รู้ลึกเรื่องรถ
เทคโนโลยีดิจิทอล แต่แฝงความแอนาลอกที่สุด !
ในโลกของเหล่าซูเพอร์คาร์ และไฮเพอร์คาร์ เราจะเห็นวิถีการพัฒนาที่ต่างกัน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. ทำอย่างไรก็ได้ ให้มันใช้เวลาต่อรอบน้อยที่สุด ในสนาม NURBURGRING 2. ทำให้มันมีตัวเลขความเร็วตีนปลายสูงสุด และ 3. ทำให้ขับสนุกที่สุด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า รถพวกนี้ต้องออกแบบด้วยปรัชญาที่แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง
แนวทางแรก “ทำอย่างไรก็ได้ ให้มันใช้เวลาต่อรอบน้อยที่สุด ในสนาม NURBURGRING” ตัวแรงที่เลือกเดินสายนี้ มักอ้างอิงความสำเร็จของเวลาต่อรอบที่ทำได้ ในสนาม NURBURGRING ในเยอรมนี ที่ได้รับฉายาว่า “นรกสีเขียว” (GREEN HELL) จากอดีตนักแข่งชื่อดัง แจคคี สจวร์ท (JACKIE STEWART) สำหรับสนามแข่งเส้นทางด้านเหนือ หรือ NORDSCHLEIFE ที่วิ่งรอบภูเขา ระยะทาง/รอบ 22.83 กม. และมีความแตกต่างระหว่างจุดต่ำสุดกับจุดสูงสุดมากกว่า 300 ม. (สนามแข่งที่ใช้ในการแข่งรถ F 1 ในปัจจุบัน ใช้สนามด้านทิศใต้ ซึ่งมีความยาว 7.7 กม. เท่านั้น)
ซูเพอร์คาร์ และไฮเพอร์คาร์ ที่เลือกแนวทางนี้ จะมุ่งเน้นเรื่อง DOWNFORCE หรือแรงกดทางอากาศพลศาสตร์เป็นพิเศษ และมักจะมาพร้อมปีกหลังขนาดยักษ์ บางรุ่นสูงเท่าหลังคารถ อาทิ PORSCHE GT 2 (โพร์เช จีที 2), PORSCHE GT 3 RS (โพร์เช จีที 3 อาร์เอส), MERCEDES-AMG BLACK SERIES (เมร์เซเดส-เอเอมจี บแลค ซีรีส์) เป็นต้น โดยการจะเรียกว่า “เร็ว” ของรถกลุ่มนี้มักจะมาพร้อมสถิติ อย่างน้อยต้องอยู่ในเกณฑ์ 7 รตน. และถ้าต่ำกว่า 7 นาที คือ ระดับพระกาฬเรียกพี่
ส่วนใหญ่รถที่อ้างว่า ทำเวลาต่อรอบได้อย่างยอดเยี่ยมในสนามแข่งที่น่าสยดสยองแห่งนี้ มักจะมาพร้อมช่วงล่างที่เวลาใช้งานในชีวิตจริงจะ “แข็งจนแทบร้องขอชีวิต” และสปอยเลอร์หลังขนาดยักษ์ ซึ่งบดบังทัศนวิสัยของผู้ขับขี่
สำหรับเรื่องอากาศพลศาสตร์ ต้องจัดเต็มในด้านการสร้างแรงกด ด้วยลูกเล่นพิสดาร อาทิ PORSCHE GT 3 RS ปี 2022 ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานนี้ มาพร้อมสปอยเลอร์หลังที่มี “ระบบลดแรงต้านอากาศ” ได้ อันเป็นระบบเดียวกับของรถแข่ง F 1 ที่เรียกว่า DRS หรือ DRAG REDUCTION SYSTEM โดยขณะขับขี่ช่วงทางตรง สปอยเลอร์หลัง “ตัวบน” จะเปิดอ้าขึ้น เพื่อให้อากาศไหลทะลุผ่านปีกไปด้านหลังได้สะดวก ช่วยให้ความเร็วสูงขึ้น แต่ขณะเข้าโค้ง สปอยเลอร์ตัวบนจะถูกดึงลงมาปิดไม่ให้อากาศไหลทะลุ อากาศที่พุ่งเข้ามาจะถูกบังคับให้ไหลขึ้นด้านบน เพื่อสร้างแรงกดท้ายได้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้เกาะถนนมากขึ้น
