รายงาน(formula)
แน่ใจหรือว่ารู้จักเขาดีแล้ว ?! นวัตกรรมชีวิต อีลอน มัสก์ ขบถรถสันดาปภายใน ฮีโรยุคพลังไฟฟ้า
คนนี้แหละที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ จากยุคเครื่องยนต์สันดาปภายในสู่ยุคพลังไฟฟ้า ยิ่งกว่านั้น ยังนำเสนอเทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำยุคอีกหลากหลาย จนใครๆ ต่างทึ่งในวิสัยทัศน์ พอๆ กับหมั่นไส้ความขี้โอ่ขั้นสุดของเขา
ครั้งหนึ่งเขาเคยถาม แอชลี แวนศ์ (ASHLEE VANCE) ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของเขาว่า “คุณคิดว่า ผมบ้าหรือเปล่า” นั่นสิ !...เขาเป็นเพียงแค่คนบ้า หรือ IRON MAN ในโลกจริงอย่างที่เหล่าสาวกยกย่องกันแน่ บางทีคำตอบอาจอยู่ในนวัตกรรมชีวิตของเขาที่เรารวบรวมมานี้...
จุดเริ่มต้น
อีลอน มัสก์ (ELON MUSK) เกิดที่แอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1971 พ่อเป็นวิศวกร แม่เป็นนางแบบ การที่พ่อเป็นวิศวกรทำให้เขาสนใจพโรแกรมคอมพิวเตอร์ และขลุกอยู่กับหนังสือจนเรียกได้ว่าเป็นเด็กเนิร์ด ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง คิดประดิษฐ์พโรแกรมจริงจังตั้งแต่เด็ก เช่น ซอฟท์แวร์เกม BLASTER ตอนอายุ 12 ปี แล้วขายให้นิตยสารคอมพิวเตอร์ในราคา 500 เหรียญสหรัฐฯ
การหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่สนใจ ทำให้ อีลอน มัสก์ เข้าสังคมไม่เก่ง และอ่อนต่อโลก ชีวิตในวัยเด็กจึงมีแต่ความทุกข์เพราะโดนเพื่อนแกล้งบ่อย ที่แรงๆ ก็คือ ถูกจับโยนลงบันได และทุบตีจนต้องเข้าการรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการบาดเจ็บทำให้ อีลอน มัสก์ มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจมาถึงตอนนี้
อีลอน มัสก์ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย สหรัฐ อเมริกา ด้านเศรษฐศาสตร์ และฟิสิคส์ ในปี 1995 เคยสมัครงานที่ NETSCAPE บริษัท ผู้คิดค้นเวบไซท์ บเราว์เซอร์โอเพนซอร์ศชั้นนำ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ เนื่องจากเขาไม่มีประสบการณ์ด้าน COMPUTER SCIENCE
ZIP2 คือ บริษัทแรกที่ อีลอน มัสก์ ก่อตั้งขึ้น บริการจัดหาข้อมูลออนไลน์ให้สื่อชื่อดังหลายสำนัก ก่อนจะขายกิจการไปเป็นเงินกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เขา กลายเป็นเศรษฐีในวัยเพียง 28 ปี จากนั้นก่อตั้ง X.COM ซึ่งได้พัฒนาระบบโอนเงินออนไลน์ที่เรียกว่า PAYPAL จนประสบความสำเร็จอย่างสูง จนได้รับคำเสนอซื้อจาก EBAY และการตัดสินใจขายครั้งนี้ก็ยกระดับเขาขึ้นเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกทันที
ต้องการรถเร็วที่สุด มาประดับโรงจอด
ตอนขายบริษัท ZIP2 อีลอน มัสก์ ครอบครองรถ JAGUAR SERIES 1 E-TYPE (แจกวาร์ ซีรีส์ 1 อี-ไทพ์) ปี 1967 ที่ขึ้นชื่อว่ามีดีไซจ์นสวยที่สุดคันหนึ่งของโลก แต่เขายังต้องการรถที่เร็วที่สุดในโลกอย่าง McLAREN F1 (แมคลาเรน เอฟ 1) มาประดับโรงจอด
ตอนนั้น บริษัท McLAREN แห่งอังกฤษได้ผลิตรถรุ่น F1 ที่ใช้วิ่งบนท้องถนน โดยมีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 3.2 วินาที ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 372 กม./ ชม. สร้างสถิติเป็นรถยนต์ที่เร็วที่สุดในโลกในปี 1998
เซเลบระดับโลกหลายคนต้องการรถรุ่นนี้ แต่มันมีจำนวนจำกัดเพียง 106 คัน ซึ่งอีลอน มัสก์ สามารถซื้อตัดหน้า ราล์ฟ โลเรน (RALPH LAUREN) แฟชันดีไซจ์เนอร์ ชื่อดัง เพียง 1 ชม. เท่านั้น
