม เดือนแรกของปี ก็พอจะแสดงให้เห็นเป็นเค้าลางได้ว่า ไอ้ที่คาดว่า 650,000 คัน สำหรับปี 2568 น่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว เพราะยังคงมีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมที่ลดลงต่อเนื่องมาจากปี 2567 ที่ผ่านมา โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 48,092 คัน ลดลง 6,722 คัน หรือลดลง 12.3 % เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายรถใหม่เดือนมกราคมปี 2567 ทั้งนี้บรรดารถยนต์บแรนด์ดังที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายสูงสุด อันดับ 1-5 มีเพียงอันดับ 5 ค่าย MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) ที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนมกราคม 2567 นอกนั้นทำยอดจำหน่ายได้น้อยลงกว่าที่เคยทำได้ทั้งสิ้น โดยรถที่มียอดจำหน่ายมากสุดอันดับ 1 ยังคงเป็น TOYOTA (โตโยตา) เดือนแรกของปีจำหน่ายได้ทั้งสิ้น 17,379 คัน เทียบกับเดือนมกราคม 2567 แล้วจำหน่ายได้น้อยลง 147 คัน หรือลดลง 0.8 % ส่วนแบ่งการตลาดเดือนแรกอยู่ที่ 36.1 % อันดับ 2 HONDA (ฮอนดา) แซงเจ้าของตำแหน่งเดิม ISUZU (อีซูซุ) ขึ้นมา โดยจำหน่ายได้ 7,062 คัน ลดลง 1,236 คัน หรือลดลง 14.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 14.7 % อันดับ 3 ISUZU เดือนแรกจำหน่ายได้ 6,137 คัน ลดลง 1,793 คัน หรือลดลง 22.6 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 12.8 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) สำหรับเดือนแรกของปี 2568 มีตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดลงไปจากที่เคยทำได้ในเดือนมกราคม 2567 มากโขอยู่ โดยจำหน่ายได้ 3,331 คัน ขณะที่เดือนมกราคม 2567 จำหน่ายได้ถึง 7,806 คัน ขาดหายไปถึง 4,475 คัน หรือลดลงถึง 57.3 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 6.9 % และอันดับ 5 MITSUBISHI มีตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนมกราคม อยู่ที่ 2,108 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมปีที่แล้ว 188 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 %
สำหรับรถพิคอัพ ภาพโดยรวมยังไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ยังคงได้รับความเข้มงวดเป็นพิเศษ จากสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ตัวเลขยอดจำหน่ายที่ออกมา จึงยังลดลงเหมือนเดิม เดือนมกราคม 2568 ตัวเลขยอดจำหน่ายรวมอยู่ที่ 15,363 คัน ลดลง 2,575 คัน หรือลดลง 14.4 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 เป็นเดือนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับรถพิคอัพที่จำหน่ายได้มากที่สุด จากเดิมที่ NISSAN (นิสสัน) จองอันดับ 5 มาโดยตลอด แต่เดือนมกราคมนี้ โดนพิคอัพของค่าย MG (เอมจี) เบียดหลุดชาร์ทออกไปอยู่ในอันดับ 6 ขณะที่รถพิคอัพ MITSUBISHI ยังเป็นอีกยี่ห้อหนึ่งที่จำหน่ายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถพิคอัพสูงสุด ในเดือนมกราคม 2568 เป็นของค่าย TOYOTA จำหน่ายได้ 6,584 คัน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่หายไป 1,374 คัน หรือ 17.3 % ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42.9 % อันดับ 2 เป็นของ ISUZU จำหน่ายได้ 5,498 คัน เทียบกับเดือนมกราคม 2567 ยอดจำหน่ายหายไป 1,428 คัน หรือ 20.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 35.8 % อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) จำหน่ายได้ 1,677 คัน หายไป 305 คัน หรือ 15.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.9 % อันดับ 4 MITSUBISHI จำหน่ายได้ 1,160 คัน เพิ่มขึ้น 457 คัน หรือเพิ่มขึ้น 65.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.6 % และอันดับ 5 MG จำหน่ายได้ 233 คัน เพิ่มขึ้น 183 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 366.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.5 %
ส่วนรถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือรถเอสยูวี เป็นตลาดหนึ่งที่รถจากประเทศจีนพาเหรดเข้ามาเป็นตัวเลือกกันอย่างมากมาย ทั้งในเรื่องของขนาด, รูปร่างหน้าตา และการใช้พลังงานในการขับเคลื่อน แต่ก็ยังมีรถเอสยูวีของพี่ใหญ่ค่าย TOYOTA และ HONDA ยืนหยัดเป็นตัวเลือกอันดับ 1 และ 2 อยู่เช่นเดิม เดือนมกราคม 2568 รถเอสยูวีมีตัวเลขยอดจำหน่ายรวมกัน 10,624 คัน ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 เป็นยอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง 123 คัน หรือลดลง 1.1 % ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับ 1 ค่าย TOYOTA 3,890 คัน เพิ่มขึ้น 105 คัน หรือเพิ่มขึ้น 2.8 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 ส่วนแบ่งการตลาด 36.6 % ตามด้วย HONDA 3,273 คัน ลดลง 417 คัน หรือ 11.3 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 ส่วนแบ่งการตลาด 30.8 % อันดับ 3 BYD 2,146 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2567 ถึง 554 คัน หรือเพิ่มขึ้น 34.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 20.2 % อันดับ 4 CHANGAN (ฉางอัน) จากประเทศจีน 486 คัน เพิ่มขึ้นมากถึง 346 คัน หรือเพิ่มขึ้น 247.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 % และอันดับ 5 MG 211 คัน ลดลง 84 คัน หรือ 28.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.0 %
เดือนมกราคม 2568 รถเพื่อการพาณิชย์อื่นๆ จำหน่ายได้รวมกัน 3,851 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2567 ถึง 1,134 คัน หรือเพิ่มขึ้น 41.7 % และเดือนมกราคม 2568 มีการจดทะเบียนใช้งานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนของรถพิคอัพ และรถเอสยูวี รวมทั้งสิ้น 38,270 คัน ลดลงจากเดือนมกราคมปีที่แล้ว 8,054 คัน หรือ 17.4 %