แต่ในไฮเพอร์คาร์บางคันไปไกลกว่านั้น อาทิ ZENVO TSR-S (เซนโว ทีเอสอาร์-เอส) จากสวีเดน มาพร้อมปีกหลังที่เอียงตะแคงซ้าย/ขวาอัตโนมัติ เพื่อสร้างแรงกดให้ล้อด้านในโค้งมากเป็นพิเศษ หรือ PAGANI HUAYRA (ปากานี ไอยรา) เพราะ HUAYRA คือ ชื่อของ “เทพเจ้าสายลม” ดังนั้นวิศวกรของ PAGANI จากอิตาลี จึงออกแบบให้ไฮเพอร์คาร์คันนี้มีแผ่น FLAPS ที่คล้ายกับปีกเล็กที่ใช้กับเครื่องบิน สามารถปรับมุมกระดกขึ้น โดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างแรงกด ไม่ว่าจะเป็นของเพลาหน้า หรือเพลาท้าย ในกรณีที่จะเบรค หรือเข้าโค้งที่ความเร็วสูง หรือพับราบแนบลงไป เพื่อลดแรงต้านอากาศเมื่อต้องการทำความเร็วสูงสุด
และสุดท้าย แน่นอนที่สุด คือ หากจะไปในสนามแข่งให้ไวที่สุด ต้องใช้เกียร์แบบที่เปลี่ยนได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ นั่นคือ แพดเดิล ชิฟท์ (PADDLE SHIFT) ที่พวงมาลัย ในยุคนี้ถ้าจะขับให้เร็ว เกียร์ธรรมดาที่มาพร้อมแป้นคลัทช์ ไม่มีทางขับได้ไวเท่ากับระบบ 2 แป้นเท้า ที่มีเพียงคันเร่ง และเบรคได้
ต่อมาในกลุ่มที่ 2 คือ ออกแบบให้มันวิ่งได้เร็วที่สุด ซึ่งเร็วที่สุด คือความเร็วสูงสุดที่ทำได้บนทางตรง (รถที่วิ่งทางตรงได้เร็วที่สุด ไม่ใช่ว่าจะทำเวลา/รอบในสนาม NURBURGRING ได้เร็ว) แน่นอนว่า มันต้องมีเครื่องยนต์พละกำลังมหาศาล อาทิ BUGATTI CHIRON SUPER SPORT 300+ (บูกัตตี ชีรน ซูเพอร์ สปอร์ท 300 พลัส) SUPER SPORT 300+ (ซูเพอร์ สปอร์ท 300 พลัส) ตัวเลข 300 ก็คือ 480 กม./ชม. จากเครื่องยนต์แบบ W16 ความจุ 8 ลิตร และอัดอากาศด้วยเทอร์โบ 4 ลูก ให้กำลัง 1,600 แรงม้า ทำสถิติความเร็วปลายสูงสุดไว้ได้ที่ 490.48 กม./ชม. ในปี 2019 บนสนามทดสอบของ VOLKSWAGEN (โฟล์คสวาเกน) ที่มีช่วงทางตรงยาวถึง 8.7 กม. แต่ในสเปคมาตรฐานที่ขายกันตามปกติจะมีความสูงตัวรถมากกว่าคันที่ทำสถิติ ไม่มีการดามโรลล์เคจ รถจะวิ่งได้เพียง 440 กม./ชม. (แต่ก็เร็วจนยมบาลยิ้มแล้ว) จากการควบคุมด้วยระบบอีเลคทรอนิคส์ เรียกได้ว่า สนามทดสอบนี้ คือ สถานที่ไม่กี่แห่งเท่านั้นในโลก ที่รถพโรดัคชันจะสามารถทำความเร็วระดับนี้ได้ โดย BUGATTI CHIRON SUPER SPORT 300+ ผลิตขึ้นมาแค่ 30 คันเท่านั้น
แน่นอนว่า การทำให้รถยนต์มีพละกำลังมหาศาลอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถทำให้มันไปได้เร็วที่สุดอยู่ดี เพราะที่ความเร็วสูงระดับนั้น การทำให้รถมีเสถียรภาพ และลู่ลม ด้วยการทำให้รูปทรงเป็นหยดน้ำที่มีปลายแหลมให้สมบูรณ์มากที่สุด คือ สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ BUGATTI CHIRON SUPER SPORT 300+ นั้นได้รับการยืดด้านท้ายรถออกมากขึ้นกว่า BUGATTI CHIRON SUPER SPORT เป็นทรงที่เรียกกันว่า “หางยาว” หรือ LONG TAIL จนมีความยาวตัวรถ 4,794 มม. ยาวกว่ารุ่นมาตรฐานที่ยาวเพียง 4,544 มม. ถึง 250 มม.หรือเกือบ 10 นิ้วเลยทีเดียว