อีลอน มัสก์ ดีใจกระโดดโลดเต้นเมื่อรถคันรักมาถึงบ้าน เพราะย้อนกลับไปเพียง 3 ปีก่อนหน้านี้ เขายังต้องนอนอยู่ชั้นล่างของออฟฟิศตัวเองด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้สามารถซื้อรถยนต์ในฝันมูลค่ากว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
ตอนนั้น X.COM ของเขากำลังจะรวมกับ PAYPAL ของ พีเตอร์ ธี (PETER THIE) วันหนึ่งเขาจึงได้ชวน พีเตอร์ ธีล ให้มาลองนั่ง McLAREN แต่กลับเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น อีลอน มัสก์ ไม่สามารถควบคุมรถที่เร็วแรงขนาดนั้นได้ ทำให้รถไปชนขอบทางจนพลิกคว่ำหลังจากฝุ่นจางหาย พีเตอร์ ธี ได้ยินเสียง อีลอน มัสก์ หัวเราะกับสิ่งที่เกิดขึ้น โชคดีที่ทั้งคู่ไม่ได้รับบาดเจ็บ
ต่อมาไม่นาน อีลอน มัสก์ พบว่า McLAREN ซดน้ำมันเป็นว่าเล่น พร้อมตระหนักว่า ถึงเวลาที่เขาต้องปรับภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของเขาเสียที ดังนั้น แม้จะเป็นรถคันรัก แต่มันไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เขาจึงตัดใจขายทิ้ง
กำเนิด SPACEX
อีลอน มัสก์ ก่อตั้ง SPACEX ขึ้นในปี 2002 จากความฝันที่ว่า วันหนึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศจะเป็นเทคโนโลยีที่ราคาไม่แพง และเป็นประสบการณ์ชั้นเยี่ยมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงความฝันที่จะไปตายบนดาวอังคารด้วย !
ตอนนี้ SPACEX กลายเป็นบริษัทผลิตจรวดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีลอน มัสก์ ตั้งเป้าจะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารให้ได้ภายใน 14 ปีนี้ และสามารถตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอีก 23 ปี โดยมีประชากรอยู่บนดาวอังคาร 80,000 คน
แม้ปัจจุบัน แผนส่งคนไปดาวอังคารของ SPACEX จะยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ SPACEX ก็เป็นบริษัทเอกชนรายแรกของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศบินไป-กลับ ระหว่างโลก กับสถานีบนอวกาศได้สำเร็จ
SPACEX เปิดตัวโครงการ FALCON 1 ในปี 2002 และใช้เวลาในการสร้างจรวดประมาณ 4 ปี แต่การปล่อยจรวด FALCON ต้องล้มเหลวถึง 3 ครั้ง ก่อนจะประสบความสำเร็จในครั้งที่ 4 โดยจรวดสามารถกลับลงจอดบนพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2008 ทำให้มีการเซ็นสัญญาระหว่าง SPACEX และ NASA ด้วยดีลที่สูงถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม SPACEX เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของฝันอันยิ่งใหญ่ของ อีลอน มัสก์ ที่ต้องการจะไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร เขาวางแผนว่า จะส่งคนจำนวน 1,000,000 คน ไปยังดาวอังคาร โดยจรวด 1 เที่ยวจะจุคนได้ประมาณ 100 ที่นั่ง นั่นหมายถึงต้องส่งจรวดจำนวน 10,000 เที่ยว และน่าจะประสบความสำเร็จในช่วง 40-100 ปี นับจากนี้ ระยะเวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารประมาณ 80 วัน แต่จะพยายามลดลงให้เหลือเพียง 30 วัน
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางข้ามดวงดาวจะตกคนละ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท) แต่เขาตั้งใจจะลดให้เหลือเพียงคนละ 100,000-200,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 3,000,000-6,000,000 บาท) ให้ได้ คาดว่า หากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เที่ยวบินแรกระหว่างโลกกับดาวอังคาร อาจเกิดขึ้นภายใน 10 ปี ข้างหน้านี้
อพยพไปตายบนดาวอังคาร !
