วิถีตลาดรถยนต์
คงเส้นคงวา
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2025/2024
ตลาดโดยรวม -6.7 %
รถยนต์นั่ง -4.7 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -7.0 %
กระบะ 1 ตัน -14.3 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +31.0 %
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2025/2024
ตลาดโดยรวม -9.5 %
รถยนต์นั่ง -14.1 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) -4.1 %
กระบะ 1 ตัน -14.3 %
รถเพื่อการพาณิชย์ +36.1 %
เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สภาวะการซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในบ้านเรา ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิมเหมือนเช่นที่ผ่านมา นั่นคือ มียอดจำหน่ายที่ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดรถพิคอัพที่เป็นตลาดรถยนต์ที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์ประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีความคาดหวังว่า ตลาดนี้จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากที่มาตรการใหม่ “กระบะพี่มีคลังค้ำ” โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ บสย. SMEs PICK-UP ซึ่งจะเริ่มเปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 ธันวาคม 2568 รวมไปถึงการที่ค่ายรถจะมีการออกเงื่อนไข และข้อเสนอพิเศษมารองรับการใช้งานของลูกค้า ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs โดยที่มาตรการใหม่ของกระทรวงการคลัง มีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขอสินเชื่อเช่าซื้อ สำหรับซื้อรถกระบะใหม่เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ใครสนใจมาตรการใหม่นี้ ลองติดต่อเพิ่มเติมได้จากโชว์รูมรถยนต์ ที่หมายมั่นปั้นมือที่จะถอยออกมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพทำมาหากินต่อไป หรือที่ CALL CENTER ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม บสย. โทร. 0-2890-9999
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 รถยนต์ที่ได้รับการเลือกซื้อเลือกใช้มากที่สุด ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้านี้ ที่รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1-3 โดยมีรถยนต์จากจีน สอดแทรกเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 4 และตบท้ายด้วยรถยนต์ยอดนิยมจากประเทศญี่ปุ่น อีกหนึ่งบแรนด์ โดยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมทั้งหมด อยู่ที่ 49,313 คัน ลดลง 3,530 คัน หรือ 6.7 % เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยอดจำหน่ายสูงสุดอันดับ 1 เป็นของค่าย TOYOTA (โตโยตา) 18,729 คัน ลดลง 973 คัน หรือ 4.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 38.0 % อันดับ 2 ISUZU (อีซูซุ) 6,832 คัน ลดลง 821 คัน หรือ 10.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.9 % อันดับ 3 HONDA (ฮอนดา) 6,398 คัน ลดลง 2,189 คัน หรือ 25.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.0 % อันดับ 4 BYD (บีวายดี) 3,449 คัน เพิ่มขึ้น 2,340 คัน หรือเพิ่มขึ้น 211.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 % และอันดับ 5 MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) 2,168 คัน ลดลง 487 คัน หรือ 18.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 %
เดือนที่ 2 ของปีผ่านพ้นไป รถยนต์ใหม่ป้ายแดงทุกประเภท มียอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 97,395 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 10,262 คัน หรือ 9.5 % โดยรถยนต์ 5 ยี่ห้อ ที่มียอดจำหน่ายสะสมสูงสุด ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA 36,108 คัน ลดลง 1,120 คัน หรือ 3.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.1 % อันดับ 2 HONDA 13,460 คัน ลดลง 3,425 คัน หรือ 20.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.8 % อันดับ 3 ISUZU 12,969 คัน ลดลง 2,614 คัน หรือ 16.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 13.3 % อันดับ 4 BYD 6,780 คัน ลดลง 2,135 คัน หรือ 23.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 % และอันดับ 5 MITSUBISHI 4,276 คัน ลดลง 299 คัน หรือ 6.5 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.4 %
ตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยังคง “ยืนหนึ่ง” เป็นตลาดที่ตัวเลขยอดจำหน่ายปรับตัวลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์ประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับรถพิคอัพ MITSUBISHI และ MG (เอมจี) ดูจะคึกคักขึ้นกว่าที่ผ่านมา เป็นรถพิคอัพ 2 ยี่ห้อที่มีตัวเลขยอดจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หัวแถว 3 ค่ายยังคงอยู่ในวังวนของยอดจำหน่ายที่ลดลง ยอดจำหน่ายรวมของตลาดนี้อยู่ที่ 16,144 คัน ลดลง 2,695 คัน หรือ 14.3 % เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดย TOYOTA ยังคงความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดนี้ ด้วยยอดจำหน่าย 6,994 คัน แต่เมื่อเทียบกับที่เคยทำไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นยอดจำหน่ายที่ขาดหายไป 1,667 คัน หรือ 19.2 % ส่วนแบ่งการตลาด 43.3 % อันดับ 2 ISUZU 6,107 คัน ลดลง 583 คัน หรือ 8.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.8 % อันดับ 3 FORD (ฟอร์ด) 1,523 คัน ลดลง 682 คัน หรือ 30.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 9.4 % อันดับ 4 MITSUBISHI ตัวเลขยอดจำหน่ายดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยจำหน่ายได้ 1,124 คัน เพิ่มขึ้น 175 คัน หรือเพิ่มขึ้น 18.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 % อันดับ 5 MG 182 คัน เพิ่มขึ้น 143 คัน หรือเพิ่มขึ้น 366.7 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.1 %
เดือนที่ 1 และเดือนที่ 2 ผ่านไป ตลาดรถพิคอัพมีตัวเลขยอดจำหน่ายสะสมรวมทั้งตลาด 31,507 คัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 แล้วเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่ลดลง 5,270 คัน หรือ 14.3 % พิคอัพยอดนิยมประกอบด้วย TOYOTA 13,578 คัน ลดลง 3,041 คัน หรือ 18.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 43.1 % ISUZU 11,605 คัน ลดลง 2,011 คัน หรือ 14.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 36.8 % FORD 3,200 คัน ลดลง 987 คัน หรือ 23.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 10.2 % MITSUBISHI 2,284 คัน เพิ่มขึ้น 632 คัน หรือเพิ่มขึ้น 38.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 7.2 % และ MG 415 คัน เพิ่มขึ้น 326 คัน หรือเพิ่มขึ้น 366.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 1.3 %
สำหรับรถเอสยูวี เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ถึงแม้จะเป็นตลาดที่มีตัวเลือกมากมาย ไม่แพ้ตลาดรถยนต์นั่ง แต่ก็ยังไม่สามารถขยับตัวเลขยอดจำหน่ายให้กลับขึ้นไปอยู่ในแดนบวกได้ ทั้งตลาดจำหน่ายได้รวมกัน 10,524 คัน เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นตัวเลขที่ลดลง 789 คัน หรือ 7.0 % อันดับ 1 TOYOTA 3,976 คัน ลดลง 1,493 คัน หรือ 27.3 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.8 % อันดับ 2 HONDA 3,332 คัน ลดลง 534 คัน หรือ 13.8 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.7 % อันดับ 3 BYD 1,912 คัน เพิ่มขึ้น 1,673 คัน หรือเพิ่มขึ้น 700.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 18.2 % อันดับ 4 CHANGAN (ฉางอัน) 485 คัน เพิ่มขึ้น 294 คัน หรือเพิ่มขึ้น 153.9 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 % และอันดับ 5 MG 208 คัน ลดลง 96 คัน หรือ 31.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.0 %
ยอดรวม 2 เดือน ตลาดรถเอสยูวีมียอดจำหน่ายรวม 21,148 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 905 คัน หรือ 4.1 % ยอดสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 TOYOTA 7,866 คัน ลดลง 1,388 คัน หรือ 15.0 % ส่วนแบ่งการตลาด 37.2 % อันดับ 2 HONDA 6,605 คัน ลดลง 951 คัน หรือ 12.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 31.2 % อันดับ 3 BYD 4,058 คัน เพิ่มขึ้น 2,227 คัน หรือเพิ่มขึ้น 121.6 % ส่วนแบ่งการตลาด 19.2 % อันดับ 4 CHANGAN 971 คัน เพิ่มขึ้น 640 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 193.4 % ส่วนแบ่งการตลาด 4.6 % และอันดับ 5 MG 419 คัน ลดลง 180 คัน หรือ 30.1 % ส่วนแบ่งการตลาด 2.0 %
เดือนกุมภาพันธ์ 2568 รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 3,708 คัน เพิ่มขึ้น 878 คัน หรือเพิ่มขึ้น 31.0 % เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 7,560 คัน เพิ่มขึ้น 2,006 คัน หรือเพิ่มขึ้น 36.1 % จากช่วงเดียวกันของปี 2567
เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีการจดทะเบียนรถเอสยูวี และพิคอัพ รวมกันทั้งสิ้น 29,542 คัน ลดลง 6,298 คัน หรือ 17.6 % เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567