รถทรงหางยาวนี้ มีการผลิตขึ้นโดยเหล่าผู้ผลิตไฮเพอร์คาร์ หลายบแรนด์ อาทิ PAGANI CODALUNGA (ปากานี โกดาลุงกา) ซึ่งคำว่า CODALUNGA แปลว่า “หางยาว” เจ้าหางยาวนี้เป็นการนำเอารถรุ่นเทพเจ้าสายลม HUAYRA มายืดท้ายออกให้ได้สัดส่วนเหมือนรถแข่งเลอมองส์ PORSCHE 917 (โพร์เช 917) จากยุคทศวรรษที่ 60 โดยเจ้าหางยาวนั้นมีความยาวมากกว่ารุ่นเทพเจ้าสายลม ที่เป็นพื้นฐานของมันถึง 360 มม. หรือ 14.2 นิ้ว ซึ่งมาจากการยืดหางล้วนๆ ทำให้ความยาวของตัวรถกลายเป็นเกือบ 5 ม. เลยทีเดียว ส่วนจะทำให้ความเร็วสูงขึ้นเท่าไร ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
รถอีกคันที่พัฒนาขึ้นในสูตรนี้ คือ McLAREN SPEEDTAIL (แมคลาเรน สปีดเทล) รถรุ่นที่เร็วที่สุดของค่าย แม้ขุมกำลังของมันจะไม่สามารถเทียบกับ BUGATTI ได้ แต่ก็ถือว่าไม่ธรรมดาอยู่ดี โดยเป็นขุมพลังไฮบริด ให้กำลัง 1,036 แรงม้า และด้วยหางที่ยาวเป็นพิเศษ ทำให้ความยาวตัวรถมากถึง 5,137 มม. ยาวกว่ารุ่น 765LT ญาติสนิทของมันที่ยาว 4,600 มม. ถึงกว่าครึ่งเมตร ! ช่วยให้มันสามารถทำความเร็วได้ถึง 403 กม./ชม.
กลุ่มสุดท้าย “ทำให้ขับสนุกที่สุด” กลุ่มนี้ไม่เน้นความเร็วสูงสุด หรือเวลา/รอบ แต่ที่แน่ๆ คือ เร็ว โดยมีเรื่องอื่นๆ ที่วิศวกรให้ความสนใจ อาทิ ต้องมีเสียงเครื่องยนต์เร้าอารมณ์ การตอบสนองต่อสัมผัสขณะขับขี่ และความรู้สึกของความเป็นฮีโรเมื่อได้นั่งอยู่หลังพวงมาลัย รถกลุ่มนี้มักจะให้ความสนใจกับสัมผัสที่เราเรียกว่า “สัมผัสแบบแอนาลอก” (ANALOG FEEL) คือ สัมผัสของกลไกต่างๆ เหมือนกับการไขลานนาฬิกา การปรับโฟคัสของเลนส์กล้องแบบแมนวล การค่อยๆ บรรจงจรดหัวเข็มลงบนแผ่นเสียงไวนิล สิ่งเหล่านี้ คือ สุนทรีย์ของสัมผัส ที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน ในยุคที่คนหมกมุ่นอยู่กับประสิทธิภาพแต่เพียงอย่างเดียว
รถที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยไม่สนใจเรื่องความเร็วสูงสุด (แม้จะ โค-ตะ-ระ เร็วก็ตาม) มีไม่มากนัก อาทิ ผลงานยอดวิศวกรอัจฉริยะ GORDON MURRAY (กอร์ดอน เมอร์เรย์) GMA T.50 (จีเอมเอ ที.50) ที่อัดแน่นไปด้วยแนวคิดที่สุดขั้วมากมาย อาทิ เครื่องยนต์ที่สร้างขึ้นโดย COSWORTH (คอสเวิร์ธ) แบบ V 12 สูบ ความจุ 4.0 ลิตร หายใจเองด้วยแรงดันบรรยากาศ ที่สามารถเร่งรอบไปได้ถึง 12,000 รตน. โดยให้พละกำลังสูงสุดที่ 663 แรงม้า ที่ 11,500 รตน,
663 แรงม้า ? นี่มันไม่ได้พิสดารอะไรเลย เราเห็นตัวเลขระดับนี้ในพโรดัคชันคาร์อย่าง MERCEDES-AMG หรือ BMW ตระกูล M ทั่วไป หรือแม้กระทั่งในรถไฟฟ้า TESLA (เทสลา) แต่นี่ คือ 663 แรงม้า ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากระบบอัดอากาศ หรือระบบไฮบริดใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่ได้นอกจากพละกำลัง คือ เสียงกรีดร้องโหยหวนของเครื่องยนต์ที่ทำงานที่รอบสูง ซึ่งเป็นที่ถวิลหาของบรรดานักขับนั่นเอง