เป้าหมายของ อีลอน มัสก์ คือ ช่วยเหลือมนุษยชาติ ด้วยการอพยพมนุษย์ไปอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น เขาพูดเสมอว่า หากมนุษยชาติยังอาศัยอยู่บนโลกต่อไปเรื่อยๆ สักวันจะต้องถึงจุดจบ ไม่ว่าจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือดาวหางพุ่งชน มีเพียงการย้ายไปอยู่ที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่างดาวอังคาร เท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย ชาติยังคงดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้
จากหนังสือชีวประวัติของ อีลอน มัสก์ เขียนโดย แอชลี แวนศ์ ที่ออกมาในปี 2015 เล่าว่า ช่วงวัยรุ่น อีลอน มัสก์ ได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมเรื่อง “คู่มือท่องกาแลกซีฉบับนักโบก” (THE HITCHHIKER'S GUIDE TO THE GALAXY) ของ ดักลาส อดัมส์ (DOUGLAS ADAMS) ทำให้เขามีความคิดไปตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงอื่น และเชื่อว่า หน้าที่ของเขา คือ การพาคนทั้งโลกย้ายไปสู่จักรวาล
บางคนมองว่า การท่องอวกาศไปยังดาวอังคารเป็นเพียงการเอาตัวรอดอย่างเห็นแก่ตัวของมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คนบนโลก แต่ อีลอน มัสก์ ไม่คิดอย่างนั้น เขาแย้งว่า การเดินทางนี้จะยากลำบาก อันตราย และมีโอกาสสูงมากที่หลายคนจะตายระหว่างทาง หรือไม่นานหลังจากไปถึง มันทรมานยิ่งกว่าการสำรวจขั้วโลก ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบายสำหรับเศรษฐีแม้แต่น้อย
แต่ถึงอย่างนั้น เขายังบอกว่า “ผมอยากตายบนดาวอังคาร ไม่ใช่ด้วยการพุ่งชนนะ ถ้าให้สมบูรณ์แบบ ผมอยากไปเยือนที่นั่นแล้วกลับมาสักพักหนึ่ง จากนั้นก็ไปอีกตอนอายุสัก 70 ปี แล้วอยู่ที่นั่นตลอดไป”
BCI เชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์
NEURALINK เป็นโครงการเชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือ BCI-BRAIN COMPUTER INTERFACE โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง นักออกแบบชิพคอมพิวเตอร์ นักจิตวิทยา วิศวกร ฯลฯ
อีลอน มัสก์ คุยกับคนราว 1,000 คน เพื่อคัดเลือกคนฉลาดที่สุดจากสาขาต่างๆ เพียง 8 คน เข้าร่วมทีมในโครงการ NEURALINK
จุดมุ่งหมายของ BCI คือ การทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องพูด หรือพิมพ์ข้อความ เพียงแค่ “คิด” แล้วสิ่งที่ “คิด” จะถูกถ่ายทอดผ่านเครือข่ายอินเตอร์ เนทไปถึงสมองของอีกคน แต่ก่อนจะไปไกลขนาดนั้น เพื่อให้โครงการนี้เป็นธุรกิจได้จริง BCI จะพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยผู้ป่วยทางสมองให้สามารถสื่อสารกับคนอื่น และแก้ปัญหาเรื่องความหลงลืม
ปัญหาทางเทคนิค คือ จะต้องมีจุดเชื่อมต่อกับสมองประมาณ 1,000,000 จุด ซึ่งปัจจุบัน มากสุดที่เคยต่อขั้วไฟฟ้ากับสมองมนุษย์ คือ 200 จุดเท่านั้น ยังไม่รวมการจัดการกับสัญญาณจำนวนมหาศาล จึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า NEURALINK เป็นความฝันที่บรรเจิดยิ่งกว่า SPACEX ตั้งเป้าจะส่งมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคารเสียอีก
TESLA ขบถรถสันดาปภายใน
TESLA (เทสลา) ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 โดยวิศวกรชาวอเมริกัน 2 คน คือ มาร์ทิน เอเบอร์ฮาร์ด (MARTIN EBERHARD) และมาร์ค ทาร์เพนนิง (MARC TARPENNING) ทั้งคู่มองว่ารถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ และแบทเตอรีจะตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต จึงเริ่มสร้างรถยนต์ไฟฟ้าขึ้น จากนั้น อีลอน มัสก์ เข้ามาสมทบในฐานะนักลงทุน ก่อนจะขยับไปสู่การเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
*** ชื่อบริษัท TESLA MOTORS ตั้งขึ้นเพื่อสรรเสริญ นิโคลา เทสลา (NIKOLA TESLA) นักประดิษฐ์ และวิศวกรไฟฟ้าชาวอเมริกัน ผู้ออกแบบระบบไฟฟ้า และคิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ***
อีลอน มัสก์ มุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า TESLA อย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำยนตรกรรมของโลกในเวลาอันรวดเร็ว