นอกจากนั้น GMA T.50 ยังเน้นไปที่เรื่องอัตราส่วน แรงม้า/น้ำหนัก ที่สูงเป็นพิเศษ โดยอัตราส่วนของมันอยู่ที่ 672 แรงม้า/ตัน การันตีการตอบสนองที่ฉับไวแน่นอน ด้วยตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 2.8 วินาที กับความเร็วปลายสูงสุด 350 กม./ชม. ซึ่งเร็วไม่อายใคร เพียงแค่ไม่ใช่จุดแข็งที่สุดเท่านั้น
นอกจากเรื่องเสียงการทำงานของของเครื่องยนต์ และการตอบสนองที่ฉับไวจากตัวรถที่มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักที่ดีเยี่ยมา มันยังเน้นสัมผัสที่เป็นแอนาลอก ด้วยการใช้เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ที่สับเกียร์ H-PATTERN แบบดั้งเดิมให้อารมณ์คลาสสิค นอกจากนั้น คือ มันไม่มีการใช้สปอยเลอร์ยักษ์เพื่อสร้างแรงกดแต่อย่างใด แต่เลือกใช้พัดลมดูดอากาศใต้ท้องรถ ดูดรถให้ติดกับพื้นแทน นับว่าเป็นลูกเล่นเฉพาะตัวที่มาจากมันสมองของ GORDON MURRAY ที่คิดค้นขึ้นเทคนิคนี้ขึ้น ตั้งแต่ยุคที่เขาพัฒนารถแข่ง F 1 ช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน
ส่วนรถอีกรุ่น ที่เป็นพระเอกของเราในวันนี้คือ ไฮเพอร์คาร์สัญชาติสวีเดน นั่นคือ KOENIGSEGG (โคนิกเซกก์) รุ่น CC850 (ซีซี 850) รถรุ่นล่าสุดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 50 ปี ให้แก่ผู้ก่อตั้งบริษัท CHRISTIAN VON KOENIGSEGG (คริสเตียน ฟอน โคนิกเซกก์)
จะว่าไป บแรนด์นี้เขาก็มีรถยนต์ที่เข้าข่าย 2 ประเภทแรกไปหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นดาวน์ฟอร์ศหนักๆ เกาะหนึบเหมือนตีนตุ๊กแกทากาว ที่มาพร้อมระบบแอโรไดนามิคส์ระดับพระกาฬ ติดปีกหลังขนาดยักษ์ อย่างรุ่น JESKO ATTACK (เจสโก แอทแทค) ที่สร้างขึ้นสำหรับผู้ที่หวังจะเอาไปวิ่งในสนามแข่ง หรือ JESKO ABSOLUTE (เจสโก แอบโซลูท) ที่ต่างกับรุ่น ATTACK คือ ถูกตัดปีกหลังขนาดยักษ์ออก และจัดการให้อากาศไหลผ่านตัวรถได้ลื่นไหลที่สุด โดยพวกเขาเคลมว่า JESKO ABSOLUTE ที่มีกำลัง 1,600 แรงม้า จากเครื่องยนต์แบบ V8 สูบ ความจุ 5.0 ลิตร เทอร์โบคู่ บริโภคเชื้อเพลิง E85 (ถ้าเติมเบนซิน 95 จะเหลือเพียง 1,300 แรงม้า) ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบมัลติคลัทช์ 9 สปีด เอกสิทธิ์เฉพาะของ KOENIGSEGG ซึ่งมีชื่อว่า LST หรือ LIGHT SPEED TRANSMISSION จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 480 กม./ชม. หรือ 300 ไมล์/ชั่วโมง (ส่วนความเร็วทางทฤษฏี ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ว่ากันว่าน่าจะไปได้ถึง 560 กม./ชม.)
แต่สำหรับรถรุ่นพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองวันเกิดของประธานนั้น เป็นการใช้รูปทรงของรุ่น CC8S รถรุ่นปฐมฤกษ์ที่เปิดตัวเมื่อต้นยุค 2000 ที่เป็นพื้นฐานทางความคิด และการออกแบบรถรุ่นอื่นของบแรนด์มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่า รถรุ่นพิเศษ ที่ชื่อว่า CC850 นี้จะขอนำเอาเรื่อง “ความสนุก” ในการขับขี่ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการออกแบบ
ความสนุกของการขับรถ ไม่ใช่เรื่องของความเร็วเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการที่ผู้ขับขี่รับรู้ และหลอมรวมจังหวะของร่างกายเข้ากับรถ อันเป็นบุคลิกสามัญของรถจากศตวรรษที่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการใส่เข้ามา คือ ระบบเกียร์ธรรมดาที่ต้องเหยียบคลัทช์เข้าเกียร์
มันจะเป็นการถอยหลังลงคลองหรือเปล่า? เพราะรู้กันอยู่ว่า เกียร์ธรรมดาจะสนุกได้ มันต้องมีถนนเปิดโล่ง แต่ในสภาพการจราจรเมืองแบบปกติ การต้องมานั่งปั๊มคลัทช์ตอนรถติดมันไม่สนุกเอาเสียเลย และนี่จึงเป็นที่มาของระบบเกียร์ ESS หรือ ENGAGE SHIFT SYSTEM สุดพิสดาร หรือระบบเปลี่ยนเกียร์ที่คุณมีส่วนร่วม
ระบบเกียร์ ESS เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเกียร์อัตโนมัติแบบมัลทิคลัทช์ ที่มีคลัทช์ถึง 7 ชุด กับเกียร์ 9 จังหวะ LST แบบไม่มีฟลายวีล ที่การันตีว่ารอบเครื่องสวิงขึ้นลงไวเหมือนกับรถแข่ง แต่พวกเขาได้ออกแบบระบบแป้นคลัทช์ ที่เชื่อมต่อเข้ากับชุดคันเกียร์ด้วยระบบไฟฟ้า ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจคิดว่า เกียร์เดินหน้า 9 จังหวะ จะสับเกียร์กันยังไง ต้องบอกว่าไม่ยากเลย เพราะการสับเกียร์ ทำได้แค่ 6 จังหวะ ถ้าจะใช้ครบทั้ง 9 จังหวะ ต้องให้มันทำงานอัตโนมัติเท่านั้น
งงสิครับ ต้องขอให้ดูไปที่ตัวของคันเกียร์ และร่องเกียร์ ที่มีทั้งหมด 8 ร่อง 6 ร่องทางซ้ายมือ คือร่องสำหรับเกียร์เดินหน้า 6 จังหวะ และ 2 ร่องขวามือสุด หากดันไปข้างหน้าจะเป็นเกียร์อัตโนมัติในโหมดเดินหน้า (D) และถ้าดึงเข้าหาตัวคือ ถอยหลัง (R)