โมเดลแรกของ TESLA คือ TESLA ROADSTER (เทสลา โรดสเตอร์) รถสปอร์ทไฟฟ้าสุดหรู ซึ่งปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว เพราะเขาต้องการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์สำหรับคนทั่วไป เป็นที่มาของ TESLA MODEL S (เทสลา โมเดล เอส) ที่ดังเปรี้ยงปร้าง และยังคงพัฒนาเรื่อยมา แม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแต่ TESLA MODEL S สามารถทำความเร็วสูงสุดถึง 400 กม./ชม.
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาวที่แท้จริงของ อีลอน มัสก์ คือ การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าราคาถูก เพื่อขยายตลาดอย่างรวดเร็ว รวมถึงกระตุ้นให้บริษัทผลิตรถยนต์รายอื่นๆ พัฒนานวัตกรรมมาแข่งขันกัน
TESLA ได้สร้างแรงกระเพื่อมในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะมีเป้าหมายที่จะทำให้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงตลาดคนทั่วไปได้จริงๆ โดยพัฒนาเทคโนโลยีให้มีราคาใกล้เคียงกับรถที่ใช้น้ำมัน
TESLA เริ่มขายรถรุ่นแรกในปี 2008 คือ TESLA ROADSTER เจาะตลาดกลุ่มรถสปอร์ท ทำให้มีราคาสูงถึง 109,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.4 ล้านบาท) แต่หลังจากนั้นอีก 4 ปีถัดมา ได้ปล่อยตัว TESLA MODEL S ที่มีราคาเริ่มต้น 69,200 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.2 ล้านบาท) เพื่อเน้นเข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น ทำให้ TESLA MODEL S เป็นต้นแบบของรถยนต์ไฟ ฟ้ารุ่นใหม่ๆ ของ TESLA ที่พยายามทำให้มีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนปัจจุบัน TESLA กลายเป็นบริษัทรถยนต์ชั้นนำในสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
TESLA เปิดตลาดใหม่ๆ ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก โดยการขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ช่วยให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 2 เท่า ปัจจุบัน TESLA มีโรงงานขนาดใหญ่ 4 แห่งในสหรัฐฯ และอีก 2 แห่งซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่พิเศษ (GIGA FACTORY) ในเยอรมนี และจีน โดยโรงงานในเมืองฟรีมอนท์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของบริษัท ตั้งขึ้นในปี 2010 ส่วนโรงงานขนาดใหญ่พิเศษ (GIGA FACTORY) แห่งแรก ตั้งขึ้นในปี 2016 ที่รัฐเนวาดา เป็นโรงงานที่ใช้เพื่อผลิตแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน
"จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้ายเสมอ เกี่ยวกับ TESLA ก็ด้วย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นผมคิดว่า มันมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียง 10 % เท่านั้น และในระหว่างทางเราก็เข้าใกล้ความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะประสบความสำเร็จ ในตอนนั้นผู้คนคิดว่า การสร้างรถยนต์ไฟฟ้า คือ ความโง่แบบยกกำลังสอง" อีลอน มัสก์ เผยผ่าน RIDE THE LIGHTNING: TESLA MOTORS UNOFFICIAL PODCAST
ย้อนกลับไปในปี 2004 ผู้คนต่างพากันหัวเราะเยาะราวกับเป็นเรื่องเหลวไหลเมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า แต่ตอนนี้ คนที่เคยหัวเราะในตอนนั้นคงหัวเราะไม่ออกแล้ว เพราะรถ ยนต์พลังงานไฟฟ้าของ TESLA มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก สร้างยอดขาย 367,200 คันในปี 2019 ยอดขาย 499,550 คันในปี 2020 และในปี 2021 ยอดขายสูงสุดในประวัติการณ์ 936,172 คัน
นอกจากนี้ TESLA ยังได้ขยายสถานีชาร์จไฟ (คล้ายกับปั๊มน้ำมันขนาดจิ๋ว) ให้ครอบ คลุมพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้ครอบคลุมถนนสำคัญแทบทุกสาย
HYPERLOOP รถไฟแม่เหล็กที่เร็วกว่าเครื่องบิน
HYPERLOOP เป็นโครงการระบบคมนาคมด้วยรถไฟพลังงานแม่เหล็กที่แล่นในอุโมงค์สุญญากาศ ความเร็วถึง 1,200 กม./ชม. เหนือกว่าเครื่องบินที่มีความเร็วประมาณ 800 กม./ชม.
แม้แนวคิดนี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะค่าก่อสร้างที่แพงมหาศาล แต่ตอนนี้โครงการ HYPERLOOP ของเขาเริ่มเดินหน้าแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 โดยได้รับอนุญาตจากรัฐวอชิงตัน ให้ขุดเจาะพื้นที่ในเมือง เพื่อก่อสร้างระบบขนส่งความเร็วสูง HYPERLOOP ไปเชื่อมระหว่างวอชิงทัน และนิวยอร์ค ซึ่งจะช่วยย่นเวลาการเดินทางให้เหลือเพียง 29 นาทีเท่านั้น
ปัจจุบันบริษัท THE BORING COMPANY ที่รับผิดชอบโครงการ HYPERLOOP ได้ขุดเจาะอุโมงค์ที่ลอสแองเจลิส มีความยาวประมาณ 3.2 กม. และลาสเวกัส ความยาวประมาณ 1.4 กม. เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนอุโมงค์เส้นทางระหว่างกรุงวอชิงตัน ดีซี ไปยังเมืองบัลทิ มอร์ ความยาว 56 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการ
ในระยะแรก บริษัทจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า TESLA วิ่งขนส่งผู้โดยสารภายในอุโมงค์ ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นยานพาหนะรูปแบบอื่น เช่น แคพซูล HYPERLOOP ในอนาคต
มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก
ปี 2021 BLOOMBERG BILLIONAIRES INDEX จัดอันดับให้ อีลอน มัสก์ ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่มีมูลค่าสินทรัพย์เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 195,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท แซงหน้าแชมพ์เก่าตั้งแต่ปี 2017 เจฟฟ์ เบโซส์ (JEFF BEZOS) ซีอีโอ AMAZON บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 185,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท โดยหุ้นของ TESLA พุ่งสูงขึ้น 7 เท่า โดยใช้เวลาเพียง 1 ปี และส่วนหนึ่งเป็นผลจากรัฐสภาใหม่ พรรคเดโมคแรท มีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลดีต่อ TESLA
ช่วงนั้น TESLA OWNERS OF SILICON VALLEY มาแจ้งข่าวชาวทวิทเตอร์ว่า อีลอน มัสก์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก มัสก์ เลยทวิทกลับไป “แปลกตรงไหน กลับไปทำงานกันได้แล้ว”
บุคคลแห่งปี 2021
นิตยสาร TIME ของสหรัฐฯ ประกาศให้ อีลอน มัสก์ เป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2021 โดยยกย่องว่า เป็น “ชายผู้ปรารถนาจะปกป้องโลก และค้นหาโลกใหม่ที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้”
เอดเวิร์ด เฟลเซนธัล (EDWARD FELSENTHAL) บรรณาธิการบริหารของ TIME เขียนถึงการเลือก อีลอน มัสก์ เป็นบุคคลแห่งปีว่า