ก่อนที่จะไปต่อ ต้องบอกก่อนว่า คันเกียร์ที่ดูสุดแสนอนาลอก นี้ ไม่ได้ต่อเข้ากับห้องเกียร์แต่อย่างใด ข้อมูลการเหยียบคลัทช์ และสับเกียร์ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านสายสัญญาณ (ขอต้อนรับสู่โลกของวีดีโอเกมส์) แม้จะเป็นเกียร์ปลอม แต่มันได้รับการออกแบบให้มีสัมผัส แรงต้าน และความหนืดที่สมจริงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และการที่มันมีร่องให้สับได้เพียง 6 ร่อง ในขณะที่มีอัตราทดเกียร์มากถึง 9 จังหวะ เรื่องนี้วิศวกรของ KOENIGSEGG เข้าใจ และรู้ดีว่า อัตราทดที่ใกล้กันมากในแต่ละเกียร์ มันไม่เหมาะกับการสับเกียร์ด้วยมือ ดังนั้น พวกเขาจึงออกแบบโหมดการสับเกียร์ขึ้นมา 2 แบบ
โหมดแรกคือ “ปกติ” หรือ NORMAL โหมดนี้ ร่องเกียร์ 1 จะเป็น เกียร์ 2 ของเกียร์ LST และพอสับเข้าร่องเกียร์ 2 มันจะเป็นอัตราทดของเกียร์ 4 , เกียร์ 3 มันจะเป็นเกียร์ 6 , เกียร์ 4 จะเป็นอัตราทดของเกียร์ 7, เกียร์ 5 จะเป็นอัตราทดของเกียร์ 8 และ เกียร์ 6 จะเป็นอัตราทดของเกียร์ 9
อีกโหมด คือ โหมดสนามแข่ง หรือ TRACK โหมดนี้ ระบบจะเปลี่ยนให้ร่องเกียร์ 1 ใช้อัตราทดของเกียร์ 3 แล้วเกียร์อื่นๆ ที่เหลือก็จะไล่ขึ้นไปตามสเตพ การที่เกียร์ 1 ใช้อัตราทดแบบเกียร์ 3 ปกติ เพราะในโหมดสนามแข่งนั้นเน้นการใช้อัตราทดที่ชิดเป็นหลัก ไม่ได้จำเป็นต้องออกรถแบบคลานช้าๆ ดังนั้นจึงออกรถด้วยเกียร์สูงได้เลย
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ระบบแป้นคลัทช์ของ KOENIGSEGG CC850 ได้รับการออกแบบให้สามารถ ทำงานได้เหมือนของจริงมาก ว่ากันว่า ถ้าถอนคลัทช์ไม่ดีเครื่องก็จะกระตุก แล้วก็ดับได้เหมือนเกียร์ธรรมดาของจริง ส่วนความดีเด่นของเกียร์แบบ ESS นี้ก็คือ ถ้าเหนื่อยล้าจากการสับเกียร์แล้ว ก็สามารถผลักไปขวาสุดแล้วดันขึ้น เข้าสู่โหมดเกียร์อัตโนมัติได้เลย ซึ่งจะทำงานครบทั้ง 9 จังหวะเดินหน้าแบบอัตโนมัติ
ด้วยเครื่องยนต์ระดับ 1,385 แรงม้า (เชื้อเพลิง E85) ไม่มีฟลายวีล กับห้องเกียร์ที่ทำงานได้ถึง 3 สไตล์ ที่แม้ว่า ขับไป สับเกียร์ไป แถมเวลาจะซิ่งก็ต้องใช้เทคนิค HEEL & TOE ขณะดาวน์ชิฟท์ มันไม่น่าจะเร็วไปกว่าเกียร์แบบซีคเวนเชียล (SEQUENTIAL TRANSMISSION) ของรถแข่งยุคดิจิทอลสมัยนี้ แต่เชื่อว่ารถคันนี้ จะมอบความสนุกแบบสุดยอด ในสไตล์ “อนาลอก” ให้แก่เจ้าของรถอย่างแน่นอน !
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รู้ลึกเรื่องรถ