“บุคคลแห่งปีเป็นเครื่องหมายของผู้ทรงอิทธิพล และมีเพียงไม่กี่คนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตบนโลก และอาจรวมถึงชีวิตนอกโลกได้เท่า อีลอน มัสก์ ในปี 2021 เขาไม่ได้เป็นเพียงบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ในสังคมของเรา”
เอดเวิร์ด เฟลเซนธัล ยกย่องบทบาทต่างๆ ของ อีลอน มัสก์ ทั้งการสร้างสรรค์หนทางแก้ไขวิกฤต การดำรงอยู่ของมนุษย์ และการขับเคลื่อนสังคมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยน แปลง ตลอดจนเป็นผู้ชี้ให้เห็นทั้งความเป็นไปได้ และอันตรายของยุคที่มียักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีมากมาย
ปี 2021 ถือเป็นปีสำคัญของ อีลอน มัสก์ เนื่องจากบริษัท TESLA ของเขา กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ขณะที่บริษัท SPACEX ก็สร้างประวัติ ศาสตร์ในการพาพลเรือนเดินทางท่องเที่ยวยังขอบอวกาศได้สำเร็จ
โพสต์ปั่นหุ้น TESLA
คนอย่าง อีลอน มัสก์ โพสต์ถึงบแรนด์อะไร เหรียญอะไร นักลงทุนก็แห่กันไปซื้อตาม จนถึงขั้นได้ฉายาว่าเป็น “MARKET WHISPERER” และครั้งหนึ่งมีการโพสต์ที่เข้าข่ายปั่นหุ้น จน SEC หรือ กลต. สหรัฐฯ อยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมาฟ้องร้อง
เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 2018 อีลอน มัสก์ โพสต์ทวิทเตอร์ว่า “AM CONSIDERING TAKING TESLA PRIVATE AT $420. FUNDING SECURED.” ตีความได้ว่า อีลอน มัสก์ คิดจะนำ TESLA ออกจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยการซื้อหุ้นคืน ในราคา 420 เหรียญสหรัฐฯ/หุ้น และยังบอกด้วยว่ามีแหล่งเงินทุนพร้อมแล้ว
โพสต์ดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้น TESLA พุ่งขึ้นทันที แต่ต่อมาเขาก็เปลี่ยนใจให้ TESLA อยู่ในตลาดหุ้นต่อไป SEC มองว่า นี่เป็นการปั่นหุ้น เพราะการให้ข้อมูลใดๆ ต้องตั้งอยู่บนฐานความจริง มีหลักฐานยืนยัน หรือสนับสนุนว่าทำได้ ซึ่งการโพสต์ของเขาในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ทำให้ SEC ตัดสินใจยื่นฟ้อง อีลอน มัสก์ ทันที
ต่อมา อีลอน มัสก์ ขอยอมความในคดีนี้ พร้อมจ่ายค่าปรับ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารของ TESLA และยังถูกควบคุมพฤติกรรมการใช้ทวิทเตอร์ด้วย
แต่คนอย่าง มัสก์ มีหรือจะยอมง่ายๆ ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ยังคงได้รับการแจ้งเตือนจาก SEC อยู่เรื่อยๆ เรื่องพฤติกรรมการใช้ทวิทเตอร์ ที่เข้าข่ายให้ข้อมูลผิด เช่น ตอนที่เขาโพสต์ว่า “ในความเห็นส่วนตัว ราคาหุ้น TESLA นั้นสูงเกินจริง” ซึ่งหลังจากเขาโพสต์ราคาหุ้น TESLA ก็ร่วงตามคาด
เขย่าโลกทวิทเตอร์ !!
ช่วงต้นปี 2022 อีลอน มัสก์ ซึ่งถือหุ้นทวิทเตอร์ 9 % ทวีทคำถามในทวิทเตอร์ว่า “อยากให้ทวิทเตอร์มีปุ่มแก้ไข (EDIT) หรือเปล่า ?” จนกลายเป็นกระแส แต่หลังจากนั้นไม่นานแอคเคาท์ TWITTER COMMS ได้ออกมาตอบโต้ว่า ทวิทเตอร์มีแพลนเรื่องการทำ “ปุ่มแก้ไข” มาตั้งแต่ปี 2021 ไม่เกี่ยวอะไรกับ อีลอน มัสก์ เลยสักนิด
เรื่องราวยังไม่จบลงเท่านั้น เมื่อ อีลอน มัสก์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำให้ PARAG AGRAWAL ซีอีโอคนใหม่ของทวิทเตอร์ ชวนเขามาเข้าร่วมในบอร์ดบริหาร พร้อมเงื่อน ไขว่า อีลอน มัสก์ ต้องไม่ซื้อหุ้นทวิทเตอร์เกิน 14.9 % แต่ อีลอน มัสก์ ปฏิเสธในวันที่ 10 เมษายน 2022
2 วันต่อมา หนึ่งในนักลงทุนของทวิทเตอร์ได้ยื่นฟ้อง อีลอน มัสก์ ที่ไม่ได้รายงาน เรื่องการซื้อหุ้นต่อ SEC แต่ขณะที่ประเด็นนี้เพิ่งถูกพูดถึงได้ไม่นาน อีลอน มัสก์ กลับประกาศยื่นข้อเสนอซื้อทวิทเตอร์ทั้งบริษัท ในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ากว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมบอกว่าจะนำ ทวิทเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และหากทางทวิทเตอร์ปฏิเสธ เขาจะพิจารณาตำแหน่งของตัวเองในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นมิตรสำหรับทวิทเตอร์
อีลอน มัสก์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาอยากจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเทคโอเวอร์ทวิทเตอร์ เพื่อให้ผู้คนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางโลกโซเชียลมากขึ้น และมีแผนการหลายอย่างที่ตั้งใจจะทำผ่านพแลทฟอร์มนี้ แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อีลอน มัสก์ ประกาศล้มดีลซื้อทวิทเตอร์แล้ว โดยอ้างเรื่องการไม่ส่งข้อมูลบัญชีปลอมจากทวิทเตอร์ รวมถึงเรื่องการละเมิดข้อตกลงการซื้อกิจการหลังทวิทเตอร์ ไล่ผู้บริหารระดับสูง 2 คนออก ถือเป็นการยุติดีลนี้อย่างเป็นทางการ
ด้านคณะกรรมการของทวิทเตอร์ ออกมาตอบโต้ โดยเตรียมฟ้องร้องกลับ อีลอน มัสก์ เนื่องจากต้องการให้ดีลซื้อกิจการนี้สำเร็จไปด้วยดี ซึ่งระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้อง คณะกรรมการได้ออกกฎห้ามพนักงานโพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อควบคุมการดำเนินการฟ้องร้องให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ลุยดันรถกระบะ EV
TESLA เริ่มสนใจพัฒนารถกระบะ EV มาตั้งแต่ปี 2012 เพราะรถกระบะครองสัดส่วนราว 20 % ของตลาดรถยนต์ทั่วทั้งสหรัฐฯ และยังเป็นการต่อยอดเทคโนโลยี EV จากรถ สปอร์ทที่มีอยู่ แต่โครงการไม่ได้พัฒนาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะต้องเร่งผลิตรถ สปอร์ท ซึ่งเป็นรายได้หลักออกมาให้ทันกำหนดส่ง
ปี 2019 TESLA ยืนยันว่าเอาจริงกับโครงนี้ ด้วยการเผยให้เห็นตัวอย่างของ CYBER TRUCK (ไซเบอร์ ทรัค) รถกระบะดีไซจ์นแปลกตา และตั้งเป้าเริ่มผลิตในปี 2021 อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีความคืบหน้าของ CYBER TRUCK ออกมาจาก TESLA เลย โดย อีลอน มัสก์ บอกว่า ยังคงเดินหน้าพัฒนาอยู่ และจะผลักดันรถรูปทรง 4 เหลี่ยมคางหมูนี้ออกมาให้ได้
อีลอน มัสก์ อ้างว่า CYBER TRUCK มียอดสั่งจองเข้ามามากจนเกินจะนับแล้ว ความเคลื่อนไหวผ่านทวิทเตอร์ ครั้งนี้ของเขาถูกจับตามองเพราะปีนี้ คือ ปีที่ TESLA ต้องเดินหน้าสายพานผลิต CYBER TRUCK ตามแผนที่วางไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมออกมา
ภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่า
ข่าวดังระดับโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2018 คือ ภารกิจช่วยชีวิต เด็ก 13 คน และโคชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอน จ. เชียงราย เนื่องจากน้ำท่วมปิดปากถ้ำ
อีลอน มัสก์ ส่งทีมงาน พร้อมอุปกรณ์ในการช่วยเหลือมา โดยเสนอให้ใช้ “ท่อไนลอนยักษ์” เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ม. สอดเข้าไปตลอดระยะทางที่มีน้ำท่วม จากนั้นอัดอากาศเข้าไปให้ท่อลอยติดเพดานถ้ำ เป็นรูปทรงตามส่วนโค้งเว้าของถ้ำ จากนั้นให้เด็กๆ คลานออกมา โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตดำน้ำ แต่สุดท้ายเครื่องมือไฮเทคนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานในภารกิจนี้
ตั้งตัวแทนจำหน่ายในไทย
สร้างความฮือฮาไม่น้อย สำหรับสาย EV ยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อมีการเผยข้อมูลว่าบริษัท TESLA ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย โดยระบุชื่อ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท
วัตถุประสงค์การจดทะเบียน เพื่อประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงาน และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้ TESLA เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้โดยตรง แต่ตอนนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการจาก TESLA ว่า จะตั้งบริษัท หรือจัดตั้งโรงงานการผลิตในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งคาดการว่าการจดทะเบียนในครั้งนี้ น่าจะเพียงแค่ "ขาย" รถยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
4 เรื่องฉาวของ อีลอน มัสก์
1. กิ๊กผู้บริหารสาว จนมีลูกแฝด
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อีลอน มัสก์ มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับ ชีวอน ซิล ลิส (SHIVON ZILLIS) วัย 36 ปี ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท NEURALINK ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเขา จนมีลูกแฝดด้วยกัน โดยหลักฐานทางเอกสารของศาลระบุว่า อีลอน มัสก์ และชีวอน ซิลลิส ได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อของลูกแฝด เพื่อให้มีนามสกุลของบิดา คือ “มัสก์” และให้ใช้นามสกุลของมารดา เป็นชื่อกลาง คือ “ซิลลิส”
2. ตีท้ายครัวเพื่อนสนิท
สื่อต่างประเทศแฉว่า อีลอน มัสก์ แอบเล่นชู้กับภรรยาของ เซอร์เกย์ บริน (SERGEY BRIN) ผู้ก่อตั้ง GOOGLE ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา โดย เซอร์เกย์ เพิ่งขอหย่ากับภรรยา นิโคล ชานาฮาน (NICOLE SHANAHAN) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุ “เข้ากันไม่ได้” แต่มีการเปิดเผยว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากการที่ เซอร์เกย์ จับได้ว่า ภรรยาแอบนอกใจไปมีความสัมพันธ์กับ อีลอน มัสก์
อีลอน มัสก์ ทวิทโต้กลับข่าวลือว่า "นี่มันเรื่องเหลวไหลอะไรกัน เซอร์เกย์ กับผมเป็นเพื่อนกัน นอกจากนี้ผมเคยเจอ นิโคล ชานาฮาน แค่ 2 ครั้ง ใน 3 ปีที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ครั้งนั้นมีคนอื่นอยู่ด้วยเต็มไปหมด และไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเราทั้งนั้น" พร้อมทิ้งท้ายว่า ไม่ได้มีเซกซ์มานานแล้ว (เฮ้อ…)
3. ล่วงละเมิด แอร์โฮสเตส SPACEX
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของ SPACEX เผยว่า อีลอน มัสก์ โชว์ของลับ และเสนอให้เธอมีเพศสัมพันธ์ พร้อมจ่ายเงิน 250,000 เหรียญสหรัฐฯ ปิดปาก อย่างไรก็ตาม อีลอน มัสก์ ตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ โดยทวิทข้อความว่า “คำกล่าวหารุนแรงพวกนั้น ไม่เป็นความจริงเลย”
4. เป็นชู้กับเมียดาราดัง
จอห์นนี เดปป์ (JOHNNY DEPP) ได้อ้างว่า อีลอน มัสก์ กับแอมเบอร์ เฮิร์ด (AMBER HEARD) คบเป็นชู้กันในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันอยู่
ALEJANDRO ROMERO คนเฝ้าประตูที่อาคาร LA ของ จอห์นนี เดปป์ และแอมเบอร์ เฮิร์ด เผยว่า เขาเห็น อีลอน มัสก์ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ในช่วงดึกในปี 2015 “เขามาเยี่ยมเยียนเสมอ เมื่อ จอห์นนี เดปป์ ไม่อยู่บ้าน ”
จากนั้นในปี 2017 หลังจากเสร็จสิ้นเรื่องหย่าระหว่างแอมเบอร์ เฮิร์ด กับจอห์นนี เดปป์ แอมเบอร์ เฮิร์ด กับ อีลอน มัสก์ ก็ได้คบหากันอย่างเปิดเผย
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
ภาพโดย : ฝ่ายภาพ,อินเทอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)